ถกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ปชป.รุมแฉทุจริต สภาฯ ผ่านถึงมาตรา 2

สภาฯ ถกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน วาระ 2 ปชป.เล็งยื่นศาล รธน.ขัด ม.169 ไม่มีรายละเอียดโครงการ ตรวจสอบยาก-เปิดช่องทุจริต ดักคอมีไอ้โม่ง! คอยกว้านซื้อที่ดินล่วงหน้า หวังเก็งกำไร เอาเปรียบชาวบ้าน
 
วันที่ 19 ก.ย. 56 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท (พ.ร.บ.กู้เงินฯ) ในวาระ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง และอยู่รับฟังการอภิปรายตลอด
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงรายงานผลการพิจารณาว่า มีการแก้ไข 3 มาตรา มีผู้แปรญัตติ 143 คน จากนั้นจึงเริ่มพิจารณาเป็นรายมาตรา เริ่มที่ชื่อร่างฯ โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 7 คนสงวนคำแปรญัตติ ส่วนใหญ่อภิปรายเน้นโจมตีในภาพรวม
 
 
สภาฯ 286 เสียง ผ่านชื่อร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน
 
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หากสภาฯ ให้ความเห็นชอบ ตนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะไม่มีความชัดเจน ไม่มีรายละเอียดในโครงการ และไม่ผ่านการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม การออกเป็น พ.ร.บ.แบบนี้ จึงตรวจสอบการใช้เงินได้ยากลำบาก มีแนวโน้มทุจริตง่าย และนายกฯ ได้ชี้แจงกับตัวแทนสมาคมธนาคารไทยว่า ที่ต้องออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ แยกออกจากงบประมาณปกติ เพราะต้องการความต่อเนื่อง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล โครงการจะได้ไม่สะดุด
 
แต่ปัญหาสำคัญคือ เรื่องความโปร่งใส ทั้งที่โครงการต่างๆ สามารถนำเข้าสู่งบปกติได้ปีละ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะไม่กระทบกับ กรอบเพดานหนี้สาธารณะ
 
นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดโอกาสให้มีการโกงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การประมูลโครงการ การโก่งราคาค่าก่อสร้าง ไปจนถึงบุคคลของหน่วยงานรัฐ รู้ข้อมูลการก่อสร้างล่วงหน้าแล้ว ไปกว้านซื้อที่ดิน จึงอยากให้คณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงความโปร่งใสในโครงการ โดยเฉพาะการจับจองที่ดิน ต้องการให้รัฐบาลขึ้นป้ายประกาศล่วงหน้าให้ชัดเจนว่า พื้นที่ใด ในจังหวัด อำเภอ ตำบลใด ที่จะมีการสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือการก่อสร้างอื่นตามโครงการ เพื่อให้ชาวบ้านทราบแนวโน้มราคาที่ดิน ที่จะพุ่งสูงขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้คนที่รู้ข้อมูลรัฐล่วงหน้า ลงไปกว้านซื้อที่ดินราคาถูก แต่คนในพื้นที่ไม่ทราบราคาที่ดินของตัวเอง
 
รัฐบาลควรผลักดันมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบพิเศษ สำหรับผู้ที่ครองที่ดินบริเวณที่มีการก่อสร้างโครงการ ถือเป็นการจัดการเก็บภาษี ผู้ที่ไปดักซื้อที่ดินล่วงหน้า นำเงินส่วนนี้ไปช่วยชำระหนี้มหาศาลที่รัฐบาลกู้มา
 
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กรรมาธิการที่ปรึกษา ชี้แจงว่า การดำเนินการขนส่งต้องทำในภาพรวมทั้งระบบ เป็นการลงทุนระยะยาว ที่บอกว่าจะเป็นการสร้างหนี้มหาศาลนั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะมีคนที่ก่อหนี้ไว้ให้ก่อนแล้วหรือไม่
 
ต่อมา เวลา 11.50 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติ 286 ต่อ 103 เสียงเห็นชอบตามที่ กมธ.ไม่มีการแก้ไขโดยให้ชื่อร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
 
 
เห็นชอบมาตรา 2 คะแนน 289 ต่อ 123
 
จากนั้นจึงพิจารณาคำปรารภ โดยนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกฯ ได้พูดกับกลุ่มนักธุรกิจธนาคารว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นการสร้างบ้าน แต่งบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือเป็นเพียงการซ่อมแซมบ้าน และโครงการจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะแท้จริงแล้วรัฐบาลสามารถใช้วิธีการกู้เงินในระบบงบประมาณปกติได้
 
โดยนายกรณ์ยกภาพกราฟิกประกอบการอภิปรายว่า งบฯ ปี 2557 ยังมีกรอบเพดานให้รัฐบาลกู้เงินได้ถึง 5.5 แสนล้านบาท โดยไม่กระทบวินัยการเงิน การคลัง และตั้งแต่งบฯ ปี 2558 เป็นต้นไป รัฐบาลยังตั้งเป้าลดงบขาดดุลต่อเนื่อง หากคำนวณตามสูตรกฎหมายแล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ตั้งแต่ปี 2558-2563 รัฐบาลมีเพดานที่สามารถกู้เงินได้ถึงปีละ 6 แสนล้านบาท ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2563 คำนวณแล้ว รัฐบาลสามามารถดึงงบประมาณจากกรอบเพดานที่รัฐยังไม่ได้กู้มาได้ถึง 1.6 ล้านล้านบาท จึงเสนอให้รัฐบาลกู้นอกงบประมาณปกติเพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น
 
นายกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการลงทุน แต่ค้านในประเด็นรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายนอกวิธีงบประมาณปกติ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยให้มีความผิดได้ โครงการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ล้วนผ่านการอนุมัติมาจากรัฐบาลชุดที่แล้วแทบทั้งสิ้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะค้านตัวโครงการ
 
ดังนั้น ขอให้ตอบชัดๆ ว่า ถ้าไม่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าในโครงการ 2 ล้านล้านบาทได้หรือไม่ ถ้าตอบไม่ได้ ตนจะใช้สิทธิ์กรรมาธิการเสียงข้องน้อยไปตอบให้ เพราะมีช่องทางดำเนินการอยู่ รัฐบาลกำลังสร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่า ใครขวางกฎหมายนี้ เป็นผู้ขวางความเจริญ แม้วันที่ 20 ก.ย.นี้ สภาฯ โหวตไม่ผ่านร่างฯ ฉบับนี้ แต่โครงการก็ไม่ได้ล้มลง
 
ทั้งนี้ ขอแนะนำรัฐบาลเสนอเป็นงบกลางปี ในช่วงเดือน ธ.ค. หรือ ม.ค.นี้ ตามวงเงินที่จำเป็นต้องใช้แทน เช่น ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเดิม กำหนดให้ปี 2557 ต้องการตัวเลข 1.2 แสนล้านบาท ก็เสนอของบกลางปีที่ 1.2 แสนล้านบาท เป็นต้น แล้วให้กระทรวงคมนาคม เบิกจ่ายตามแผนการเบิกจ่ายของกระทรวง
 
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นรูปแบบนี้ จะได้เสียง ส.ส.ในสภาฯ ท่วมท้น ที่สำคัญกระทรวงคมนาคมต้องมีความพร้อม เพราะจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พบว่ากระทรวงคมนาคมพร้อมเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่า รถไฟตกรางบ่อยจึงจำเป็น ต้องมีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่เมื่อดูจากงบปี 2556 ที่จะหมดลงวันที่ 30 ก.ย.นี้ พบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับการจัดสรรงบลงทุน 1,560 ล้านบาท แต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเกือบจะหมดปีงบประมาณแล้ว รฟท.เบิกจ่ายเพียง 260 กว่าล้านบาท หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ของงบฯ เท่านั้น ดังนั้น กระทรวงคมนาคมควรทบทวนความพร้อมของกระทรวงเอง
 
ด้านนายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กู้นอกวิธีการงบประมาณปกติ แต่การเสนอเข้าสู่สภาฯ ในรูปของ พ.ร.บ. ถือเป็นความละเอียดรอบคอบสมบูรณ์อยู่แล้ว ยอมรับว่า โครงการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สามารถบรรจุโครงการในงบประมาณประจำปี ได้ แต่จะขาดความต่อเนื่อง และการแยกกลุ่มโครงการโครงสร้างพื้นฐานจากงบรายจ่ายประจำปี จะทำให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากกว่า
 
ยืนยันว่า ไม่มีเจตนาเลี่ยงบาลี และตระหนักดีว่า การใช้เงินต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ขอบคุณอดีต รมว.คลัง ที่ให้ข้อเสนอแนะ แต่เหตุผลที่เราเลือกเสนอแบบนี้ ไม่ได้หลีกเลี่ยงการควบคุมการกู้เงิน เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล แต่ต้องการความต่อเนื่อง โปร่งใส ชัดเจน แยกออกมาจากงบฯ ประจำปี สิ่งที่ท่านกังวล ตนก็เคยเห็นการออกกฎหมายกู้เงินในรัฐบาลก่อนหน้านี้
 
เป็นห่วงที่มีการหยิบข้ออ้างอิงว่า นายกฯ ได้พบปะนายธนาคาร มีการพูดจากันอย่างไร ตนอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ขอชี้แจงว่าสิ่งที่พูดจาในการหารือระหว่างนายกฯ ตน และหัวหน้าส่วนราชการด้านเศรษฐกิจ ท่านได้รับข้อมูลบางส่วนตรงและไม่ตรงกับที่พูดจากัน
 
ขณะเดียวกัน นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมช.เกษตรฯ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ที่เสนอให้ตั้งโครงการเหล่านี้เป็นงบขาดดุลในงบรายจ่ายประจำปีนั้น ได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับคำชี้แจงว่า เป็นแนวทางของแต่ละรัฐบาลที่ไม่เหมือนกัน การตั้งงบฯ แต่ละปี ต้องกำหนดวงเงิน ประมาณการรายได้ โดยกระทรวงการคลัง คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย
 
ดังนั้น การผลักดันโครงการ 2 ล้านล้านบาท เป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อหลีกเลี่ยงลดปัจจัยกระทบ เพราะไม่รู้ว่าระยะเวลา 7 ปีที่กู้นั้น จะมีผลกระทบที่จะทำให้รายได้ลดลงหรือไม่ ดังนั้น ข้อเสนอฝ่ายค้านแม้จะเป็นวิธีที่ทำได้ แต่อาจมีปัญหาเพราะไม่รู้ว่า 7 ปีข้างหน้า จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง
 
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบคำปรารภ ด้วยเสียง 289 ต่อ 123 เสียง งดออกเสียง 17 ไม่ลงคะแนน 3 และเริ่มทยอยพิจารณาเรียงตามมาตรา จนถึงเวลา 16.05 น. ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบมาถึงมาตรา 2 โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
 
เรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท