Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


(ภาพจาก: http://sh000rty.deviantart.com/art/Open-mind-2-276460850)

การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาตามวิถีประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับหลักการเสรีภาพ  อิสรภาพ  ความเท่าเทียมเสมอภาค ที่เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของทุกคนในสังคม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มีการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนมากมาย บทบาทของคนรุ่นใหม่ในการสร้างพลังการขับเคลื่อนจะสามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าประสงค์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์ประกอบและปัจจัยเอื้อให้คนรุ่นใหม่และองค์กรรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่การสร้างกิจกรรมและการดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่และการสร้าง “สังคมธรรมาภิบาล” ปัญหาใดที่เป็นตัวขัดขวางบทบาทคนรุ่นใหม่ โอกาสการสร้างบทบาทคนรุ่นใหม่จะต้องสร้างอย่างไรเป็นสิ่งที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่ในวันนี้จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาชาติในอนาคต

“อย่าตั้งกรอบแล้วให้คนรุ่นใหม่ต้องเดินทางเส้นที่เรียกว่าความหวังดีแบบที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการ ขอให้เขาเหล่านั้นได้สร้างเส้นทางเดินในรูปแบบของเขาเอง การตำหนิคนรุ่นใหม่ว่าไม่ได้เรื่องสามารถกระทำได้ แต่ก่อนตำหนิอยากให้สังคมตั้งคำถามก่อนว่ารู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากน้อยเพียงใด” คนรุ่นใหม่สนใจงานเพื่อสาธารณะลดลงจริงหรือไม่ มีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้เป็นอย่างนั้น

แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะนั้นมีหลายด้าน อาทิ การตระหนักรับผิดชอบต่อสาธารณะที่เล็งเห็นผลกระทบต่อสาธารณะที่เข้าเห็นว่าหากปล่อยไว้จะเกิดปัญหาขึ้นกับสังคม  ความต้องการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจและการตระหนักรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้สังคมได้ตื่นตัว คนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่จะทราบปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่เป็นอย่างดี การออกมาแสดงบทบาทในลักษณะแบบคนรุ่นใหม่จึงเกิดขึ้น ด้วยความหวังที่ต้องการเห็นสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่เขาเหล่านั้นตั้งมั่นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในสถาบันการศึกษาหรือนอกสถาบันการศึกษาถือเป็นการสร้างพลังความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ต่อสาธารณะ

คนรุ่นใหม่ในยุคสังคมเทคโนโลยีสมัยใหม่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างการตระหนักรับรู้ให้เขาเหล่านี้มองเห็นถึงศักยภาพในตัวที่มีหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะ อาทิ ความมีเอกภาพของคนรุ่นใหม่ที่สามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นได้ง่ายโดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในช่วงอายุรุ่นเดียวกัน คนรุ่นใหม่มีการยอมรับในความหลากหลายได้อย่างไม่มีอคติซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่ในการดำเนินงานสาธารณะ กล้าที่จะดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประเด็นเย็นและประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในสังคมระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ  ซึ่งเขาเหล่านี้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดีไม่มีวาระซ่อนเร้นใดแอบแฝง ที่สำคัญเขาเหล่านั้นมีจิตใจที่มุ่งมั่นทำประโยชน์ต่อสาธารณะโดยที่ผลประโยชน์ส่วนตนมาทีหลัง

ขณะเดียวกันการทำงานในรูปแบบคนรุ่นใหม่ต้องประสบกับปัญหาที่ทำให้กลายเป็น “ท่อนซุงใหญ่ขวางทางเดินสู่เป้าหมายที่ตั้งมั่นไว้” อาทิ การขาดกลยุทธ์และความคิดเชิงระบบ การขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงาน การขาดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมในการดำเนินงาน การขาดการเรียนรู้ในการดำเนินงานเพื่อสาธารณะ การขาดความรู้เชิงประเด็นและความเชี่ยวชาญในการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย พร้อมทั้งยังไม่มีความมั่นคงในตัวเองก็เป็นจุดอ่อนหนึ่ง นอกจากนี้คนรุ่นใหม่บางส่วนจะขาดความมั่นใจในตัวเองเมื่อต้องแสดงออกต่อหน้าสาธารณะที่ทำให้ถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือ การมีปัญหาภายในองค์กรกันเองจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถดำเนินงานได้ดีเพราะมีความเป็นส่วนตัวสูง การดำเนินกิจกรรมที่ไม่ต่อเนื่องถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ยอมจำนนกับปัญหาเมื่อเกิดขึ้น ทำให้ส่งผลต่อถึงจำนวนคนทำงานในทีมจะค่อยๆ ลดลงและเหลือคนทำงานน้อย ต้องมองให้เห็นถึงแก่นปัญหาว่าเกิดขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัยใดสามารถแก้ไขพัฒนาให้เกิดศักยภาพได้หรือไม่

อย่างไรก็ดีการดำเนินงานของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้มองเห็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยแล้วนั้นใช่ว่าความหวังของสังคมจะลดลงเพื่อจุดอ่อนของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก “ในวิกฤติย้อมมีโอกาส” ที่จะทำให้เกิดการหนุนเสริมการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้  เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมต้องให้ความสำคัญ องค์กรคนรุ่นใหม่ที่ก่อร่างสร้างองค์กรได้ไม่นานการบริหารจัดการองค์กรยังไม่มีประสิทธิภาพบางครั้งทำให้ขาดความเชื่อมันจากแหล่งงบประมาณสนับสนุนทั้งจากองค์กรเพื่อการพัฒนาเอกชน รัฐบาล ภาคธุรกิจ และอื่นๆ องค์กรคนรุ่นใหม่เข้าถึงแหล่งสนับสนุนงบประมาณได้ลำบาก บางครั้งต้องดิ้นรนเพื่อหางบประมาณด้วยการเปิดหมวกขอรับบริจาคตามสภาพในตลาดนัดหรือสถานที่ซึ่งมีคนพลุกพล่าน หากมองว่าการเปิดกล่องขอรับบริจาคก็ดีแล้วทำให้เห็นความพยายามตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำกิจกรรมอาสาพัฒนาลองมองอีกมุมหนึ่งดูว่า “จะดีแค่ไหนหากองค์กรคนรุ่นใหม่มีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง” ทุกภาคส่วนต้องมองให้เห็นว่าองค์กรคนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่ทางเลือกในการสนับสนุนกิจกรรมบางอย่างที่ตรงตามแผนงานด้านเยาวชนที่เขาเหล่านั้นต้องเข้าร่วม ต้องสร้างกระบวนการคิดแบบมีส่วนร่วมให้กับเขาเหล่านั้นในการพัฒนาและต้องมองว่าเขาเหล่านั้นเป็นกำลังหลักที่จะต้องดำเนินงานร่วมเป็นภาคี ควรมององค์กรคนรุ่นใหม่เป็นองค์กรบริสุทธิ์ปราศจากการซ่อนเร้นไม่ใช่เขาเป็นเครื่องมือเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์  ต้องพร้อมดำเนินงานร่วมเพื่อให้เกิดกลไกสำหรับองค์กรคนรุ่นใหม่ที่จะดำเนินงานเพื่อสาธารณะ

นอกจากนี้ รัฐจะต้องวางนโยบายสนับสนุนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้สนใจการดำเนินงานเพื่อส่วนร่วมและการสร้างองค์กรคนรุ่นใหม่ทั้งระดับพื้นที่และเครือข่ายระดับชาติ ต้องเปิดโอกาสและช่องทางให้คนรุ่นใหม่ได้มีเวทีในการแสดงออกให้มากที่สุด ไม่ควรมองว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำเป็นการไม่อนุรักษ์วัฒนธรรมเดิมของท้องถิ่นหรือของชาติ สังคมต้องยอมรับให้ได้ในความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย เพราะบางวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาท้ายที่สุดอาจไม่ตอบโจทย์สังคมแห่งการพัฒนาประชาธิปไตย ถ้าเขามองเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาในการพัฒนาประชาธิปไตยย่อมส่งผลสู่กระบวนการคิดค้นกลไกแก้ไขให้เกิดสังคมประชาธิปไตยตามที่รัฐพยายามสร้างให้เกิดขึ้น ให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้การดำเนินงานทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวของเขาเอง สังคมต้องให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้เกิดพลังคนรุ่นใหม่ให้มากที่สุด

“หากต้องการที่จะเห็นคนรุ่นใหม่ที่ดำเนินงานเพื่อสาธารณะจะเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ต้องเปิดใจให้กว้างถ้าอยากให้สังคมมีความหวังในอนาคต” เริ่มจากทัศนคติของที่ไม่มองตนเองว่ามีประสบการณ์มากกว่าเพราะประสบการณ์ที่แตกต่างของสังคมคนละยุคสมัยอาจยังไม่ตอบโจทย์สังคมปัจจุบัน ต้องสนใจคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง อย่าให้คนรุ่นใหม่ต้องมองตนเองว่าเป็นองค์กรด้อยเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะอื่นๆของผู้ใหญ่ สังคมควรเปิดกว้างทางความคิดที่ไม่ต้องเน้นความเป็นวิชาการมากแต่เริ่มต้นเน้นกระบวนการกับคนรุ่นใหม่มากกว่า เนื่องจากบางครั้งการคิดแบบวิชาการไม่สามารถบอกได้ว่าคนเหล่านั้นจะดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข สิ่งที่อธิบายได้มากกว่าว่าคนรุ่นใหม่จะอยู่ในสังคมได้มีความสุข คือ “มนุษยสัมพันธ์ที่ดีในสังคม” และจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้ตกผลึกทางความคิดเองได้

รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ไม่ควรจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและกิจกรรมทางการเมือง ไม่ควรนำความแตกแยกทางการเมืองของสังคมใหญ่มาเหมารวมกับคนรุ่นใหม่ หากกลไกทางกฎหมายเข้ามาแสดงบทบาทในการลงโทษคนรุ่นใหม่ที่คิดต่าง กฎนั้นเปรียบเสมือนเป็นกรงที่วางไว้เพื่อกักขังทางความคิดของคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” มีแต่จะนำไปสู่ความไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถามต่อสิ่งที่ผิดแปลก หรืออาจร้ายแรงไปจนถึงการไม่กล้าคิด ไม่กล้าเขียน ไม่กล้าพูด จนทำให้ประชากรรุ่นใหม่ตกต่ำดำดิ่งลงหุบเหวแห่งความล้มเหลวของสังคม เพราะในเรื่องบางเรื่องหากเปิดเสรีได้จะดีขนาดไหนในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาสังคมในเชิงบวก สังคมต้องตั้งคำถามว่า “ไก่ที่ถูกเชือดไปเป็นไก่ที่ไร้คุณภาพ ไก่ที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนา หรือเป็นการตัดสายพันธุ์ไก่ที่จะสืบทอดพันธุกรรมทางความคิดในการเปลี่ยนแปลง”

หากไก่ตัวนั้นเป็นไก่ที่สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิด “พลังในหมู่ลิงเกิดความคิดเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบสังคมที่พันธนาการยุ่งเหยิงไร้ทิศทางขณะนี้” เมื่อคนรุ่นใหม่คิดต่างต้องโดนลงโทษด้วยข้อกฎระเบียบที่เป็นปัญหาไม่เปิดเสรีภาพแล้ว ความกลัวที่จะคิดต่างย่อมลดลง ลองจินตนาการถึงภาพสังคมที่คนไม่กล้าและต้องจำยอมกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในสังคมและละเลยให้อำนาจนั้นกดทับความเป็นมนุษย์ของทุกคนในสังคมไว้

(ภาพจาก: http://sh000rty.deviantart.com/art/GGGorilla-198662379)

สิ่งที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งการสนับสนุนงบประมาณจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะทำให้เกิดการทำงาน  เมื่อเขามีงบประมาณในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจะทำให้เขามีวัตถุดิบในการสร้างอาวุธเพื่อการพัฒนา เขาเหล่านั้นจะสามารถซื้อวัถุดิบที่คาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดมาประกอบรวมกันเป็นเครื่องเพื่อการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาที่ฝืดให้เคลื่อนที่ได้อีกแรงหนึ่ง รวมถึงจะเป็นการกระตุ้นการตื่นตัวในตนเองที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวในสังคม

หากต้องการให้เกิดการทำงานของคนรุ่นใหม่ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะ เกิดพลังในการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง สาธารณะจะต้องสนใจและให้บทบาทคนรุ่นใหม่ให้มากที่สุด เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เรียนรู้และเติบโตมาเป็นบุคลากรในการสร้างสรรค์สังคม สังคมควรเรียนรู้บทเรียนการให้ความสำคัญที่ผิดพลาด สังคมที่ปิดกั้นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาเหล่านั้นสงสัย “อย่าด่าก่อนที่จะฟังให้จบ อย่าสั่นรวนกลัวที่จะเห็นคนรุ่นใหม่แสดงความไม่รู้” หากสังคมต้องการให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนยอมรับในความแตกต่างหลากหลายได้ สังคมต้องวางตนบนฐานที่สามารถยอมรับในความต่างระหว่างคนในรุ่นอายุที่ต่างเช่นกัน คนรุ่นใหม่เหล่านั้นเขาอาจไม่ได้ก้าวร้าวอย่างที่สังคมจินตนาการ เพียงแค่เขาสงสัยในสิ่งที่ผิดแปลกในวิถีชิวิตของเขา จึงเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องถามด้วยว่าเพราะเหตุใดคนรุ่นใหม่จึงมีแนวความคิดย่างนั้น ระหว่างสังคมที่ดำเนินมาแบบยุ่งเหยิงในอดีตจนถึงปัจจุบัน แบบไหนจะเป็นสังคมที่จะสร้างความลงตัวในความแตกต่างได้มากกว่า

“ความคับแคบที่ไม่ยอมเปิดใจพิจาณาความแตกต่างของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ทางออกที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนรุ่นใหม่ มีแต่จะสร้างความกลัวให้เกิดขึ้น การกดทับทั้งทางความคิดและการกระทำมีแต่จะเป็นผลเสียต่อสังคมในอนาคต โอกาสสังคมขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่เป็นสำคัญ ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่ขัดแย้ง ช่วงระยะเวลานี้ต้องทำให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ความล้มเหลวให้มากที่สุด เพื่อที่ความล้มเหลวผิดพลาดนั้นจะกลายเป็นภูมิคุ้มกัน อย่าชี้นิ้วสกัดก่อนที่จะเห็นความตั้งใจของเขาเหล่านั้น สิ่งที่คนรุ่นก่อนมองว่าถูกวันนี้อาจผิดสำหรับคนรุ่นนี้ก็ได้ อย่าคิดแทนหากเห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เท่าเทียม  วันหนึ่งเมล็ดพันธ์รุ่นใหม่ที่เติบโตด้วยกำลังของตัวเองจะเป็นไม้ต้นใหญ่ที่ยืนสง่างามให้ร่มเงากับไม้ต้นใหม่ในอนาคตต่อไป”

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net