Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ ฉายภาพซ้ำสารคดี “ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ” ตอน “ผู้ซับน้ำตา” คณบดีวิทยาการสื่อสารม.อ.ปัตตานี ระบุแม้ไม่ได้ฉายภาพรวมทั้งหมด แต่มันคือจิ๊กซอว์ของสันติภาพ พร้อมกับวิจารณ์การทำงานของสื่อและสาร 

... เมื่อเขาประโคมข่าวว่าร้ายคนมุสลิมใน 3 จังหวัด ถามว่าคุณรู้ไหมว่าความจริงเป็นอย่างไร...สื่อนำเสนอออกไปแต่ละครั้งว่านี่คือผู้ก่อการร้าย ถามว่าสุดท้ายเขาไม่ผิด แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าเขาไม่ผิด สื่อมาติดตามไหม ศักดิ์ศรีของเขาได้คืนไหม...

เป็นคำพูดส่วนหนึ่ง(ที่ฉะฉาน) ของ “คำนึง ชำนาญกิจ” อดีตผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ที่พูดผ่านสารคดี ชื่อ “ผู้ซับน้ำตา” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันศุกร์ ที่ 12 กรกฎาคม 2556 เวลา 20.20 – 21.15 น. ที่ผ่านมา

เป็นสารคดี 1 ใน 6 ตอนของสารคดีชุด “ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ” ที่ถูกนำมาฉายซ้ำโดยเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เพื่อให้ผู้ร่วมชมวิจารณ์

 

‘คำนึง ชำนาญกิจ’ คนต้นเรื่องผู้ซับน้ำตา

สารคดี “ผู้ซับน้ำตา” เป็นการฉายภาพชีวิตของ “คำนึง ชำนาญกิจ” อดีตผู้ได้รับผลอันเนื่องมาจากสามีและลูกชายที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง เธอต้องหมดเนื้อหมดตัวและถึงกับต้องขายบ้านเพื่อเอาเงินมาต่อสู้คดีให้สามีกับลูกชาย

ซ้ำยังถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นครอบครัวโจร..... กระทั่งสุดท้ายก็ถูกศาลพิพากษาให้พ้นผิด

ปัจจุบันคำนึง ชำนาญกิจ เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน

จากอดีตเหยื่อสู่การเป็นผู้ซับน้ำตา คือหัวใจของสารคดีตอนนี้ โดยฉายให้เห็นภาพความแข็งแกร่งของผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต

กระทั่งสามีกับลูกชายของเธอถูกตัดสินให้พ้นผิด และเธอเองก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นต่อไปได้ด้วยในตอนนี้ ทั้งพี่น้องคนพุทธและคนมุสลิม

คำนึง ชำนาญกิจ หรือที่คนรู้จักกันเรียกว่า “ก๊ะคำนึง” ผู้ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีตอนนี้ เล่าว่า ที่จริงในสารคดีเรื่องนี้อยากจะสะท้อนให้เห็นความเป็นพี่น้องระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิมในจังหวัดเดียวกัน แต่ช่วงเวลาถ่ายทำค่อนข้างมีอุปสรรคมาก จึงทำให้ไม่สามารถถ่ายความเป็นพี่น้องดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์

“เช่น ในหมู่บ้านต้นแบบที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในแง่ความไม่แตกแยกทางศาสนา ที่ทั้งของคนไทยพุทธและมุสลิมอยู่กันอย่างปกติสุข”

เธอบอกว่า สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองบางส่วนเท่านั้น บางฉากบางตอนถูกตัดออก เนื่องจากเราต้องการนำเสนอสิ่งที่ดี ที่เป็นการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ต้องการสะท้อนความรุนแรง

“ผลกระทบที่เกิดขึ้น เราพยายามเยียวยาตนเองพร้อมกับการเยียวยาคนอื่นด้วย ไม่ว่าจะพี่น้องพุทธหรือมุสลิม หรือผู้กระทบด้านจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราช่วยเหลือทั้งหมด เพียงแต่ย้ำว่าขอให้อดทนและเข้มแข็ง”

ก๊ะคำนึง เล่าต่อไปว่า ผู้ที่ชมสารคดีบางส่วนได้สะท้อนมุมมองทางเฟสบุ๊คส่วนใหญ่เป็นคนไทยพุทธที่ให้กำลังใจ เนื่องจากเราเปลี่ยนศาสนาจากพุทธมานับถือศาสนาอิสลาม ทุกคนบอกให้เราสู้ต่อไปและให้อดทนจนถึงที่สุด

“การสะท้อนจุดนี้ใช่เพียงแค่เราได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดี หากแต่เรายังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่เจอสถานการณ์ย่ำแย่กว่าเรา เราพยายามผลักดันให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการเยียวยาที่ดีที่สุด แม้เราไม่สามารถเอาชีวิตที่สูญเสียเหล่านั้นกลับมาได้ แต่ให้พวกเขามีความรู้สึกว่า ไม่มีใครทอดทิ้งเขา”

ก๊ะคำนึง บอกว่า หลังจากนี้ ตนเองและเครือข่ายผู้หญิงฯ จะช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ หากยังมีกำลังอยู่ โดยไม่เลือกว่าใครอยู่ฝ่ายไหน และจะต่อสู้กับความจริงอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเองและผู้อื่นต่อไป

 

คือจิ๊กซอว์สันติภาพ บทวิจารณ์การทำงานของสื่อ-สาร

รศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป้นหนึ่งในผู้วิจารณ์สารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า ภาพรวมของเนื้อหาสารคดีเป็นเพียงภาพตัวต่อในจิ๊กซอว์ ซึ่งเป็นภาพเล็กๆที่รอการต่อเติม ไม่สามารถนำเสนอทุกแง่มุมในคราวเดียวกันได้

“การนำเสนอเรื่องราวในแง่ๆ หนึ่งจะมีทุกเรื่องอยู่ในนั้น ทั้งแง่มุมเชิงบวก และลบ แต่ผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้มีใครบ้าง นั่นคือ อุดมคติของการทำงานด้านการสื่อสาร แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้อย่างสมบูรณ์ ฉะนั้น การนำเสนอของแต่ละภาคส่วนของภาพใหญ่ทั้งหมด จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

“ในฐานะสื่อ เราคาดหวังว่าสังคมผู้รับสารสามารถสะสมประสบการณ์จากเนื้อหาเหล่านี้ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ในตัวเอง”

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า จุดเด่นของการนำเสนอสารคดีนี้ เป็นการนำเสนอของคนที่ธรรมชาติถูกสร้างมาให้เสียเปรียบในสังคม เช่น คนแก่ ผู้หญิง เด็ก ฯลฯ

“ในแง่ของการสื่อสารเชิงสันติภาพการที่สื่อมีบทบาทในการนำเสนอคนที่เสียเปรียบเหล่านี้ เป็นบทบาทอย่างหนึ่งที่สื่อสันติภาพต้องดึงความเสียเปรียบเหล่านี้มานำเสนอให้เท่าเทียมกับผู้ได้เปรียบในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นปกครอง หรือผู้นำที่เป็นผู้ชาย ถือเป็นการเปิดพื้นที่ในสื่อมากขึ้น” รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า การพยายามเดินภาพให้มีการเดินเรื่อง เห็นจากการนำเสนอเรื่องราวของก๊ะคำนึงนั้น ไม่ใช่เพียงการนำเสนอเรื่องราวของเขาเพียงอย่างเดียว แต่นั่นเป็นภาพสะท้อนของผู้เสียเปรียบในสังคมที่เป็นตัวตนสะท้อนตัวแทนของคนอื่นอีกหลายคนที่สามารถก้าวข้ามความยากลำบากไปได้ จากการเป็นเหยื่อไปสู่การเป็นผู้เยียวยาคนอื่นได้อย่างไร

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า คุณประโยชน์ต่อการนำเสนอเรื่องราวของก๊ะคำนึง คือการสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจเขาได้ว่า ชีวิตยังมีทางออกอื่นที่ยังดำเนินต่อไปได้

“เนื้อหาในภาพรวมของสารคดี เรื่องนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับคนที่มีเสียงเบาในสังคมให้มีเสียงมากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ หรือเป็นการสื่อสารที่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง และเป็นเรื่องราวผลกระทบที่แฝงเร้น ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นผลกระทบในเชิงสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่กระทบถึงจิตใจ ซึ่งสื่อกระแสหลักยังไม่หยิบยกมานำเสนอ เนื่องจากเรื่องราวเหล่านี้ต้องใช้เวลาและพื้นที่ในการอธิบายค่อนข้างมากและต้องลงทุนสูงในการผลิตเพื่อนำเสนอผลกระทบเหล่านี้ให้เข้าใจกันและดึงดูดผู้ชมได้” รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า สภาพระบบสังคมเปลี่ยนไปในยุคนี้ ทำให้การบริการผู้รับสื่อโดยใช้เวลานานเป็นไปได้ยาก จึงเป็นผลพวงอย่างหนึ่งที่สื่อกระแสหลักไม่นำเสนอ

“ส่วนการใช้ภาษาและถ่วงทำนองในหลักการนำเสนอสารคดีเรื่องนี้ ในมุมมองสันติภาพ มีการใช้ภาษาโดยไม่เน้นการเร้าอารมณ์ แต่ใช้ภาพในการเดินเรื่องราวต่างๆได้” รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

“สารคดีเรื่องนี้ ใช้กลวิธีในการผูกเรื่องให้เห็นถึงความยากลำบาก ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่สะท้อนให้เห็นถึงความอคติ และชักจูงให้เชื่อในสิ่งที่ทำ สังคมจึงควรตระหนักในปัญหาตรงนี้ ฉะนั้นควรเป็นการนำเสนอที่ไม่เกิดจากความน่าสงสาร แต่เป็นการหาทางออกและแก้ไขร่วมกัน” รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า คนที่ทำงานด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพต้องตระหนักถึงเป้าหมายที่จะทำให้เกิดสันติภาพในสังคม ฉะนั้นกระบวนการออกแบบ “สาร-สื่อ” ในการนำเสนอโดยการเรียบเรียงก่อนหลังต้องมีความชัดเจน โดยสามารถเชื่อมโยงความเข้าใจข้อมูลที่นำเสนอแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ควรปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ให้สามารถตอบโจทย์สุดท้ายที่นักสื่อสารต้องการ

“การนำเสนอสารคดีเพียงไม่กี่ตอน อาจยังไม่ทำให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาได้เท่าที่ควร เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ของคนใน 3 จังหวัด แต่แสดงให้เห็นถึงความหวังในการเกิดผลในเชิงปฏิบัติต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพสะท้อนกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่ผู้วิจารณ์คนอื่นๆ อย่างเช่น นางโซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ วิจารณ์ว่า สารคดีเรื่องนี้จึงเป็นเสียงสะท้อนของสตรีคนหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนในครอบครัว แต่ยังไม่สะท้อนให้เห็นความบริสุทธิ์ของสามีกับลูกชายก๊ะคำนึงขณะถูกจองจำ ทั้งที่ก๊ะคำนึงได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน และต่อสู้เพียงลำพัง เพราะตอนนั้นเธอยังไม่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายฯ สารคดีจึงน่าจะถ่ายทอดส่วนนี้ด้วย

นางโซรยา กล่าวว่า ดังนั้น สารคดีเรื่องนี้จึงยังไม่ใช่ชีวิตของก๊ะคำนึง เพราะบางเรื่องไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะเป็นชีวิตที่สุดโต่ง ไม่ผ่านการปรุงแต่ง คือผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งยังมีผู้ได้รับผลกระทบเช่นนี้อีกจำนวนมากในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อให้คนทั้งประเทศได้รับรู้และเข้าใจ

“เราจะเห็นบทบาทผู้หญิงที่เป็นแม่เป็นปากเป็นเสียงให้ลูกชาย ภรรยาเป็นปากเป็นเสียงให้สามีในการเรียกร้องความยุติธรรม เนื่องจากผู้ชายเมื่อลุกขึ้นมาทำตรงนี้อาจตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกร้ายได้ ผู้หญิงจึงเป็นเสียงที่เรียกความเห็นใจได้มากกว่าผู้ชาย คือพลังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นผู้หญิง” นางโซรยา กล่าว

 

ปรับกระบวนทัศน์เชิงอำนาจทางกฎหมาย

นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) วิจารณ์ว่า คดีของก๊ะคำนึงเหมือนกับคดีเชอรี่แอน ดันแคน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่คนที่ตกเป็นเหยื่อได้นำประสบการณ์จากคดีมาช่วยเหลือคนอื่น จนทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ นำไปสู่การปรับกระบวนการทัศน์ใหม่ในกระบวนการยุติธรรมถึง 10 กระบวนทัศน์

“การปรับกระบวนทัศน์ที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรของรัฐและทัศนคติเชิงอำนาจในกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าก๊ะคำนึงเป็นหนึ่งในการปรับกระบวนทัศน์ในกระบวนการยุติธรรม”

นายกิตติ กล่าวว่า สิ่งที่ก๊ะคำนึงต้องการสะท้อนในสารคดีชุดนี้ คือ การทบทวนและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเริ่มกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการให้อำนาจมากมายในทางกฎหมายทำให้เกิดกระบวนทัศน์เชิงอำนาจ

“กฎหมายทุกฉบับเกิดขึ้นมาเพื่อต้องการรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ต้องรักษากฎหมายในเชิงบริการ การจับคนร้ายหนึ่งคน คือ ความปลอดภัยของคนอีกนับหมื่นนับพันคน แต่ทุกวันนี้คนที่มีอาวุธถือว่าตนเองมีอำนาจ ไม่ได้มองว่าเป็นการบริการ เพราะฉะนั้น ต้องสร้างสมดุลในหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์” นายกิตติ กล่าว

นายกิตติ กล่าวว่า สิ่งที่ก๊ะคำนึงสะท้อนเป็นผลดีทั้งสิ้นในเชิงของการทบทวน และการสร้างภาพของความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net