‘ชาวทวาย’ ปิดถนน กักรถ ‘อิตาเลียนไทย’ เหตุที่ดินถูกยึด ไร้ค่าชดเชย

เหตุการณ์ชาวบ้านรวมตัวปิดถนน-กักรถของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ กลุ่มท้องถิ่นในทวายแถลงเรียกร้องบริษัทฯ เร่งให้คำตอบกับชาวบ้านกรณีที่ดินถูกยึดไปจากการสร้างถนนเพื่อลดความตึงเครียดในพื้นที่ เผยสิ้นเดือนนี้หากไม่ได้รับคำตอบจะนำเรื่องฟ้องร้อง เคเอ็นยู และรัฐบาลไทย-พม่า
 
การจัดแถลงข่าวที่เมืองทวาย เมื่อวันที่17ก.ย.56
 
วันที่ 17 ก.ย.56 กลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development – CSLD) ร่วมกับ สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) จัดแถลงข่าว เรื่อง “ความไม่เป็นธรรม และความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับค่าชดเชยของ บจม.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ที่สำนักงานของสมาคมพัฒนาทวาย ณ เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของพม่าโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน
 
 
VDO สั้นเกี่ยวกับการปิดถนนเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา 
 

 
 
หลังจากเมื่อวันที่ 9 ก.ย.56 ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่เชื่อมโยงระหว่างโครงการกับประเทศไทยที่ จ.กาญจนบุรีจากได้รวมตัวกันปิดถนนและกักรถของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไว้เป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากไม่พอใจที่ทางบริษัทไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อทรัพย์สินและที่ดินที่ถูกยึดไปจากการสร้างถนน แม้ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านจะไม่ได้ยินยอมในข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการของการจ่ายค่าชดเชยก็ตาม แต่ทางบริษัทก็เคยสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้หลังจากการประเมินพื้นที่ผลกระทบนั้นเสร็จสิ้น แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
 
ทางกลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา CSLD ได้ยืนกรานเรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ให้คำตอบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความตึงเครียดในพื้นที่ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ บริษัทฯ และหากไม่ได้รับคำตอบจากบริษัทฯ ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ชาวบ้านจะสร้างรั้วกั้นถนนและปลูกต้นไม้ในที่ดินเดิมของพวกเขา และจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู รวมถึงรัฐบาลพม่า และรัฐบาลไทย ด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.56 ที่ผ่านมา ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการทวาย ประเทศพม่า ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในโครงการนี้ด้วย
 
ขณะที่สมาคมพัฒนาทวายให้ข้อมูลว่า โครงการทวายจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวทวายกว่า 83,000 คน ในบริเวณ 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ 204.5 ตร.กม. ของการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายในเขตนาบูเล่ ซึ่งมีประชากร 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ใน 21หมู่บ้าน ที่จะต้องถูกอพยพ 2.หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งมีแผนก่อสร้างเขื่อนที่แม่น้ำตะลายยาร์ มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน ที่จะต้องถูกอพยพ และ 3.พื้นที่ก่อสร้างถนนระยะทาง 132 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับบ้านพุน้ำร้อนของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 50,000 คนที่จะได้รับผลกระทบ
 
ชาวบ้านระบุว่า ตั้งแต่บริษัทเข้ามาปักหลักในพื้นที่ พวกเขาก็เริ่มประสบกับความยากลำบากในการทำมาหากิน และไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติดังเดิม เช่น ไม่สามารถจะปลูกพืชผลตามฤดูกาลได้ ถูกจำกัดพื้นที่เพาะปลูก หรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โครงการว่าให้ย้ายไปปลูกที่อื่น ถนนของหมู่บ้านถูกรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลาจนสภาพใช้การไม่ได้โดยเฉพาะในหน้าฝน ส่วนในหน้าแล้งก็เกิดปัญหาฝุ่นคลุ้งตลบไปทั่ว และทางบริษัทมักไม่ใส่ใจที่จะมาปรับปรุงซ่อมแซมให้ชาวบ้าน ในขณะที่แหล่งน้ำของชุมชนก็ถูกทำลายจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้
 
ชาวบ้านทวายปิดถนน
ภาพโดย: DDA
 
ทั้งนี้ โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นโครงการที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 บนพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ที่เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่า อายุสัมปทาน 60 ปี โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค และระบบขนส่งที่เชื่อมโยงมายังประเทศไทย ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้จัดตั้ง บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินงาน แต่ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างและการระดมทุน ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 127,000 ล้านบาท
 
ปัจจุบันรัฐบาลไทย ได้วางแผนการสนับสนุนโครงการด้วยการจัดตั้ง บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด ในรูปแบบของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ของไทย ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า เพื่อบริหารโครงการ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ 81 เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางจากทวายสู่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย
 
ภาพมุมสูงโครงการทวาย
ภาพโดย: TERRA
 
แถลงการณ์ ของกลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development – CSLD)
 
 
คณะกรรมการ วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา CSLD (ชุมชนกามองตวย)
 
แถลงการณ์
 
ความไม่เป็นธรรม และความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับค่าชดเชยของ บจม. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
 
วันที่ 17 กันยายน 2556
 
กลุ่มท้องถิ่นในนาม วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development – CSLD) เรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ (ITD) ตอบสนองอย่างทันที เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับ 38 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่าง ทิกะดอน (Thitgadon) และมยิตตา (Myitta) ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 และถือเป็นโครงสร้างหลักของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย
 
โดยปราศจากหลักการยินยอมที่ได้รับบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนในพื้นที่หมู่บ้านมยิตตา พินทาเตา และตะบิวชอง ตั้งแต่ปี 2553 และได้ทำลายต้นหมาก ยางพารา และมะม่วงหินมพานต์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน
 
ที่ดินของชาวบ้านถูกยึดไปอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อการก่อสร้างถนน ซึ่งมันได้ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านในหลายชุมชน เช่น มยิตตา พินมาเตา กาตองนี ตะบิวของ เยโบค คาเล็ทจี และทิกะดอน มาตั้งแต่ปี 2553 แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ได้ยินยอมพร้อมใจในข้อตกลงเกี่ยวกับค่าชดเชย แต่ทางบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ได้สัญญาว่า จะจ่ายค่าชดเชยนั้นให้หลังจากการประเมินพื้นที่ผลกระทบนั้นเสร็จสิ้น แต่บริษัทก็ไม่ได้รักษาสัญญานั้น
 
การประชุมเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้นหลายครั้งในปี 2556 และทางบริษัท อิตาเลียนไทย ได้จ่ายค่าชดเชย (111) แยกต่างหากให้กับเจ้าของสวนยางพารา อย่างไรก็ตาม บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไม่ได้จ่ายเงินค่าชดเชยที่เหลือให้กับชาวบ้านอีก 38 คน และไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอนที่กำหนดขึ้นอย่างโปร่งใสสำหรับการจ่ายค่าชดเชยที่เหลือ  เจ้าของสวนบางคนไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ เพราะบริษัทไม่ได้นับต้นไม้ในสวนของพวกเขาที่ถูกทำลายไปโดยการก่อสร้างถนนตั้งแต่ปี 2553
 
ดังนั้น ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากหมู่บ้านตะบิวชองจึงได้เรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ตอบคำถามให้ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการจ่ายค่าชดเชย และเพื่อที่จะเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะเกี่ยวกับข้อวิตกกังวลของพวกเขา ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ชาวบ้านจึงได้กักรถยนต์ของ บริษัท อิตาเลียนไทย จำนวน 3 คันไว้ และได้ปล่อยไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556
 
จนถึงขณะนี้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับชาวบ้าน ดังนั้น กลุ่มท้องถิ่นในนาม วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา – CSLD จึงขอเรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ให้คำตอบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะลดความตึงเครียดระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ในอนาคต
 
พวกเราเชื่อว่า การพัฒนาโครงการไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ หากปราศจากการยินยอมและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
 
 
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
 
-      โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์  โดย วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ - ถอดความจากการเสวนาวิชาการเรื่อง“โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์” จัดโดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556
 
-      จากมาบตาพุดสู่ทวาย: การพัฒนาหรือทำลายข้ามพรมแดน (หนังสือ) โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เมษายน 2556
 
 
-      Facebook: Dawei Watch Thailand  https://www.facebook.com/DaweiWatchThailand
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท