Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนาของกลุ่มคนทำสื่อภาคประชาชนคุยเรื่องสันติภาพ แนวทางและความหวังของประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้

ห้วงกระแสสันติภาพปาตานีที่กำลังดำเนินอยู่ท่ามกลางการตื่นรู้ของพลเมือง 3 จชต. และ 4 อำเภอสงขลา นับเป็นแสงของปลายอุโมงค์ที่เต็มไปด้วยความมืดมิดแห่งความรุนแรงซึ่งยังซ่อนเร้นไปด้วย "ปริศนา" ที่ผู้ขับเคลื่อนสันติภาพจำเป็นจะต้องค่อยๆคลี่คลาย อย่างไรก็ตามแต่ ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนในส่วนภาคพลเมืองปาตานีไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนักหากมองในมิติชุมชน ชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของการจัดวงเสวนาคาเฟ่ จากปาตานี ถึงสันติภาพ ใคร ? ทำอะไร ? ยังไง ? เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นการร่วมจัดโดย ปาตานี ฟอรั่ม กลุ่มสื่อ FT Media มีเดียสลาตันเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ และร้านหนังสือบูกู ซึ่งร่วมสนทนาโดยคนขับเคลื่อนสันติภาพที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชน อาทิ แวหามะ แวกือจิ ผอ.สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บก.อาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ( DSJ ) ดำเนินรายการโดย สะรอนี ดือเระ บก.โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ทั้งนี้มีการถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุมีเดีย ครอบคลุมพื้นที่ 3 จชต.และ 4 อำเภอสงขลา
 
 
เริ่มต้นรู้จัก มีเดียสลาตัน สื่อกลางของคนปาตานี

แวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน กล่าวว่า หัวข้อในการพูดคุยสนทนาในวันนี้น่าสนใจมาก ผมเลยคิดดูว่าถ้าหากหัวข้อน่าสนใจอย่างนี้ ประเด็นก็คือ ผู้รับฟังและผู้เข้าร่วมเสวนา น่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก คำถามที่ว่า เราคือใคร ? ทำไร ? ยังไง ? ซึ่งได้ตั้งคำถามได้โดนใจมาก เพราะว่าคำว่าปริศนา คำๆนี้ เมื่อกล่าวขึ้นมาใครๆที่ได้ยินเขาก็ต้องการที่จะอยากรู้และทุกคนก็อยากจะเข้าใจ ถ้าไม่มีคำว่าปริศนาก็ต้องมีคำอื่นแทน แต่เมื่อมีคำนี้ เราทุกคนก็ชอบที่จะตอบคำถามที่ว่านี้ด้วย
 
แวหามะ เริ่มเล่าความเป็นมาของมีเดียสลาตันโดยสรุปว่า มีเดียสลาตันเป็นองค์กรสื่อเล็กๆที่ขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพ ถือว่าเป็นประเด็นหลักที่มีเดียสลาตัน ขับเคลื่อนอยู่ มีเดียสลาตัน เดิมที่ชื่อ ร่วมด้วยช่วยกัน แต่มาปี 2550 มีการปรับปรุงบริบทและโครงสร้างของสถานี เปลี่ยนมาเป็นชื่อที่เรียกว่า ร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน และเมื่อปี 2552 ร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน ก็ได้เปลี่ยนมาจดทะเบียนเป็น นิติบุคคล โดยใช้ชื่อว่า มีเดียสลาตัน จนถึงปัจจุบัน ส่วนไฮไลท์ของสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน นั้นคือ รายการโลกวันนี้ ( Dunia Hari ini ) ซึ่งถ่ายทอดเสียงให้ท่านผู้ฟังทางบ้านได้รับฟังกัน ในช่วงเวลา 20.30 น. – 22.30 น. ถือว่ามีเสียงตอบรับรายการของเราอย่างดีจากพี่น้องที่รับฟังทางบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมเอง
 
“มีเดียสลาตันเริ่มภารกิจ เมื่อปี 46 ตอนนั้นเราเช่าวิทยุ มอ.ปัตตานี วันล่ะ 2-3 ชั่วโมง อยู่มาประมานหนึ่งปีก็มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ปีเล็ง จ.นราธิวาส ทางสำนักข่าวหรือบริษัท INN ที่เราทำงานอยู่ในขณะนั้นมีความเห็นว่าสื่อในพื้นที่จะต้องควบคุ้มงานหรือสื่อสานได้ทุกพื้นที่ เราก็เลยย้ายจาก สถานีวิทยุ มอ.ปัตตานี มาจับสื่อ กวส.7 เป็นแม่ข่ายที่ยะลา และลิงค์สัญญาณไปที่ กวส.6 ที่จังหวัดนราธิวาส พร้อมกับวิทยุของกองทัพภาค 4 จังหวัดปัตตานี ทำให้ควบคุ้มพื้นที่ในการสื่อสารมากขึ้น”
 
“บริบทการทำงานในขณะนั้น มีด้วยกัน 3 อย่างคือ ในด้านการแก้ไขปัญหา ประเด็นความหวาดระแวง ประเด็นความไม่รู้ในข้อเท็จจริงจากข่าวลือ และประเด็นความยากจน 3 ประเด็นที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่เราขับเคลื่อนในเวลานั้น แต่เราก็ยังมีความคิดที่จะทำอีกประเด็นหนึ่งเช่นกัน คือ ประเด็นความยุติธรรม แต่ไม่สามารถทำได้กับการที่ทางเราไม่พร้อมเกี่ยวกับองค์ความรู้และทัพยากรบุคคล”
 
“ช่วงปีแรกที่เราขับเคลื่อนโดยใช้สื่อนั้น ผมคิดว่ามันเป็นการปฏิวัติสื่ออีกด้านหนึ่ง เพราะว่าเราใช้ภาษาทั้งสอง คือ ภาษามลายูกับภาษาไทย ควบคู่ไปด้วนกัน จึงทำให้คลีคลายความสงใสและความไม่ไว้วางใจกันได้ เพราะผมคิดว่าประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารกว่า 80 % แต่เราก็ไม่ได้ละเลยภาษาไทยเช่นกัน เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์ในข้อที่ว่า คลีคลายความหวาดระแวงต่อกัน 3-4 ปีที่ผ่านมาเราไม่ใช่แค่จัดรายการวิทยุเพียงอย่างเดียวแต่เราก็ยังมีกิจกรรมเยี่ยมชุมชน ร่วมด้วยช่วยกันยังมีสมาชิกที่ร่วมขับเคลื่อนในขณะนั้น ราว 4,000 กว่าคน จากประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดและอีกสีอำเภอจังหวัดสงขลา”
 
“ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนมาจนถึงปี 52 ขณะนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนกลาง คือ สำนักข่าว INN บทบาทของ ร่วมด้วยช่วยกันในขณะนั้นต้องยุติลง จากการที่สำนักข่าว INN ส่วนภูมิภาคต้องปิดลง ส่งผลให้ร่วมด้วยช่วยกัน ต้องยุติบทบาทในพื้นที่สามจังหวัด แต่เราโชคดีที่มีสมาชิก ร่วมด้วยช่วยกันจึงเรียกสมาชิกมาร่วมประชุมด้วยกัน เพื่อที่จะแจ้งให้สมาชิกรับรู้ในสิ่งที่เราประสบอยู่ ในเรื่องที่เราต้องยุติบทบาทเกี่ยวกับการถ่ายทอดรายการของร่วมด้วยช่วยกัน ปรากฏว่าสมาชิกทุกคนไม่ยินยอมให้สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันยุติบทบาทลง ประกอบไปด้วยการมีกฎหมาย รองรับ พ.ร.บ. วิทยุชุมชน จึงทำให้สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันยังคงรักษาสถานะอยู่”
 
ก้าวที่ยาก และก้าวที่ยั่งยืนของสื่อสันติภาพในพื้นที่

แวหามะ อธิบายว่า การที่สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันเกิดขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เพราะเงินบริษัทใดหรือเงินของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเพราะการเรี่ยไรเงินจากมูลสมาชิกที่มีอยู่ ผลสืบเนื่องมาจากการประชุมในครั้งนั้น ที่มีมติให้สถานีร่วมด้วยช่วยกันมีบทบาทต่อในพื้นที่ ทางสถานีเลยมีการระดมทุนเพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุขึ้นแห่งแรกที่จังหวัดยะลา ที่มีคลื่น 96.25 FM วันนั้นผมถือว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของสื่อวิทยุชุมชนเลยที่เดียว ที่มีการระดมทุนได้ 300,000 กว่าบาท ในช่วงกว้าแรก เรานำเงินที่ได้มานั้นเปิดสถานีและส่วนค่าใช้จ่ายที่เราต้องการที่ใช้จ่ายเพื่อการจัดการภายใน เราก็ได้ไปกู้ยืมเงินมาจนกระทั้งก็เกิดสถานีแห่งแรกขึ้นมาได้
 
แวหามะเล่าต่อว่า ภายหลังจากนั้นต่อมาก็ได้เปิดสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันที่จังหวัดปัตตานี มีคลื่น 91.50 FM ส่วนที่จังหวัดนราธิวาสนั้นยังไม่มีทุนที่จะตั้งสถานี เลยจำเป็นต้องเช่าสถานีเครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่ไปก่อน ทั้งนี้มีเดีย ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนามชื่อใหม่คือ สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน แต่ในความเป็นร่วมด้วยก็ยงคงอยู่บ้างคนก็รู้จักในนามสถานีวิทยุร่วมด้วยและมีบ้างคนรู้จักในนามมีเดียสลาตัน แต่ภารกิจหรือเป้าหมายนั้นคือ อันเดียวกัน หมายถึงยังเป็นสื่อในการเปิดพื้นที่กลางให้พี่น้องในพื้นที่สามารถสื่อสารได้ทุกเรื่อง เพราะสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน(ในช่วงนั้น)ไม่ได้ขับเคลื่อนเฉพาะประเด็นสันติภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังขับเคลื่อนในประเด็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานประเด็นความลำบากของพี่น้องประชาชนเราก็ไม่ละเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ ถ้าพี่น้องประชาชนยังมีความลำบากอยู่ สันติภาพก็ยังหางไกล
 
แวหามะ กล่าวอีกว่า การเปิดพื้นที่เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมานั้นซึ่งเป็นการตกลงทำ MOU ระหว่างรัฐไทย (สมช.)นำโดย พล. ท. ภราดร พัฒนถาบุตร กับขบวนการ BRN นำโดยอุสตะห์ฮาซัน ตอยิบ มาวันที่ 1 มีนาคม 2556 เรามีการนัดประชุมโต๊ะข่าวด่าน จากขณะทำงานของมีเดียสลาตันทั้งหมด ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้แก่พี่น้องประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับการพูดคุยเจรจากันของทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเนื้อหาแก่นแท้ของการเจรจานั้นคืออะไร
 
“เราในฐานะสื่อในพื้นที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีบทบาทในการเปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจและเข้าถึงข้อมูล เมื่อนั่งพูดคุยกับทีมงานมีเดีย มีน้องทีมงานถามว่ามันเสียงเกินไปไหม ค่อนข้างอันตราย ผมก็ตอบว่าหากพวกเราไม่ทำแล้วจะรอให้ใครมาทำ เมื่อมติตกลงว่าวันที่ 1 มีนาคม 2556 เราได้จัดรายการโลกวันนี้ (Duia Hari Ini) ขึ้นมาเป็นวันแรกเพื่อเป็นพื้นที่ให้แก่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันจนถึงบุคคลทั่วไปเขาสามารถที่จะสื่อสารให้ผู้คนได้รับรู้ในสิ่งที่เขาคิดเพราะนี้คือพื้นที่สำหรับเขา
 
สุดท้ายทางเรา(มีเดียสลาตัน)ก็ได้ประสานพูดคุยไปยังประเทศมาเลเซียบอกแก่มาเลเซียว่า ถ้ามีเดียเป็นพื้นที่กลางจริงๆจะต้องสามารถที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้ถึงข้อมูลข่าวสารภายในและภายนอกประเทศด้วย ก็ถือว่าเป็นการโชคดีของมีเดียที่มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ อุสตะห์ฮาซัน ตอยิบ(BRN) ที่ประเทศมาเลเซีย ถือว่ามีเดียได้ก้าวกระโดดขึ้นอีกระดับหนึ่ง ที่สามารถไปพูดคุยกับบุคคลที่คิดต่างจากรัฐ แล้วมาเล่าให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับฟังเพื่อให้ได้คิดต่ออีกว่าเห็นด้วยอย่างไรกับการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็เปิดพื้นที่ให้กับภาครัฐเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐทำอยู่ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เช่นกัน ถือว่าประชาชนนั้นได้รับข้อมูลทั้งสองด้าน
 
“สำหรับหัวข้อที่สนทนา ว่า คำถามที่ว่ามีเดียคือ ใคร ? นั้น มีเดีย ก็คือสื่อในพื้นที่ทีพยายามเปิดพื้นที่ให้กับคนทุกคนและเราไม่ได้แบ่งแยกว่าเขาคนนั้นจะคิดเหมือนหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือ สันติภาพที่จะต้องเดินไปนั้นทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจตรง” ผอ.มีเดียสลาตันกล่าวทิ้งท้าย
 
“LAMPAR” ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนสันติภาพ
 
ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) เริ่มด้วยการอธิบายว่า LEMPAR มีความเป็นมาอย่างไร LEMPAR เป็นตัวย่อ มาจาก LEMBAGA PATANI RAYA UNTUN KEDAMAIN DAN PEMBANGUNAN หรือ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา โดยสอดคล้องกับองค์กร Kampar ซึ่งเป็นองค์กรในการเคลื่อนไหวในอดีต เป็นองค์กรที่เน้นงานทางด้านการทูตในการเคลื่อนไหวมากกว่าทางด้านกองกำลัง
“เราเลยสนใจพันธกิจของ Kampar ในช่วงโอกาสที่เรามองเห็นว่างานทางด้านการทูตเป็นตัวแปรสำคัญและสามารถกำหนดทิศทางทางการเมืองได้ ในประเด็นเรื่องสันติภาพ เช่นตัวอย่างที่ชัดเจน การเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียในขณะนี้ นั้นก็คืองานทางด้านการทูต เราเลยจัดตั้งกลุ่มและมีชื่อว่า สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)  เพื่อที่จะให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หรือที่เรียกว่าปัญญาชนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดท่าทีทางการทูตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชน
 
ถอดอดีต : จากนักศึกษา สู่การเป็นทูตสันติภาพปาตานี
 
ย้อนไปที่จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น LAMPAR ตูแวดานียา บอกว่า จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานขับเคลื่อนสันติภาพของ LAMPAR มาจากปรากฏการณที่ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มขบวนการนักศึกษาที่ออกมาแสดงตนและเปิดเผยตัวในรูปแบบของการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผลพวงในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษตั้งแต่ปี 2550
 
“ช่วงนั้นจะมีการชุมนุมใหญ่ที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี นักศึกษาและชาวบ้านประชาชนร่วมกันออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ถอนทหารพร้อมกับเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษทุกฉบับ และยังเรียกร้องสื่อมวลชนให้แสดงบทบาทที่เป็นกลาง ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้น ผมกับเพื่อนๆอีกหลายคนได้ถอดบทเรียนร่วมกันว่า นักศึกษาได้มามีบทบาทเคียงข้างประชาชนร่วมกันในการเรียกร้องความเป็นธรรมในรูปแบบการเมืองภาคประชาชนในที่สาธารณะ อาจจะช้าเกินไปที่เราออกมา เพราะว่าความขัดแย้งที่บานปลายมานั้น เป็นการสู้รบด้วยอาวุธระหว่างขบวนการ(BRN) ตอนนี้เรารู้ชัดเจนแล้วว่าเป็น BRN ในช่วงนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใด บ้างคนก็ว่าเป็นฝ่ายแบ่งแยงดินแดน บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ต่างๆนาๆ พวกเรานักศึกษาน่าจะออกมามีบทบาทตั้งแต่ปี 47 ด้วยซ้ำ เราออกมาในปี 50 สามปีให้หลังเกิดเหตุการณ์มากมาย เกิดตากใบ กรือเซะ การซ้อมทรมาน ต่างๆ นาๆ จากการถูกควบคุ้มตัวด้วยกฎหมายพิเศษ
“ เรารู้สึกว่าเราออกมาช้าเกินไป แต่ก็ยังดีที่ออกมา แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ออกมาเลย ซึ่งเราก็ได้ตั้งคำถามแก่ตนเองว่า แล้วทำไมเราจึงออกมาในปี 50 “
 
เป็นคำทิ้งทายในตอนที่หนึ่ง และน่าสนใจว่า มุมอื่นๆ จะเป็นอย่างไรจาก ตูแวดานียา และอีกท่านคือ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บก.อาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ( DSJ ) ที่ยังไม่ได้นำเสนอในตอนนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป……
 
 
 
ที่มา: PATANI FORUM
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net