Skip to main content
sharethis

คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะแก้ไขรธน.มาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เสนอประชาชนมีส่วนร่วม  ฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร

11 ก.ย.56 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล 

จากการพิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๐) ทั้งจากสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา190 ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

คปก. เห็นว่ามาตรา 190 มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความโปร่งใสและสร้างดุลยภาพระหว่างการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศกับการมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย มีหลักการแก้ไขเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเหมาะสมในเวลาอันควร ตลอดจนเพิ่มพูนข้อมูลและอำนาจการต่อรองให้แก่คณะผู้เจรจาในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน  ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวจึงควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศด้วย

หากพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๐) ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเสร็จ ได้เพิ่มเติมประเภทหนังสือสัญญาที่มีบทเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน  ซึ่งยังไม่ครอบคลุมเพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มการทำสนธิสัญญาเพื่อเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุนเป็นจำนวนมากในขณะเดียวกันโลกยุคปัจจุบันมีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน ดังนั้น เมื่อมีการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีบทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปซึ่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เช่น พลังงานปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ หรือทรัพยากรน้ำ เป็นต้น อาจจำเป็นต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของปวงชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมเพราะทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่ฝ่ายบริหารไปทำหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันและผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ  แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร แต่เมื่อการทำหนังสือสัญญากู้เงิน เช่น การทำหนังสือสัญญากู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การใช้คืนเงินกู้ย่อมกระทบต่อระบบงบประมาณของประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม คปก.เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องดังกล่าว

คปก.จึงเห็นว่าหากฝ่ายบริหารไปดำเนินการทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่เพื่อความร่วมมือทางวิชาการหรือการทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทยด้วย เพื่อความโปร่งใส รอบคอบ และเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ

มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสองคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย

เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในการที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป

ในกรณีที่มีปัญหาตาม วรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net