Skip to main content
sharethis

หลังจากที่มีผู้สมัครจำนวนมากในโครงการมาร์สวัน (Mars One) ซึ่งจะคัดเลือกส่งมนุษย์ไปอยู่บนดาวอังคารตลอดชีวิต รวมถึงมีการถ่ายทอดเรียลลิตี้โชว์ 24 ชั่วโมงให้คนบนโลกรับชม นักวิจัยด้านจิตวิทยาจาก ม.คาร์ดิฟฟ์ วิจารณ์ว่าโครงการนี้อาจส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เข้าร่วมในหลายด้าน เช่นเรื่องความรู้สึกถูกตัดขาดจากโลกหรือการสูญเสียความเป็นส่วนตัว


หน้าแรกเว็บโครงการ http://www.mars-one.com/en/


หนังแนะนำโครงการมาร์สวัน


เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2013 สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานถึงความกังวลต่อผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้ที่จะถูกคัดเลือกให้ไปอยู่ที่ดาวอังคารตลอดชีวิต

โดยโครงการดังกล่าวชื่อว่าโครงการมาร์สวัน (Mars One) มีเป้าหมายต้องการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารภายในอีกราว 10 ปีข้างหน้า มีผู้คนจำนวนมากสมัครร่วมโครงการ ซึ่งหลังจากเข้ารับการคัดเลือกและฝึกอบรมแล้ว จะเริ่มมีการส่งตัวนักบินอวกาศชุดแรกจำนวน 4 คนไปในปี 2022 ใช้เวลาเดินทางราว 7 เดือนเพื่อไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารอย่างถาวรเพื่อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการเอาตัวรอด ทั้งนี้ยังมีการฉายภาพการใช้ชีวิตผู้เข้าร่วมให้ผู้ชมบนโลกได้ชมในรูปแบบเรียลลิตี้ทีวี

โครงการดังกล่าวเป็นของมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรลูกของบริษัทอินเตอร์แพลนเนตทารี่มีเดียกรุ๊ป อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ยังคงแสดงความกังขาต่อโครงการนี้ โดยไบรอัน มิวร์เฮด หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมขององค์การนาซ่ากล่าวว่า แม้โครงการมาร์วันจะมีความน่าสนใจ แต่ยังถือเป็นเรื่องที่เกินกำลังในปัจจุบัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบของธุรกิจ ความเป็นไปได้ในทางเทคนิค และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากกัมมันตรังสี

ขณะเดียวกันคริส แชมเบอร์ส นักวิจัยจากสาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ได้กล่าวถึงผลกระทบด้านจิตใจที่จะเกิดกับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแม้ว่าโครงการมาร์วันจะอ้างว่ามีการปรึกษาเรื่องแผนการกับนักจิตวิทยาผู้ชำนาญการ แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน และถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าคุณสมบัติต่างๆ จำเป็นอย่างไรและมีการวัดผลอย่างไร

แชมเบอร์ส ยังได้กล่าวถึงงานวิจัยที่บอกว่าลักษณะของโครงการมีโอกาสส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้เข้าร่วมหลักๆ 4 ประการคือเรื่อง การถูกตัดขาดจากสังคม, การถูกจำกัดอาณาเขต, การสูญเสียความเป็นส่วนตัว และการขาดบริการด้านสุขภาพจิต


การถูกตัดขาดจากสังคม

แชมเบอร์ส กล่าวถึงเรื่องการถูกตัดขาดจากสังคมว่า การขึ้นไปอยู่บนดาวอังคารซึ่งมีระยะห่างจากโลกจะทำให้ไม่สามารถติดต่อกับคนบนโลกได้ตามเวลาจริง โดยการส่งผ่านข้อมูลจะมีความล่าช้าอย่างต่ำ 10 นาที ผู้เข้าร่วมจะมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้อาศัยบนดาวอังคารด้วยกันเท่านั้น ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 3 คนในช่วง 2 ปีแรก เป็น 23 คนในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น

สภาพดังกล่าวนี้หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานมีโอกาสทำให้ผู้เข้าร่วมมีอาการของโรคซึมเศร้า, นอนไม่หลับ, เหนื่อยล้า, วิตกกังวล, เบื่อหน่าย และอารมณ์ไม่คงที่ แชมเบอร์สชี้ว่าแม้กระทั่งนักบินอวกาศที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีก็ยังมีความรู้สึกถูกตัดขาดจากสังคมแม้จะรู้ว่าเขาจะได้กลับบ้าน

ศ.นิค คานาส ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบทางจิตจากการสำรวจอวกาศซึ่งได้รับทุนจากนาซ่าได้เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อผู้สำรวจอวกาศอยู่ห่างจากโลกก็มีโอกาสเกิดความรู้สึกถูกตัดขาดจากสังคมและอาจรุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

แม้ทางโครงการจะอ้างว่าพวกเขาจะคัดเลือกคนที่ "ทัศนคติ" ซึ่งจะสามารถป้องกันปัญหาได้ แต่แชมเบอร์ส มองว่าการอ้างเรื่องทัศนคติเป็นการมองอย่างไร้เดียงสาเกินไป ทางที่ดีโครงการมาร์สวันควรตอบปัญหาให้ได้ว่าพวกเขาจะใช้วิธีการใดจัดการกับปัญหาด้านจิตใจที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ต้องอยู่บนดาวอังคารโดยรู้ตัวว่าจะไม่ได้กลับบ้านอีก และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบอาการเหล่านี้


การถูกจำกัดอาณาเขต

แชมเบอร์สกล่าวว่าผู้เข้าร่วมโครงการชีวิตบนดาวอังคารอย่างน้อยร้อยละ 80 จะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งมีขนาดราวห้องนอนสองห้อง เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตบนโลกแล้วการถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เล็กๆ เป็นเวลานานจะทำให้เกิดปัญหาคล้ายกับการถูกตัดขาดทางสังคม เช่น โรคซึมเศร้า, ความวิตกกังวล ,ความบกพร่องของระบบการคิด และอาการอื่นๆ


การสูญเสียความเป็นส่วนตัว

โครงการมาร์สวัน มีแผนการให้คนบนโลกสามารถเฝ้าดูชีวิตบนดาวอังคารของผู้เข้าร่วมโครงการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยก่อนหน้านี้แชมเบอร์สก็เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการถูกเฝ้าจับตามอง (surveillance) บอกว่าเป็นเหตุของความเครียด, ความเหนื่อยล้า, ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า ซึ่งโครงการมาร์สวันได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเรียลริตี้ทีวี ทำให้แผนการฉายภาพชีวิตของคนบนดาวอังคารต้องดำเนินต่อไป


ขาดบริการด้านสุขภาพจิต

แชมเบอร์สบอกว่าสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการที่ไม่มีบริการด้านสุขภาพจิตเช่นการให้คำปรึกษาและการทำจิตบำบัดอย่างทันท่วงที งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าการใช้โปรแกรมจำลองทำจิตบำบัดในคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ Deprexis ให้ผลดีต่อการรักษาโรคซึมเศร้า แต่ส่งผลแค่เพียงร้อยละ 50 เท่านั้นเมื่อเทียบกับการรักษาตามปกติ ซึ่งผู้ไปอยู่ดาวอังคารมีโอกาสประสบปัญหาทางจิตหลายอย่างมากกว่าเรื่องโรคซึมเศร้า การใช้โปรแกรมอัตโนมัติจีงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

"มาร์สวันอาจจะถือว่าเป็นโครงการที่กล้าหาญและเชี่ยวชาญในการสื่อ แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องทางจิตวิทยาเลย" แชมเบอร์สกล่าว เขาบอกอีกว่านอกจากเรื่องจิตวิทยาแล้ว ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องยารักษาโรคแผนปัจจุบัน, เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ, การตั้งครรภ์, การเลี้ยงดูลูก, การแก่ชราและเสียชีวิต รวมถึงความรู้สึกสะเทือนใจที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้คนบนโลกเมื่อได้เห็นโศกนาฏกรรมถูกฉายบนดาวอังคาร

 


เรียบเรียงจาก
Mars One: The psychology of isolation, confinement and 24-hour Big Brother, The Guardian, 09-09-2013
http://www.theguardian.com/science/head-quarters/2013/sep/09/neuroscience-psychology

โครงการมาร์สวัน
http://www.mars-one.com/en/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net