บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (6) :ในยามถูกเนรเทศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นอกจากนั้น ศรีบูรพายังเคยมีหนังสือรวมเรื่องสั้นแปลอีกเล่มหนึ่งน่าสนใจ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับภริยานักแปลคือ "จูเลียต" ในชื่อ "ในยามถูกเนรเทศ" โดยบรรณาธิการ "รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน" ซึ่งมีเรื่องเด่นของ "แอนตัน เชคอฟ" นักเขียนเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมชาวรัสเซีย ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงสภาพของคนต้องโทษถูกเนรเทศไปสู่อีกแดนหนึ่ง และแสดงความใฝ่ฝันชีวิตที่หมดจดกว่าและเป็นสุขกว่าชีวิตเก่าๆ และสุดท้ายเขาถูกควบคุมไว้ ณ โรงพยาบาลบ้า

การแปลเรื่องนี้ของศรีบูรพาอาจต้องการซ่อนนัยยะบางอย่างที่แฝงเร้นอยู่ในช่วงที่ตกอยู่ในสภาพความรู้สึกไม่ต่างจากตัวละคร เพื่อสะท้อนช่วงชีวิตที่ศรีบูรพาและภริยาเคยมีสภาพต้องห่างผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนนั้นจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตเร่ร่อนจากผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งศรีบูรพาก็มิอาจบรรลุ "ความใฝ่ฝัน" สูงสุดที่เขาปรารถนาได้
 
สำนวนแปลตอนหนึ่งของ "ศรีบูรพา" ได้บรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครช่วง "ถูกเนรเทศ" ได้จับใจและแสดงถึงอารมณ์หวนหาบ้านเกิดเมืองนอนได้ดีว่า
 
"เจ้าหนุ่มเงยหน้าขึ้นชำเลืองดูฟ้า ในท้องคัคนานต์นั้นก็มีดวงดาวระยิบระยับเช่นเดียวกับที่บ้านของเขาและความมืดนั้นเล่าก็ละม้ายแม้นกัน แต่ก็มีอะไรบางอย่างที่ขาดไป ที่บ้านในมณฑลซิมบิรส์นั้น ดวงดาวและท้องฟ้าแตกต่างกว่าที่นี่มาก..."
 
สำหรับผู้มีชีวิตเร่ร่อนรอนแรมอยู่ในต่างแดนนั้น "ดวงดาวและท้องฟ้า" ไหนเล่าที่จะสุกสกาวเท่าบนฟากฟ้าผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งต่างหวังจะยึดเป็น "เรือนตาย" ...แม้จะเป็นผืนฟ้าเดียวกันก็ตาม
 
และแม้ศรีบูรพาและครอบครัวจะได้รับการดูแลอย่างที่อาจเรียกได้ว่า "ดีที่สุด" จากรัฐบาลอีกประเทศหนึ่ง หากเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวจีนทั่วไปในเวลานั้นก็ตาม
 
 
ศรีบูรพาในวงวิชาการจีน
 
นามของศรีบูรพาในหมู่ชาวจีนทั่วไปนั้นอาจเป็นสิ่งที่ไกลตัวและไม่คุ้นเคย แต่เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับคณาจารย์ชาวจีนแห่งภาคภาษาไทยของมหาวิทยาลัยบางแห่งก็มักจะตอบว่ารู้จักชื่อนี้ดีจากการศึกษาผลงานทั้งในห้องเรียนในประเทศจีน ประเทศไทย และการศึกษาด้วยตนเอง
 
รวมถึงการรู้จักการนำผลงานเด่นบางเรื่องของศรีบูรพาไปเป็นบทเรียนแก่นักศึกษาจีนที่ศึกษาด้านภาษาไทยอีกด้วย
 
รวมถึงการศึกษาผลงานนักเขียนไทยอื่นๆ เท่าที่จะเสาะแสวงหาได้ ดังที่มักจะปฏิบัติสืบต่อมาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีน ซึ่งมีการเปิดสอนด้านภาษาไทย เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง มหาวิทยาลัยกวางตุ้ง มหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น
 
สถาบันด้านภาษาไทยในจีนหลายแห่งมักจะนำเอาผลงานนักเขียนเด่นของไทยหลายท่านไปเผยแพร่ให้นักศึกษาจีนที่ศึกษาภาษาไทยได้ศึกษาเพราะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาทั้งด้านการใช้ภาษาไทยและการศึกษาสังคมไทย ดังคำกล่าวที่ว่า "วรรณกรรมคือกระจกสะท้อนสังคม" นั่นเอง
 
ผลงานดังกล่าวนั้น มักจะเป็นผลงานนักเขียนที่โดดเด่นในประเทศไทยหรือเคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมของไทยในช่วงนั้น
 
เช่นที่ยังคงปรากฏให้เห็นในเวลานี้จากหลายสถาบันคือ ผลงานเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง "ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่อง "จดหมายจากเมืองไทย" ของ "โบตั๋น" เรื่อง "เขาชื่อกานต์" ของ สุวรรณี สุคนธา และเรื่อง "ปูนปิดทอง" ของ กฤษณา อโศกสิน เป็นต้น
 
ผลงานดังกล่าวนี้ ดังได้ปรากฏบางส่วนอยู่ในตำราการสอนวิชาภาษาไทยพื้นฐานและภาษาไทยขั้นสูงที่ยึดเป็นหลักการเรียนการสอนภาษาไทยสืบทอดมาหลายรุ่นของคณาจารย์ด้านภาษาไทยชาวจีนจากมหาวิทยาลัยบางแห่งทั่วประเทศ
 
เช่น ศาสตราจารย์พัน เต๋อติ่ง นักวิชาการอาวุโสด้านไทยศึกษาชาวจีนแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นต้น ก็ได้เคยอ้างถึงผลงาน ศรีบูรพา และนักเขียนไทยเหล่านี้ไว้ในตำราภาษาไทยของเขา เช่น เรื่อง "จดหมายจากเมืองไทย" เป็นต้น
 
นักวิชาการจีนจากมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสีก็ได้เคยเรียบเรียงตำรา แปล และวิจัยด้านภาษาไทย โดยอ้างอิงถึงผลงานประพันธ์ไทยบางเล่ม เช่น "ข้างหลังภาพ" "สี่แผ่นดิน" "ปูนปิดทอง" และ "คำพิพากษา" เป็นต้น รวมถึงการนำวรรณคดีไทย ตำนานหรือนิทานสอนใจต่างๆ ไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในห้องเรียนภาษาไทย
 
มีนักวิชาการไทยศึกษาชาวจีนแห่งภาคภาษาไทยของมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในจีนท่านหนึ่งเคยกล่าวกับผู้เขียนว่า
 
"ส่วนหนึ่งที่วรรณกรรมไทยในจีนสมัยนั้นมีจำกัด ซึ่งเป็นเหตุให้นักศึกษาจีนแห่งภาคภาษาไทยขาดแคลนหนังสือเรียนก็เพราะว่าระบบสังคมและการเมืองระหว่างไทย-จีนในยุคนั้นที่ทำให้ขาดแคลนตำราที่เพียงพอ"
 
ภาวะ "ขาดแคลนตำรา" ดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นก่อนที่ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะไปเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีนด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2517 นั่นเอง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท