Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ปัญหาวัฒนธรรมการเรียนรู้พุทธศาสนาในบ้านเราคือการเรียนรู้แบบท่องจำตามตำราที่เรียบเรียงหรือแต่งขึ้นตามคัมภีร์อรรถกถา และพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดิมตามคัมภีร์อรรถกถาที่ตีความพระไตรปิฎกมาแล้วอีกชั้นหนึ่ง การเรียนรู้เช่นนี้มีลักษณะจับฉ่าย ท่องจำหัวข้อธรรมะเป็นข้อๆ หรือเป็นชุดๆ ที่กระจัดกระจาย ไม่เชื่อมโยง คนมีความรู้พุทธศาสนาคือคนที่จำหัวข้อธรรมะเป็นข้อๆ เป็นชุดๆ แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของธรรมะเหล่านั้นให้เห็นความเป็นเอกภาพของเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ คุณค่า และจุดหมายของชีวิตได้ชัดแจ้ง
 
พูดตรงๆคือเรียนรู้พุทธพุทธศาสนาไปแล้วไม่ได้ช่วยให้เข้าใจวิธีคิด หรือโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธที่สามารถประยุกต์กับสภาพปัญหาสังคมร่วมสมัยและความรู้สมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นอกจากนี้การเรียนแบบท่องจำอย่างขาดการวิเคราะห์วิพากษ์ ทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ แม้จะมีความรู้ทางพุทธศาสนา แต่แยกไม่ออกแม้กระทั่งว่าอะไรคือเรื่องราวเชิงตำนาน อะไรคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จึงมีความพยายามจะยืนยันเรื่องราวเชิงตำนานให้ผู้คนยอมรับเสมือนว่าเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ดังคำอธิบายของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี เมื่อถูกถามถึงเรื่องราวเชิงตำนานว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าวจริงหรือ ว่า
 
การที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าเกิดมาเดินได้ 7 ก้าว มันเป็นไปได้อย่างไร อาตมาก็มีคำตอบให้...อาตมาก็ต้องถามกลับว่าดูอย่างวัวสิ มันเกิดมาภายใน 1 ชั่วโมง ลุกขึ้นยืน ดูดนมแม่แล้ววิ่งได้เลย ทำไมไม่ไปตั้งคำถามกับวัวบ้าง หรือแม้แต่หมาที่โยมเอามาถวายอาตมา วันหนึ่งมันกระโดดจากตลิ่งแล้วว่ายข้ามไปฝั่งโน้นได้ อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเดินได้ทันทีของวัวและการว่ายน้ำได้ทันทีของหมา สิ่งนั้นเราเรียกว่า "ศักยภาพ" พระโพธิสัตว์ทุกองค์มีศักยภาพเหนือมนุษย์ ถามว่าทำไมทรงมีศักยภาพเหนือมนุษย์ ก็เพราะว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาแล้วตั้งกี่ชาติภพ คนที่บำเพ็ญบารมีมาอย่างนั้นพอถึงชาติสุดท้ายเกิดปุ๊บก็เดินได้เลย ทำไมจะทำไม่ได้ มันไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าเดินได้ 7 ก้าว แต่เป็นเพราะท่านฝึกมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ฉะนั้นเกิดมาปุ๊บท่านก็เดินได้เป็นธรรมดา
(นิตยสาร Way สิงหาคม 2556 หน้า 77)
 
คนที่ผ่านการเรียนรู้วิชาตรรกวิทยาเบื้องต้นย่อมรู้ว่าการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบของต่างประเภทกันเพื่อสรุปว่าเหมือนกัน ย่อมเป็น “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) เพราะไม่สมเหตุสมผล (invalid) หรือใช้ไม่ได้ ในกรณีนี้ผู้ถามรู้อยู่แล้วว่าธรรมชาติของมนุษย์กับวัวนั้นต่างกัน เขาจึงไม่คิดแบบท่าน ว.วชิรเมธีว่า “ทำไมไม่ไปตั้งคำถามกับวัวบ้าง” เพราะเขารู้ว่าการเกิดมาแล้วเดินได้ทันทีเป็นธรรมชาติของวัว ไม่ใช่ธรรมชาติของคน เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นคนแต่เรื่องราวเชิงตำนานเล่าว่าเกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าวทันที คนเขาก็เห็นว่าผิดธรรมชาติของคน เขาจึงตั้งคำถาม
 
แต่คำตอบที่ว่า การเกิดมาแล้วเดินได้ทันทีเป็นศักยภาพของวัว หรือว่ายน้ำได้ทันทีเป็นศักยภาพของหมา พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีมามากนับภพชาติไม่ถ้วนเกิดมาแล้วก็มีศักยภาพเดินได้ทันทีเหมือนกัน ไม่เห็นแปลกเพราะวัวและหมาก็ยังทำได้ คำอธิบายทำนองนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าตกลงพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีมามากเพื่อจะมีศักยภาพแบบวัวและหมาอย่างนั้นหรือ ศักยภาพแบบนี้มีความหมายอะไรต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ นี่คือตลกร้ายของคำอธิบายที่พยายามยืนยันเรื่องราวเชิงตำนานให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์
 
อย่างไรก็ตาม ปราชญ์ทางพุทธศาสนาท่านอื่นๆ มักอธิบายเรื่องราวเชิงตำนานว่าเป็นวิธีการเล่าเรื่องของปราชญ์โบราณที่นิยมผูกเรื่องราวเหนือธรรมชาติเพื่อสื่อความหมายบางอย่างทางศาสนา เพราะคนในสมัยนั้นชอบเรื่องทำนองนี้ แต่การผูกเรื่องของปราชญ์โบราณก็มีจุดประสงค์เพื่อซ่อน “ปริศนาธรรม” เอาไว้ เช่นท่านพุทธทาสอธิบายปริศนาธรรมนี้ว่า การเดินได้ 7 ก้าวใน “ภาษาธรรม” (ธรรมาธิษฐาน) หมายถึงธรรมะที่ทำให้ตรัสรู้เป็นพุทธะคือโพชฌงค์ 7 ประการ
 
คำอธิบายของท่านพุทธทาสจึงมุ่งประเด็นไปที่ “ความเป็นพุทธะ” ว่าเกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนตนเองในธรรม 7 ประการ ซึ่งความเป็นพุทธะก็คือความหมายของ “ความเป็นมนุษย์” ตามทัศนะของพุทธศาสนาที่มองว่า เราทุกคนมีศักยภาพที่จะตื่นรู้ความเป็นจริงของชีวิตและโลก สามารถดำเนินชีวิตเผชิญความเป็นจริงของชีวิตและโลกไม่ว่าด้านดีหรือร้ายด้วยปัญญาและกรุณา หรือด้วยความเข้าใจและความรัก
 
ความหมายของความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้เป็นการยืนยัน “ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์” คือยืนยันคุณค่าสากลที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน นั่นคือทุกคนเกิดมาต่างมีความเป็นพุทธะเป็นธรรมชาติด้านในของตัวเองเหมือนกัน ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้คือรากฐานของศีลธรรมทางสังคมว่า เราทุกคนควรเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และปฏิบัติต่อกันในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน โดยไม่ถือเรื่องชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ผิว ฯลฯ มาเป็นเหตุให้เลือกปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียม
 
หากการเรียนรู้พุทธศาสนาเน้นการทำความเข้าใจความหมายของความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้ จนทำให้เราเห็นคุณค่า เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ หรือศักยภาพของความเป็นพุทธะในตัวเอง เราก็จะเข้าใจต่อไปว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่อบ่มเพาะความเป็นพุทธะให้งอกงามออกมาเป็นปัญญาและกรุณา โดยนัยนี้สังคมมนุษย์ที่พึงประสงค์ก็คือสังคมที่มีความสว่างทางปัญญาและมีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน
 
และแน่นอนว่าต้องเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ เพราะเสรีภาพเป็นเงื่อนไขของความสว่างทางปัญญา เราต้องมีเสรีภาพที่จะพูดความจริงได้ ความว่างทางปัญญา (enlightenment) จึงจะเกิดขึ้นได้ สังคมที่ไม่มีเสรีภาพคือสังคมแห่งความมืด เพราะถูกครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆ ที่ตั้งคำถามไม่ได้
 
น่าเสียดายที่วัฒนธรรมการเรียนรู้และการตีความพุทธศาสนาในบ้านเราไม่ได้ปลุกมโนธรรมสำนึกในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความสว่างทางปัญญา อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า “มิติทางสังคมของพุทธศาสนาดูเหมือนที่ชัดเจนจะมีเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องตีความพุทธศาสนายกย่องสถาบันกษัตริย์” พระเซเลบอย่าง ว.วชิรเมธีเคยพูดทางไทยพีบีเอสในสถานการณ์ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่า “สังคมไทยเอาพระราชอำนาจมา แต่ลืมเอาทศพิธราชธรรมมาด้วย” และว่า “เราบอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่ลืมตั้งคำถามว่าประชาชนมีศักยภาพที่จะใช้อำนาจนั้นหรือยัง”
 
ต่างจากทรรศนะขององค์ทะไลลามะที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งมโนธรรมสำนึกในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยุติธรรม ดังที่ท่านกล่าวว่า
 
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม หากผู้ปฏิบัติศาสนธรรมเลือกที่จะปล่อยวางแล้วอยู่เฉยๆ นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแน่ๆ เราต้องกล้าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราจะเผชิญกับความโกรธอย่างไรมากกว่า...มีความโกรธอยู่สองชนิดด้วยกัน ชนิดหนึ่ง คือความโกรธที่ปรากฏขึ้นจากความกรุณา ความโกรธในลักษณะนี้มีประโยชน์ หากความโกรธถูกขับเคลื่อนด้วยความกรุณา หรือความปรารถนาที่จะให้ความไม่เป็นธรรมนั้นหมดไปโดยไม่ไปทำร้ายคนอื่น นั่นถือเป็นความโกรธที่ดีที่เราควรมี ความโกรธเช่นนี้จะปลุกเร้าพลัง ความมุ่งมั่น ความชัดเจน และการกระทำอันไม่ลดละในการต่อสู้เพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมนั้นให้หมดไป
(จาก The (Justifying) Angry Marxist: Interview with the Dalai Lama:
ที่มา Tilopa House: facebook)
 
ความโกรธเป็นอีกมิติหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ทรรศนะเชิงวิพากษ์ขององค์ทะไลลามะทำให้เราเห็นว่าความโกรธไม่ใช่สิ่งเลวร้ายน่ารังเกียจเสมอไปหากเป็นความโกรธต่อความอยุติธรรมและถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความกรุณาที่ต้องการขจัดความอยุติธรรมนั้น
 
น่าเสียดายที่วัฒนธรรมการเรียนรู้และการตีความพุทธศาสนาในบ้านเรา ไม่ได้สร้างวิธีคิดเชิงวิพากษ์  ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค เสรีภาพ ไม่ได้สร้างการตื่นรู้เพื่อให้เกิดความสว่างทางปัญญา และปลุกมโนธรรมสำนึกในการขจัดความอยุติธรรมทางสังคมเท่าที่ควรจะเป็น
 
 
 
หมายเหตุ : เผยแพร่ในโลกวันนี้วันสุข  (7-13 ก.ย.2556) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net