Skip to main content
sharethis

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งใน กทค.ที่ไม่ได้ร่วมฟ้อง 'เดือนเด่น-ณัฏฐา' จวกองค์กรกำกับสื่อกลับฟ้องสื่อแทนการกำกับ ซ้ำส่งสัญญาณให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง เตรียมจับมือสุภิญญาเสนอวาระหาแนวทางดีลนักวิชาการ-สื่อ ในการประชุมบอร์ดใหญ่

กรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งประกอบด้วยพันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงาน กสทช. ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยกล่าวหาว่า บุคคลทั้งสองได้ใส่ความโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหายนั้น

(6 ก.ย.56) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กทค.ที่ไม่ได้ร่วมฟ้องด้วย ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีการฟ้องดำเนินคดี ในส่วนผู้ฟ้อง มีสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง กรรมการ กทค. 4 คน ซึ่งฟ้องเป็นการส่วนตัว ไม่เคยมีการประชุม และที่ประชุมไม่ว่าบอร์ด กทค. หรือ กสทช. ไม่เคยมีมติ ส่วนที่สอง คือสำนักงาน กสทช. ซึ่งโดยปกติ ในการดำเนินคดี หน่วยงานรัฐจะแจ้งความดำเนินคดีและผ่านกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ไม่น่าจะมีหน่วยงานใดฟ้องโดยตรง เพราะหนึ่ง เป็นภาระด้านงบประมาณ สอง เป็นภาระด้านการต่อสู้คดี เช่น ค่าทนาย

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ส่วนของผู้ถูกฟ้อง มีสองส่วน คือ หนึ่ง สื่อ เมื่อดูเทปรายการคุณณัฏฐาแล้ว มองว่าคุณณัฏฐาไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเป็นสกู๊ปข่าวและเป็นการดำเนินรายการในสถานี น่าแปลกใจว่าทำไมเลือกดำเนินคดีกับผู้ดำเนินรายการ ไม่ดำเนินคดีกับสถานีหรือผู้ทำข่าว นอกจากนี้ ในคำฟ้องที่เผยแพร่ออกมา มีการพูดถึงว่า มีการเผยแพร่ข่าวนี้ในสื่อสิ่งพิมพ์อื่นด้วย เช่นนี้เป็นการจงใจดำเนินคดีเป็นการส่วนตัวหรือเปล่า เพราะถ้ามีความเสียหาย ไม่ว่าผ่านสื่อไหน ก็มีความเสียหายด้วย

"เวลาจะดำเนินคดี ฟ้องร้องคดีใคร ต้องดูเจตนา และดูว่าการดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างสุจริตหรือเปล่า เพราะสื่อมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าไม่ได้ถูกบิดเบือน มุ่งโจมตีใส่ร้ายใคร ก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับกัน วิธีการที่ถูกต้องคือให้ข้อมูลต่อสาธารณะอีกด้านหนึ่ง"

นพ.ประวิทย์ มองว่า แม้การฟ้องร้องสื่อจะกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ก็มีลักษณะที่จะทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น เพราะไม่อยากถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะในข่าวที่ออกไปมีการตั้งประเด็นว่าเนื่องจากรายการออกอากาศทั่วประเทศ อาจมีการดำเนินคดีทั่วราชอาณาจักรได้ เท่ากับส่งสัญญาณเตือนสื่อว่า ไม่ใช่การฟ้องร้องปกติ แต่ฟ้องร้องทุกจังหวัดได้ ซึ่งถามว่าฟ้องทั่วประเทศแล้วจะได้ความยุติธรรมเพิ่มขึ้นไหม ก็เปล่า แต่เป็นการส่งสัญญาณปรามสื่อให้เซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น

"นี่เป็นสัญญาณที่ไม่เหมาะสม ต้องถามว่าเชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์ไหม ไม่ว่าเซ็นเซอร์โดยองค์กรกำกับดูแลหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เชื่อ สัญญาณแบบนี้ก็ไม่น่าจะส่งออกโดยองค์กรกำกับดูแล"

ส่วนของการฟ้องนักวิชาการนั้น นพ.ประวิทย์ ชี้ว่า ในคดีหมิ่นประมาท ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจริงหรือเท็จ ถ้าทำให้เสียหาย ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท  แต่กรณีที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด ดังนั้น ต้องดูว่าข้อมูลที่นักวิชาการให้ มีเจตนาให้ข้อมูลต่อสาธารณะรึเปล่า หรือโจมตีส่วนตัว ถ้าเป็นการให้ข้อมูลในเวทีวิชาการ เป็นที่ยอมรับในไทยแล้วว่า ไม่ถือเป็นความผิด ตรงนี้ต้องเอาข้อเท็จจริงและเจตนาจริงมาดู

"แต่โดยรวม ผมเชื่อว่าประเด็นทับซ้อนของ กสทช.คือ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งมีความพยายามตรวจสอบผ่านศาลปกครอง หน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ  แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะกฎหมายเขียนจำกัดการตรวจสอบไว้ สอง กรรมการติดตามตรวจสอบตามกฎหมาย ปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจติดขัดเรื่องการสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. ด้วยประการหนึ่ง ดังนั้น ระบบตรวจสอบยังไม่เข้มแข็งแล้วพยายามมีท่าทีในการจัดการกับคนที่มาตรวจสอบ ยิ่งจะทำให้เหมือนหนึ่งว่าหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ หรือพยายามสร้างเกราะไม่อยากให้มีใครมาตรวจสอบหรือเปล่า"

นพ.ประวิทย์ ชี้ว่า ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อโทรทัศน์โดยตรง ซึ่ง กระบวนการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ มีกระบวนการของมัน แต่องค์กรกำกับดูแลกลับเลือกใช้วิธีฟ้องศาลโดยตรง ทั้งที่การฟ้องศาลน่าจะเป็นกระบวนการสุดท้ายในการกำกับดูแล ต่อไปอาจจะทำให้สื่อโทรทัศน์หรือสื่อวิทยุเองสับสนว่า กสทช.มีนโยบายในการกำกับดูแลเนื้อหาโทรทัศน์ด้วยการฟ้องคดีอย่างเดียวเลย ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้มีการพัฒนาเนื้อหาโทรทัศน์หรือพัฒนากระบวนการในการนำเสนอเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะโดยรวมหรือเปล่า ดังนั้น พอมีการฟ้องร้องคดีโดยองค์กรกำกับดูแลสื่อเอง ทำให้เรื่องนี้ดูมีความซับซ้อนมากขึ้นและทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้น

เขาบอกว่า กรณีที่มีข่าวว่า สำนักงาน กสทช. อาจจะถอนฟ้องนั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ กทค. อีก 4 ท่าน เป็นการฟ้องในนามบุคคล ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ดุลพินิจในการถอนฟ้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่มีโอกาสพบกับทั้งสี่ท่าน หลังมีข่าวฟ้องคดีเมื่อวันศุกร์ ก็ยังไม่มีการประชุม ทราบว่าบางท่านเดินทางไปต่างประเทศเพิ่งกลับมาเมื่อคืน

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 18 ก.ย.นี้ ตนเองและ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ จะทำวาระเสนอที่ประชุมเกี่ยวกับกระบวนการจัดการกับการแสดงออกของนักวิชาการและสื่อว่าควรจะมีแนวทางอย่างไร ที่นอกเหนือจากการดำเนินคดี หรือถ้าจะดำเนินคดี ควรฟ้องเอง หรือใช้วิธีปกติ

"แน่นอนว่าทุกคนก็อยากให้มีการปกป้องดูแลองค์กร แต่ว่าการปกป้องดูแลองค์กรต้องไม่ทำให้เกิดภาพลบต่อองค์กรเองและต้องไม่มีลักษณะปิดกั้นเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารของสื่อหรือนักวิชาการ โดยเฉพาะสื่อหรือนักวิชการที่ตรวจสอบองค์กรตัวเอง เพราะจะดูเหมือนเป็นลักษณะของผลประโยชน์ขัดแย้งกัน" 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net