Skip to main content
sharethis

ดูภาพขนาดใหญ่

การลดลงของราคายางเป็นสาเหตุที่ประชาชนในหลายจังหวัดภาคใต้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข และแพร่ขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ปลูกยาง ในภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นเดียวกัน

ในทางหนึ่ง นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ราคายางที่เคยสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละร้อยปลายๆ เฉียดสองร้อยช่วงปี 2552-2554 นั้นต้องถือว่าเป็นลาภลอยเนื่องจากราคายางขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาดโลก เศรษฐกิจโลก และการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศใกล้เคียง

“สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรคาดหวังว่าราคาจะยืนอยู่ตรงนั้น แต่พอราคาตกลงมาก็อาจจะรู้สึกแย่ ถ้าจะทำระบบในการรักษาเสถียรภาพราคายางก็ต้องคำนึงด้วยว่า ราคาที่เกิน 100 บาทหรือใกล้ๆ 100 บาท เป็นราคาที่ไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว แม้มีระบบที่รัฐจะช่วยในเวลาราคาตกต่ำก็ต้องพิจารณาให้ดี ผมถือว่าราคา ณ วันนี้ไม่ถือว่าเป็นราคาตกต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา”

เขาระบุว่าด้วยปัจจัยภายนอกสามประการนี้ การแทรกแซงราคายางพาราจึงไม่ใช่ทางออก

แต่การเลือกแทรกแซงหรือไม่แทรกแซงราคายางนั้น ก็นำมาซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติอุ้มชาวนามากกว่าชาวสวนยางพารานั้น ซึ่งดร. วิโรจน์กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่เกษตรกรจำนวนหนึ่งจะรู้สึกอย่างนั้น แต่หากจำกันได้ ปีที่แล้วรัฐบาลนี้มีมาตรการแทรกแซงตลาดยาง โดยการซื้อยางเข้ามาจนตอนนี้เรามีสต๊อกยางอยู่ที่ 200,000 กว่าตัน โดยซื้อกันที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท อย่างไรก็ตาม 200,000 ตันอาจฟังดูน้อยเมื่อเทียบกับสต๊อกข้าว แต่อย่าลืมว่าราคายาง 1 กก.เท่ากับเกือบ 10 กก.ของข้าว ปีที่แล้วรัฐบาลใส่เงินเข้าไป 15,00-20,000 ล้านบาทก็หายวับไปชั่วพริบตา ตอนหลังใส่เข้าไปอีกรอบหนึ่งแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลไม่กล้าเอามาขาย เพราะกลัวว่าเอามาขายแล้วราคายางจะตกลงไป

“ฉะนั้นรัฐบาลก็ได้พยายามทำ และเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองสู้กับตลาดไม่ได้ทั้งเรื่องข้าวและเรื่องยาง แต่เรื่องข้าว ผมว่ารัฐบาลก็พยายามหาทางลง ส่วนหนึ่งก็พยายามเจรจากับชาวนาอยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจชาวนาด้วยว่า เมื่อมีโครงการของชาวนามันดึงให้ต้นทุนของชาวนาสูงขึ้นจริง ดังนั้น เวลาลง การปรับตัวก็ยากพอสมควร และเชื่อว่าเมื่อมีเรื่องข้าวที่กำลังหาทางลงแล้วมามีเรื่องยางขึ้นมาอีกทำให้รัฐบาลลังเลมากขึ้นในการที่จะเข้าไปทำแบบเดียวกับข้าว” วิโรจน์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยางพารานั้นต่างจากข้าวอย่างหนึ่ง คือ สำหรับข้าว เราพูดว่าเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ผลผลิตเราคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 7 ของผลผลิตโลก แต่ยางพาราเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 แล้วเรายังเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ด้วย จึงทำให้เห็นว่าแม้เราจะเป็นอันดับ 1 แต่เราไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาตลาดโลกได้จริง ผลผลิตยางของ 3 ประเทศรวมกันมีผลผลิตปริมาณถึงร้อยละ 70 แต่เวลามีประเทศอื่นผลิตออกมาก็มีผลกระทบ 3 ประเทศหลัก (ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) เองก็ไม่สามารถคุมราคาในตลาดโลกได้

ประชาไทย้อนกลับไปดูราคายางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลราคายางในตลาดโลกจาก IndexMundi  โดยใช้ค่าเฉลี่ย 12 เดือน เปรียบเทียบจากหน่วยดอลลาร์เป็นบาท โดยใช้ค่าเฉลี่ย 12 เดือนในแต่ละปี ข้อมูลราคายางของไทยย้อนหลัง 10 ปี จาก สมาคมยางพาราไทย โดยอ้างอิงจากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net