Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: เขียนจากการชมครั้งแรก รายละเอียดอาจคลาดเคลื่อน

 

สิ่งที่นึกถึงขณะนั่งดู และหลังหนังจบ

1) ชอบในแง่ของการจัดวางโปรเจ็คต์เพื่อขอทุน อย่างที่รู้กัน หนังเรื่องตั้งวงได้งบก้อนใหญ่จากกระทรวงวัฒนธรรม และอย่างที่เรารู้ๆ กัน หนังที่ได้งบจากกระทรวงวัฒนธรรมมักจะออกมาไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไร เพราะหนังกลุ่มนี้มักจะต้องออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์กระทรวง ซึ่งโจทย์ก็ประมาณส่งเสริมวัฒนธรรมไทยอันดีงาม ส่งเสริมความรักชาติ แล้วเราก็มักจะได้หนังที่ตกยุคมาเสมอๆ (คำว่าตกยุค ต้องเท้าความว่า โดยคร่าวๆ ตั้งแต่ปีที่ นางนาก จนถึง พระนเรศวรภาค 1 ออกฉาย หนังชาตินิยมมันยัง 'ขายได้' คนยัง 'อยากดู' และไม่ว่าจะเห็นด้วยกับมันหรือไม่แต่มันก็ยังมีความน่าสนใจสูง หนังกลุ่มนี้มักจะสร้างโดยผู้สร้างจากเอกชน (ยกเว้นสุริโยไท และตำนานพระนเรศวร) ยกตัวอย่างเช่น โหมโรง บางระจัน ทวิภพ องค์บาก ฯลฯ แต่ในตอนหลัง มันจะมีหนังชาตินิยมอีกกลุ่ม ที่ออกมา 'สายเกินไป' และไปๆ มาๆ มันดูคล้ายๆ กับหนังเกรดรองเมื่อเทียบกับหนังกลุ่มแรก หนังที่กระทรวงโปรดิวซ์มักจะเป็นหนังแบบนี้เสมอๆ คือมันเชย ไม่น่าสนใจ คนไม่อยากดู)


แต่สิ่งที่ตั้งวงทำได้ ก็คือการทำให้มัน 'look good on paper แต่ก็ไม่ได้เลียวัฒนธรรมไทยแบบทางการ' คือ มันเป็นหนังที่เราเดาเอานะว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐอ่านบทมันก็ตอบโจทย์ทุกอย่างบนเปเปอร์น่ะ แบบ เป็นหนังเกี่ยวกับ "เด็กยุคใหม่หันมาหัดรำไทย” โห แค่อะไรแบบนี้นี่กระทรวงก็คงกรี๊ดแล้ว ชอบเลย ถูกต้องนะโว้ย เด็กยุคใหม่ต้องรู้จักรำไทยนะ อะไรแบบนี้ แต่พอไปสร้างจริงๆ หนังมันก็ไม่ใช่อย่างนั้นซะหน่อย แถมหัวใจของมันยังย้อนกลับไปวิพากษ์ไอ้วิธีคิดแบบความเป็นไทยทางการอีกซะด้วย โยนชฎาทิ้งกันไปเลย เพราะหนังมันพยายามพูดว่าความเป็นไทยมันไม่ได้อยู่ที่ชฎา ที่รำอะไรกันเลย แต่มันอยู่รอบๆ เรานี่แหละ วิถีชีวิตที่เราต้องใช้ต้องเป็นในประเทศนี้ ไม่ว่าจะดีหรือจะชั่ว นี่ล่ะ ความเป็นไทย

การสร้างกลยุทธ์ที่ 'look good on paper แต่จริงๆ แล้วไม่ได้จะเลียวัฒนธรรมไทยขนาดนั้น' มันไม่ได้อยู่แค่ในเนื้อเรื่อง แต่ปรากฎอยู่ในภาษาหนังด้วย ถ้าตั้งวงเป็นหนังที่ต้องการจะเลียวัฒนธรรมไทยทางการ หลังจากตัวละครมารวมตัวกันเพื่อจะฝึกรำแก้บน มันก็คงจะต้องมีฉากการฝึกการรำอย่างละเอียด ท่า1 คืออะไร ท่า 2 คืออะไร ท่า 3 คืออะไร กูยังรำไม่ได้ซะทีโว้ย มึงสอนกูหน่อย มึงรำผิดโดนลงโทษ หรือมีคนมาอธิบายความเป็นมาของแต่ละท่า แต่ไม่เลย หนังไม่มีอะไรแบบนี้เลย การตัดต่อของหนังเรื่องนี้คือ เมื่อไรก็ตามที่มันจะต้องฝึกรำกันอย่างละเอียด หนังจะตบตาด้วยการหันไปตัดเป็นภาพ montage แล้วใส่เพลงวง yellow fang แทน เพื่อรวบรัดเนื้อหาตอนนี้ แล้วเอาเวลาที่เหลือไปใช้เจาะปัญหาของแต่ละตัวละครแทน ตั้งวงไม่ใช่หนังที่จะมาบอกว่าการรำมันดี มันเป็นวัฒนธรรมไทยที่ต้องสืบสาน แต่ตั้งวงเป็นหนังที่บอกว่าเรามีชีวิตกันอยู่ยังไงในแบบไทยๆ

อย่างไรก็ดี การ 'look good on paper' มันก็ยังมีปัญหาของมันอยู่ คือตั้งวงอาจจะเอาใจกระทรวงได้ และทำหนังที่ตัวเองต้องการได้ แต่ปัญหาของโปรเจคต์แบบนี้ก็คือมันไม่ look good on poster คือแม้ว่าคนทำหนังจะแก้โจทย์และทำหนังที่ตัวเองต้องการได้แล้ว แต่ภาพใหญ่ๆ ของมันว่ามันเป็นหนังที่วัยรุ่นไปรำไทยกันก็อาจจะเป็นตัวสร้างความเหินห่าง และทำให้คนดูไม่ค่อยอยากมาดูเท่าไรอยู่ดี

2) พอพูดถึง montage (การตัดต่อ) มันก็ลามมาถึง film form (รูปแบบของภาพยนตร์) ถ้าเรามองภาพรวมในงานของคงเดช ตั้งวงเป็นหนังที่น่าสนใจมากๆ เพราะมันเป็นหนังที่ 'ไม่เพ้อ' แกนสองขั้วที่มักจะอยู่ในภาพยนตร์ของคนทำหนังค่อนโลกก็คือความฝันและความจริง และคงเดชเป็นคนทำหนังที่สำรวจด้านที่เป็นความฝันเสมอๆ การเอา ตั้งวง มาเทียบกับ สยิว ก็จะเห็นโลกสองแบบจากคนทำหนังคนเดียวกัน สยิวเป็นหนังที่เต็มไปด้วยความฝัน มันเป็นความฝันทั้งในเนื้อหาและในสไตล์ ในเนื้อหาหมายถึงสยิวเป็นหนังที่พูดถึงสังคมไทยที่พร้อมใจกันฝันกลางวันเพื่อหลบเลี่ยงความจริงอันโหดร้าย ในสยิวคือเมืองไทยยุคที่มีพฤษภาทมิฬแต่ทุกคนสนใจละครโทรทัศน์และหนังสือโป๊ ในแง่ของสไตล์ คงเดชสร้างสยิวได้ฟุ้งแฟนตาซีมากๆ ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง จนถึงการสลับโลกฝันโลกจริง

แต่ในตั้งวงนั้น คงเดชเปลี่ยนไป กล้องของคงเดชนั้นทำหน้าที่ observe สถานการณ์มากกว่า please คนดู เราชอบกล้องในหนังเรื่องนี้ ตอนดูหนังเสร็จ เพื่อนถามว่านึกถึงหนังเรื่องอะไร เราบอกว่านึกว่าดู Final Score อยู่ ถึงตั้งวงจะเป็นหนัง fiction แต่วิธีการออกแบบกล้องมันก็สดเหมือนสารคดีและคอยทำหน้าที่สังเกตการณ์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า รวมไปถึงบางครั้งก็วิพากษ์วิจารณ์ มันไม่ใช่กล้องแบบที่จะเอาใจคนดู ยั่วคนดู หรือลากให้คนดูมีอารมณ์ร่วมด้วยสุดขีด ไม่ใช่แค่กล้องเท่านั้น แต่การแคสต์ การแสดง การออกแบบบทสนทนา มันก็เป็นการออกแบบที่ไม่ได้เอาใจคนดูตลอดเวลา ตั้งวงไม่ใช่หนังที่เราจะกรี๊ดนักแสดง หรือจำบทสนทนาได้เป๊ะๆ หรือถูกออกแบบมาเพื่อปล่อยมุกหรือปล่อยคำคมทุก 7 นาที ลองเอาการแคสติ้ง หรือการออกแบบประโยคบทสนทนาในตั้งวง ไปเทียบกับ Hormones ก็จะเห็นว่ามันทำหน้าที่ต่างกันมากๆ (อันนี้ไม่ได้ว่า Hormones เพราะต้องเข้าใจว่ามันทำหน้าที่คนละหน้าที่กัน แต่เอา Hormones มาเปรียบเพราะจะเห็นภาพมาก)

Hormones เป็นละคร ซึ่งด้วยความเป็นละครก็คือต้องทำให้คนเกาะขอบจอทีวีหรือขอบจอคอมพิวเตอร์ได้ ทุกเบรค ดังนั้นมันจึงต้อง please คนดูมากๆ ตอบสนองแฟนตาซีของคนดู ชวนฝันชวนเฮิร์ตและกระตุ้นให้ไปเม้ากับเพื่อนต่อบนเฟซบุคระหว่างพักเบรค โฆษณา แต่ตั้งวงไม่ได้เป็นอย่างนั้น จุดเด่นของการอยู่ในโรงหนังก็คืออย่างน้อยคนก็ไม่ได้มีรีโมทหรือจะปิด เปลี่ยนช่องได้ คนดูอยู่ในโรงมืดๆ หรือสภาพ dispositif (dispositif=silence+darkness+distance+projection+audience) ซึ่งไอ้สภาพ dispositif นี่แหละคือลักษณะสำคัญของ cinema ที่แตกต่างจาก tv: มันเอื้อให้เรา observe สิ่งที่อยู่ตรงหน้า (อย่างไรก็ดี cinema มันก็เอื้อให้ถ้ำมองและหลุดไปกับแฟนตาซีได้เช่นกัน แต่ตั้งวงไมไ่ด้เลือกจะเป็นเช่นนั้น)


ที่เด็ดสุดในเรื่องความฝัน/ความจริง ก็เห็นจะเป็นตอนจบ ซึ่งเป็นฉากที่น่าวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสยิวเช่นกัน ตอนจบของสยิว ไอ้เต่ากลายเป็นนักเขียนนิยายชื่อดัง มีชีวิตอย่างมีความสุขสมบูรณ์ แต่คงเดชถ่ายฉากซีเควนส์จบของไอ้เต่าเหมือนกับหนังโฆษณา ทุกอย่างดูเพ้อๆ ลอยๆ ส่วนตั้งวงนั้นเลือกจบโดยซีเควนส์โมโนล็อคของเด็กชาย เป็นโมโนล็อคที่มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยในหนังที่ไม่มีโมโนล็อคมาก่อน และอันที่จริงแล้วเมื่อมันเป็นโมโนล็อค มันก็เป็นเพียง 'ความคิด' หรือสิ่งที่พูดดังๆ ในหัวของตัวละครเท่านั้น แต่คงเดชใช้ 'สิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง' มากระแทกเหมือนกับกระชากคนดูให้เห็นโลกความจริง มากไปกว่านั้น ราวกับว่าเด็กชายคนนี้นอกจากจะบอกกับคนดูแล้ว เขายังต้องการบอกไอ้เต่าอีกด้วยว่า ตื่น ตื่นได้แล้วโว้ย

3) จุดเด่นที่สุดจนน่าจะกล่าวขานกันไปอีกนาน ก็คือการนำเสนอภาพความขัดแย้งทางการเมืองในตั้งวง ตั้งวงเป็นหนังที่แหวกออกมาจากทะเลของวาทกรรมการเมือง คือตั้งวงไม่ได้เป็นหนังที่ด่าเสื้อเหลืองล้วนๆ ไม่ได้เป็นหนังที่ด่าเสื้อแดงเพียวๆ ไม่ได้เป็นหนังที่เห็นใจเสื้อเหลืองล้วนๆ ไม่ได้เป็นหนังที่เห็นใจเสื้อแดงเพียวๆ และตั้งวงไม่ได้เป็นหนังที่บอกว่าเรามารักกันเถอะ ในขณะที่หนังหลายๆ เรื่องที่พูดเรื่องการเมือง ทั้งหนังสั้นหนังยาว มักจะตกอยู่ในวาทกรรมที่ว่าไปในข้างต้น (โดยเฉพาะวาทกรรมสุดท้าย คืออย่าทะเลาะกัน เรามารักกันเถอะ) แต่ตั้งวงหลุดออกมาจากสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ว่าคงเดชจะมีแนวคิดทางการเมืองอย่างไรก็ตาม แต่เขาก็ไม่ได้ปล่อยให้หนังของเขา 'ไหล' ไปกับชุดของอุดมการณ์สำเร็จรูปในกระแสธารการเมืองดังที่ว่าไป สิ่งที่คงเดชทำก็คือเขาเป็นคนเขียนบท เขาไม่ใช่คนเขียนเฟซบุคการเมือง และสิ่งที่คนเขียนบทคนนี้เลือกทำก็คือการเกาะกุมธีม ถ่ายทอดตัวละครที่เชื่อมโยงหรือขัดแย้งกับธีมนั้นๆ ในท่ามกลางสมรภูมิของกระแสธารความคิด สิ่งที่คงเดชเกาะตลอดคือ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่สำรวจเรื่องความเชื่อในสังคมไทยอย่างจริงจัง และการเมืองก็เป็นรูปแบบของความเชื่อหนึ่งในหลายๆ ความเชื่อที่หนังสำรวจ


(ในจุดนี้นั้นผู้เขียนเห็นว่ามันแปลกดี และเป็น paradox คือโดยปกติเรามักจะเจอหนังไทยที่ บนผิวหน้าของภาพนั้นไม่มีเรื่องการเมืองตรงๆ แต่ถ้าเราอ่าน/ไขสัญญะออกเราจึงจะเห็นอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่ข้างใต้, แต่ตั้งวงเป็นหนังที่บนผิวหน้าของภาพนั้นมีการ recreate ภาพเหตุการณ์การเมืองอย่างโจ่งแจ้ง แต่อุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่หลังภาพนั้นกลับคลุมเครือ อย่างไรก็ดี การมานั่งเดาอุดมการณ์ของคนทำหนังมันไม่ใช่เรื่องที่พัฒนาสมองเท่ากับการเฝ้าสังเกตว่าหนังที่ถูกออกแบบมาอย่างพิเศษแบบนี้ทำงานอย่างไรกับคนดูในแต่ละกลุ่มที่มีอุดมการณ์ไม่เหมือนกัน พูดแบบทฤษฎีภาพยนตร์คืองานนี้ auteur theory ไม่น่าจะสำคัญเท่ากับ reception theory)

สิ่งที่ผมชอบมากๆ ในการ recreate ภาพสงครามกลางเมืองในตั้งวง ไม่ได้อยู่ที่ว่ามันอยู่บนอุดมการณ์ชุดไหน แต่มันอยู่ที่การบันทึก 'ความรู้สึกร่วม' ที่สัมพันธ์กับ 'เวลา' ตั้งวงมันบันทึกความรู้สึกของคนที่ไม่ได้อินกับการเมืองมากนักเพราะมีปัญหาของตัวเอง ใช้ชีวิตของตัวเองไปเรื่อยๆ แต่แล้วอยู่ดีๆ มันก็มี 'คืนที่ยาวนาน' แทรกขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ในฉากที่เด็กน้อยออกตามหาพ่อนั้นมันเป็นคืนที่ยาวนาน อยู่ดีๆ หนังที่ set มิติเวลาแบบนึงก็กลายเป็นหนัง real time ขึ้นมา ความรู้สึกว่าคืนนี้มันช่างยาวจริงๆ เกิดขึ้นในฉากนั้น แล้วมันก็เป็นความรู้สึกที่ผมเชื่อว่าคนดูหลายๆ คนยังจำคืนที่เกิดเหตุการณ์สลายเสื้อแดงในเดือนพฤษภาได้อยู่ว่ามันยาวกว่าคืนปกติจริงๆ

แต่คงเดช หรือคนตัดต่อ ก็ตบกลับด้วยการตัดต่อภาพอย่างรวดเร็วใน big cleaning day การเชื่อมซีเควนส์แทบจะ real time ของเด็กน้อยวิ่งหนีลูกกระสุน กับการตัดต่อแบบ quick cut ในช่วงbig cleaning day นี่มันน่าสนใจจริงๆ  เพราะ montage ตรงนั้นมันบอกด้วยภาษาหนังว่าเพียงชั่วพริบตาเดียวจริงๆ พื้นที่ตรงนั้นก็กลับมาอยู่ในสภาพเดิม เหตุการณ์ของคืนอันยาวนานอยู่ดีๆ ก็ถูกล้างหายไปภายในเสี้ยวนาที คงเดชไม่ได้เล่าความสัมพันธ์ของ 'ความรู้สึกร่วม' กับ 'เวลา' โดยผ่านบทสนทนาเลย แต่เขาเล่าผ่านการตัดต่อสองโหมดที่ถูกออกแบบมาให้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ตรงจุดนี้เราขอคารวะจริงๆ

นอกจากนี้ถ้าเรามองในกรอบการวิเคราะห์หนังแบบวิชาภาพยนตร์และเมือง (cinema and city) มันก็จะเห็นได้ว่า ตัวละครหลักในตั้งวงตัวนึงเลยก็คือ space โดยเฉพาะ space ตรงสี่แยกราชประสงค์นี่แหละ ตัวละครนี้มันมีหลายหน้าหลายเฉด เธอเป็นทั้งที่ให้ธุรกิจ เธอเป็นทั้งที่ให้ความเชื่อ (พระพรหม) เธอเป็นทั้งที่ให้คนมาประท้วงการเมือง เธอเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวให้ฝรั่ง เป็นฑูตวัฒนธรรมไทย และถ้าเข้าใจไปเองก็อาจจะปล่อยไก่ แต่รู้สึกจริงๆ ว่าเวลาที่ตัวละครไปซ้อมเต้นเกาหลีมันเหมือนกับไปซ้อมตรงห้างอีจีวีเมโทรโปลิสก่อนไฟไหม้ ไม่รู้ว่าไปถ่ายตรงนั้นรึเปล่า แต่ต่อให้ไม่ได้ไปถ่าย มันก็เป็นความดีของหนังที่ทำให้เรานึกไปถึงที่ตรงนั้นได้ แล้ว space ตรงนี้มันก็ถูก contrast โดยอีก space นั่นก็คือ แฟลต ใต้ถุนตึก ร้านเกม โรงเรียนรัฐ ดาดฟ้าที่ตัวละครอยู่ ถามว่าความเป็นไทยในหนังเรื่องนี้คืออะไร ก็ตอบว่าคือชีวิตที่มันเดินไปมาระหว่าง 2 spaces นี่ล่ะ

อีกสิ่งที่ชอบมากๆ ในเรื่องการเมืองก็คือ ตั้งวงนี่เป็นหนังที่ตัวละครต้องการ 'divine intervention' ใช่ไหมครับ หมายถึง ตัวละครไปบน ไปขอ เพื่อให้พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 'แทรกแซง' ชีวิตประจำวันของพวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ เด็กเนิร์ดต้องการ divine intervention เพื่อให้พวกเขาชนะการแข่งขัน เด็กแดนซ์เกาหลีต้องการ divine intervention เพื่อให้แฟนรัก อะไรแบบนี้ เฉกเช่นเดียวกับคนกรุงในตอนนั้นที่ต้องการให้เกิดการ intervention อะไรสักอย่างเพื่อให้การชุมนุมของเสื้อแดงยุติลง แล้วสุดท้ายมันก็เกิดเหตุการณ์ intervention จริงๆ แล้วมันเป็น intervention ที่รุนแรงมาก รุนแรงยิ่งกว่าพระเจ้า เพราะแม้กระทั่งศาลพ่อปู่ที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์นักหนาจนตัวละครไปกราบ ไหว้กันค่อนเรื่องอยู่ดีๆ ก็มอดไหม้ไป

There is no divine anymore, only the intervention.

แล้วถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มันยังไม่ทำงานหรือถูกทำลายได้ แล้วมันจะศักดิ์สิทธิ์ไหม? คงเดชเสียดเย้ยตรงนี้ด้วยการผูกอีกเส้นเรื่องว่า จริงอยู่ที่ศาลพ่อปู่ถูกเผาได้ แต่ว่าตัวละครเด็กนักตีปิงปองมันก็รอดตายมาได้นะ เป็นการรอดตายแบบที่อาจจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยด้วยซ้ำ แต่แล้วคงเดชก็ตบกลับอีกทีหนึ่งถึงความศักด์สิทธิ์ของศาลนี้ด้วยโมโนล็อคตอนท้าย เรื่องนั่นล่ะ

เอาเท่านี้ก่อน
       

ที่มา: Graiwoot Chulphongsathorn

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net