คสรท.ปล่อยคลิปรณรงค์รับรองอนุสัญญา ILO 87, 98 เตรียมเคลื่อนใหญ่ 7 ต.ค.นี้

“รวมตัวสร้างความเข้มแข็ง รวมแรงเกิดอำนาจต่อรอง” คสรท.ปล่อยวิดีโอคลิปรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เตรียมเคลื่อนใหญ่ 7 ต.ค.นี้ เนื่องในวันจ้างงานที่ดีและมั่นคง

วิดีโอคลิปรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วย “เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว”  และฉบับที่ 98 ว่าด้วย “การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง” ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และผลิตโดยพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยจะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมขององค์กรแรงงานในวันที่ 7 ต.ค. นี้ เนื่องในวัน “งานที่ดีและมั่นคง” (Decent Work) เพื่อผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้

สำหรับเนื้อหาในวิดีโอคลิปดังกล่าวภายใต้คำขวัญ “รวมตัวสร้างความเข้มแข็ง รวมแรงเกิดอำนาจต่อรอง” เป็นการพูดถึง ความจริงใจของรัฐบาลที่ผ่านมาต่อการรับรองอนุสัญญา 2 ฉบับนี้ ความสำคัญของสิทธิในการรวตัวและเจรจาต่อรอง ประวัติการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานต่อการเรียกร้องให้รัฐรับรองอนุสัญญา 2 ฉบับนี้ รวมทั้งสาระสำคัญของอนุสัญญานี้ เป็นต้น

การขับเคลื่อนและรณรงค์ของขบวนการแรงงานในประเทศไทย ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 จากเอกสารประกอบการวางแผนเพื่อเตรียมจัดงาน “วันงานที่มีคุณค่าปี 2556” (Decent Work Day) จัดทำโดยคณะทำงานผลักดันการให้สัตยาบันฯ

สถานการณ์การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในประเทศไทย ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 จาก พ.ศ.2547 – 2556 10 ปีของการเรียกร้อง

นับตั้งแต่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งที่ได้เข้าร่วมการเป็นสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-International Labour Organization) และได้มีการตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในกรุงเทพฯ สหภาพแรงงานไทยและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ได้พยายามรณรงค์ในการส่งเสริมการให้สัตยาบัน และปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เช่น มีการยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีในวันแรงงานเรียกร้องให้รับรองสัตยาบันในอนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คือ ปี 2556

2552-2553

กระบวนการทำงานของสหภาพแรงงานไทยได้ก่อให้เกิดความร่วมมือกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศโดยตรงเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ได้มีการรวมตัวจัดตั้งเป็น “คณะทำงานเพื่อสนับสนุนอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ98 (Working group to promote ratification)” โดยมีนายชาลี
ลอยสูง เป็นประธานคณะทำงาน เมื่อเดือนมิถุนายน 2552

ผลจากการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การประสานของ “คณะทำงาน” ทำให้กระทรวงแรงงานออกคำสั่งที่ 324/2552 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2552 แต่งตั้ง “คณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98” โดยมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ 46 คน เข้าร่วม ประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล 12 คน ฝ่ายนายจ้าง 16 คน ฝ่ายลูกจ้าง 15 คน  และนักวิชาการแรงงาน จำนวน 3 คน ทั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลไทยควรจะดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 คณะทำงานได้มีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในการรณรงค์ โดยมีผู้นำแรงงานจาก 30 องค์กรเข้าร่วม แผนการทำงานประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักดังนี้

(1) สร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อกลุ่มแรงงานและประชาชนทั่วไปในความจำเป็นของอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98

(2) จัดให้มีเวทีเพื่อการเรียนรู้ในเขตอุตสาหกรรม 7 แห่ง

(3) การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลให้สัตยาบันตามอนุสัญญา

ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2552 และปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่าสากล คณะทำงานและองค์กรเครือข่ายแรงงานได้มีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98

อีกทั้งยังมีการจัดเวทีร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่ออภิปรายถึงอุปสรรคและโอกาสของการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 จนในที่สุดนำไปสู่การแต่งตั้งคณะทำงานไตรภาคีที่มาจากผู้แทนฝ่ายต่างๆ ทั้งองค์กรแรงงาน ผู้แทนนายจ้าง และฝ่ายรัฐบาล เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้สัตยาบันอนุสัญญาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจระดับประเทศและความมั่นคง

โดยกลุ่มคณะทำงานดังกล่าวได้มีการประชุมหลายครั้งมาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2552, 18 มกราคม 2553, 23 กันยายน 2553 และปลายเดือนธันวาคม 2553

ผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2553 กลุ่มคณะทำงานทั้ง 3 ฝ่าย ได้มีมติเห็นชอบในการให้สัตยาบันอนุสัญญาและเสนอคณะรัฐมนตรีให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมและให้สัตยาบัน จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อไปยังรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงความเห็นชอบต่อไป

แต่เนื่องมาจากความไม่สงบทางการเมือง อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯและอีกหลายแห่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พ.ศ.2553 กิจกรรมทั้งหมดของกลุ่มแรงงานที่ดำเนินการในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ในช่วงเวลานั้นจึงหยุดชะงักไปชั่วคราว

ต่อมาจึงมีการขับเคลื่อนอีกครั้งในเดือนกันยายน 2553 มีการจัดงานแถลงข่าวและอภิปรายในหัวข้อ “หนึ่งปีกับการสนับสนุนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 : ความคืบหน้าและความท้าทาย” โดยความร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์กร FES (The  Friedrich-Ebert-Stiftung) และองค์กร ACILS (The American Center for International Labor Solidarity) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมประมาณ 100 คน การประชุมนี้มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการตื่นตัวให้เห็นความสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญา รวมถึงฟื้นฟูกิจกรรมของกลุ่มแรงงานที่มักมีปัญหาและอุปสรรคเนื่องมาจากความไม่สงบทางการเมือง

จนในที่สุดวันที่ 14 ธันวาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

2554

15 กุมภาพันธ์ 2554 มีการหารือระหว่างคณะทำงานและสหภาพแรงงานกว่า 35 แห่ง เพื่อระดมความคิดเห็นและแสวงหาแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อให้รัฐสภารับรองอนุสัญญาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างก็ให้คำรับรองคำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนการยอมรับและการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป

3 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีขอถอนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับ ฉบับที่ 87 เนื่องจากพบว่าอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวข้องกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และจะมีการออกกฎหมายลำดับรอง จึงขอถอนหนังสือสัญญาทั้งหมดออกไปก่อน เพื่อรอดำเนินการจัดทำกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จก่อน

มาตรา 190 ระบุว่า “...ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย...” 

นั่นคือ หากเข้าข่ายมาตรา 190 ต้องให้คณะรัฐมนตรีเสนอรัฐสภาเพื่อทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจึงนำกลับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง แต่หากไม่เข้าข่ายมาตรา 190 สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งนี้หากได้รับความเห็นชอบแล้ว สามารถส่งต่อให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อแจ้งจดทะเบียนให้สัตยาบันได้ทันที โดยอนุสัญญามีผลใช้บังคับหลังจากการให้สัตยาบันแล้ว 12 เดือน

11 พฤษภาคม 2554 เกิดเหตุการณ์ยุบสภา มีการเปลี่ยนรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อุปสรรคสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ.2554 ทำให้กระบวนการการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวหยุดชะงักอีกครั้ง ความวิตกกังวลและความสนใจมุ่งไปที่การแก้ปัญหาในเรื่องผลกระทบและการฟื้นฟูประเทศจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในขณะที่รัฐบาลก็มีแผนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการถอนการเสนอให้พิจารณาเรื่องของการให้สัตยาบันอนุสัญญาออกจากรัฐสภาตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ.2554

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการเข้ามาทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ท่าทีต่อการผลักดันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ยังไม่มีความชัดเจน แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความแล้วว่า อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯปี 2550 และได้ส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศ เพื่อลงนามรับรอง

แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสู่รัฐบาลภายใต้พรรคเพื่อไทย อนุสัญญาดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองและกระทรวงแรงงานได้มีการปรับเปลี่ยนหลักการเหตุผลใหม่ทั้งหมด และนำมาสู่การจัดประชาพิจารณ์ในปี 2555

2555

ในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น พบว่าเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 ทางสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ดำเนินโครงการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ

(1) เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ภาคีที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้เรื่อง การให้สัตยาบันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98 ของประเทศไทย

(2) เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของแรงงาน หากประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98

(3) เพื่อให้ภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูล แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ของประเทศไทย

(4) เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ กลุ่มเป้าหมาย คือ ภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวม 400 คน ทั้งนี้ได้กำหนดการจัดเวที 5 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 19 มิถุนายน 2555 ศิรินาถ การ์เด้นท์ จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 มิถุนายน 2555 โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 28 มิถุนายน 2555 โรงแรมชลจันทร์ จ.ชลบุรี ครั้งที่ 4 วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 โรงแรมสยามธานี จ.สุราษฎร์ธานีครั้งที่ 5 วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้นแล้วการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่สำคัญในปี 2555 ของสหภาพแรงงานไทย คือ เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรมอามารี วอเตอร์เกต ประตูน้ำ กรุงเทพฯ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ประกอบด้วย
สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้มีการจัดประชุมเพื่อผลักดันรัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร และเจรจาต่อรอง เพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน 

โดยเป็นการประชุมที่เน้นไปที่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาการการขับเคลื่อนของคณะทำงาน สหภาพแรงงาน รวมถึงในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการขับเคลื่อนผลักดันต่ออย่างเข้มข้น เพื่อให้กระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น ผ่านแนวทางการทำงานรูปแบบต่างๆ

2556

มีความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่สำคัญ โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 มีการประชุมร่วมระหว่างส่วนราชการเพื่อหาข้อยุติเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดการประชุมร่วมระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเห็นและหาข้อยุติ เรื่อง การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 โดยมีนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นประธานการประชุม และมีนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงนายอิทธิพล แผ่นเงิน ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ คณะผู้บริหารสำนักแรงงานสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ รวม 50 คน  เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมนิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

นอกจากนั้นในส่วนของสหภาพแรงงานในประเทศไทย พบว่าทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) โดยการสนับสนุนของสภาแรงงานแห่งชาตินอร์เวย์ (LO-NORWAY) ก็ได้ทำงานเผยแพร่ความรู้เรื่องความสำคัญของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ต่อแรงงานในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2555-2556 ที่ผ่านมา

รวมถึงในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ร่วมกับกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติในระดับพื้นที่ จัดทำโครงการ “การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่ ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98” ขึ้นมา ในระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2556 โดยการสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแรงงานในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงในเรื่องการรณรงค์และมีกิจกรรมเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาในระดับจังหวัด เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรณรงค์และนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ต่อไปในอนาคต

 

สถานการณ์การรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานในระดับโลกและระดับประเทศไทย

(1) สถานการณ์ระดับโลก[1]

สถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์การและการเจรจาต่อรอง ซึ่งรวมถึงสิทธิในสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีรูปแบบที่หลากหลาย และมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ดังนี้

(1.1) ภูมิภาคอเมริกาเหนือ

ในสหรัฐอเมริกา ลูกจ้างในภาครัฐมากกว่าร้อยละ 40 ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการเจรจาต่อรอง แม้ลูกจ้างในภาคเอกชนจะสามารถเข้าถึงสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและสิทธิในการเจรจาต่อรอง แต่ก็มีการประมาณการณ์ว่ากว่าร้อยละ 80 ของนายจ้างในภาคเอกชนมีการขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการต่อต้านและรับมือกับการก่อตั้งและการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ยังปรากฏว่ายังมีนายจ้างที่ออกคำสั่งในลักษณะที่เป็นการจำกัดสิทธิทางด้านแรงงานของลูกจ้างด้วย

ในประเทศแคนาดา ลูกจ้างในภาครัฐต้องประสบกับข้อจำกัดที่มากมายในการใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและสิทธิในการเจรจาต่อรอง

ในประเทศเม็กซิโก แม้ว่าจะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง แต่ลูกจ้างในเขตพื้นที่การส่งออกจะมีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และในทางปฏิบัติจะถูกกีดกันในการใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์การรวมถึงสหภาพแรงงานจะขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงาน มีการจับกุมคุมขังแกนนำในประเทศเม็กซิโก คิวบา มีการจับกุมคุมขังและสังหารในประเทศเฮติ กัวเตมาลา

(1.2) ภูมิภาคอเมริกาใต้หรือละตินอเมริกา

เป็นภูมิภาคที่มีการละเมิดและมีการใช้ความรุนแรงต่อลูกจ้างที่ใช้สิทธิสหภาพแรงงานมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีการเลิกจ้าง ทำร้าย สังหารผู้นำสหภาพ โดยเฉพาะในประเทศโคลัมเบีย ในปีหนึ่งๆแกนนำสหภาพแรงงานถูกสังหารหรือหายตัวไปกว่า 200 คน นอกจากนี้มีการจับกุมคุมขังและสังหารในประเทศบราซิล โบลิเวีย ปารากวัย อาร์เจนตินา มีการจับกุมคุมขังแกนนำสหภาพในประเทศเปรูและชิลี

(1.3) ภูมิภาคยุโรป

ผลจากการแปรรูปหน่วยธุรกิจของรัฐมาเป็นของเอกชน ส่งผลให้ลูกจ้างตกงานเป็นจำนวนมาก ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขยายห่างมากยิ่งขึ้น มีข้อจำกัดในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานทางด้านแรงงานอย่างกว้างขวาง มีการจับกุมคุมขังแกนนำสหภาพในประเทศเบลารุส บัลกาเรีย ตุรกี และไซปรัส

ในยุโรปตะวันตก มีข้อจำกัดในการใช้สิทธิสหภาพแรงงานของลูกจ้างในภาครัฐ ในสเปนมีข้อจำกัดที่เข้มงวดในการใช้สิทธิการเจรจาต่อรอง ส่วนในเยอรมนีไม่ยอมรับการสไตร์คของลูกจ้าง

(1.4) ภูมิภาคแอฟริกา

แกนนำสหภาพประสบกับการถูกละเมิด ถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน รวมทั้งการสังหารในหลายๆประเทศ ในซูดาน โมรอคโค อัลจีเรีย ไนจีเรีย นามิเบีย เคนยา คาเมรูน มีผู้นำสหภาพถูกคุมขังเป็นจำนวนมาก ส่วนในแอฟริกาใต้ เซเนกัล เอธิโอเปีย มีผู้นำสหภาพถูกทั้งจับกุมคุมขังและสังหาร สิทธิสหภาพแรงงานยังห่างไกลจากที่มีการรับรองไว้ในกฎหมาย คนว่างงานหลายล้านคนไม่ได้รับการคุ้มครอง

(1.5) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและเอเชียใต้

สภาพการทำงานของแรงงานในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสหภาพและการเจรจาต่อรองอย่างเด่นชัด เช่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีใต้ มีการจับกุมและคุมขังแกนนำสหภาพแรงงานเป็นจำนวนมาก มีการห้ามการใช้สิทธิสหภาพแรงงานในประเทศเกาหลีเหนือ เวียดนาม ลาว และพม่า ในอินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล มีแกนนำถูกจับกุมและลอบสังหารในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ กัมพูชา พม่า บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปากีสถาน

ในออสเตรเลีย สัญญาจ้างงานจะมีบทบาทเหนือกว่าสัญญาเจรจาต่อรอง

(1.6) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง

มีแรงงานข้ามชาติประมาณร้อยละ 50-90 ในสถานประกอบการในตะวันออกกลางส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างที่ต่ำ มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน และมีสิทธิทางด้านแรงงานน้อย และมีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อการเคลื่อนไหว ในประเทศอิหร่าน มีผู้นำสหภาพถูกคุมขังเป็นจำนวนมาก หลายประเทศในตะวันออกกลางยอมให้มีการจัดตั้งแต่จำกัดเฉพาะสหภาพแรงงานเดี่ยว (A single trade union) ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย แต่ในปัจจุบันมีการยอมรับสิทธิสหภาพแรงงานมากขึ้น

(2) สถานการณ์ระดับประเทศไทย

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจจำนวนแรงงานทั้งหมดเมื่อพฤษภาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น  38.85 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 14.05 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติระดับล่าง 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่เข้าเมืองถูกกฎหมายมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 961,414 คน และแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอีก 79,628 คน 

ปัญหาสำคัญด้านการรวมตัวของแรงงานในประเทศไทยยังมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในระบบ ที่เสรีภาพการรวมตัวถูกจำกัด นายจ้างมักจะไล่ออกผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน มีการกลั่นแกล้งกรรมการสหภาพแรงงาน บทลงโทษนายจ้างกรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ทำให้นายจ้างต้องเคารพสิทธิแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีจำนวนน้อย หรือการจ้างบริษัทเหมาช่วงแรงงานเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือลดจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในลำดับรั้งท้ายของโลก

กลไกรัฐและกฎหมายขาดการส่งเสริมการรวมตัวของแรงงาน รัฐมีอำนาจตรวจสอบสำนักงานสหภาพแรงงาน ปลดกรรมการสหภาพแรงงาน และยุบเลิกสหภาพแรงงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจห้ามหยุดงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มวิชาชีพ

มีการแบ่งแยกแรงงานภาครัฐวิสาหกิจ ออกจากแรงงานภาคเอกชน จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทำให้แรงงานภาคเอกชนมีอำนาจต่อรองลดลง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีจำนวนน้อย ต้องทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเนื่องจากค่าจ้างแรงงานต่ำและสวัสดิการต่ำ

อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน และกลไกศาลแรงงานขาดประสิทธิภาพ กรอบคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงาน หรือคดีแรงงานขาดหลักประกันในสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน

สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ปัญหาสำคัญในการรวมตัว พบว่านายจ้างยังคงใช้ช่องว่างเรื่องรายได้มาเป็นตัวแปรในการทำให้ไม่สามารถรวมกลุ่มเจรจาต่อรองได้อย่างจริงจัง ทำให้งานที่ทำขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ

กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มที่มักเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิแรงงานและเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ แต่เพราะด้วยข้อจำกัดของ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นของกลุ่มตนเองได้โดยตรง นอกจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับกลุ่มแรงงานในระบบ แต่ถ้าพื้นใดไม่มีแรงงานในระบบก็พบข้อจำกัดในการรวมกลุ่ม

กลุ่มแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ยังขาดกลไกสนับสนุนการรวมตัวระดับกลุ่มในการป้องกันปัญหาการถูกหลอกลวงก่อนตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ

การรวมตัวของข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ  ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายรองรับในการจัดตั้งและรวมกลุ่มโดยตรง อีกทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ก็ทำให้ไม่สามารถรวมตัวได้ ทั้งๆที่ในงานภาคราชการมีรูปแบบการจ้างงานที่มีการคุ้มครองและเข้าถึงสวัสดิการที่แตกต่างกันมากหลายระดับ ทั้งกลุ่มข้าราชการ กลุ่มพนักงานของรัฐ  และกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว

กลุ่มสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนภาคสนามมักจะถูกกดดันจากสภาพการทำงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นี้ไม่นับว่าการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการทำหน้าที่ตามวิชาชีพ อีกทั้งในสื่อมวลชนแต่ละแห่งมีสภาพการจ้างงานที่หลากหลาย ทำให้นักข่าวยังคงเข้าไม่ถึงการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541



[1] เรียบเรียงข้อมูลจากเอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตร “กฎหมายแรงงาน"” ณ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร ประจำปี 2553 สำหรับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ระหว่างวันที่ 1-20 มิถุนายน 2553 (เอกสารอัดสำเนา)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท