Skip to main content
sharethis

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2556 “วิทยาลัยประชาชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเสวนา “เรื่องเล่าความขัดแย้งจากมุมมองมลายูมุสลิมไทย พุทธ และจีน” ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ โดยมีนักศึกษาในหลักสูตรเข้าร่วมประมาณ 30 คน

 

มลายูจีน-ความขัดแย้งไม่ได้มาจากชาติพันธ์ที่แตกต่าง พื้นฐานความสัมพันธ์ยังแข็งแกร่ง

นายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียนและช่างภาพ เป็นคน ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เติบโตมากับคนมลายูมุสลิม และมีต้นตระกูลเป็นคนเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากประเทศจีน ปัจจุบันมีบทบาทด้านการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในพื้นที่ โดยส่งเสริมเยาวชนผลิตหนังสั้นในพื้นที่ เป็นตัวแทนอภิปรายในมุมมองของคนมลายูจีนต่อปัญหาความขัดแย้ง

“ผมมีรากเดิมเป็นคนจีน ความเป็นจริงคนจีนมีความผูกพันกับคาบสมุทรมลายู และไม่เคยมีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่เลย”

“ถ้าพูดถึงปัญหาความขัดแย้ง ผมเคยพูดและยืนยันบ่อยๆว่า ความขัดแย้งในพื้นที่นี้ไม่ใช่เรื่องความแตกต่างทางศาสนา ทุกคนอยู่ร่วมกันได้จนทุกวันนี้ แม้บางคนขณะมองตาอาจไม่รู้ใจ แต่ผมยังเชื่อว่ารากฐานความสัมพันธ์ของผู้คนยังแข็งแกร่งอยู่”

ชุมศักดิ์ กล่าวถึงภาพถ่ายของตัวเองภาพหนึ่งที่ถูกบันทึกในจังหวัดปัตตานี สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของคนในพื้นที่ ระหว่างคนไทยพุทธกับคนมลายูที่อยู่ด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ช่วงที่ตนทำหนังสือตนนำภาพนั้นเป็นภาพปก และตั้งชื่อว่า “พหุวิถีพุทธ มุสลิม จีน” ในช่วงเวลาเดียวกันมีประเพณีความผูกพันเกี่ยวกับ 3 ศาสนาพอดี ได้แก่ คนมุสลิมถือศีลอดเดือนรอมฎอน คนจีนมีงานศาลเจ้าลุยไฟ ส่วนคนพุทธก็มีงานวันอาสาฬหบูชา

“ผมเป็นคนจีนก็จริง แต่ผมฟังเสียงอาซานทุกวันวันละ 5 เวลา ผมอยู่ที่บ้านพ่อก็จะเปิดเพลงจีนด้วยความเป็นคนจีน พอสายๆ มีพระมาบิณฑบาตผ่านทางหน้าบ้าน สวนทางกับคนมุสลิมที่เพิ่งละหมาดเสร็จ เป็นภาพที่สวยงามมากในตลาดดุซงญอ ผมจึงนำมาเขียนเป็นหนังสือว่า “ใต้ความทรงจำ” และเขียนเป็นเพลงด้วย”

“ผมมาจากตระกูลคนจีนกลุ่มแรกที่มาอยู่ในดุซงญอ มาอยู่รักใคร่ดูแลกันดี จึงทำให้มีคนจีนตามมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ความคล้ายคลึงของคนจีนกับคนในพื้นที่ คือการเอื้อประโยชน์ต่อกัน ทำให้คนจีนไม่ขัดแย้งกับคนในพื้นที่ เนื่องจากคนจีนมุ่งแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเสมือนเป็นที่อยู่ใหม่ที่ให้ชีวิต บ้างก็มาหลักแหล่งที่ประเทศมาเลเซีย ที่เกาะปีนัง ที่ประเทศสิงคโปร์ บางส่วนมาอยู่ตอนกลางของประเทศ กลุ่มสุดท้ายเป็นกุลีดีบุก”

“ช่วงเกิดสงคราม “เปอร์แรดุซงญอ” (การต่อสู้ที่ดุซงญอ) พ่อผมออยู่ที่ดุซงญอ จึงเห็นความเอื้ออาทรและการต่อสู้”

“พ่อเล่าให้ฟังว่า ก่อนเกิดการปะทะกัน ชาวบ้านพากันลี้ภัยไปอยู่ในห้องใต้ดินของบ้าน ผมก็เลยเชื่อว่า รากฐานของคนในพื้นที่มีลักษณะพิเศษ คือ คนจีนเป็นแค่คนอาศัย ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เราอยู่อาศัยด้วยความรักและผูกพัน”

 

มลายูพุทธ- มลายูถูกปลูกฝังให้เกลียดซีแย ทางออกคือต้องยอมรับในความต่าง

อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ข้าราชการครูและประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ตัวแทนคนมลายูพุทธ สะท้อนมุมมองของคน “ซีแย” (สยาม) ว่า ตนเป็นคน 2 ประเทศ ดั้งเดิมเป็นชาวนา แต่อาศัยอยู่นอกหมู่บ้าน เนื่องจากมีปัญหา จนกระทั่งกลับบ้านไม่ได้ ไม่มีแม้ที่ซุกหัวนอน จึงต้องไปอยู่ที่ป่าสงวนที่บาโหย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นป่าสงวน

“ผมเห็นว่า ปัญหาที่ขัดแย้งในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องศาสนา แม้ผมไม่ได้เป็นคนที่ศึกษาศาสนาอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ศึกษาคำนิยามของศาสนา จึงเห็นว่า ไม่มีเรื่องที่ศาสนาทำให้ความขัดแย้งหรือความรุนแรงแบบนี้”

“คนมุสลิมสอนเรื่องความสันติสุข คนไทยพุทธสอนเรื่องการประนีประนอม ส่วนคริสต์ก็เอาความรักมาเป็นตัวตั้งให้แบ่งปันความรักให้ผู้อื่น ทำให้เห็นจุดร่วมที่ไม่มีเหตุผลที่ต้องฆ่าผู้อื่นแต่อย่างใด”

“ฉะนั้นศาสนาไม่ใช่แก่นแท้ของความขัดแย้ง เป็นเพียงการดึงเอาศาสนามาเกี่ยวข้องกับยุทธวิธีบางส่วน ที่จะทำให้เกิดการรวบรวมพลังในการเคลื่อนไหวมากกว่า”

อาจารย์ประสิทธิไม่เห็นด้วยว่า วัฒนธรรมก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะตนทำงานในพื้นที่มา 40 ปี อยู่กับมุสลิมตลอดชีวิต แม้เรื่องอาหารการกินจะไม่เหมือนกัน จึงมีความเข้าใจในความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก และเชื่อว่าถ้าทุกคนเข้าใจและยอมรับในจุดต่างนี้ได้ จะสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยปราศจากความขัดแย้ง

“ผมค่อนข้างมั่นใจว่า แก่นแท้ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง คือ อำนาจการเมืองการปกครองที่มีมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ และคนมลายูท้องถิ่นก็ไม่ยอมรับ เพราะวิถีตรงนี้ผนึกกับเรื่องศาสนา เรื่องอื่นเป็นแค่ส่วนประกอบ โดยที่คนมุสลิมในพื้นที่รู้สึกว่า การควบรวมหัวเมืองปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยไม่ถูกต้อง”

“ยอมรับว่าประวัติศาสตร์เป็นเช่นนี้จริง เมื่อมีอำนาจเข้ามาบีบบังคับให้เป็นเช่นนั้น ความไม่ต้องการอยู่เป็นส่วนหนึ่งรัฐไทยก็เกิดขึ้นทันที แล้วคนกลุ่มนี้พยายามต่อสู้เพื่อให้หลุดออกจากบริบทของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ตอนนั้น นี่คือแก่นของปัญหา แต่มักเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง”

“ถ้าจะเอาวัฒนธรรมพุทธมาใช้กับคนมุสลิมคงเป็นไปได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้คนพื้นที่นี้จึงต้องพยายามต่อสู้ โดยผ่านทางองค์กรต่างๆ เช่น ในนามกลุ่ม BRN Coordinate ที่เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งเข้มแข็ง หนักแน่น”

อาจารย์ประสิทธิ์เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลไทยมีแนวคิดอีกแบบหนึ่งว่า BRN คือ คนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน โดยแก้ปัญหาจากความขัดแย้งในหมู่ประชาชนคนพวกเดียวกัน การกำหนดยุทธศาสตร์ไม่ใช่ด้วยวิธีการเอาชัยชนะ แต่ต้องหาวิธีแก้อีกชุดหนึ่งต่างหาก

“BRN ต้องการความเป็นอิสระในการเมืองการปกครองเพื่อดูแลกันเอง ต้องการคงความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิมเอาไว้ให้โดดเด่นเหมือนประเทศเอกราชทั้งหลาย มีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาทุกประการ เสมอกับเชื้อชาติอื่นๆหาก BRN มองเช่นนี้ รัฐบาลก็อาจจะคิดได้ว่าจะไม่ไปกดขี่ข่มเหง กระทำอย่างเสมอภาค ผมเชื่อว่าจุดลงตัวมี หากทุกคนต่างคิดอย่างมีเหตุผล ความขัดแย้งตรงนี้อาจคลี่คลายได้หมด”

 

มลายูมุสลิม-ความขัดแย้งมาจากโครงสร้างอำนาจ ทางออกคือให้สิทธิเท่าเทียมกัน

นายการิม มูซอ หรืออีชา จากกลุ่มผู้ขับเคลื่อนด้านการสร้างศักยภาพให้คนในพื้นที่ เป็นคนหนุ่มที่มีบทบาทในการประสานงานฝ่ายเยาวชนและนักศึกษาของสำนักปัตตานีรายอเพื่อสันติภาพและการพัฒนา สะท้อนมุมมองคนมลายูมุสลิมว่า ค่อนข้างกดดันที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง จากการถูกยัดเหยียดความเป็นตัวตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษา

ในมิติโครงสร้างทางการเมือง การิมเห็นด้วยที่ว่า ปมความขัดแย้งในพื้นที่เกิดจากการถูกปลูกฝังตั้งแต่สมัยเด็กให้เกลียดคน “ซีแย” จริงๆ แล้วความเป็นมลายูมุสลิมมีวิถีของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

การิมกล่าวว่า ขณะนี้คนมลายูถูกกดดัน ทุกคนมีสิทธิในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตนเอง แต่วันนี้การถูกตราหน้าจากสังคมเพียงเพราะการคิดที่แตกต่างไปจากเดิม

“ในทางกฎหมายเรายังต้องเชื่อในอำนาจรัฐ แต่โดยพฤตินัยแล้วคงไม่มีใครเชื่อ เพราะวันนี้ดูเหมือนเรากำลังเป็นกบฏของรัฐไทยโดยไม่รู้ตัว ถามว่าโรงเรียนตาดีกาจะมีไปทำไมถ้าระบบการศึกษาไทยดี ถ้าอำนาจทางการเมืองดีคณะกรรมการมัสยิดก็ไม่จำเป็นต้องมี”

“วันนี้คนปัตตานีต้องกำหนดชะตากรรมตนเอง ต้องมาถกเถียงถึงความต้องการของตนเอง พูดคุยถึงเรื่องโครงสร้างทางอำนาจที่จะส่งผลต่ออนาคตให้รู้เรื่องก่อน ส่วนบุคคลภายนอกช่วยหยุดฟังและให้เกียรติคนใน”

ปัจจุบันเมื่อ 2 ฝ่าย คือรัฐบาลกับ BRN ลุกขึ้นมานั่งคุยกัน BRN บอกว่าต้องการเอาพื้นที่ตรงนี้คืน นี่คือโจทย์ที่เกิดความขัดแย้งในเวลานี้

ถามว่าทุกวันนี้ทั้งสองฝ่ายได้คุยอย่างตรงไปตรงมากับคนในพื้นที่บ้างหรือยังว่า มองปัญหาในพื้นที่อย่างไร ทั้งเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธ-มุสลิม และอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับ คือ เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์

“อยากเรียกร้องจากรัฐว่า เปิดโอกาสให้ทุกคนมาพูดคุยกัน จะได้เกิดการตื่นตัวทางการเมือง เพื่อทุกคนจะได้เข้าสู่ประตูซาตูปาตานีอย่างพร้อมเพรียง”

นั่นเป็นเสียงสะท้อนของคนมลายู ทั้งมุสลิม จีนและพุทธ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามขับเคลื่อนสันติภาพให้เกิดขึ้น ซึ่งต่างเห็นตรงกันว่า ความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากเชื้อชาติ ศาสนาที่แตกต่างกัน แต่เกิดจากโครงสร้างอำนาจ บริบททางกฎหมายที่สวนทางกับชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่

แม้วันนี้เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นยังหาทางแก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าทุกคนทำความเข้าใจ ยอมรับ และช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหา เชื่อว่าความสงบสุขคงจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net