Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ขอออกตัวก่อนว่าบทความนี้เป็นเพียงความรู้ ความรู้สึกและความเข้าใจส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานชี้วัด ความผิดถูกได้แต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงการใช้สิทธิ์ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยของตนเองในสังคมที่เชื่อกันว่ามีเสรีภาพในการแสดงออกผ่านตัวอักษร
 
อุดมการณ์สูงสุดของศาสนาคือได้การบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิตตามคติของแต่ละศาสนา เช่น เป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธคือบรรลุนิพพาน ตัดวงจรวัฏฏะสงสาร โดยระดับขั้นของการบรรลุขึ้นอยู่กับการละสังโยชน์แต่ละข้อในระดับต่างๆ ศาสนาคริสต์ คือการได้ไปอยู่กับพระเจ้าภายหลังจากละโลกนี้ไปแล้ว ฯลฯ
 
การจะบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนานั้นจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ต้องปฏิบัติตามหลักการของแต่ละศาสนา ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามนั้นบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของละศาสนาที่ตนศรัทธาได้
 
กระบวนการในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนา  มีความแตกต่างกัน ข้อแตกต่างระหว่างศาสนานั้นอาจมีหลายประการ แต่ที่ผู้เขียนนึกได้ในตอนนี้ก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างเป้าหมายสูงสุด และกระบวนการที่ใช้ในการเข้าถึง 
ประเด็นที่ผู้เขียนนำมาขบคิดก็คือ กระบวนการหรือวิธีการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนานั้น ต่างมีข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ ที่แตกต่างกัน ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติที่แตกต่างกันของแต่ละศาสนานั้นจะไม่ของกล่าวถึงเพราะเป็นหลักและวิธีการจำเพาะของแต่ละศาสนาที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดทางศาสนา
 
แต่ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจก็คือ ข้อห้าม ข้อพึงปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาบางข้อบางประเด็นที่ตีความโดยชนชั้นปกครองและถ่ายเทความเชื่อเหล่านั้นให้กับผู้ถูกปกครอง(ประชาชน ชาวบ้าน) ขัดกับหลักการของรัฐสมัยใหม่ ที่ ให้ความสำคัญต่อ ศักยภาพและความสามารถของมนุษย์ อีกทั้งเรื่อง สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของคนในสังคม หรือไม่ ?
 
อุดมการณ์สูงสุดของรัฐในทัศนะของผู้เขียน คือสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic socialism)  ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ดีกินดีของประชาชนภายในรัฐ ภายใต้ระบอบการปกครองที่ดี เป็นธรรม และคำนึงถึง เสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในรัฐ   ส่วนรูปแบบการปกครองนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นมติของคนในรัฐเสมอไปว่า จะเลือกรูปแบบการปกครองใด เพราะมติหรือความเห็นของคนในรัฐที่ผ่านการปลูกฝังจากชนชั้นปกครองให้ยอมจำนน โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือนั้น เป็นมติที่ใช้ไม่ได้  ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเสรีไทยกลุ่มหนึ่งที่อภิวัฒน์รูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยเห็นว่ารูปการปกครองที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไม่เป็นธรรมและขัดกับหลักสากล โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่ผ่านการปลูกฝังจากชนชั้นปกครองให้ยอมจำนน ดังที่กล่าวมาแล้ว อาจจะไม่เห็นด้วยในขณะนั้น
 
ซึ่งการจะบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐดังที่กล่าวแล้วมานั้น ก็มีวิธีการหรือกระบวนการของตนเอง ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ  อีกทั้งความเชื่อทางศาสนาที่ถูกตีความโดยชนชั้นนั้น  ขัดกับกระบวนการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐ  เพราะการตีความความเชื่อทางศาสนา (พุทธ) เป็นไปในลักษณะให้ประชาชนจำนนต่ออำนาจ และทำให้ประชาชนรู้สึกขาดอำนาจและความสามารถในการเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์  หากแต่ขึ้นอยู่กับชะตากรรมของบ้านเมือง  ดังปรากฏ หนังสือไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยแต่โบราณเป็นอย่าสูงหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายว่ามนุษย์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่างๆ นานนับชาติไม่ถ้วนจนกว่ามนุษย์จะนิพพาน เวลาอยู่บนโลกนี้จึงไม่แน่นอน มีลักษณะอนิจจังตั้งอยู่ไม่ได้นาน เป็นเวลาแห่งความทุกข์หรือมีความไม่เที่ยงแท้ ชีวิตมนุษย์จึงมีแต่ความทุกข์ ที่สำคัญระยะ เวลาไม่เกินร้อยปีทีมนุษย์แต่ละคนมีชีวิตอยู่ มนุษย์ไม่สามารถกำหนดสภาพและวิถีชีวิตของตนได้ เนื่องจากชีวิตในชาตินี้ถูกกำหนดไว้ในอดีตด้วยกรรมในชาติก่อน ๆและสังคมมนุษย์โดยรวมจะค่อยๆเสื่อมลงจนถึงกลียุคที่มนุษย์จะต้องล้มตายลงอย่าง   ทุกขทรมาน มนุษย์ที่ทำกรรมดีจะได้ไปเกิดในช่วงเวลาที่ดีและมีอายุยืนนาน ถ้าทำกรรมชั่วก็จะได้ไปเกิดในช่วงเวลาที่เลวร้าย เช่น กลียุค เป็นต้น 
 
ต้องทำความเข้าใจกับผู้อ่านนิดนึงว่า คำว่า อุดมการณ์ศาสนากับอุดมการณ์รัฐ ที่ว่านี้ หมายเอาเฉพาะศาสนาพุทธต่อประเทศไทยเท่านั้น
 
และนิยามคำว่า ขัด ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การขัดในแง่ของการตีความหลักการทางศาสนาของรัฐเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองของชนชั้นปกครอง
 
อุดมการณ์ของศาสนาพุทธในประเทศไทยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนองต่ออุดมการณ์รัฐ  ซึ่งเป็นการตีความคำสอนทางศาสนาที่ผิด และก่อให้เกิดปัญหาเรื่อยรังต่อการปลูกต้นกล้าแห่งความเข้าใจต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย 
 
การใช้ศาสนาเพื่อใช้เป็นเครื่องรองรับความชอบธรรมต่อชนชั้นปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะอุดมการณ์ทางศาสนาไม่ได้มีเป้าหมายทางการปกครองแต่มีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงสาระที่แท้จริงของการมีชีวิต และศาสนาเองโดยเฉพาะศาสนาพุทธก็เกิดขึ้นก่อนที่ความคิดเรื่องรัฐชาติจะเกิด สำหรับเรื่องอุดมการณ์รัฐนั้นไม่ต้องพูดถึง  
 
รัฐหรือการเมืองควรเดินตามอุดมการณ์และแนวทางของตนเองโดยใช้หลักทางศาสนามาประกอบในส่วนของการสร้างคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานให้กับประชาชนเพื่อความสงบสุขของคนในรัฐ ส่วน คุณธรรมขั้นสูงนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและความสมัครใจของปัจเจกคนในรัฐเอง สำหรับ คุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานนั้นประชาชนในรัฐจะต้องมีโดยมีสภาพบังคับในรูปของกฎหมาย  เพราะหากประชาชนใน รัฐขาดเสียซึ่งคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานเสียแล้วรัฐก็ถึงกาลวิบัติ  ศาสนาจึงควรอยู่ในสถานะที่เป็นเสาหลักทางความมั่นคง ที่พึ่งทางจิตใจ ทั้งยังเป็นเป้าหลอมพฤติกรรมและเป็นบ่อเกิดประเพณีวัฒนธรรมสร้างความเป็นอัตตลักษณ์ให้กับคนในรัฐ  เมื่อใดก็ที่ประชาชนในรัฐเห็นว่าสถานะดังกล่าวของศาสนาไม่มีความจำเป็นต่อตนแล้ว ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็นต่อรัฐอีกต่อไป ในทัศนะของผู้เขียนเองมองว่า หากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐมองว่าสถานะของศาสนาไม่จำเป็นต่อรัฐ  เมื่อนั้นรัฐเองก็ประสบความล้มเหลวต่อการดำรงอยู่ของรัฐ 
 
และสถานะที่รัฐควรปฏิบัติต่อศาสนาก็คือ  ส่งเสริมสนับสนุน อุปถัมภ์ดูแล ให้สถาบันทางศาสนาทำหน้าที่ของตนเองเพื่อเอื้อต่อการนำพาสังคมให้เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของอุดมการณ์รัฐต่อไปและรัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิประชาชนในการเลือกนับถือศาสนาเป็นอันขาด เพราะการละเมิดสิทธิประชาชนในการเลือกนับถือศาสนานั้นขัดกับอุดมการณ์พื้นฐานของรัฐในระบอบประชาธิปไตยเสียเอง
 
จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐจะเข้ามาก้าวก่ายศาสนาในแง่ของการตีความและการบริหารจัดการหรือกำหนดรูปแบบโครงสร้างการบริหารให้กับคณะสงฆ์ไทย ( ในประเทศไทยโครงสร้างทางการบริหารของคณะสงฆ์เองก็ขัดกับอุดมการณ์พื้นฐานของศาสนาพุทธ )
 
ที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะการใช้ตรรกะทางโลกีย์บางเรื่องก็ขัดกับตรรกะทางโลกุตระอย่างรุนแรง และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาศาสนาพุทธเป็นอันต้องอันตรธานจากประเทศที่เคยมีพระพุทธศาสนาไป เพราะการใช้อำนาจรัฐควบคุมศาสนาในทุกๆด้าน หากรัฐและประชาชนเห็นว่าศาสนา (พุทธ) ยังมีบทบาทสำคัญที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์รัฐอยู่ ก็สมควรทบทวนและแก้ไขบทบาทของรัฐไทยที่มีต่อศาสนาได้กระมัง
 
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมด (ขอย้ำอีกหนว่า)   รัฐต้องทบทวนบทบาทของตนเองที่มีต่อศาสนาว่า ได้ก้าวล่วงศาสนาจากฐานคิดที่หลงผิดคิดว่าตนเอง(รัฐ)มีอำนาจและใช้อำนาจโดยขาดสำนึกและความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างอุดมการณ์ของศาสนาและอุดมการณ์ของรัฐเอง เพราะถ้าสถาบันหลักของสังคมยังไม่เข้าใจขอบเขตและบทบาทอำนาจของตนเองแล้ว จะนำพาสังคมไทย (โดยชื่อ)ไปสู่อุดมการณ์สูงสุดของทั้งศาสนาและรัฐได้อย่างไร ?
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net