โรฮิงยา ชีวิตภายใต้อำนาจ จากชายแดนพม่าถึงไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเดินทางอพยพหนีความรุนแรงจากบ้านเกิดของชาวโรฮิงยา ในรัฐระคาย (Rakhine)[1] รัฐชายฝั่งตะวันตกของประเทศพม่า ใกล้ชายแดนบังคลาเทศ กลายเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดในโลกปัจจุบัน ความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่ากับรัฐบาล ถูกเสริมด้วยอคติ ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ และเพิ่มเติมด้วยความแตกต่างทางศาสนาระหว่างพุทธ กับมุสลิมโรฮิงยาจึงกลายเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกกระทำมากที่สุดในพม่า พวกเขาไม่ได้แม้แต่การยอมรับในฐานะของกลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในประเทศพม่า

ความรุนแรงระหว่างรัฐบาลพม่าและกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 การอพยพของกลุ่มชาติพันธ์หลายแสนคนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นต่อเนื่อง คนกะเหรี่ยง ไทใหญ่ และอื่น ๆ อพยพเข้ามาในประเทศไทย เช่นเดียวกับชาวโรฮิงยาที่อพยพเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ จนกระทั่งรัฐบาลพม่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามผลการลงประชามติในเดือนพฤษภาคม ปี 2551 และให้มีการเลือกตั้งในปี 2553 แม้ว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มี ออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำเข้าร่วมในการเลือกตั้งซ่อมในเดือนเมษายน ปี 2555 ในอีกด้านรัฐบาลพม่าก็พยายามยุติความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ประเทศพม่าได้เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางของแผนการเพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ ขณะที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธ์เพื่อยุติความรุนแรงกำลังดำเนินไปในประเทศพม่า การจลาจลทางเชื้อชาติระหว่างผู้คนก็ปะทุขึ้นในรัฐระคาย ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐอีกต่อไป ความรุนแรงเกิดจากคนทั่วไปที่ได้รับอนุญาตจากรัฐในการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นทางการ ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นอย่างทั่วไป

บทความนี้ ผู้เขียนสนใจชาวโรฮิงยาในฐานะที่เป็นเป้าหมายของปฏิบัติการทางอำนาจที่หลากหลายที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าหลังสิ้นสุดการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ที่ได้ทำให้ดินแดนอาระกันและความสัมพันธ์กับพื้นที่ใกล้เคียงถูกขีดเส้นและแบ่งแยกเป็นดินแดนของพม่าและบังคลาเทศอย่างชัดเจน การอพยพหนีภัยความรุนแรง จากรัฐระคาย ประเทศพม่าสู่ประเทศไทย เพื่อนบ้านทางตะวันออกของพม่า ชาวโรฮิงยาก็ยังคงเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจเหมือนเดิม แต่ความแตกต่างในสถานการณ์ และความหลากหลายของบรรดาองค์อำนาจ (sovererign bodie) [2] ในประเทศไทยต่างมีผลต่อชีวิตของชาวมุสลิมโรฮิงยาในประเทศ

 

ประวัติศาสตร์ของ โรฮิงยา การสร้างชาติพม่า ชีวิตที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

"โรฮิงยา" เป็นคำที่เรียกชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่อยู่ดินแดนอาระกัน หรือรัฐระคายในปัจจุบัน รัฐชายแดนทางตะวันตกของประเทศพม่า ติดกับชายแดนบังคลาเทศ มีลักษณะร่างกาย ภาษาที่ใช้ใกล้เคียงกับภาษาเบงกาลี ภาษาที่ถูกใช้ในบังคลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้านมุสลิมทางตะวันตก จากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางชาติพันธ์ที่ชัดเจน ชาวโรฮิงยาไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า

คำว่า "โรฮิงยา" ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเป็นมา สำหรับชาวโรฮิงยา พวกเขาอ้างถึงการสืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับ การก่อตั้งอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า มารุค อุ (Mrauk U) ในดินแดนอาระกัน รัฐระคายในปัจจุบัน พวกเขาคือคนพื้นเมืองบนดินแดนอาระกัน เป็นกลุ่มชาติพันธ์บนดินแดนอาระกันที่นับถืออิสลาม แต่สำหรับพม่า "โรฮิงยา" เป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่จากนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกันที่หมายถึงพวกที่อพยพเข้ามาจากบังคลาเทศอย่างผิดกฎหมายในช่วงเวลาที่พม่าอยู่ภายใต้อังกฤษในฐานะอาณานิคม โรฮิงยาจึงไม่ใช่กลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในพม่า (U Khin Maung Saw,1993) ข้อถกเถียงดังกล่าวไม่ได้ทำให้กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าชาวโรฮิงยาหายไป และไม่ว่าชาวโรฮิงยาจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับ หรือผู้อพยพชาวบังคลาเทศที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนดินแดนอาระกัน แต่ชาวโรฮิงยาในปัจจุบันก็เป็นคนรุ่นที่สอง หรือสามที่ซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาในดินแดนอาระกัน มีพ่อ แม่ หรืออาจรวมถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เกิดและตายบนดินแดนอาระกัน

ประวัติศาสตร์ของโรฮิงยาจึงผูกพันกับดินแดนอาระกัน ที่ซึ่งมีประวัติเป็นของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในช่วงเวลาไม่นาน อาณาจักรมารุค อุ เป็นเอกราช เช่นเดียวกับอาณาจักรของชาวพม่า จนกระทั่งปี ค.ศ.1784 ที่อาณาจักรพม่าขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนอาระกัน ผู้คนจำนวนมากทั้งพุทธ และมุสลิมอพยพหนีกองภัยสงครามเข้าสู่จิตตะกอง ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในสมัยนั้น ขณะที่บางส่วนถูกกวาดต้อนไปยังดินแดนพม่าตอนใน ประชากรในดินแดนอาระกันจึงลดจำนวนลง ไร่นาถูกละทิ้งเป็นจำนวนมา ดินแดนอาระกันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าอยู่ 44 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1784 จนถึง 1828 (Aye Chan, 2005)        

ช่วงเวลาปี ค.ศ. 1823 -1828 อังกฤษเป็นฝ่ายชนะในสงครามครั้งที่ 1 กับพม่า ทำให้ดินแดนชายฝั่ง บริเวณอาระกัน รัฐเทนาเสริม อยู่ภายใต้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษ และในปี 1886 สงครามครั้งที่ 3 ระหว่างอังกฤษกับพม่าสิ้นสุด พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ดินแดนพม่าตอนในทั้งหมดจึงกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ระหว่างการปกครองอาณานิคมของอังกฤษเหนือพม่า ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามครั้งที่ 1 ผู้คนจากอินเดีย และบังคลาเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่อาระกัน บางส่วนเป็นชาวอาระกันที่อพยพออกไปหลังกองทัพพม่าเข้ายึดครองอาระกัน บางส่วนก็คือชาวบังคลาเทศจากจิตตะกอง หรือคนอินเดียจากพื้นที่ใกล้เคียง (U Knin Maung Saw, 1993)

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและกลุ่มชาวโรฮิงยาแตกแยกมากขึ้น เมื่อช่วงต้นของสงคราม กองกำลังกู้ชาติของพม่าเลือกที่จะสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น ขณะที่กองทัพอังกฤษในพม่าก็ได้กองหนุนจากคนอินเดีย และโรฮิงยา ชาวพม่าเผชิญกับความรุนแรงจากกองกำลังอังกฤษและพันธมิตร แต่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในตอนต้นของสงคราม การถอยทัพอย่างรวดเร็วของอังกฤษได้ทิ้งให้ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงยาเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่มาพร้อมกับกองทัพญี่ปุ่น และพันธมิตรที่เป็นกองกำลังกู้ชาติของพม่า เมื่อสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนไป กองทัพญี่ปุ่นเริ่มประสบกับความพ่ายแพ้ในสงคราม กองกำลังกู้ชาติของพม่าเปลี่ยนการสนับสนุน กลับมาเป็นพันธมิตรกับกองกำลังอังกฤษ  ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงยาที่อดีตพันธมิตรของอังกฤษถูกละเลย และทิ้งให้เผชิญกับชะตากรรมของตนในพม่าแต่เพียงลำพัง จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชบนเงื่อนไขของการยอมรับของกลุ่มชาติพันธ์ตามข้อตกลงปางหลวง

แม้ว่าในภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงยาจะถูกรับรองในความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ในสมัยรัฐบาลของนายอูนุ ในการประชุมสภาเมื่อ 1950 แต่ภายหลังการยึดอำนาจของนายพล เน วิน ในปี 1978 พร้อมกับการนำสังคมนิยมแบบพม่ามาใช้ มีการสร้างความรู้สึกชาตินิยมพม่าพุทธขึ้นมา นำไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่างไปจากพม่า และกลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่างไปจากพม่ามากที่สุดคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาระกัน หรือระคายในปัจจุบัน ที่มีลักษณะภายนอก มีภาษา มีการแต่งกายใกล้เคียงกับผู้คนในบังคลาเทศ มากกว่าพม่า มีการนับถือทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดูและพุทธ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาต่อสู้เคียงข้างอังกฤษเจ้าอาณานิคมนับตั้งแต่เริ่มต้นและสิ้นสุดสงคราม ความเข้าใจที่แตกต่างในประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยากับชาวพม่า จึงเป็นการง่ายที่จะทำให้คนกลุ่มดังกล่าวเป็นชาว "โรฮิงยา" ที่เป็นผู้อพยพมาจากจิตตะกอง และพื้นที่ใกล้เคียงในยุคสมัยอาณานิคมอังกฤษ เป็นผู้คนซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองพม่าตามกฎหมายสัญชาติ (1982)

"สัญชาติ ดังต่อไปนี้ คะฉิ่น คะยา กะเหรี่ยง ชิน เบอร์มัน มอญ ระคาย หรือฉาน และกลุ่ม ชาติพันธ์ที่ได้ตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่อยู่ภายในรัฐเป็นการฐานเป็นการถาวรในช่วงเวลาก่อน ค.ศ. 1823 ให้ถือว่าเป็นพลเมืองของพม่า" ส่วนที่ 2 ความเป็นพลเมือง, มาตรา 3 กฎหมายสัญชาติพม่า ค.ศ.1982

ความสำคัญของปี ค.ศ.1823 คือการเริ่มต้นของสงครามครั้งแรกระหว่างอังกฤษและพม่า เนื่องมาจากความขัดแย้งในควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อังกฤษเป็นฝ่ายชนะทำให้มีอำนาจในการควบคุมแคว้มอัสสัม (Assam) มะนิปูร์ (Manipur) และดินแดนอาระกัน (Arakan) และ เทนาสเสริม (Tenaserim) ซึ่งเป็นทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่อยู่ในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษใกล้เคียง ผู้คนจากแคว้นเบงกอลเข้ามาในดินแดนที่ยึดครองใหม่หรือดินแดนอาระกัน

 

การเป็นผู้อพยพในประเทศบ้านเกิดตนเอง และประเทศอื่น

ภายหลังการเป็นอาณานิคม พม่าได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอูนุ ประกาศรับรองชาวโรฮิงยาให้เป็นกลุ่มชาติพันในรัฐอาระกัน ในปี ค.ศ.1954 และให้มีสิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1960 แต่การยึดอำนาจรัฐบาลอูนุใน ปี ค.ศ.1978 นายพลเนวิน ประกาศใช้นโยบายวิถีพม่าสู่สังคมนิยม (Burmese way to socialist) มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อจาก "รัฐอาระกัน - Arakan" เป็น "รัฐระคาย - Rahkine"  รัฐบาลเนวินใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อจัดการกับกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมที่ชื่อว่า มูจาหิต (Mujahid) ปฏิบัติการดังกล่าวได้ผลักดันให้ชาวมุสลิมอาระกัน ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวโรฮิงยากว่า 250,000 อพยพเข้าสู่บังคลาเทศ ตามมาด้วยการประกาศใช้กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ ปี ค.ศ.1982 กำหนดสิทธิของ 135 กลุ่มชาติพันธ์แห่งชาติ ซึ่งอยู่มาก่อน ปี ค.ศ.1823 ใน 135 กลุ่ม ไม่มีกลุ่มชาติพันธ์โรฮิงยา ชาวโรฮิงยาจึงกลายผู้มีสิทธิอยู่อาศัยชั่วคราวในประเทศพม่าเท่านั้น

ปฏิบัติการทางทหารถูกใช้กับชาวโรฮิงยาอีกครั้ง ใน ปี ค.ศ.1992 "ปฏิบัติการทำความสะอาดและสร้างความสวยงาม (Clean and Beautiful Nation Operation)  ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงยาอีกกว่า 250,000 อพยพไปบังคลาเทศ ขณะที่ชาวโรฮิงยาที่ยังอยู่ในรัฐอาระกันก็อยู่ภายใต้นโยบายการควบคุมของรัฐบาลพม่า การกำหนดให้ครอบครัวชาวโรฮิงยามีลูกไม่เกิน 2 คน ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน และการปฏิบัติที่รุนแรงจากเจ้าหน้ารัฐบาลและหน่วยตำรวจชายแดนของพม่า จนกระทั่งปัจจุบัน ชาวโรฮิงยากลายเป็นคนอื่นบนดินแดนบ้านเกิดของตนเอง เป็นคนที่ไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครองจากรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายสัญชาติ เช่นเดียวกับพลเมืองพม่า และกลุ่มชาติพันธ์อื่น ๆ

ชาวโรฮิงยาสำหรับรัฐบาลพม่าภายใต้นายพล เน วิน จึงถูกทำให้เป็นผู้อพยพจากเมืองจิตตะกอง บังคลาเทศที่เข้ามาในดินแดนอาระกันภายหลังสงครามอังกฤษพม่าครั้งที่หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่กลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในประเทศพม่า รัฐบาลทหารพม่ายังคงยืนยันถึงจุดยืนต่อชาวโรฮิงยาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศพม่าในปี ค.ศ. 1992 ที่ประกาศว่า  “จากข้อเท็จจริงที่ชัดเจน มี [135] กลุ่มชาติพันธ์แห่งชาติในประเทศพม่าปัจจุบัน กลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ชาวโรฮิงยา" ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น ในทางประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยมีกลุ่มชาติพันธ์ที่เรียกว่า โรฮิงยา ในพม่าเช่นกัน” (Nyi Nyi Kyaw, 2008)

ด้วยกฎหมายสัญชาติของพม่า ปี ค.ศ. 1982 และการสร้างความรู้สึกชาตินิยมโดยอาศัยความเป็นพม่าและพุทธเป็นแกนกลาง ทำให้สถานะของชาวโรฮิงยาที่อาศัยอยู่ในรัฐระคาย กลายเป็นผู้อพยพที่ไม่ได้สิทธิใด ๆ รอเพียงการผลักดันให้ออกนอกประเทศ ซึ่งรัฐบาทหารพม่าก็ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อเนื่องตั้งแต่การยึดอำนาจของนายพล เน วิน ในปี ค.ศ.1978 และในปี ค.ศ.1992 ที่ทำให้ชาวโรฮิงยาหลายแสนต้องอพยพหนีความรุนแรงไปประเทศบังคลาเทศ บางส่วนสามารถเดินทางต่อไปประเทศที่สาม อย่างซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และประเทศอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพบริเวณชายแดนพม่าบังคลาเทศจนถึงปัจจุบัน การถูกปฏิเสธจากรัฐบาลบังคลาเทศ การเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทำให้ชาวโรฮิงยากลายเป็นคนไร้รัฐ  ไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่สามได้ จำเป็นที่ต้องอยู่อาศัยตามแนวชายแดนพม่า-บังคลาเทศ ความยากลำบากภายในค่ายที่พักทำให้บางส่วนมุ่งหน้าสู่ประเทศที่สามผ่านทางทะเล

การเดินทางอพยพหนีความรุนแรงของชาวมุสลิมโรฮิงยา ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากการอพยพหนีความรุนแรงของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในประเทศพม่าที่เข้าสู่ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้อพยพหนีภัยความรุนแรง หรือเป็นผู้อพยพด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และเป็นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายส่วนใหญ่ บางส่วนก็ได้รับการผ่อนปรนและการเจรจาเพื่อหาทางออกระหว่างรัฐบาลประเทศต้นทาง ซึ่งก็คือพม่า และรัฐบาลประเทศปลายทางอย่างไทย หรือมาเลเซียก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่สำหรับชาวโรฮิงยาที่อพยพหนีความรุนแรงเข้ามาประเทศไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้ถูกยอมรับว่าว่าเป็นพลเมืองของประเทศพม่า เป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศ แต่บังคลาเทศก็ไม่ยอมรับเช่นดัน ทางเลือกมีไม่มากภายใต้กฎหมาย แตกต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ จากพม่า นำไปสู่การดิ้นรน การเข้าสู่กระบวนการและพื้นที่นอกกฎหมายอย่างไม่มีทางเลือก การถูกบังคับให้อพยพเป็นสถานการณ์ที่ลำบาก แต่การไม่สามารถเลือกทำให้สถานการณ์ลำบากมากขึ้น

ชาวโรฮิงยาในค่ายพักพิงจำนวนหนึ่งจึงมุ่งหน้าสู่ทะเลเช่นเดียวกับชาวมุสลิมโรฮิงยาในพม่า ด้วยความหวังที่จะหาอนาคตที่ดีกว่าในประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย การเดินทางของชาวโรฮิงยาในทางทะเลจะใช้สองเส้นทาง เส้นทางแรกจะอ้อมหมู่เกาะอันดามัน ลงทางใต้ใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ เลาะเลียบชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยในเขตจังหวัดระนอง พังงา อีกเส้นจะผ่านน่านน้ำอิรวะดี ชายฝั่งตะนาวศรี และรัฐมอญก่อนจะเข้าน่านน้ำไทยเขตจังหวัดระนองและพังงา เส้นทางนี้ใกล้ฝั่งและใช้เวลาน้อยกว่า แต่เสี่ยงที่จะเจอกับเรือของทางการพม่า ชาวโรฮิงยาจำนวนมากต้องการเดินทางเข้าสู่มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียในที่สุด แต่หากมีปัญหา ไม่สามารถล่องเรือต่อไปได้ก็ขึ้นบกและลักลอบเดินทางเข้ามาเลเซียทางบกจากประเทศไทย 

การอพยพของชาวโรฮิงยาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไมกี่ปีที่ผ่านมา การอพยพหนีความรุนแรงในพม่าของชาวโรฮิง เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อย ๆ อื่นที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี นายอับดุล การัม ซึ่งปัจุบันขายโรตี อยู่ย่านบางรัก และยังทำที่เป็นผู้ประสานงาน สมาคมโรฮิงยาสากลแห่งประเทศไทย ( วรลักษณ์ ศรีใย, 2556) เป็นชาวมุสลิมโรฮิงยาในพม่าที่เดินทางหนีเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ในช่วงเวลานั้น อับดุล การัมใช้เส้นทางเดินทางทางบกจากรัฐระคาย ชายแดนตะวันตกของพม่าผ่านเขตพะโค (Bago District) ซึ่งอยู่ตอนกลาง ก่อนเข้ารัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) และข้ามชายแดนเข้ามาในประเทศไทยทางชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บางคนก็อาศัยเส้นทางอื่นเข้ามาทางจังหวัดระนองเหมือนกับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ

 

แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

ชาวมุสลิมโรฮิงยา ที่ถูกควบคุมตัวโดยทางการไทยในช่วงปลายปี 2555 คาดว่าจะถูกควบคุมไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือจนถึงเดือนมิถุนายน 2556 (กรุงเทพธุรกิจ, 25 มกราคม 2556) ก่อนที่จะมีแนวทางที่ชัดเจนผลักดันกลับ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับปฏิบัติการ แต่หน่วยงานความมั่นคงของไทยยืนยันว่าชาวโรฮิงยา กลุ่มนี้เป็นผู้อพยพเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่มีคุณสมบัติในการขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และจำเป็นที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง และต้องถูกส่งกลับ ด้วยการยินยอมพร้อมใจของประเทศต้นทางในที่สุด

ขณะที่ชาวโรฮิงยาอีกหลายคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่าเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ได้การรับรองสถานะจาก UNHRC ซึ่งสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ชั่วคราว แต่ก็มีจำนวนไม่มาก ประมาณ 100 คน จากชาวมุสลิมโรฮิงยาที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศประมาณ 10,000 คน

อีกจำนวนมากที่สามารถเข้าในประเทศไทยและไม่ถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย แม้ชาวโรฮิงยาในประเทศไทยจะไม่ได้รับสถานะ หรือเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจาก UNHRC แต่พวกเขาสามารถอาศัยช่องทางนโยบายในการผ่อนผันแรงงต่างด้าว 3 สัญชาติ (สัญชาติพม่า กัมพูชา และลาว) ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายของรัฐบาลไทยให้มาขึ้นทะเบียนเพื่อรอกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ที่เกิดขึ้นจากความต้องการแรงงานไร้ฝีมือในภาคเศรษฐกิจจำนวนมากของไทยที่ทำให้รัฐบาลไทยผ่อนปรน และใช้นโยบายพิสูจน์สัญชาติของแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐ กลายเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่ผ่อนปรนให้อยู่อาศัยและทำงานได้ชั่วคราว ตั้งแต่ 2535 และพัฒนามาเป็นการทำบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือในการจ้างงาน ระหว่างไทยกับอีก 3 ประเทศคือ พม่า ลาว และกัมพูชา หรือ MOUในปี 2545 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ชาวโรฮิงยากลุ่มนี้จะเผชิญกับปัญหาในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่เป็นกระบวนการร่วมกันระหว่างรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย แต่แรงงานที่ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติ และแสดงหลักฐานว่าตนนับถือศาสนาอิสลาม หรือมารัฐระคายจะถูกปฏิเสธตั้งแต่การยื่นเอกสาร หากเอกสารได้รับการยอมรับ เอกสารดังกล่าวจะถูกส่งไปพิจารณาที่เมืองเนปิดอว์ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของพวกเขาจะใช้เวลานานกว่าคนพม่าอื่น ๆ และผลการพิจารณาส่วนใหญ่จากทางรัฐบาลพม่าคือไม่ผ่านการพิสูจน์ ถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองของตน ชาวมุสลิมโรฮิงยา หรือพม่ามุสลิมจะไม่ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวและวีซ่าการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยแม้จะพยายามทำตามกระบวนการทางกฎหมาย  การไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติทำคนกลุ่มนี้ก็ยังคงแรงงานที่ผิดกฎหมายต่อ แม้ว่ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลพม่าจะไม่ได้มีประสิทธิภาพ และมีบางส่วนที่สามารถหลีกเลี่ยงการพิสูจน์สัญชาติจากทางพม่าจนได้หนังสือเดินทางชั่วคราวเช่นเดียวกับชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ[3]

แม้ว่ามีช่องทางที่เป็นไปได้ แต่การได้สถานะของการเป็นแรงงานที่ได้รับการผ่อนผัน และถูกปฏิบัติเช่นคนที่เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายก็ดูเป็นไปได้ยากจากนโยบายของรัฐบาลพม่าที่จะไม่ได้ยอมรับชาวโรฮิงยาว่าเป็นพลเมืองของตน มีเพียงจำนวนไม่มากที่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบของรัฐบาลพม่าจนได้รับรองสถานะของการเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตของทุนนิยมโลก แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่ไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และรวมถึงชาวมุสลิมโรฮิงยา ที่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ของอำนาจนอกกฎหมายในประเทศไทยต่อไปดังที่เคยเป็นมาในอดีตที่ไม่นานและยังคงเป็นไปในอนาคต

 

จากผู้อพยพสู่ผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง

การปราบปรามกลุ่มกบฏชาวมุสลิมในดินแดนอาระกัน และการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยาของรัฐบาลพม่าที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 จนถึงปัจจุบัน ผลจากการปราบปราม และความรุนแรงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมโรฮิงยาจำนวนมากอพยพหนีภัยเข้าไปในบังคลาเทศ บางส่วนไปถึงประเทศปากีสถาน ชาวโรฮิงยากว่า 200,000 อพยพไปบังคลาเทศในปี พ.ศ. สหประชาชาติ ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่ตามแนวชายแดนซึ่งมีสภาพที่แออัด ได้รับความช่วยเหลืออย่างจำกัดทำให้ผู้อพยพจำนวนมากตัดสินใจที่มุ่งหน้าไปประเทศอื่นโดยการเดินทางผ่านทะเลอันดามัน จำนวนชาวโรฮิงยาที่อพยพออกสู่ทะเลอันดามันมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา (Jonathan Head, BBC, 5 กุมภาพันธ์ 2552)

ความรุนแรงทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในรัฐระคายที่ปะทุขึ้นในระหว่างเดือนกรกฎาคม และพฤศจิกายน ธันวาคม ปี 2555 ระหว่างคนที่นับถือพุทธในพม่ากับคนมุสลิม ซึ่งรวมถึงชาวโรฮิงยา ทำให้การอพยพหนีความรุนแรงของชาวมุสลิมโรฮิงยามีจำนวนมากเพิ่มขึ้นมากจากอดีต ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกจับกุมกลุ่มแรก อย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในวันที่ 9 มกราคม 2556 จำนวน 307 คน (เกศริน เตียวสกุล, 2556) และก็พบอย่างต่อเนื่อง

ระหว่างที่ผู้เขียนลงพื้นที่ในจังหวัดพังงา เก็บข้อมูลแรงงานชาวพม่าในพื้นที่เมื่อ 23 มีนาคม 2556 ก็มีการพบชาวมุสลิมโรฮิงยาจำนวน 39 คนที่บ้านทับตะวัน ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถูกควบคุมตัวไว้ชั่วคราวที่สถานีตำรวจภูธรทับตะวัน ผู้ชาย 37 คน ถูกแยกควบคุมอยู่สองห้อง ผู้หญิง 2 คนถูกแยกควบคุมไว้อีกห้อง เพื่อรอทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมารับตัวไปควบคุมในด่านตรวจคนเข้าเมือต่อไป

ในเช้าวันต่อมา ผู้เขียนขอไปกับทีมเฉพาะกิจพังงาขององค์กรพัฒนาเอกชนในพังงาเพื่อประสานความช่วยเหลือในเบื้องต้น มีโครงการผสานชาติพันธ์อันดามันเป็นหลัก มีทนายความอาสา มีน้องอาสาสมัครชาวมุสลิมที่ทราบข่าวตามมาสมทบ ทีมเฉพาะกิจขับรถออกจากสำนักงานที่ตำบลเขาหลักไปยังสถานีตำรวจภูธรตะกั่วป่า พวกเราไปถึงในเวลาใกล้เที่ยง ทางร้อยเวรได้แจ้งว่าล่ามที่ประสานไว้ จะมาประมาณเที่ยง และคงมีการสอบประวัติ หากเราจะขอสังเกตการณ์ ให้โทรไปคุยกับทางผู้กำกับเอง

หนึ่งในทีมที่ไปด้วยกันก็ได้โทรไปเพื่อขออนุญาตในการเข้าไปสังเกตกับทางผู้กำกับ เนื่องจากมีความสัมพันธ์อยู่บ้างแล้ว จึงทำให้ง่ายที่จะพูดคุยกับทางผู้กำกับ เบื้องต้นก็อธิบายความต้องการที่จะเข้ามาช่วยเหลือทั้งชาวมุสลิมโรฮิงยาให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม และแบ่งเบาภาระของทางเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้น

จากคำบอกเล่าภายหลังที่ได้โทรศัพท์ขออนุญาตจากผู้กำกับ

                "....... ไม่มีปัญหา ถ้ามีอะไรก็บอกผมและกัน .....

                ....... คงต้องรีบผลักดันให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อ การดูแลตอนนี้เป็นภาระหนักของโรงพัก"

ต่อคำถามถึงการคัดแยก และความเป็นไปได้ที่จะเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

                "....... ผมก็ประสานได้แต่ทาง พม. จังหวัด (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) ละครับ ในตอนนี้ สำหรับทีมสหวิชาชีพ"

สำหรับการขออนุญาตเข้าสังเกต "....... ไม่มีปัญหา ถ้าหากจะสังเกตการณ์"

ล่าม 2 คนที่มาเป็นชาวพม่า ด้วยการประสานงานของบาทหลวงคาทอลิกที่บ้านทับตะวันมาถึงในเวลาประมาณเที่ยง การสอบสวนในเบื้องต้นจึงเกิดขึ้น แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นทันที ไม่ใช่ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่จับมาได้จะพูดพม่าได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะพูดภาษาเบงกาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการสอบสวนเลยต้องหาชาวมุสลิมโรฮิงยาที่สามารถแปลจากภาษาพม่าเป็นภาษาเบงกาลี จากกลุ่มชาวโรฮิงยาที่ถูกขังอยู่มาช่วยแปลอีกที

การสอบสวนในวันนั้นจึงเป็นกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสอบถามผ่านล่ามชาวพม่าที่สื่อสารกับชาวโรฮิงยาในกลุ่มที่พูดและฟังพม่าได้สอบถามกับชาวโรฮิงยาที่ไม่สามารถใช้ภาษาพม่า และกระบวนการดังกล่าวก็จะกลับกันเมื่อชาวโรฮิงยาให้ปากคำ

เพียงแค่สองคน กระบวนการสอบสวนใช้เวลากว่าชั่วโมงกว่าจนร้อยเวรให้ยุติ ความสับสน และเรื่องเล่าที่แตกต่างจากวันที่โดนควบคุม จำนวนที่ไม่แน่นอน เมื่อวันพบ ชาวมุสลิมโรฮิงยากลุ่มนี้บอกว่ามีเด็กสองคนมาด้วย แต่ตายไประหว่างทาง แต่วันนี้กลับบอกว่าไม่มี ทางร้อยเวรขอให้ทางล่ามชาวพม่าเข้าไปคุยในห้องขังเพื่ออธิบายให้เข้าใจก่อน พวกเราเดินตามล่ามชาวพม่าสองคนเข้าไปในห้องควบคุม

ล่ามสองคน กระจายไปคุยกับชาวโรฮิงยาคนละห้อง ในห้องแรกที่เรายืนสังเกต มีชาย สี่ ห้า คนยืนเกาะลูกกรงรับฟังสิ่งที่ล่ามพูด บางครั้งก็โต้ตอบกลับมา บางครั้งหันกลับไปพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่เหลือ บางคนพยายามสื่อสารกับพวกเราด้วยท่าทาง เพื่อบอกว่า มีการฆ่าตัดคอ มีการเผาบ้าน พวกเราหนีมา อยากไปมาเลเซีย

ล่ามพม่าบอกว่า

"ข้อมูลที่สอบถามมันสับสน ถ้าหากต้องการให้ยูเอ็นมาช่วยก็ต้องบอกความจริงทั้งหมด    เกือบทั้งหมดมาจากเมืองเดียวกัน คนขับเรือบอกว่า มาถึงมาเลเซียแล้วให้ขึ้นฝั่ง พอขึ้นฝั่งก็หลบอยู่ตามชายหาดจนมีชาวบ้านพบและแจ้งตำรวจ ไม่ใช่ทุกคนที่พูดพม่าได้ มีบางคนที่เรียนหนังสือก็จะพูดภาษาพม่าได้"

คำบอกเล่าคร่าว ๆ จากที่ล่ามหันมาคุยกับพวกเรา

 

ชีวิตในห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมือง

ประเทศไทยเช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ได้การรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ.1957 และอนุสัญญาออกตามมาในปี ค.ศ.1967 ไม่ได้มีกลไกทั้งภายในประเทศ และกลไกในภูมิภาคในการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลผู้อพยพหนีภัย การปฏิบัติต่อผู้อพยพหนีภัยจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของรัฐบาลไทย ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการต่อผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่เข้ามาเขตแดนอำนาจอธิปไตยของไทย และความช่วยเหลือส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ

ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2554  จำนวนชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกทางการไทยจับกุมได้ มีจำนวนกว่า 15,000 คน (กอ.รมน.ภาค 4 สย.1 ระนอง, 2555) ส่วนใหญ่เป็นชาย อายุระหว่าง 15 ถึง 40 ปี มีเด็กและผู้หญิงค่อนข้างน้อย (IOM, 2009) มาตรการที่ทางการไทยปฏิบัติไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอื่น ไม่อนุญาตให้มีการขอสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพของหน่วยงานช่วยเหลือของสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นผู้อพยพจากภัยเศรษฐกิจ และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

รัฐบาลไทยดำเนินการบนพื้นฐานหลักการว่ากลุ่มโรฮิงยาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (Illegal migration) ที่มิใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็นผู้อพยพ/ลี้ภัย (Refugee) แนวทางปฏิบัติของทางการไทยต่อชาวโรฮิงยาก็เป็นไปตามกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ลักลอบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การดำเนินการของไทยจะเป็นมาตรการสกัดกั้นใน 2 ลักษณะ คือ กรณี ชาวโรฮิงยาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่ง จะดำเนินการจับกุมโดยใช้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กองกำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำ ก่อนที่จะส่งมอบให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดี และผลักดันต่อไป กรณี สามารถจับกุมได้ในขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้ วิธี การผลักดัน

แม้พวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของรัฐไทย แต่กลับถูกปฏิบัติว่าไร้ตัวตนทางกฎหมาย รัฐบาลไทยก็เลือกที่ให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของระเบียบสังคมของรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองสถานะความเป็นบุคคล และถูกควบคุมในพื้นที่สำหรับ "ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รอการผลักดันกลับ" ภายใต้การควบคุมของสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แต่เนื่องจากการถูกปฏิเสธจากทางการพม่า และการส่งกลับแบบที่เคยทำในช่วงเวลาก่อนปี 2555 ที่ไม่ได้ถูกยอมรับจากรัฐบาลพม่าก็เป็นไปไม่ได้ การควบคุมภายใต้ ตม.ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อรอการส่งต่อไปยังรัฐชาติอื่น ๆ ที่ยอมรับสถานะของชาวมุสลิมโรฮิงยา

" Now, We do not know what happened oure about and than we do not know, we are how many days, Mouths and years this in staying us.

But we are no know are parans have what about now.

We are very diffecuelt for staying, sleep, exercise and walking and health."

บางส่วนของจดหมายที่เขียนอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ที่ Abdulla ชายหนุ่มชาวโรฮิงยา ที่ถูกควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจภูธรคลองแงะ จังหวัดสงขลายื่นให้ผู้เขียน ระหว่างการขอเยี่ยม วันที่18 สิงหาคม Abdulla ถูกขังร่วมกับชาวมุสลิมโรฮิงยาอื่นๆ อีก 20 คน เขาเป็นคนสูงกว่าคนอื่น ๆ เป็นชายหนุ่มที่ดูแข็งแรงกว่าคนอื่นแต่หน้าตาที่ซีดอย่างเห็นได้ชัด ก็ทำให้ดูไม่ต่างจากคนอื่น ๆ เขายื่นจดหมายที่เป็นกระดาษ 2 แผ่นให้ทีมงานของเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา จังหวัดสงขลา ก่อนที่จะถึงมือผู้เขียน พวกเราแบ่งกันอ่าน แล้วเก็บใส่กระเป๋าก่อนที่จะมองกลับไปAbdulla เขาถอยออกไปยื่นด้านหลัง แต่ก็ยังพยายามทำท่าทางเหมือนกับจะขอกระดาษเพิ่ม เราทำท่ารับรู้ และรับปากว่าจะเอามาให้ในวันถัดมา

จดหมายที่เขียนอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ของ Abdulla ทำให้ผู้เขียนเข้าใจสิ่งที่เขาอยากบอกเราในวันนั้น ถ้ามันเป็นความจริง สิ่งที่เขากังวลในใจ นอกเหนือไปจากสภาพความเป็นอยู่ในภายในห้องกักที่ถูกออกแบบไว้ควบคุมชั่วคราว สำหรับ 20 - 30 คน ความไม่รู้ว่าตัวเองจะถูกควบคุมไว้อีกนานเท่าไหร่ และความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวของตนที่อยู่ที่บ้านและไม่ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ชาวโรฮิงยาก่อเหตุจลาจลขึ้นระหว่างที่ถูกกักตัวอยู่ภายในห้องกักของ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พวกเขาพยายามหนีออกจากห้องขัง บางส่วนใช้ของแข็งทุบช่องลมคอนกรีตของอาคารและโรยตัวหนีออกไป บางส่วนพยายามพังบานประตู ด้านหน้าเพื่อหนีออกมา แต่ความวุ่นวายก็ยุติลงได้ในเวลาไม่นาน แต่ในวันที่ 8 สิงหาคม เหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นอีกครั้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดพังงา

ทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องกักของทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา เป็นสองด่านตรวจคนเข้าเมืองมากกว่า 15 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่สงขลาถึงมุกดาหาร อุบลราธานี และเชียงราย และบ้านพักเด็กและครอบครัว ประมาณ 11 แห่ง ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญูกว่า 2,000 คน แต่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดาได้ควบคุมตัวชาวโรฮิงยามากที่สุด ด้วยจำนวนเกือบ 300 คน ภายในห้องกักที่ถูกสร้างเพื่อการกักตัวชั่วคราวเพื่อรอการผลักดันออกนอกประเทศ แต่ไม่ได้ออกแบบสำหรับคนเกือบ 300 คนในระยะเวลายาวนานกว่า 8 เดือน

ผู้ชายชาวโรฮิงยาเกือบ 1,400 คน ถูกกักอยู่ในห้องกักในด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างน้อย 15 แห่ง ต้องกิน นอน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ทำละหมาด ในห้องที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถที่จะนอนพร้อม ๆ กันได้ พวกเขาต้องผลัดกันนอนในระหว่างกลางคืน คนที่ยังไม่สามารถนอนก็ต้องนั่งหลับ บางคนก็นั่งพิงผนัง บางคนก็เกาะเสาห้องกักหลับไป และด้วยสภาพทางกายภาพของห้องกักในด่านตรวจคนเข้าเมืองเหล่านี้ที่สร้างเพื่อการกักตัวชั่วคราวเพื่อรอการผลักดันออกนอกประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมืองหลายแห่งไม่มีพื้นที่โล่งที่จะสามารถจะนำพวกเขาออกมาทำกิจกรรมภายนอกได้ การมีชีวิตอยู่ภายในห้องกักที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากมาย ทำได้เพียงแค่การกิน นอน และไม่สามารถที่จะออกมาออกกำลังกายภายนอก ทำให้ผู้ชายชาวโรฮิงยาอย่างน้อย 8 คน (เกศริน เตียวสกุล, 2556) เสียชีวิต อีกจำนวนหนึ่งกำลังกลายเป็นผู้พิการเนื่องจากกล้ามเนื้อลีบเล็กลงเรื่อย ขณะที่จำนวนไม่น้อยคนพยายามหลบหนีออกจากห้องกักในด่านตรวจคนเข้าเมือง

ขณะที่ผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงยากว่า 300 คน ที่ถูกแยกคุมตัวอยู่ในบ้านพักฉุกเฉินเด็กและครอบครัว 12 แห่ง ก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการถูกล่อลวงจากนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์ อาศัยช่องว่างที่พวกเขาโดนคุมแยกจากพ่อ สามี ผู้นำครอบครัว ความกังวล ความกลัว อาศัยความต้องการที่จะเจอหน้าสามี หน้าพ่อ คนในครอบครัวของตน และการขาดแคลนกำลังเจ้าหน้าที่ในการควบคุม จนทำให้มีการหลอกผู้หญิง และเด็ก หลบหนีออกจากบ้านพัก ฯ พังงา เพื่อเดินทางต่อ แต่สุดท้ายโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นที่ร่วมมือกับขบวนการค้ามนุษย์ข่มขืน

 

จากผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง สู่อาชญากร นักโทษ และผู้ก่อการร้าย

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม และด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เป็นความพยายามของชาวโรฮิงยาที่มีชีวิตอยู่โดยที่ไม่รู้ว่าจะต้องมีชีวิตที่อยู่ภายในห้องกักจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมาการพยายามหลบหนีออกจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ชาวโรฮิงยาคนหนึ่งที่ถูกควบคุมในห้องขังของค่ายกองร้อย ตชด.อำเภอปาดังเบซาร์ คุยกับผู้เขียนว่า

"ให้เราไปไหนก็ได้ ปล่อยเกาะก็ได้ ไปปล่อยชายแดนก็ได้ แม่สอด ระนองก็ได้ แต่อย่าส่งกลับไปในประเทศพม่า ขอให้พระเจ้าเป็นผู้กำหนดชีวิตเราเถอะ"

จากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา ชาวโรฮิงยาในด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองแห่งถูกแยกควบคุมไปยังที่ต่าง ๆ ทั้งสถานีตำรวจภูธรใกล้เคียง ค่าย ตชด. การกระจายการควบคุมไปยังสถานที่อื่น ๆ นอกจากจะเป็นผ่อนคลายความแออัดที่เกิดขึ้นในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่ห้องขังในสถานีตำรวจแต่ละแห่ง ความรู้ ความเข้าใจ และการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชาวโรฮิงยาที่ถูกย้ายมาชั่วคราวก็กลายเป็นปัญหาใหม่ เฉพาะด่านตรวจคนเข้าเท่านั้นที่มีการจ้างล่ามภาษาพม่า  เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องต่างคนต่างอยู่ ชาวโรฮิงยาก็อยู่กันในคุก เจ้าหน้าที่ก็อยู่กันข้างนอก และเนื่องจากเป็นการคุมตัวชั่วคราวระหว่างการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นในด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา  การควบคุมก็ไม่ได้เข้มงวด

ในคืนวันที่ 8 สิงหาคม ชาวโรฮิงยาที่ถูกส่งมาควบคุมตัวชั่วคราวที่สถานีตำรวจภูธรสะเดา ก็หลบหนีออกไปได้ทั้งหมด 30 คน วันที่ 10 สิงหาคม ชาวโรฮิงยา อีก 38 คนหนีออกจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต วันที่ 17 สิงหาคม หนีออกห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองระยอง และวันที่ 20 สิงหาคม ชาวโรฮิงยาอีก 86 คนหนีออกจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จากข้อมูลของเครือข่ายช่วยเหลือ โรฮิงยา จังหวัดสงขลา ชาวโรฮิงยาที่ถูกควบคุมเฉพาะในจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม เหลือ 429 คน ที่ถูกควบคุมกระจาย ไว้ที่ห้องกักตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ สถานีตำรวจคลองแงะ สถานีตำรวจหาดใหญ่ สถานีตำรวจปาดังเบซาร์ และบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดสงขลา

ชาวโรฮิงยาที่หลบหนีออกไปกว่า 146 คน มี 19 คนที่หลบหนีออกจากสถานีตำรวจภูธรสะเดาที่ถูกจับและส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนาทวี ในข้อหาหลบหนีออกจากสถานที่กักกัน และทำให้ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย ศาลจังหวัดนาทวีพิพากษาให้จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับ คนละ 500 บาท ส่วนอีก 30 คนที่ถูกจับมาได้ในวันที่ 21 สิงหาคม กำลังรอถูกส่งฟ้อง การถูกพิพากษาศาลทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงยากลุ่มนี้กลายเป็นนักโทษที่ย้ายสถานที่ควบคุมจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังเรือนจำ แต่ภายหลังการรับโทษสิ้นสุดพวกเขาก็ต้องกลับไปยังห้องกัก ของด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรอการดำเนินการต่อไป ถ้าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ การส่งกลับยังไม่สามารถ การส่งต่อไปยังประเทศที่สามก็ทำไม่ได้ ก็เหลือเพียงแค่การอยู่ภายในห้องกักด้วยความอดทน รอคอยโอกาสในการหลบหนีออกไป และปล่อยให้ชีวิตของตนขึ้นอยู่พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่พวกเขาศรัทธา ตามที่พวกเขาต้องการ

การติดตาม จับกุมชาวมุสลิมโรฮิงยาที่หลบหนีของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความระมัดระวังเต็มที่ มีการสนธิกำลังจากหลายหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ติดอาวุธเต็มที่ พร้อมเสื้อกันกระสุน เพราะกังวลถึงการเชื่อมโยง หรือโอกาสที่ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่หลบหนีออกไปจะเข้าร่วมผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการให้สัมภาษณ์ของอดีตแพทย์หญิงที่มีชื่อเสียงทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าสามารถเชื่อมโยงชาวโรฮิงยากับขบวนการของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ในต่อมาเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องจะออกมาปฏิเสธ[4] แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นไปได้ และแสดงออกผ่านการเตรียมตัวก่อนที่จะดำเนินการติดตามตัวกลับมาดำเนินคดีที่ไม่ต่างอาชญากร กลายเป็นคนอันตราย เจ้าหน้าที่ที่ติดตามได้รับคำสั่งให้ใส่เสื้อเกราะ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวหลายกลุ่มทั้งในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรธรรมราชที่ออกมาคัดค้านความพยายามที่จะสร้างสถานกักกันชั่วคราม และในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรืออำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นที่ตั้งค่ายผู้อพยพอยู่ในปัจจุบัน ก็มีการคัดค้านการนำชาวโรฮิงยาเข้ามาในพื้นที่ รวมถึงการเคลื่อนไหวในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ตัวอย่างเช่น https://www.facebook.com/NORoHingya ที่มักนำเอาภาพ ข้อมูล เหตุการณ์ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นโดยชาวมุสลิม ซึ่งก็ไม่ได้มีหลักฐานที่ชัดเจน หรือมีการอธิบายบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นเข้ากับความเป็นมุสลิม ที่ได้ขยายรวมไปถึงชาวมุสลิมโรฮิงยาในที่สุด

               

จากผู้อพยพสู่ผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง แรงงานผิดกฎหมาย อาชญากรและผู้ก่อการร้าย

เมื่อคนถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของรัฐ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง แต่ก็เป็นชีวิตที่เป็นเป้าหมายของการใช้อำนาจมากกว่าจะเป็นผู้มีบทบาทางการเมืองและเมื่อปราศจากความสัมพันธ์ใด ๆ กับรัฐ การเผชิญหน้ากับอำนาจและปฏิบัติของของรัฐจึงกระทำลงบนชีวิตโดยตรง พวกเขากลายเป็นชีวิตที่ไร้การปกป้อง เป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า[5]  สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็เป็นเพียงการพยายามหลบหนี หลีกเลี่ยงจากการเผชิญหน้าในฐานะของเป้าหมายของปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐ หน่วยงานความมั่นคงภายในรัฐ และรวมถึงคนธรรมดาที่ซึ่งมีสำนึกของการเป็นพลเมืองที่ดี พร้อมที่จะแบ่งปันภาระของอำนาจสูงสุด ด้วยการใช้ความรุนแรงในนามของรัฐ (Thomas Blom Hansen, Finn Stepputat, 2005) ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงอะไรที่รออยู่ ก็ดีกว่าการตกอยู่ภายใต้การกระทำ และการควบคุมของรัฐที่ซึ่งตนไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยายุคก่อนอาณานิคมสามารถที่จะเป็นได้ทั้งที่อยู่ดั้งเดิมตามการอ้างอิงของนักประวัติศาสตร์ ปัญญาชนชาวโรฮิงยา หรือเป็นผู้ที่เข้ามาใหม่ตามความเข้าใจของชาวพม่า แต่กระนั้นการอธิบายของทั้งสองแนวคิดไม่ได้ปฏิเสธการเคลื่อนย้าย การมีปฎิสัมพันธ์ที่หลากหลายของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความขัดแย้งระหว่างชาวพม่า กับกลุ่มชาวโรฮิงยาเกิดขึ้นมาในภายหลังยุคอาณานิคม

การสร้างชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้สร้างให้คนกลุ่มน้อยที่แตกต่างไปชนชั้นนำที่ครอบงำการสร้างชาติกลายเป็นคนอื่นที่ยังไม่พร้อมจะเป็นพลเมืองของรัฐ หรือในบางกรณีกลายเป็นศัตรูของชาติ กรณีของประเทศพม่า ชาวโรฮิงยาไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มชาติพันธ์ที่ขัดแย้งกับรัฐบาลพม่า แต่เป็นมากกว่าคนนอก เป็นคนนอกที่อพยพบนแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง เมื่อรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะยอมรับและให้สถานะของการเป็นพลเมืองของพวกเขา พวกเขาการถูกทำร้าย ถูกทำลาย ถูกแย่งชิงทรัพย์สิน ถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดของตนในพม่า ไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครองจากรัฐ และถูกบังคับให้อพยพหนีออกจากประเทศพม่า เป็นผู้อพยพที่มุ่งหน้าไปยังประเทศบังคลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย แต่สำหรับมาเลเซีย และประเทศไทย ที่ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมรับสถานะของการเป็นผู้อพยพ พวกเขาอยู่ในฐานะของผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง เป็นแรงานข้ามชาติผิดกฎหมาย บางคนอาจได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยชั่วคราว หลายคนก็อยู่อย่างผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ยังมีความสามารถที่จะดิ้นรนท่ามกลางสนามปะลองของการอำนาจต่างๆ ของทั้งสองประเทศ แต่กรณีที่แย่ที่สุดคือการพวกเขาชาวโรฮิงยาที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกผูกขาด หรือถูกครอบงำโดยอำนาจได อำนาจหนึ่ง การถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และปฏิบัติการของรัฐในห้องกัก ของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ กลายเป็นแรงงานบนเรือประมงที่ไม่ได้มีโอกาสขึ้นฝั่งเป็นระยะเวลานาน หากทนได้ก็ทน หากทนไม่ได้ก็อาจถูกฆ่าและกลายเป็นศพลอยอยู่กลางทะเลหรือกลายเป็นอาชญากรที่ตัดสินใจฆ่าไต้ก๋งเรือเพื่อที่จะหลบหนีออกจากเรือ[6]

ท่ามกลางการดิ้นรนในสนามการแข่งขันของอำนาจต่าง ๆ ที่เอื้อให้ชาวโรฮิงยาสามารถดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดได้ การสร้างวาทกรรมของการเป็นผู้ก่อการร้าย ของชาวมุสลิม ที่รวมไปถึงการเป็นมุสลิมของชาวโรฮิงยาในประเทศไทย ที่ยังไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรง หรือนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยาโดยคนธรรมดาในสังคม อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายตัวอย่างไร้การควบคุม และฝังลึกลงในสังคมไทย แม้ว่าสังคมไทยจะแตกต่างไปจากสังคมพม่า แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดก็ใช่ว่าไม่มี

 

บรรณานุกรม

พฤกษ์ เถาถวิล. 2554. "MoU การจ้างงานข้ามชาติ : เสรีนิยมใหม่ การจ้างงาน การคุ้มครองแรงงานและ

                การปรับยุทธศาสตร์การกำกับควบคุมของรัฐ", วารสารลุ่มน้ำโขง ปีที่ 7 ฉบับที่ 3,

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM). 2552. "รายงานการย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทย

                ปี 2552. กรุงเทพฯ.

                2008. "Situation Report on International Migration in East and Southeast Asia". Bangkok.

Agamben, Giorgio. 2005. "Homo Sacer: Soverign Power and Bare Life". Danial Heller-Roazen

                (trans.). California. USA.

                1998. "State of Exception"., Kewin Attel (trans.), Chicago.

Chan, Aye. 2005. "The Development of Muslim Enclave in Arakan (Rakhine) State of Burma

                (Myanmar)". SOAS Bullentin of Burma Research, Vol3, No.2.

Danish Immigration Service. 2011. "Rohingya refugees in Bangladesh and Thailand: Fact finding

                mission to Bangladesh and Thailand. Copenhagen.

Ong,  Aihwa. 2006 "Neoloberalism as Exception: Mutation in Citizenship and Sovereignty".

                Durham and London.

Macan-Markar, Marwaan, 2012 "Ethnic Cleansing of Muslim Minority in Myanmar?", Inter Press

                Service,

Schmitt, Carl. 2005. "Political Theology, Four Chapters on the Concept of Sovereignty".      

                George Schwab (trans.). Chicago: University of Chicago Press.

Singh, Bilveer. 2007. "The Talibanization of Southeast Asia : Losing the War on Terror to Islamist

                Extremists". Praegar Security International.

U Knin Maung Saw. 1993. "The Rohingya, Who Are They? The Origin of the Name Rohingya",

                International Conference. Berlin.

Tarling, Nichol. 1992. "The Cambridge History of Southeast Asia. Volume One From Early Times

                to c.1800" Cambridge University Press,

Thomas Blom Hansen and Finn Stepputat. 2005. "Sovereign Bodies Citizens, Migrants, and

                States in the Postcolonial World". New Jersey. Princeton university press.

เกศริน เตียวสกุล.2556 โรฮิงญา: ชีวิตที่ห้องกัก ตอนที่ 1 ตม. สงขลา เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม

                http://prachatai.com/journal/2013/05/46770

เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา แห่งประเทศไทย. "ข้อมูลการบริหารจัดการ ของเครือข่ายจากหลายองค์กร

                ในการช่วยเหลือ การลี้ภัยของพี่น้องชาวโรฮิงยา ที่เข้ามาในประเทศไทย", เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์

                2556 https://www.facebook.com/เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา-จังหวัดสงขลา

ไม่เอา โรฮิงยา เข้าประเทศ. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2556. https://www.facebook.com/NORoHingya

พฤกษ์ เถาถวิล. "การเปลี่ยน (ไม่) ผ่านของการจัดการแรงงานข้ามชาติ", เข้าถึงเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2556

                http://prachatai.com/journal/2012/12/44353

Jonah Fisher. "Burmese refugees sold on by Thai officials",  เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2556

                http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-21115728

Jonathan Head. "What drives the Rohingya to sea?",เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2556

                http://news.bbc.co.uk/2/hi/7872635.stm

                "Displaced and divided in Burma's Rakhine", เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2556

                http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-20264279

อดิศร เกิดมงคล. 2556. สัมภาษณ์โดยผู้เขียนใ กรุงเทพฯ. 3 กุมภาพันธ์

อภิญญา ทาจิตต์. 2556. สัมภาษณ์โดยผู้เขียน. จังหวัดนครปฐม: 22 สิงหาคม

อิสมาแอน หมัดอะค้ำ. 2556. สัมภาษณ์โดยผู้เขียน. จังหวัดสงขลา: 18 สิงหาคม

 

 

 



[1] ชื่อรัฐระคาย ผู้เขียนใช้การเทียบเสียงมาจากคำ Rakhine ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกับคำว่า ยะใข่

[2] Thomas Blom Hansen และ Finn Stepputat (2005) เสนอแนวคิดอำนาจสูงสุด (Sovereignty) ในฐานะของอำนาจที่สามารถใช้ความรุนแรง ลงโทษ และควบคุมได้โดยไม่ต้องรับผิด ที่ซึ่งไม่ได้ผูกพันกับรัฐ (State) เท่านั้น แต่กระจายออกไปอย่างหลากหลาย และต่างเผชิญกับการแข่งขันระหว่างกัน

[3] อดิศร เกิดมงคล, Migrant Working Group สัมภาษณ์เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2556

[4] ผู้เขียนสัมภาษณ์ ตัวแทนของเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยาแห่งประเทศ จังหวัดสงขลาระหว่างการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่อำเภอสะเดา อำเภอปาดังเปซาร์ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 18-19 สิงหาคม 2556

[5] Agamben อธิบาย "ชีวิตที่เปลือยเปล่า (Bare life)" ว่าหมายชีวิตทางกายภาพที่มีลักษณะแปลกแยกไปจากชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งในชน สังคมการเมือง แต่ถูกกันออกไปอยู่ในพื้นที่นอกชุมชน ในลักษณะ "การแบ่งแยกที่รวมด้วย (inclusive exclusion)" เป็นศัพท์ที่มาจากแนวคิด "Homo sacer" สมัยโรมัน

[6] ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ คุณอภิญญา ทาจิตต์ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลศรีราชา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ถึงปัญหาของแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท