มติ 344 ต่อ 140 สภาฯ ผ่าน มาตรา 3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

“อภิสิทธิ์”เสนอ เลือกตั้ง ส.ว.แบบแบ่งกลุ่มเขตละ 5 คน ปธ.กรรมาธิการ แจงเลือกแบบแบ่งกลุ่มเขต พื้นที่คนน้อยกว่าเสียเปรียบ สุดท้ายมติ 344 ต่อ 140 สภาฯ ผ่าน มาตรา.3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

28 ส.ค.56 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นพิเศษ มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 เป็นวันที่ 5 โดยยังคงพิจารณาอยู่ที่ มาตรา 3 ซึ่งเป็นการแก้ไขมาตรา 111 เพื่อให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และแก้ไขมาตรา 112 ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยการเลือกตั้ง และให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และหากในจังหวัดใดที่มี ส.ว.ได้มากกว่า 1 คน ให้ผู้ที่ลงเลือกตั้งซึ่งได้คะแนนสูงสุด เรียงตามลำดับจนครบจำนวน

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ได้มีการลงมติ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามร่างของคณะกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 344 ต่อ 140  งดออกเสียง 32 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

“อภิสิทธิ์”เสนอ เลือกตั้ง ส.ว.แบบแบ่งกลุ่มเขตละ 5 คน

ก่อนหน้านั้น เดลินิวส์ออนไลน์ รายงาน เวลา 19.25 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า หลายคนสงสัยว่าทำไมการแก้ไขในมาตรา 3 ถึงยาวนานหลายวัน เพราะการแก้ไขมาตรานี้จะส่งผลสำคัญต่อการดุลยอำนาจ และโครงสร้างของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อย่างในต่างประเทศเขาไม่กล่าวหาว่า ส.ว. ที่มาจากการสรรหาไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะบทบาทหน้าที่มันคนละอย่างกับส.ส. อย่างประเทศอเมริกาที่ระบุชัดว่า ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชน สภาสูงเป็นตัวแทนมลรัฐ โดยขอเสนอให้มีการคัดเลือก ส.ว.ระบบเลือกตั้งแบบเลือกผู้แทน ซึ่งตนเห็นด้วยกับจำนวน ส.ว.200 คนแต่เราน่าจะกำหนดให้มีการแบ่งเเป็นกลุ่มเขตจังหวัด ซึ่งแต่ละเขตจะมี ส.ว.ทั้งหมด 5 คน 200 คนก็คือ 40 เขตทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถเลือกได้เพียงเสียงเดียว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับตัวจังหวัด ถ้าเราจะคิดแต่ยึดโยงประชาชนแล้วไม่เดินไปข้างหน้า เราจะทำอย่างไร รัฐธรรมนูญปี 40 ที่ผ่านมาทำลายระบบการถ่วงดุลอำนาจของประเทศจนทำลายองค์กรอิสระไปมากแล้ว แม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยระบุในปี 49 ว่าเราจะต้องรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่กรรมาธิการกลับนำสิ่งที่ล้มเหลวแล้วกลับมาใช้ใหม่ ตนจึงสงสัยว่ากรรมาธิการไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์บ้างหรืออย่างไร

 

ปธ.กรรมาธิการ แจงเลือกแบบแบ่งกลุ่มเขต พื้นที่คนน้อยกว่าเสียเปรียบ

จากนั้นนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่า การที่จะใช้การแบ่งกลุ่มจังหวัด 40 กลุ่มเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละกลุ่มมีส.ว.ได้ 5 คนนั้น กรรมาธิการเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยเพราะคำนึงการปฏิบัติในการเลือกตั้งที่ ส.ว. 1 จะมีสัดส่วนต่อประชาชนประมาณ 1.6 แสนคน ต่างจากแบบแบ่งเขตจังหวัดที่ ส.ว. 1 คน จะมากจากประชาชน 325,000 คน หากใช้การเลือกตั้งแบบกลุ่มจังหวัด เช่น จ.เชียงราย มีประชากร 1.2 ล้านคน รวมกับ จ.พะเยา มีประชากร 4 แสนคน เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งอาจไม่ได้ ส.ว. จาก จ.พะเยา เลย เพราะพื้นที่ที่มีประชากรน้อยกว่าจะเสียเปรียบ และกรรมาธิการก็คิดว่าถ้าใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ว. 200 คน ก็จะมีความแตกต่างจากที่มาส.ส. ที่มีจำนวนผู้แทน 375 คนอยู่แล้ว

 

อภิสิทธิ์ย้อน เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนดีของจังหวัด แต่เป็นคนเลวระดับชาติหรือไม่”

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงอีกครั้งว่า คณะกรรมาธิการฟังในสิ่งที่ตนพูดไม่เข้าใจในเรื่องการจัดเขตเลือกตั้ง เพราะไม่จำเป็นว่าต้องแบ่งเป็นกลุ่ม แต่สามารถผ่าจังหวัดเพื่อเป็นเขตเลือกตั้งก็ได้ ส่วนตัวอย่างที่ นายสามารถ เสนอ นั้นเป็นการคิดแทนประชาชนใช่หรือไม่ และตรรกะในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ผิด เพราะอยากถามว่าทำไมคน จ.ระนอง กับคนกรุงเทพ ถึงได้เลือก ส.ว. คนละรูปแบบกัน อีกทั้งของถามว่าเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนดีของจังหวัด แต่เป็นคนเลวระดับชาติหรือไม่”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท