Skip to main content
sharethis

‘อธิป จิตตฤกษ์’ นำเสนอข่าวสารด้านลิขสิทธิ์ทั่วโลก สัปดาห์นี้นอกจากเฟซบุ๊กจะเผยข้อมูลความโปร่งใสเป็นครั้งแรก ยังจ่ายค่ายอมความให้ผู้ใช้กว่า 9 ล้านดอลลาร์ฐานละเมิดข้อตกลงผู้ใช้โดยโฆษณาลงวอลล์

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

31-08-2013

Lady Gaga เรียกร้องให้แฟนเพลงของเธอไล่ลบลิงก์ซิงเกิลใหม่ที่ "หลุด" มาก่อนกำหนด

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่นักดนตรีออกมาเรียกร้องการปราบสำเนาเถื่อน "จากฝูงชน" ซึ่งก็คือแฟนเพลงของเธอเอง ซึ่งก็ดูจะได้ผลดีเสียด้วย เพราะก็มีแฟนเพลงจำนวนไม่น้อยไปรายงานความดีความชอบในการรายงานลิงก์สำเนาเถื่อน (ไปยังเว็บไซต์ของ Universal Music Group) ของตนบน Twitter

คำถามที่หลงเหลืออยู่คือ Lady Gaga จะได้อะไรจากการเรียกร้องให้แฟนเพลงไปไล่รายงานลิงก์ของเพลงที่หลุดมานี้นอกจากความสะใจ เพราะนี่ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรยอดขาย และถ้าต้องการปิดเพลงที่หลุดมาเป็นความลับ ก็น่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่าแฟนเพลงของเธอจะอดใจไม่ฟังเพลงใหม่ของเธอไหวหรือไม่ก่อนที่จะแจ้งลบ

อนึ่ง เพลงที่หลุดมานี้มานามว่า Applause และมีกำหนดออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 สิงหาคม 2013

News Source: http://torrentfreak.com/lady-gaga-applause-leak-sparks-fan-driven-anti-piracy-campaign-130812/ , http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130812gagawages

 

ผลการวิจัยของนักสังคมวิทยาอเมริกันพบว่าการที่นักการเมืองได้รับการกล่าวถึงทั้งในแง่บวกและลบบน Twitter มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ได้ทั้งสิ้น

กล่าวคือ การถูกพูดถึงใน Twitter นั้นเป็นผลดีต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งของนักการเมืองทั้งสิ้นไม่ว่าจะถูกพูดถึงว่าอย่างไร

News Source: http://www.popsci.com/science/article/2013-08/political-candidates-twitter-all-tweets-are-good-tweets

 

มีผู้พบว่า WIFI ของ British Library บล็อคการเข้าไปอ่าน Hamlet ในเว็บไซต์ของ MIT ด้วยเหตุผลว่า "มีเนื้อหาที่รุนแรง"

อย่างไรก็ดี หลังจากผู้คนพบทำการ Tweet ประจานการบล็อควรรณกรรมคลาสสิคของ Shakespeare ดังกล่าว ทางห้องสมุดก็ปลดบล็อคอย่างรวดเร็วพร้อม Tweet กลับว่า "เราได้ปรับปรุงซอฟต์แวร์ตัวกรองแล้ว" ซึ่งก็น่ากังขาว่าตัวกรองประเภทไหนกันแน่ที่จัดว่าวรรณกรรมคลาสสิคของอังกฤษชิ้นนี้เป็นงานที่ "มีเนื้อหารุนแรง" จนต้องบล็อคด้วย

นอกเหนือจากนี้ ยังมีรายงานมาในวันเดียวกันว่าเครือข่ายดังกล่าวยังมีการบล็อคภาพจิตรกรรมของจิตรกรยุโรปในยุคสมัยใหม่ตอนต้นด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนด้วยเช่นกัน

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130812/06393424143/british-library-network-blocks-hamlet-violent-content.shtml

 

16-08-2013

งานเทศกาลครบรอบ 10 ปี The Pirate Bay ระดมทุนสำเร็จโดยผู้สนับสนุนรายใหญ่เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง MAGIC

ในตอนแรก งานนี้มีวี่แววว่าจะล่มเนื่องจากระดมทุนจากฝูงชนได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี ผู้จัดก็ได้รับการช่วยเหลือจากสปอนเซอร์รายใหญ่อย่างเครื่องดื่มชูกำลัง MAGIC ซึ่งการระดมทุนก็เพียงพอจนมีการเสนอ "บัตรฟรี" จำนวนจำกัดให้ผู้สนใจเข้ารวมงานด้วยซ้ำ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้รับบัตรฟรีต้องไปคลิก "Like" เพจบน Facebook ของเครื่องดื่มชูกำลัง MAGIC

ทั้งนี้ งานได้ผ่านไปแล้วในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ยังไม่พบภาพและรายงานใดๆ เกี่ยวกับงานครบรอบนี้ที่จัดไปแล้วแต่อย่างใด

News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bays-10-year-anniversary-festival-now-free-130807/

 

27-08-2013

Facebook จ่ายเงินกว่า 9 ล้านดอลลาร์เป็นค่ายอมความให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ร่วมกันฟ้องฐาน Facebook ทำการละเมิดเงื่อนไขของผู้ใช้และทำการลงโฆษณาบนวอลล์พวกเขา

โดยสรุปแล้ว Facebook ต้องจ่ายค่ายอมความให้ผู้ใช้ทั้งสิ้นคนละ 15 ดอลลาร์ ซึ่งผู้มีสิทธิเคลมเงิน 15 ดอลลาร์นี้ก็คือผู้ที่ตอบรับการเป็นเจ้าทุกข์ในการฟ้องร้อง Facebook ในตอนแรก (ไปเคลมตอนนี้ไม่ทันแล้ว) รวมประมาณ 614,000 คน

นอกเหนือจากค่ายอมความแล้วก็ยังมีมากกว่านั้นอีก 11 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินก็จะไปยังเหล่าทนายผู้ทำคดี และองค์กรไม่แสวงกำไรต่างๆ ที่ผลักดันการฟ้องร้องนี้อย่าง Electronic Frontier Foundation หรืออย่าง The Berkman Center for Internet and Society

ทั้งนี้ มีผู้ใช้อีกกว่า 7,000 คนที่ไม่ยอมรับเงิน 15 ดอลลาร์และยอมความ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถจะฟ้องร้องกับ Facebook เองได้ แม้ว่าความเป็นไปได้ในการชนะคดีจะน้อยก็ตามเพราะผู้พิพากษาก็มีความเห็นว่าบรรดาผู้ใช้ก็ไม่ได้เสียอะไรเท่าไรในการที่ Facebook เพิ่มโฆษณามาบน Feed ของพวกเขา

News Source: http://gigaom.com/2013/08/26/facebook-will-pay-15-per-user-after-judge-approves-final-20m-ad-settlement/

 

28-08-2013

Facebook เผยแพร่รายงานความโปร่งใสเป็นครั้งแรกแล้ว โดยเริ่มรายงานการขอข้อมูลจากรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 นี้

โดย Facebook ให้สัญญาว่าจะเปิดเผยข้อมูลนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นการดำเนินตามรอย Google และ Twitter ที่มีรายงานความโปร่งใสออกมาอย่างสม่ำเสมอก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดีทาง Facebook ก็ไม่ได้แยกแยะประเภทการร้องขอข้อมูลของรัฐแบบที่ Google ทำ แต่รวมมาทีเดียว

ในกรณีของไทย รัฐบาลไทยมีการเรียกร้องข้อมูล 2 ครั้ง เกี่ยวกับข้อมูลของผู้ใช้ Facebook 5 คนในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 ที่ผ่านมานี้

ไปดูข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/about/government_requests

News Source: http://gigaom.com/2013/08/27/facebook-publishes-first-transparency-report-11000-government-requests-in-us-exceed-google/

 

มีการสร้างระบบ "บริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัล" ใหม่ขึ้นมาเพื่อป้องกันการปรินท์งานออกแบบ 3 มิติโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว

แน่นอนว่านี่เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วและวงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนอีกครั้ง ราวกับว่าความล้มเหลวของระบบนี้ในอุตสาหกรรมบันทึกเสียงไม่เคยเกิดขึ้น

ทั้งนี้การพยายามใช้การบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลหรือเรียกกันว่า DRM (digital rights management) ของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงก็จัดเป็นก้าวที่ล้มเหลวมากในการปรับตัวกับสภาวะแวดล้อมทางเทคโนโลยีใหม่ เพราะหากอุตสาหกรรมบันทึกเสียงไม่ทำแบบนั้น แล้วเปลี่ยนมาลงทุนในบริการฟังเพลงออนไลน์หรือ Streaming ทั้งหลาย รายได้ก็อาจไม่สูญเสียไปขนาดนี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดีระบบ DRM ของการปรินท์ 3 มิติก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะทำงานยังไง ซึ่งก็เนื่องจากภาพรวมของการผลิตแบบ 3 มิติยังไม่ชัดเจนนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่นักออกแบบ 3 มิติ ผู้ให้บริการแบบ 3 มิติ เว็บไซต์แจกแบบ 3 มิติ ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ผู้ขายหมึกพิมพ์ 3 มิติ  ผู้บริโภค ไปจนถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการพิมพ์ 3 มิติ

News Source: http://torrentfreak.com/3d-printing-drm-aims-to-stop-next-gen-pirates-130827/

 

Jacob Appelbaum ผู้ถูกขนานนามว่า "ชายผู้อันตรายที่สุดในไซเบอร์สเปซ" จะให้การในศาลอุทธรณ์สวีเดนในคดี Gottfrid Svartholm ผู้ก่อตั้ง The Pirate Bay

Appelbaum เป็นอดีตโฆษกของ WikiLeaks ปัจจุบันเป็นแกนหลักของโครงการ Tor และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความนิรนามออนไลน์ระดับสูงที่ฝึกให้นักกิจกรรมเรียนรู้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างลับๆ และหายตัวไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่นานมานี้เขาก็ถูกเชื่อมโยงกับบทสัมภาษณ์ Edward Snowden ทางนิตยสาร Rolling Stones ตั้งฉายาเขาว่า "ชายผู้อันตรายที่สุดในไซเบอร์สเปซ"

เขาจะมาให้การกับศาลสวีเดนในคดีเกี่ยวกับการแฮคเข้าไปในบริษัทที่ดูแลระบบให้หน่วยงานภาษีของสวีเดนของ Svartholm ในประเด็นเกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้เอาผิด Svartholm ซึ่ง Svartholm ก็ได้สู้คดีในศาลชั้นต้นว่าเขาถูกยัดหลักฐานเหล่านี้ไปในคอมพิวเตอร์ จนถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในที่สุด

ทั้งนี้ นี่ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะในระบบศาลของสวีเดน ศาสอุทธรณ์จะไม่มีการรับพยานหลักฐานเพิ่มในการพิจารณาคดี

News Source: http://torrentfreak.com/hacker-jacob-appelbaum-to-testify-at-pirate-bay-founder-appeal-130827/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net