เปิดวงถก 'สิทธิประกันตัว' ผ่านมุม คณิต ณ นคร-ศาล-ตำรวจ-กรมคุ้มครองสิทธิ

27 ส.ค.56  ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์  มีการจัดเสวนาเรื่อง “การแก้ปัญหาสิทธิผู้ต้องหาในการได้รับการประกันตัว” โดยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. มีวิทยากรได้แก่ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), ดล บุนนาค ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรสาคร, รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ., ผศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มธ., นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และพล.ต.ต.ประสิทธิ เฉลิมวุฒิศักดิ์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

คณิต ณ นคร  ประธาน คปก. กล่าวโดยสรุปว่า  ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ถูกคุมขังอยู่ประมาณ 240,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีถึงร้อยละ 37 หากมีการปล่อยชั่วคราวตามหลักของกฎหมายจะสามารถลดปัญหาความแออัดภายในเรือนจำได้มาก รวมทั้งไม่ต้องเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น

การปล่อยชั่วคราวเป็นมาตรการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีคุณลักษณะ 2 ประการคือ เป็นกฎหมายที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ในการเรียนการสอนวิชากฎหมายเรามักเน้นแนวคิดอำนาจนิยม ไม่ค่อยเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเสรีนิยม มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

แม้ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกจำกัดสิทธิบางประการ แต่สภาพ “ประธานในคดี” และความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยต้องมีตลอดเวลา การที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยมีสภาพเป็นประธานในคดีหมายความว่าจะใช้อำนาจรัฐกับเขาได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจ แต่ในทางปฏิบัติเรามักยึดหลักว่า หากไม่มีกฎหมายห้ามถือว่ากระทำได้

นอกจากนี้การใช้มาตรการบังคับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียก การจับ การค้น การควบคุม การขัง การปล่อยชั่วคราว ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบ เช่น การออกหมายต้องขอศาล เมื่อเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหมายแล้วต้องรายงานศาลทันที แต่ในทางปฏิบัติเราก็ไม่มีการรายงานผลปฏิบัติมายังศาล

ส่วนเหตุของการจับหรือขังนั้นมีทั้งเหตุหลักและเหตุรอง เหตุหลักคือเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยาน และอาจก่ออันตรายประการอื่น ส่วนเหตุรองคือ ความร้ายแรงของความผิด เหตุที่เป็นเหตุรองนั้นอาจมีการปล่อยชั่วคราวได้ตามสิทธิที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพราะตามกฎหมายผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติดูกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะยกเหตุรอง (ความร้ายแรงของคดี) ให้กลายเป็นเหตุหลักในการไม่ปล่อยชั่วคราว ยกตัวอย่าง กรณีการฆ่าคนตาย แม้เป็นคดีร้ายแรง แต่ไม่จำเป็นต้องเอาตัวผู้ต้องหาไว้ในอำนาจรัฐหากไม่พฤติการณ์ผู้ต้องหาไม่เข้าเหตุหลัก เช่น ไม่หลบหนี

“ความผิดร้ายแรงไม่ใช่ประเด็น แต่ของเรากลับทำให้มันเป็นประเด็น”

นอกจากนี้กฎหมายก็ไม่ได้เรียกร้องหลักประกัน และในระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวก็มีหลายข้อที่เอื้อต่อการปล่อยชั่วคราว แต่ที่ปฏิบัติมักไม่ตรงหลักกฎหมาย เป็นที่มาของการทำมากินของนายประกันอาชีพ

ดล บุนนาค ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวโดยสรุปว่า เรื่องการประกันตัว ในอดีตมักถูกมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง แต่ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมก็พยายามปรับตัวโดยตลอด ปัจจุบันนั้นการปล่อยชั่วคราวมีอยู่ 3 หลักใหญ่ คือ ไม่มีประกันใดๆ, มีประกัน ซึ่งอาจเป็นเพียงคำมั่นสัญญาหรือการกำหนดเงื่อนไขจากศาล, มีประกันและหลักประกัน โดยอาจเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาล หรือบุคคล ซึ่งในส่วนของบุคคลนั้นเป็นการเปิดช่องให้คนจนมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาในการเปิดช่องให้เกิดอาชีพนายประกัน ปัจจุบันได้มีการกำหนดให้นายประกันเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนกับศาลเพื่อกำกับดูแลไม่ให้เรียกหลักประกันสูงเกินไป

ในส่วนข้อสงสัยเรื่อง double standard นั้นในอดีตเรื่องนี้ไม่เป็นประเด็น จนเมื่อสภาพการเมืองแบ่งแยกฝักฝ่ายชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้กระทบวงการยุติธรรมอยู่พอสมควร สังคมเกิดความไม่ไว้วางใจ ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการของรัฐสภาก็มีการเรียกฝ่ายวิชาการของศาลยุติธรรมไปตอบคำถามเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งก็ตอบไปตาหลักการ เราเชื่อว่าปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก แต่หากพิจารณาดูจะไม่พบกฎหมายสักฉบับที่เขียนเรื่องนี้ เป็นแต่เพียงความเข้าใจ

หลักคิดหรือทฤษฏีเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนที่ตกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นมีสิทธิเสรีภาพแตกต่างจากคนธรรมดา เป็นคนที่ถูกตั้งข้อสงสัยโดยมีหลักฐานพอสมควรแล้ว เราต้องยอมรับความจริงว่าสิทธิเสรีภาพของเขาย่อมต้องลดลงแน่ มันจึงมีคำว่า “สันนิษฐาน” ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หากถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์เลยก็จะไม่สามารถกระทำการอะไรได้เลยไม่ว่าการคุมขังหรือจับกุม ส่วนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยจะลดลงแค่ไหนย่อมขึ้นกับที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งกฎหมายบ้านเรากำหนดให้ต้องสืบพยานต่อหน้า เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงต้อง “มีตัว” (ผู้ต้องสงสัย/จำเลย) ไม่อย่างนั้นก็ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้

กรณีมาตรา 112 ที่มักไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าเป็นคดีร้ายแรง ซึ่งมีผู้เข้าใจว่าเป็น “เหตุรอง” นั้น คิดว่าศาลพิจารณาเรื่องพฤติการณ์แห่งคดีว่ากระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหรือไม่ สังคมจะวุ่นวายหรือไม่ มากกว่าจะดูเรื่องความร้ายแรงแห่งคดี นอกจากนี้ยังพิจารณาประกอบกับการเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีด้วย ดังตัวอย่างกรณีหนึ่งที่จำเลยเป็นไกด์ถูกจับกุมขณะกำลังจะข้ามแดนไปยังกัมพูชา แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการนำคณะทัวร์ไปเที่ยวตามปกติ ก็น่าคิดว่าหากท่านเป็นศาลจะเห็นกรณีนี้อย่างไร

นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงที่มาและการดำเนินการของกองทุนยุติธรรมว่า กองทุนนี้เกิดขึ้นจากระเบียบกระทรวงยุติธรรม เริ่มต้นมีงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนเรื่องการประกันตัว ค่าจ้างทนาย ค่าทำเนียมศาล ฯ เพียง20 ล้านบาท จนกระทั่งเพิ่มมาเกือบร้อยล้านบาทในปัจจุบัน กฎเกณฑ์ในตอนแรกค่อนข้างเคร่งครัดจนมีประชาชนมารับบริการน้อย ปี2551-2552 มีเพียงหลักร้อย เพราะกำหนดว่าจะต้องชนะคดี ต้องมีฐานะยากจนมีเงินเดือนไม่เกิน 8,900 บาทต่อเดือน จนเมื่อปี 2553 มีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้ยืดหยุ่นขึ้นคือ ไม่จำเป็นต้องชนะคดี เพียงแต่ไม่ใช่ผู้ไปทำละเมิด และไม่กำหนดฐานเงินเดือน เพียงระบุว่าฐานะทางเศรษฐกิจไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ทำให้มีผู้มาขอใช้บริการกองทุนเพิ่มเป็น 2,000-3,000 คน อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนยังคงมีจำกัดและส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการประกันตัวซึ่งแพงมาก ในช่วงที่ผ่านมามีการช่วยเหลือด้านการประกันตัวประมาณ 500 กรณี และมีผู้ที่หนีประกันเพียง 4 กรณี ซึ่งนับว่ากองทุนฯ มีความน่าเชื่อถือพอสมควร

ในปี 2554 กรมคุ้มครองสิทธิฯ พยายามหาทางออกในการบริหารเงินกองทุนที่มีอยู่ไม่มากเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น โดยทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาเพื่อขอใช้หนังสือรับรองของกองทุนยุติธรรมแทนการวางเงินประกัน ซึ่งประธานศาลฎีกาก็ตอบรับจะให้การสนับสนุน โดยกองทุนยุติธรรมจะดำเนินการสร้างกระบวนการหลังปล่อยชั่วคราว ใช้เครือข่ายยุติธรรมชุมชนในการดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราว ที่ผ่านมามีการประชุมเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศไปแล้ว 2 ครั้งซึ่งชุมชนก็ตอบรับอย่างดีและมีการวางแนวปฏิบัติร่วมกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศาลยุติธรรมยังอยู่ระหว่างการหารือกันภายในว่าจะทำเรื่องนี้ในลักษณะใด ต้องออกเป็นข้อบังคับหรือเพียงทำหนังสือเวียนแจ้งหัวหน้าผู้พิพากษา

อีกทางหนึ่งที่กองทุนยุติธรรมกำลังดำเนินการคือ การจัดทำร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านบาทเพื่อตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน “1 ตำบล 1 ยุติธรรมชุมชน” ซึ่งจะมีคลินิกกฎหมายคอยรับเรื่องจากประชาชนอย่างใกล้ชิด

พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี กล่าวโดยสรุปว่า แนวทางของตำรวจในการให้ประกันตัวผู้ต้องหานั้นยึดหลักการไม่ให้ประกันเป็นข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความเห็นต่างในกรณีการให้ประกันคดีร้ายแรงว่า ตามหลักกฎหมายนั้นทำได้ แต่หากมองในมุมผู้เสียหาย เช่น กรณีฆ่าคนตาย ญาติผู้ตายอาจมองการอนุญาตให้ประกันตัวว่าเจ้าพนักงานมีนอกมีใน หรือกรณีกล่าวถึงนายประกันอาชีพว่าเป็นพวกเข้ามาทำมาหากินกับระบบยุติธรรม แต่หากฟังเสียงสะท้อนจากพวกเขาจะเห็นว่าเขามีความเสี่ยงที่จะถูกยึดหลักทรัพย์ที่วางไว้เป็นหลักประกันหากผู้ต้องหาหลบหนีเช่นกัน

นอกจากนี้กรณีเงินประกันหรือหลักทรัพย์ก็ยังมีปัญหาลักลั่น เช่น การลักทรัพย์มูลค่า 20 ล้าน ตามหลักเกณฑ์แล้วเรียกหลักทรัพย์ในการประกันได้เพียง 50,000 บาท กรณีกลับกันมีคดีขโมยของเพื่อนบ้านมูลค่าเพียงไม่กี่สิบบาท ในการประกันตัวญาติไม่มีเงินสดจึงนำโฉนดที่ดินที่อาศัยอยู่มาค้ำประกัน สุดท้ายผู้ต้องหาหลบหนี จึงถูกยึดหลักทรัพย์นำไปขายทอดตลาดทำให้ไม่มีที่อยู่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นจึงควรพิจารณาเรื่องหลักทรัพย์เป็นกรณีๆ ไป  

ในส่วนของหลักทรัพย์ที่ยึดนั้น หากผู้ต้องหาหลบหนีก็จะมีการยึดหลักทรัพย์เป็นของแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ควรจะนำเงินดังกล่าวไปเยียวยาผู้เสียหาย เพราะหากยึดเข้าแผ่นดินก็เท่ากับผู้เสียหายไม่ได้อะไรเลย

สำหรับการไม่ให้ประกันตัวโดยพิจารณาจากหลักว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานนั้น อันที่จริงในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ติดตามตรวจสอบภายหลังแต่อย่างใด ในการพิจารณาก็ใช่แต่เพียงการสันนิษฐานเท่านั้น

ส่วนสถิติของผู้ต้องหาที่หลบหนีหลังได้รับการประกันตัวนั้นไม่มีการรวมอย่างเป็นระบบ แต่หากพิจารณาจากกรณีที่อัยการไม่รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนซึ่งมีได้ 2 กรณีคือ หลักฐานไม่เพียงพอหรือผู้ต้องหาหนีประกัน เราจะพบว่าตั้งแต่ราวปี 2551 มีกรณีที่อัยการไม่รับสำนวนอยู่ประมาณ 12,000 คดี จากราว 260,000 คดี

ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวโดยสรุปว่า  หลักที่ต้องชั่งในการปล่อยชั่วคราวมี 2 เรื่องคือ  1.กระบวนการยุติธรรมต้องการตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี ความต้องการตัวนี้กฎหมายเขียนชัด ศาลจึงต้องห่วงใยว่าหากไม่มีอะไรผูกมัดไว้เลยจะทำให้กระบวนการเดินต่อไม่ได้ 2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่นอกการควบคุมของเจ้าพนักงาน หลักฐานสำคัญอาจเสียหาย ทั้งสองส่วนนี้ผู้ที่พิจารณาไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะมีการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานไหม พนักงานสอบสวนหรือศาลจึงเลือกที่จะมีหลักประกัน เพราะถ้ามั่นใจว่าไม่หนีก็จะไม่มีการควบคุมตัวแต่แรกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีพัฒนาการมากขึ้นหลังจากมีการแก้ไขให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขภายหลังให้ประกันตัวได้ว่า ห้ามออกนอกประเทศ ฯ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างคน 2 ฐานะ หากเป็นข้าราชการหรือผู้มีตำแหน่งสูง ผู้บังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มเชื่อว่าจะไม่หลบหนี แต่หากเป็นคนชายขอบ คนจน ก็มีแนวโน้มเชื่อว่าหากไม่ควบคุมตัวไว้จะ “ไม่มีตัว”

ที่สำคัญ หลังการปล่อยชั่วคราวเรายังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานอะไรที่จะเข้าไปดูผู้ต้องหาหรือจำเลยว่าเป็นอย่างไร จึงน่าจะมีหน่วยงานตรงนี้ หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประกอบ หรือกรณีที่ศาลไม่แน่ใจ เป็นไปได้ไหมที่จะไม่ต้องเข้าเรือนจำแต่มีชุมชนคอยดูแล หรือการหาข้อมูลของศาลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาคดี จะสามารถให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้ข้อมูลได้ไหม

ดล กล่าวเสริมว่า น่าจะมีการทำวิจัยต่อยอดเรื่องการยกเลิกเรื่องเงินประกันตัว โดยอาจใช้เรื่องการดูแลโดยชุมชน หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวเข้ามาช่วย การอุดช่องว่างโดยกองทุนยุติธรรมอย่างที่เป็นอยู่แม้ทำได้ผลดีแต่ก็เป็นเหมือน “อัฐยาย ขนมยาย” เพราะเงินกองทุนก็มาจากภาษีอยู่ดี ส่วนเรื่องการผิดสัญญาประกันนั้น ในอดีตศาลไม่ยุ่ง ราว 10 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า เฉพาะศาลแขวงพระนครเหนือ ไม่ได้บังคับคดีนายประกันเป็นมูลค่าราว 400 ล้านบาท หากดูภาพรวมทั่วประเทศมีมูลค่าราว 5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ขณะนี้มีความพยายามแก้กฎหมายให้ ผอ.ศาลบังคับคดีกับนายประกัน ทั้งที่ไม่เคยทำหน้าที่นี้ ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยที่ศาลจะมีบทบาทตรงนี้เพราะต่อไปอาจมุ่งบังคับคดีกันจนไม่มีเวลาพิจารณาคดี

ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวโดยสรุปว่า หลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนกว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์นั้นเป็นหลักสากลของทั่วโลก และได้รับการยอมรับจากกฎหมายไทยโดยสมบูรณ์แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ค่อยตรงกับหลักกฎหมาย  ที่สำคัญยังนำหลักการดังกล่าวมาใช้เพียงครึ่งเดียวกับคนที่ฐานะหรือมีเส้นสายเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่แยก คนดี-คนไม่ดี เช่น หากมีพฤติกรรมที่มารายงานตัวทุกครั้งก็ถือว่ามีพฤติกรรมดี ไม่ควรเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว การไม่แยกตรงนี้ทำให้ศาลต้องเรียกหลักประกัน และเมื่อเรียกหลักประกันก็ไม่แยกระหว่าง คนมี-คนไม่มี การปฏิบัติเหมือนกันหมดเป็นความเสมือภาคแบบตื้น เพราะบุคคลนั้นไม่เหมือนกันโดยสภาพ ต้องปฏิบัติต่างเพื่อให้เขาได้รับโอกาสเท่ากัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท