Skip to main content
sharethis
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดเวทีสาธารณะกรณีการขึ้นค่าทางด่วน เสนอ 7 ข้อ ร้อง กทพ.ทบทวนมติ ชี้เงื่อนไขสัญญาระบุบริษัทมีหน้าที่ทำให้การจราจรไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ด้าน กทพ.ยันปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทาน
 
 
วันที่ 21 ส.ค.56 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการขึ้นค่าผ่านทาง ในหัวข้อ “ทางออกผู้บริโภค กรณีการขึ้นค่าผ่านทาง บทบาทองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
 
หลังจากที่ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวันที่ 1 ก.ค.56 เพื่อขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยพิจารณายุติการขึ้นค่าผ่านทาง และทบทวนการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ รวมทั้งควรพิจารณาแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
 
ต่อมาคณะกรรมการ กทพ.ได้มีมติเห็นชอบในการประชุม ครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 17 ก.ค.56 จากผลการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ปรับอัตราค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา ปี 2556 จำนวน 5 บาท และมีผลบังคับในวันที่ 1 ก.ย.โดยจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่มีอำนาจในการออกประกาศในขั้นตอนต่อไป
 
นายศิริศักดิ์ หาญชนะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวในการเสวนาว่า คณะกรรมการองค์การอิสระ ได้เสนอให้มีการยุติการขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจาก บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาข้อที่ 12.2 ที่กำหนดหน้าที่ให้ BECL ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้การจราจรไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ปัจจุบันสภาพจราจรบนทางด่วน ยังมีการติดขัดอยู่ ดังนั้น จึงจะขอใช้ข้อกำหนดนี้มาเป็นเงื่อนไขไม่อนุญาตให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางในครั้งนี้
 
ส่วนนายสุเมธ องกิตติกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ  กล่าวว่า ปริมาณการจราจรในปัจจุบัน มีความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับเอกชน ในการบริหารจัดการ หากพิจารณาปริมาณรถที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้สภาพการจราจรติดขัดบ้างบางช่วงเวลา
 
ด้านนายเลิศศักดิ์ จิงหะรานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การลงทุนก่อสร้างทางพิเศษเป็นการลงทุนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการแก่ผู้ใช้ทางพิเศษให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บค่าผ่านทางเพื่อให้หน่วยงานมีรายได้ที่เพียงพอสามารถนำมาใช้ในการชำระคืนเงินกู้ที่ใช้เป็นค่าก่อสร้าง รวมถึงค่าบริหารจัดการอื่นๆ ทั้งนี้ กทพ.ได้พิจารณากำหนดอัตราค่าผ่านทางที่เหมาะสมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ใช้ทางพิเศษและสังคมโดยรวมมากที่สุด
 
อย่างไรก็ตาม กทพ.ต้องมีการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางที่เป็นไปตามสัญญาที่ได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ที่กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางทุกระยะ 5 ปี เพื่อเป็นการรักษาสัญญา
 
ขณะที่นายประสาท มีแต้ม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ คณะกรรมการองค์การอิสระเรียกร้อง คือต้องการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยุติการขึ้นค่าผ่านทาง หรือชะลอการปรับขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบัน กทพ.มีการบริหารงานที่ขาดคุณภาพการทำงาน ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนเรื่องรายได้ที่แท้จริง
 
อีกทั้ง ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมา กทพ.มีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง แต่ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในการปรับขึ้นแต่ละครั้ง รวมไปถึงการใช้องค์ความรู้ที่แท้จริงในการตัดสินใจบริหารจัดการต่างๆ นอกจากนี้คณะกรรมการองค์การอิสระได้ยื่นหนังสือไปยังผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับกรณีการยุติหรือชะลอการขึ้นค่าผ่านทาง เพื่อพิจารณา แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ ผลการเสวนามีสาระสำคัญและข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล ดังต่อไปนี้ 1.ขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยทบทวนและยุติ มติเห็นชอบในการขึ้นราคาค่าผ่านทางโดยใช้เงื่อนไขสัญญา ข้อที่ 12.2 ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ ในการทำให้การจราจรไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย   เช่น กรณีประเทศอาร์เจนตินา พบว่า ถ้ารถยนต์รอเป็นระยะทางเกินกว่า 20 เมตร จะไม่มีสิทธิเก็บค่าผ่านทางได้
 
2.ขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายได้ ค่าใช้จ่าย และผลกำไร นับตั้งแต่มีสัญญาสัมปทาน ต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส และใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาของฝ่ายบริหารในการรับภาระแทนเอกชน หากไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา
 
3.ขอให้ศึกษาผลกระทบการขึ้นราคาค่าผ่านทาง (Regulation Impact Assessment) อาทิ เช่น ผลกระทบต่อการขึ้นค่าบริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถตู้โดยสาร ขนส่งมวลชนกรุงเทพ
 
4.ก่อนตัดสินใจขึ้นราคาค่าผ่านทาง ขอให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและองค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 61
 
5.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือคณะรัฐมนตรี ใช้ดุลยพินิจทางการปกครอง ในการชะลอการขึ้นราคาในครั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากสัญญาโครงการระบบขั้นที่ 2 เป็นสัญญาทางปกครองที่ให้บริการสาธารณะ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคที่ใช้ทางดังกล่าว รัฐต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาปัญหาจราจรบนทางด่วนที่ไม่ไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
 
6.ขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ต่ออายุสัญญาสัมปทาน (หลัง ก.พ.2562) โดยให้เตรียมความพร้อมและวางแผนเพื่อบริหารจัดการทางพิเศษ ก่อนหมดสัญญาสัมปทานอย่างน้อย 5 ปี โดยต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
 
7.ในอนาคต ขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยศึกษารูปแบบการทำสัญญาที่ดีกว่าในปัจจุบันจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มเติม ในแง่ผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐ และภาระของผู้บริโภคในระยะยาว หากมีการพิจารณาทำสัญญาสัมปทานโครงการอื่นๆ
 
 
ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก INN, ผู้จัดการออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net