Skip to main content
sharethis

วันนี้ (22 ส.ค.56) สมาคมเพศวิถีศึกษา จัดเวทีประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 4 ร่วมกับ 15 องค์กรขับเคลื่อนเรื่องเพศวิถีในสังคมไทย ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 150 คน ในงานมีการเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “สาธารณะ รัฐ เซ็กส์” ถกเรื่องการควบคุมเพศวิถีของประชาชน

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเชื่อมโยงระหวางเรื่องเพศ สาธารณะและรัฐ มีหลายมุมมอง คนส่วนมากมองว่าเซ็กส์ เป็นเรื่องส่วนตัวที่คนมีเสรีภาพเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับฐานความเชื่อแบบเสรีนิยมที่ให้คนเลือกใช้ชีวิตตามความพอใจแต่ในศตวรรษที่ 20 แนวคิดสตรีนิยมกล่าวถึงเรื่องนี้ใหม่ว่า “เรื่องส่วนตัวแท้จริงแล้วคือเรื่องการเมือง” ซึ่งเปิดโปงให้เห็นว่า ในพื้นที่ส่วนตัว มีเรื่องอํานาจและการกดขี่แฝงอยู่ ผลจากการเปิดโปงทําให้หลายกลุ่มหันไปพึ่งพารัฐให้เข้ามาคุ้มครองเรื่องส่วนตัวของพลเมือง เกิดเป็นมาตรการควบคุมกำกับเรื่องเพศเข้มข้นยิ่งขึ้นและเรื่องเพศถูกทําให้เป็นเรื่องสาธารณะจนในที่สุดความเป็นส่วนตัวหายไป โดยเฉพาะในกรณีของบุคคลสาธารณะ คําถามที่เกิดขึ้นคือความเป็นส่วนตัวควรมีอยู่หรือเปล่า? เราพร้อมจะให้ทุกคนรับรู้เรื่องส่วนตัวของเราทุกเรื่องได้หรือไม่? แล้วจะใช้อะไรกำหนด ระหว่างความเป็นส่วนตัว (privacy) กับความเป็นสาธารณะ (Public) และรัฐ (States) ควรเข้ามามีบทบาทแค่ไหน

สุภัทรา นาคะผิว นักสิทธิมนุษยชน จากมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ความเกี่ยวข้องของเรื่องเพศกับรัฐ ถูกกำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า รัฐมีหน้าที่ 3 ข้อคือ รัฐต้องเคารพสิทธิมุนษยชนขั้นพื้นฐาน ต้องไม่ละเมิด รัฐต้องทําหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง และรัฐต้องส่งเสริม โดยสร้างกลไกที่เอื้อให้คนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว แต่ในสังคมไทย คนยังมีความเข้าใจเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน ทางคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ทําโพลพบว่า คนยังมีทัศนะทางลบต่อเรื่องคนเพศเดียวกันจะจดทะเบียนสมรส เรื่องการยุติการตั้งครรภ์และการคุ้มครองผู้ขายบริการทางเพศภายใต้กฎหมายแรงงาน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกตัวอย่างกรณีของการออกกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันในประเทศฝรั่งเศสว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอยางยิ่งประเด็นการให้สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของครอบครัวเพศเดียวกันซึ่งคนฝรั่งเศสถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเพราะส่วนใหญ่มองว่า ครอบครัวทำหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์ของสังคม ทั้งที่ปัจจุบันคนนิยมเป็นโสดหรือแต่งงานแต่ไม่มีลูกกันมากขึ้น การผลักดันกฎหมายแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทยจึงต้องระวังการใช้คําว่า ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาให้ดี เพราะจะส่งผล
ให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายเรื่อง

โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม ชี้ว่า แม้แต่นโยบายเกี่ยวกับการวางผังเมืองของรัฐก็มีผลกระทบต่อเรื่องเพศของประชาชน ยกตัวอย่างกรณีของเมืองใหญ่ที่ออกแบบให้คนต้องซื้อบ้านชานเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ส่งผลให้ต้องมีรถยนต์ส่วนตัว เกิดเป็นวัฒนธรรมการขับรถจากบ้านชานเมืองเข้ามาทํางานในเมือง แต่ในอังกฤษ สํารวจพบว่ารถยนต์กว่าร้อยละ 70 เป็นของเพศชาย สะท้อนว่าการออกแบบเมืองมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net