บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (5) คนจีนในทรรศนะคึกฤทธิ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ความจริง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนนั้นได้ค่อยๆ เจริญงอกงามและสืบทอดมานับนานในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ซึ่งเริ่มมีการติดต่อทางการค้ากันแล้ว รวมถึงในสมัยอยุธยาก็เคยมีขุนนางเชื้อชาติจีนที่เคยมีบทบาทหน้าที่รับราชการถึงระดับเจ้าเมือง และต่อมาได้กลายเป็นขุนศึกที่ยิ่งใหญ่จนสามารถกู้ชาติบ้านเมืองของไทยที่ถูกพม่ายึดครองเอาไว้ได้
 
ดังที่ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งเป็นผู้นำไทยคนแรกที่เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการ และเจรจากับอดีตผู้นำจีน คือเหมาเจ๋อตง นานนับชั่วโมงมาแล้ว ได้เคยเขียนเอาไว้ในเรื่อง "คนจีนในทรรศนะคึกฤทธิ์" ว่า
 
"ถ้าจะว่าไปแล้ว ความเป็นเอกราชของไทยที่ยืนยงคงทนมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ก็ด้วยน้ำมือของขุนศึกขุนนางไทยเชื้อชาติจีน และต่อมาก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินของไทย เจ้าเมืองขุนศึกผู้นั้นคือ พระยาตาก และต่อมาได้เป็น "พระเจ้าตาก" พระเจ้าแผ่นดินของไทยเราชั่วระยะหนึ่ง นั่นเอง"
 
กล่าวสืบต่อกันมาว่า "พระเจ้าตาก" นั้น เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของชาวจีนโพ้นทะเลผู้หนึ่งที่ไปแต่งงานกับหญิงไทยนาม "นกเอี้ยง" และต่อมามีบุตรชายด้วยกัน นาม "แต้สิน" หรือ "ตากสิน" ที่ต่อมาได้มีคุณูปการต่อประเทศไทยด้วยการเจริญวัยขึ้นเป็นถึง "พระเจ้าแผ่นดิน" ผู้ก่อตั้งกรุงธนบุรี นั่นก็คือ "พระเจ้าตากสินมหาราช" นั่นเอง
 
พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง ในฐานะผู้บัญชาการทหารเรือของไทยในปัจจุบันและได้อาศัย "พระราชวังเดิม" ของพระเจ้าตากสิน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "กองทัพเรือแห่งเดียวในโลกที่มีกองบัญชาการอยู่ในพระราชวังเดิม" ก็เคยเขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ในเรื่อง "กรุงธนบุรี...ราชธานีที่ถูกลืม" ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9-15 กรกฎาคม 2547 ว่า
 
"ในคราวกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในปี พ.ศ.2310 พม่าได้ยึดเมืองบางกอกและแต่งตั้งให้ "นายทองอิน" คนไทยที่เข้าไปกับฝ่ายพม่า รักษาป้อมและเมืองบางกอกไว้
 
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชสำเร็จในปีเดียวกัน ทรงมีพระราชดำริว่า กรุงศรีอยุธยามีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิมได้ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี...
 
กรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ 15 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีข้ามมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงธนบุรีได้ถูกลดความสำคัญลงเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้พระราชวังกรุงธนบุรีหรือที่เรียกว่า "พระราชวังเดิม" ได้ว่างลง
 
...ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ "กรุงธนบุรี" จะได้ก่อกำเนิดขึ้นใหม่"
 
 
วาทะ เจียงเจ๋อหมิน
 
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2544 นายเจียงเจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีนได้เคยทูลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า
 
"ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยมีมายาวนานแล้ว ประชาชนทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันฉันท์ "ญาติมิตร""
 
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนจึงเป็นดั่งคำกล่าวติดปากคนไทยทั่วไปที่ว่า "ชาติไทย ชาติจีนมิใช่อื่นใด พี่น้องกัน" ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการได้รจนาไว้
 
การเดินทางไปจีนของศรีบูรพาในช่วงนั้นพร้อมคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยอื่นๆ เพื่อมุ่งสืบสานสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทย-จีนดังกล่าว แม้ว่าระหว่างเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามนานัปการจากปัญหา "ความแตกต่าง" ของนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลในยุคนั้นจึงนับว่ามีความสำคัญควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
 
ชนรุ่นหลังของไทยที่เกิดหลังปี พ.ศ.2517 อาจลืมเลือนเหตุการณ์ประวัติความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างไทย-จีนในช่วงก่อนเปิดความสัมพันธ์ว่ามีความตึงเครียดรุนแรงอย่างไร
 
ขณะเดียวกัน นับวันความสัมพันธ์ไทย-จีนในปัจจุบันก็ยิ่งเจริญงอกงามแตกดอกออกช่อเติบโตและยืนยงยิ่งขึ้น อันจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลสองฝ่ายในแทบทุกด้าน รวมถึงด้านการศึกษาที่มีทั้งนักศึกษาจีนไปศึกษาในเมืองไทยและมีนักศึกษาไทยจำนวนมากอันดับต้นๆ ที่หลั่งไหลไปศึกษาภาษาจีนในประเทศจีนอย่างเปิดเผย และได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ทำให้อาจกลบเกลื่อนร่องรอยชำรุดทางประวัติศาสตร์ที่เคยถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของคนจำนวนน้อยนิดบางหมู่เหล่าอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรลืมเลือนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายได้เคยเกิด "อุบัติเหตุ" อะไรขึ้นในระหว่างหนทางอันมืดมน ไร้ความเป็นธรรม และคาดคิดไม่ถึง จนส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย
 
ดังที่เคยมีผู้กล่าวเอาไว้ในหนังสือชื่อ "ผกางามแห่งจีนใต้" หรือ "ฉู่ฉือ" ที่แปลและเรียบเรียงโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาอาวุโสแห่งวงการศึกษาของไทย นาม "ยง อิงคเวทย์" ว่า
 
"ขอให้กวีนิพนธ์ทุกบททุกตอนในหนังสือชุด "รัตนมณีกวีนิพนธ์จีน" นี้ จงเป็นสื่อน้อมนำผู้อ่านให้เข้าถึงสุนทรียภาพแห่งภูมิปัญญาจีน เป็นเครื่องเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างจีนกับไทยสมเจตนารมณ์ของผู้แปล ช่วยให้คลายความเกลียดชังจีนอย่างที่เราเคยเป็นมาในยุคหนึ่งไป..."
 
"ความเกลียดชังจีน" ดังกล่าวนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศรีบูรพาและคณะนักหนังสือพิมพ์ผู้ใฝ่หาความเป็นธรรมและความถูกต้อง มุ่งเดินไปหาคำตอบ ณ จุดหมายปลายทางประเทศต้องห้ามในเวลานั้นคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน!
 
แม้ศรีบูรพาจะมิใช่หน่อเนื้อเชื้อไขชาวจีนโดยสายเลือดก็ตาม
 
 
 
ชีวประวัติศรีบูรพา
 
ศรีบูรพามีชีวประวัติที่น่าสนใจ เขาเป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2448 ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 บิดาเป็นชาวกรุงเทพฯ อาชีพเป็นเสมียนเอกกรมรถไฟสมัยนั้น และมารดาเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี
 
ศรีบูรพาสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และศึกษาต่อด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาสมรสกับ ชนิด ปริญชาญกล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักแปลเจ้าของนามปากกาที่ศรีบูรพาตั้งให้ว่า "จูเลียต" มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน ตามลำดับคือ แพทย์หญิงสุรภิน ธนะโสภณ และ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ซึ่งมีอาชีพเป็นวิศวกร
 
จากบันทึกของบุตรสาวคนเดียวของศรีบูรพาคือ พญ.สุรภิน ธนะโสภณ ได้เขียนรำลึกถึงบิดาเอาไว้ว่า
 
"ป๋าได้เริ่มหัดเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และได้ออกหนังสือชื่อ "ดรุณสาร" และ "ศรีเทพ" ร่วมกับเพื่อน เมื่อจบชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ป๋าก็ได้ออกทำงานโดยทำหนังสือพิมพ์กับเพื่อน และได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษตอนค่ำที่โรงเรียนสอนหนังสือไทยและอังกฤษ ของคุณแตงโม จันทวิมพ์ ชื่อ "โรงเรียนรวมการสอน" และ "สำนักรวมการแปล" ซึ่ง คุณโกศล โกมลจันทร์ เป็นผู้จัดการ..."
 
จากความรู้ความสามารถทั้งสองภาษาคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต่อมาศรีบูรพาจึงแสดงความสามารถทางการประพันธ์ไว้ทั้งผลงานเขียนภาษาไทยทุกประเภท คือเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ สารคดี และข้อเขียนอื่นๆ ในหนังสือพิมพ์ เช่น ผลงานเขียนที่โดดเด่น คือ "แลไปข้างหน้า" "ขอแรงหน่อยเถอะ" และ "ข้างหลังภาพ" เป็นต้น
 
รวมถึงผลงานแปลมีคุณค่าอีกส่วนหนึ่ง เช่น ผลงานแปลจากบางส่วนจากวรรณกรรมของโลกเรื่อง "แม่" ของ แม็กซิม กอร์กี้ เรื่อง "กำเนิดครอบครัวของมนุษย์" เรื่อง "ระเบียบสังคมของมนุษย์" เรื่อง "ปรัชญาลัทธิมาร์กซิสม์" เรื่อง "ชีวิตสอนอะไรแก่สตรีโซชลิสต์อังกฤษ" และเรื่อง "ซุนยัตเซน" เป็นต้น
 
รวมถึงเรื่อง "สงครามชีวิต" นวนิยายที่กล่าวกันว่า ศรีบูรพาได้รับแรงบันดาลจากวรรณกรรมรัสเซีย เรื่อง "รักของผู้ยากไร้" ของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี ซึ่งเป็นผลงานอีกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นและได้รับการกล่าวขวัญถึงของศรีบูรพา 
 
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท