Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมธา มาสขาว คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35 เสนอรบ.ยิ่งลักษณ์ นำข้อเสนอ คอป.มาดำเนินการทันที

จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ โดยผ่านการรับรองวาระแรกจากรัฐสภาไปแล้วนั้น ในชั้นกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติกฎหมายดังกล่าว คาดว่ารัฐบาลคงจะนำร่างกฎหมายหลายส่วนผสมเข้าด้วยกันจากกฎหมายปรองดองที่ยังคงค้างอยู่หลายฉบับ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อนิรโทษกรรมแกนนำทางการเมืองทุกกลุ่ม รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการล้างคดีทุจริตของตนเอง หรืออาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฉบับอื่นๆ

ขณะที่ญาติผู้เสียหายในเหตุการณ์ปี 2553 บางส่วน ได้เสนอร่างกฎหมายของตนเองขึ้นมาเพื่อให้สังคมพิจารณาว่า จะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่ทำเกินกว่าเหตุในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาปี 53 และคัดค้านกฎหมายอื่นที่อนุญาตให้มีการนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าว และดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ได้ตั้งใจให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนตั้งแต่แรก หากไม่พ่วงเอาแกนนำ รวมถึงคุณทักษิณไว้ด้วย จึงปล่อยเรื่องล่าช้ามากว่า 2 ปี ทั้งที่สามารถทำได้ตั้งแต่แรกๆ ที่เป็นรัฐบาล ผมมีความเห็นว่า ในชั้นการแปรญัตติกฎหมายดังกล่าว จะต้องไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐและแกนนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามปกติเพื่อพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรมใดๆ ออกมาภายหลังก็ย่อมทำได้เพื่อให้เกิดความปรองดองในอนาคต

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ ยังมีถ้อยความบัญญัติคล้ายคลึงกับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 กรณีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ที่มีการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ทหาร จนไม่เกิดบทเรียนและบรรทัดฐานให้กองทัพเลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมืองหรือนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของตำรวจ โดยร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ ระบุในมาตรา 3 ว่า “ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง....”  และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 ได้ใช้ถ้อยคำว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน...” ซึ่งคล้ายคลึงกัน ซึ่งในทางกฎหมายเมื่อกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 2535 ได้มีการฟ้องร้องเอาผิดต่อกองทัพ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนว่า “มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง” ดังนั้น เท่ากับว่า ถ้อยความในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ มีการนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ทหารและทุกคนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองอย่างชัดเจน ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาล นำร่างกฎหมายของญาติผู้เสียหายในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ไปปรับใช้ และแปรญัตติถ้อยความเพื่อไม่ให้มีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ทหารและผู้กระทำความผิดโดยเด็ดขาด เพื่อรอกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป นอกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองและฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งคือนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลควรนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เสนอทางออกไว้แล้ว ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง เช่น การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด อาทิ ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น และการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองและกระทำผิดอาญาไม่ร้ายแรง ถือเป็นมาตรการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างมีการจัดตั้ง แต่เป็นการกระทำผิดในลักษณะจลาจล เพื่อนำข้อเสนอเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ดังกล่าวมาพิจารณาร่วม รัฐบาลควรหยิบยกข้อเสนอของ คอป. และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มาพิจารณาและดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมต่อไปในการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชนตามหลักการดังกล่าว

การนิรโทษกรรมทางการเมืองทุกฝ่าย สามารถทำได้ในอนาคต เนื่องจากสังคมไทยยังเต็มไปด้วยความเมตตาและการให้อภัยกัน แม้ผู้สูญเสียจะเจ็บปวดจากเหตุการณ์ซึ่งรวมถึงทหารและตำรวจด้วย แต่ญาติผู้เสียหายต่างก็ร้องหาความเป็นธรรมของเหตุการณ์การและความจริงแห่งการสูญเสีย เพื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนต่อสาธารณะก่อนแล้วจึงนิรโทษกรรมภายหลังก็สามารถทำได้ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ความจริงร่วมกัน เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการชุมนุมของประชาชนในอนาคตว่าจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และเป็นบรรทัดฐานว่า จะต้องไม่มีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารอีกโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ จากการที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้ง “สภาปฏิรูปการเมือง” และจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ รวมถึงมีนโยบายเชิญผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมให้คำแนะนำนั้น ผมเห็นว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เคยเชิญH.E. Mr. Kofi Annan อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และ H.E. Mr. Martti Ahtisaari อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการสร้างความปรองดองในประเทศไทย และพบปะกลุ่มตัวแทนจากทุกภาคส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 แล้ว โดยมีคำแนะนำหลายอย่างต่อประเทศไทย และต่อมา คอป.ได้จัดทำข้อเสนอแนะออกมาแล้ว รวมถึง คอป.ยังเคยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมาร่วมงาน เพื่อศึกษาและให้คำแนะนำต่อการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในสังคมไทยมากมาย อาทิ Ms. Priscilla Hayner ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาความจริงและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน, N. Hassan Wirajuda, Ph.D. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศอินโดนีเซีย, Professor David Kennedy, Ph.D. อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา, Honorable Judge Dennis Davis อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประเทศแอฟริกาใต้ โดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้สนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้าร่วมงานกับ คอป. คือ Ms. Beatrice Schiffer, Ph.D. ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science Expert), Mr. Quentin Milliet ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายและวีดิทัศน์ (Visual Imagery Expert), Mr. Matthieu Glardon และ Mr. Fabiano Riva ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ รวมถึง United Nations Office on Drug and Crime (UNODC) ได้สนับสนุนให้ Mr. Steve Nash, Crime Scene Expert มาให้คำแนะนำในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง,  International Center for Transitional Justice (ICTJ) ได้ส่ง Mr. Ari Bassin ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ (Management Strategy Expert), United Nation Development Programme (UNDP) ได้ส่ง Mr. Samuel Gbaydee Doe, Ph.D. ที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ความขัดแย้ง (Advisor for Conflict Analysis) เข้าร่วมสนับสนุนการทำงานของ คอป. 

นอกจากนี้ยังมี Ms. Priscilla Hayner ที่ปรึกษาด้านการค้นหาความจริง (Truth Commission) สถาบันนานาชาติการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยุติธรรม สวิตเซอร์แลนด์ และ Mr. Howard Varney ที่ปรึกษาด้านการค้นหาความจริง สถาบันนานาชาติการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยุติธรรม แอฟริกาใต้ ได้มาแลกเปลี่ยนความเห็น และเสนอแนะความเห็นเพื่อวางกรอบการทำงานของ คอป. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี, Mr. Howard Varney และ Mr. Patrick Burgess ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาความจริง (Truth Seeking and Management) จาก International Center for Transitional Justice (ICTJ) มาให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน นอกจากนี้ คอป. ยังได้เข้าพบ Gary Lewis ผู้แทนจาก United Nation Office on Drugs and Crimes (UNODC) เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ(crime scene expert), H.E. Christine Schraner Burgener เอกอัครทูตสวิสเซอร์แลนด์ประจำประเทศ,  ผู้แทนของ Centre for Humanitarian Dialogue (CHD), ผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย,  Mr. Tamrat Samuel ผู้แทนจาก United Nations Development Programme New York (UNDP), ผู้แทนจาก Centre of Humanitarian Dialogue (CHD), International Committee of the Red Cross (ICRC), เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย H.E. Mrs. Kristie Anne Kenney, เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย H.E. Sirpa Mäenpää, Mr. Frank La Rue ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the Promotion and Protection of the right to freedom of opinion and expression), คณะทูตจากสหภาพยุโรป (Delegation of European Union to Thailand), Mr. Francesc Vendrell อดีตนักการทูตชาวสเปนที่มีบทบาทในการส่งเสริมกระบวนการปรองดองในหลายประเทศ Mr. Michael Vatikiotis ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของ Centre for Humanitarian Dialogue (CHD), International Center for Transitional Justice (ICTJ) ได้ส่ง Mr. Patrick Burgess ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย และ Mr. Ari Bassin ผู้จัดการโครงการส่วนภูมิภาคเอเชียเพื่อเข้าร่วมในการฝึกอบรมคณะจัดทำรายงานอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง, คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC), Mr. Wolfgang Hüsken เจ้าหน้าที่โต๊ะที่รับผิดชอบ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จากกระทรวงต่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, ผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) รวมถึงเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย H.E. Mr. Lutfi Rauf และคณะ เอกอัครราชทูต H.E. Heidi Tagliavini และ เอกอัครราชทูต H.E. Christine Schraner Burgener เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ Truth Commission ในประเทศต่างๆ และ คอป. ได้จัดให้มี Focus Group Consultation Session ซึ่งได้เชิญคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศมากกว่า ๔๐ องค์กร เพื่อเสนอความคืบหน้าต่อองค์กรที่ได้ให้ความร่วมมือกับ คอป.

รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นความจริงใจในการปฏิรูปการเมืองที่เป็นรูปธรรมให้สังคมไทยและนานาชาติเห็นก่อน ผมเข้าใจว่า คุณยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติเร็วๆ นี้ หากไม่จัดกิจกรรมอะไรสักอย่างที่แสดงให้นานาชาติเห็นว่า ได้พยายามทำงานด้านปรองดองแล้ว ก็จะต้องเจอกับคำถามมากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า "ทำไมไม่ทำตามที่ คอป.เสนอ" เช่นเดียวกับที่ถูกองค์กรระหว่างประเทศ และนักการทูตในกรุงเทพฯ ถามอยู่เป็นประจำ

ดังนั้น รัฐบาลควรนำข้อเสนอของ คอป. ซึ่งได้เสนอทางออกและคำแนะนำไว้ไปดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องชะลอเวลา และนำข้อเสนอทุกอย่างไปพิจารณาในที่ประชุมสภาปฏิรูปการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรากเหง้าของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียนในการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาลและการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เป็นต้น เพื่อปฏิรูปสังคมการเมืองไปจากความขัดแย้งและสร้างการปรองดองที่แท้จริง มิเช่นนั้นแล้ว จะเป็นเพียงพิธีกรรมผักชีโรยหน้าของสภาปฏิรูปการเมือง และยังเป็นสภาปฏิรูปการเมืองที่ไม่มีฝ่ายคู่ความขัดแย้งเข้าร่วมแต่อย่างใด

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net