Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เห็นมีเพื่อนๆ กลุ่มรักประชาธิปไตยหลายท่าน ได้โพสต์อยู่หลายครั้งว่า อยากให้ประเทศไทยมีระบบการตัดสินด้วยคณะลูกขุนกัน อาจจะเป็นเพราะว่า ได้กิตติศัพท์ความยุติธรรม และความน่าเชื่อถือทางกฎหมาย  วันนี้ ก็ขอเล่าให้ฟังจากประสบการณที่มีอยู่ สาม ครั้ง ในการเข้าไปเป็นสมาชิกของคณะลูกขุนว่า ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เขาทำกันอย่างไร
 
ก่อนอื่น การจะเป็นสมาชิกของคณะลูกขุน (Jury) ได้นั้น จะต้องเป็นประชากรของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าบุคคลนั้นเป็นพลเมืองถาวร (permanent resident) หรือยังถือ Green Card อยู่ ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกในคณะลูกขุนได้
  
ประการแรก ศาลของเมืองจะส่งไปรษณียบัตรมาให้  จ่าหน้าซองว่า คุณได้ถูกคัดเลือกให้มารายงานตัวต่อศาล ภาษาอังกฤษเรียกว่า Jury Duty Summons  หรือเรียกสั้นๆ ว่า Summons เพื่อปฎิบัติหน้าที่ในคณะลูกขุน ศาลเขาคัดเลือกโดยระบบคอมพิวเตอร์ (ส่วนใหญ่มาจากบัญชีรายชื่อใบขับขี่หรือไม่ก็บัตรลงทะเบียนเพื่อมีสิทธิ์ลงคะแนนในการเลือกตั้ง  - Voter's Registration Card) ซึ่งหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในคณะลูกขุน บุคคลที่คัดเลือกขึ้นมา จะต้องไปรายงานตัวที่ศาล ตามวันเวลาที่ระบุไว้  การไปรายงานตัวที่ศาลนี้ เป็น civic duties หรือ หน้าที่พลเมือง และถ้าเราทำงานอยู่ บริษัทห้างร้านจะต้องอนุญาตให้เราไปทำหน้าที่นี้อย่างไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นกฎหมายของประชาชน
 
เมื่อเราขออนุญาตจากบริษัทที่เราทำงานอยู่แล้ว (ปรกติเขาจะขอสำเนา หมายเรียกจากศาล) เราก็เดินทางไปปฎิบัติหน้าที่ได้ ศาลแต่ละรัฐไม่เหมือนกัน แต่วิธีการใช้แบบเดียวกันหมด คือ ต้องเป็นคดีอาญา (Criminal case) ส่วนคดีแพ่งนั้น มีเหมือนกัน แต่น้อยมากค่ะ
  
เมื่อไปรายงานตัวต่อเสมียนศาลแล้ว เขาก็จะให้เรานั่งรอ จากนั้น ก็จะให้เบอร์เราไว้ว่า เราคือเบอร์อะไร จะไม่มีการเรียกชื่อเด็ดขาด การคัดเลือกลูกขุนเพื่อการพิจารณาคดี จะทำการคัดเลือกโดยทางฝ่ายทนายความทั้งสองฝ่าย คณะลูกขุนจะประกอบด้วยจำนวนเลขคู่เท่านั้น เพราะทางฝ่ายทนายแต่ละฝั่งจะเลือกโดยจำนวนเท่าเทียมกัน  คณะลูกขุนจะประกอบไปด้วยจำนวนตั้งแต่ 6 ถึง 20 คน อยู่ตามสถานภาพของคดี  ส่วนใหญ่จะมาลงกันที่ 12 คน เพราะเป็นแม่แบบกันในคดีอาญา
 
การคัดเลือกรอบแรก อาจจะมีจำนวนทั้งหมด 50 คน ก่อน ทนายทั้งสองฝ่ายจะนำเอาคนนั้นออกไป คนนี้ออกไป จนเหลือประมาณ 20 คน  คนที่ถูกคัดออกไป สามารถกลับไปบ้านได้ ทางเสมียนศาลจะออกหนังสือรับรองหรือแผ่นกระดาษที่มีตราของศาลประทับให้ว่า คุณคนนี้ ได้มาปฎิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้ว จดหมายนี้ เราจะต้องนำเอาไปให้กับที่ทำงาน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า เรามาที่ศาลจริง  (หลังจากนั้น ประมาณอาทิตย์หนึ่ง ทางศาลก็จะส่งเช็คมาให้ เป็นค่าใช้จ่าย จำนวนเงินไม่มากเท่าไรหรอก เพราะมันเป็นภาษีจากประชาชน แถมยังต้องไฟล์เรื่องในภาษีด้วยว่า เป็นรายรับ)
 
กว่าการคัดเลือกจะได้ถึง 16 คนนั้น ใช้เวลาพอสมควรทีเดียว บางครั้ง ทางทนายอาจจะเลือกคนนั้นคนนี้ ทางผู้พิพากษาก็จะนั่งบนบัลลังก์เท่านั้นเอง เพื่อเป็นสักขีพยานในการเลือกตัวลูกขุน  ถ้ามีการตัดสินโดยใช้คณะลูกขุน 12 คน ทางศาลจะคัดเลือกไว้ทั้งหมด 16 คน เพราะจะต้องมีลูกขุนสำรองอยู่ เผื่อว่า ลูกขุนตัวจริงไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ลูกขุนสำรองจะขึ้นปฎิบัติหน้าที่แทนได้ทันที
 
เมื่อการคัดเลือกลูกขุนเสร็จสิ้นลงแล้ว เราจะรู้แต่หมายเลข ไม่รู้ชื่อว่า ลูกขุนคนนี้ ชื่ออะไร เพราะอาจจะมีการสืบกันได้ เรื่องนี้ เป็นการปกป้องตัวของลูกขุนด้วย เพราะคดีอาญานั้น มีพวกมาเฟีย หรือ สมาชิกจากแก๊งค์พอสมควร  เมื่อการคัดเลือกคณะลูกขุนสิ้นสุดลงได้ตามจำนวนที่กล่าวไว้ ทางทนายทั้งสองก็จะกล่าวให้กับผู้พิพากษาฟังว่า บัดนี้ เราได้คณะลูกขุนแล้ว การพิจารณาคดีก็เริ่มขึ้นได้
 
ทางศาลจะประกาศว่า เป็นคดีของใคร ระหว่างใครกับใคร จำเลยถูกตั้งข้อหาอะไร ใครเป็นโจทก์ ฯลฯ  จากนั้น คณะลูกขุนก็จะเข้าไปในห้องๆ หนึ่งอยู่ติดกับศาล เราก็นั่งอยู่ที่นั่นก่อน จากนั้น เสมียนศาลก็จะเข้ามาบอกให้เราทราบว่า กฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างไร ระเบียบการเป็นอย่างไร อย่างไหนทำได้ และ อย่างไหนทำไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางตัวเป็นกลาง และ เรารับฟังความยุติธรรมอย่างเดียว เหมือนกับ สตรีที่มีผ้าผูกตา และถือตาชั่งอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่า Justice is Blind คือรับฟังอย่างเดียว โดยไม่รู้เห็นอะไรทั้งสิ้น 
 
สิ่งที่ทางศาลเตือนเราคือ การตัดสินแบบสามัญสำนึก ใช้วิจารณญาณ เคสที่เราตัดสินนั้น จะมีผลกระทบไปยังเคสอื่นๆ ในอนาคต เพราะสามารถใช้เคสของเรานี้ กระทำการอ้างอิงได้ ทุกหมู่เหล่าจะต้องถือว่า จำเลยนั้น ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าจะได้มีการพิจารณาและถูกตัดสินว่ากระทำความผิด (They are innocent until proven guilty) เราต้องฟังการเบิกพยานต่างๆ รวมทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุอย่างเที่ยงธรรม ลูกขุนแต่ละท่านมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง และต้องแสดงความเห็นด้วยกันทุกคน จะไม่ให้ลูกขุนคนใด ทำการข่มหรือ manipulate ในเคสได้ เพราะเราใช้หลักการว่า ทุกๆ คน เกิดเป็นมนุษย์มาอย่างเท่าเทียมกัน และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ตอนสรุปความนั้น คือเรื่องที่เราทราบกันว่า ถ้ายังมีความคลุมเครือในการตัดสินแล้ว ผลประโยชน์จะต้องถูกยกให้กับจำเลย (Benefit of the Doubt)

  
ในการพูดคุยกันนั้น จะมีการเลือกหัวหน้าคณะลูกขุนหรือ head of Jury ขึ้นมา บุคคลนี้ อาจจะมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในประสบการณ์ เขาจะต้องเป็นผู้รวบรวมรายละเอียดต่างๆ  ที่ลูกขุนแต่ละท่านแสดงความเห็น และเป็นผู้นับคะแนน รวมถึงการเป็นผู้อ่านรายละเอียดว่า ผลการตัดสินเป็นอย่างไร ว่า ผิดตามข้อกล่าวหา หรือว่า ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา บางท่านอาจจะเคยเป็น Juror มาก่อน ก็เลยทราบว่าขั้นตอนจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่า บุคคลที่ไม่มีประสบการณ์เลย โดยเฉพาะการรวบรวมรายละเอียดและข้อความ
 
คำตัดสินของคณะลูกขุน ถือว่าเป็นอย่างเด็ดขาดและจะต้องมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถพิจารณาคดีต่อได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hung Jury ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เคสอาจจะถูกยกเลิกไปหรือ retired หรือไม่ศาลก็จะต้องเลือกคณะลูกขุนใหม่ เพื่อทำการพิจารณาคดีนั้นๆ แต่เรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก  แต่ก่อนจะมีการ ประกาศว่าเป็น Mistrial นั้น บางทีจะมีการเรียกตัวลูกขุนผู้ซึ่งแย้งกับความคิดเห็นส่วนใหญ่เข้ามาพิจารณาถึงเหตุผล และดูว่า สามารถเปลี่ยนหลักการเหล่านี้ได้หรือไม่ ศาลให้โอกาสในเรื่องนี้ เพราะเป็นอิสรภาพของการตัดสินคดี เนื่องจากว่า คนบริสุทธิ์อาจจะถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ากระทำผิดได้
 
ลูกขุนทุกท่านจะได้รับกระดาษและปากกา สำหรับจดบันทึกต่างๆ แต่ห้ามนำเอาบันทึกเหล่านี้ออกไปจากห้องพิจารณาคดี ถ้าคดีไม่เสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา ทางศาลจะจัดหาห้องพักให้ เพราะคดีเหล่านี้ จะต้องไม่มีการนำเอาความคิดเห็นไปเผยแพร่ทางสาธารณะได้ ตัวเสมียนศาลจะอนุญาตให้ลูกขุนคุยกับครอบครัวตนเองได้ภายใน 5 นาที โดยโทรศัพท์ของศาลเท่านั้น ห้องพักต่างๆ จะไม่มีโทรศัพท์อยู่ และ ตัวลูกขุนจะไม่มีโทรศัพท์มือถือเด็ดขาด เพราะเขาจะบอกก่อนเลยว่า ห้ามนำเอาเข้ามาในการพิจารณาคดี
 
การพิจารณาคดีในห้องการพิพากษา เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นลูกขุนมาก่อน เพราะจะมีคนเข้ามาฟังการพิจารณาคดีเหมือนกัน รวมทั้งจะเห็นการเตรียมตัวของฝ่ายทนายทั้งสองคือ ทนายความของจำเลย และ ทนายความของฝ่ายผู้ฟ้อง หลักการศาลของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ตำแหน่งอัยการจะเทียบเท่ากับตำแหน่งทนายความของฝ่ายจำเลย ไม่มีใครสูงกว่าหรือต่ำกว่า เพราะตาชั่งจะต้องไม่เอียงหรือหนักข้างหนึ่งข้างใด
 
ปรกติแล้ว ทางฝ่ายอัยการจะเริ่มก่อนว่า ฝ่ายจำเลยกระทำการอะไรที่ผิดกฎหมาย เป็นต้นว่า ฆาตกรรมคนนี้หรือคนนั้น หน้าที่ของลูกขุนคือฟังความอย่างเดียว เพราะฝ่ายผู้เสียหายและฝ่ายผู้ฟ้องนั้น มีญาติอยู่ในห้องการพิพากษาทั้งสิ้น ถ้าจิตใจลูกขุนเกิดไขว้เขว ไปเห็นใครร้องไห้หรือมีอารมณ์โกรธแค้น ทางศาลสามารถขอให้เขาออกไปจากห้องพิจารณาดดีได้ทั้งสิ้น


Justice is Blind
 
การพิจารณาคดีที่ดิฉันมีส่วนร่วมนั้น มีทั้งแบบ hi-tech คือมีทั้งจอทีวี เอา PowerPoint ขึ้นให้เห็น หรือไม่ก็เป็น White Board ซึ่งแสดงให้เห็นพยานวัตถุและพยานหลักฐาน  ฝ่ายทนายทั้งสอง มีเวลาซักถาม พยานที่ตนมีอยู่เสมอ  คำถามต่างๆ ที่นำเสนอนั้น จะได้ยินบ่อยว่า  “Objection” หรือคัดค้านคำถามนั้น ซึ่งทางฝ่ายผู้พิพากษา จะตัดสินว่า “Overruled” ซึ่งหมายความว่า ผู้พิพากษาไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านนั้น หรือไม่ก็ “Sustained” ซึ่งหมายความว่า ผู้พิพากษาเห็นด้วยกับคำถาม, คำให้การ หรือ พยานวัตถุต่างๆ
 
เมื่อการพิจารณาคดีผ่านไปสักสองสามชั่วโมง จะมีการพักเบรคกัน ฝ่ายลูกขุนจะต้องเข้าไปในห้องของคณะลูกขุน ซึ่งอยู่ติดๆ กันกับทางเดินเข้า ห้องนี้คือห้องการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกขุนแต่ละบุคคลว่า เป็นอย่างไร  ถ้าเป็นตอนกลางวัน ก็จะมีอาหารว่างเข้ามาในห้องประชุม แต่การถกเถียงจะไม่หยุด เพราะเราต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันหลายเรื่อง
 
ขอแสดงความคิดเห็นด้วยว่า กฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระบบ Common Law ซึ่งไม่มีการตีความตามตัวอักษรแบบประเทศไทยที่เป็นระบบ Civil Law ดังนั้น การเป็นลูกขุน ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องตัวบทกฎหมายว่า มาตราอะไร ว่าอย่างไร เพราะการใช้สามัญสำนึกในการตัดสินนั้น จะไม่มีการถูกข่มขู่ว่า ตนเองด้อยความรู้กว่า หรือมีประสบการณ์น้อยกว่าอีกคนหนึ่ง 
 
ถ้าเป็นประเทศไทย อาจจะมีการข่มขู่ในศักดิ์ศรีระหว่าง อาจารย์ในมหาวิทยาลัย กับกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า หรือ ลูกจ้างธรรมดาได้ ซึ่งเรื่องนี้ จะทำให้คดีต่างๆ มีการข่มขู่และโน้มน้าวการตัดสินเนื่องจากอีกคนถือว่า ตนเองมีความรู้มากกว่า หรือเรียนมาโดยตรงในเรื่องนี้ ย่อมเข้าใจดีกว่าทุกๆ คนในคณะลูกขุน ต้องใช้มาตรฐานเดียวตัดสินกันหมด ถ้ามีคนแย้งกระต่ายขาเดียวว่า ไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นจะต้องแสดงเหตุผลให้ทุกคนทราบว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น มีการถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง ถ้าเหตุผลไม่ดีพอ แต่ยังดื้อรั้นอยู่นั้น ทางฝ่ายหัวหน้าลูกขุน สามารถปรึกษากับทางฝ่ายศาลได้ ถ้าเกิดมีพวกหัวหมอเข้ามา
 
ตัวลูกขุนจะต้องเซ็นต์ชื่อในกระดาษในเรื่องของ Confidentiality Agreement หรือสัญญาว่าจะไม่มีการนำเอาดคีที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ ออกไปเผยแพร่หรือพูดกับใครได้ (แม้แต่สมาชิกของครอบครัวตนเองก็พูดให้ฟังไม่ได้) ถ้ามีเรื่องลอดออกมา ลูกขุนผู้นั้น จะถูกให้ออกจากการพิจารณาคดี และบางรัฐถือว่า เป็นการ Perjury หรือ พูดโกหก มีการต้องโทษในคดีอาญาด้วย
 
ตามปรกติแล้ว การพิจารณาคดีใช้เวลาตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึงหลายๆ สัปดาห์ ถ้าเป็นเคสที่หนักและได้รับความสนใจจากสังคม หรือไม่ก็เป็นเคสที่มีคนติดตามอย่างมาก ถ้ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ตัวลูกขุนจะได้รับการปกป้องรักษาความปลอดภัยอย่างดีทีเดียว
 
คำตัดสินของคณะลูกขุน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Verdict หรือคำพิพากษานั่นเอง ผู้พิพากษาจะรับหนังสือจากหัวหน้าคณะลูกขุนว่า ลูกขุนทุกคนเซ็นชื่อหมดแล้ว และมีมติเป็นเอกฉันท์  จากนั้น ฝ่ายเสมียนศาลจะบอกให้ทุกคนลุกขึ้นยืน เพื่อฟังความตัดสิน หัวหน้าฝ่ายคณะลูกขุนจะอ่านคำตัดสิน ว่า คณะลูกขุนมีความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ว่า จำเลยนั้น ผิดตามข้อกล่าวหา หรือ ปราศจากความผิด  ก็เป็นการจบสิ้นการตัดสินนั้นๆ
  
หลายครั้งที่เมื่อมีการอ่านคำตัดสินของคณะลูกขุนแล้ว จะมีการดีใจ หรือ เสียใจ ร้องกันลั่นศาล ซึ่งทางผู้พิพากษาจะเตือนประชาชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีให้อยู่ในความสงบ จะมีหน่วยรักษาความปลอดภัยนำตัวผู้กระทำผิดออกไปโดยทันที
  
แต่เรื่องนี้ยังไม่เสร็จสิ้นหน้าที่ของคณะลูกขุน เพราะถ้าคำตัดสินได้มีมติว่ามีความผิดแล้ว ฝ่ายลูกขุนนี้ จะเป็นผู้กำหนดว่า จะต้องมีการลงโทษอย่างไร ตั้งแต่ประหารชีวิต มาจนจำคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุกกี่ปีก็ว่ากันไปตามเนื้อหา ส่วนคดีแพ่ง จะเป็นการปรับจำนวนเงิน ก็ว่ากันไปว่า ทั้งหมดเท่าไร  ส่วนใหญ่ฝ่ายทนายก็จะได้กันอย่างน้อย หนึ่งในสาม อาชีพทนายถึงเป็นอาชีพที่ดีมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ขอให้ว่าความเก่ง ๆ และค้นคว้าคดีเก่าๆ ให้เพียงพอ มีใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมาย อาจจะต้องจำหลักการกฎหมายบางอย่างพอสมควร นำเอาหลักสามัญสำนึกเข้ามาเป็นกลางในการพิจารณาคดีเท่านั้นเอง
 
ส่วนใหญ่แล้ว เรื่องการพิจารณาโทษทัณฑ์นั้น ใช้เวลาน้อย เนื่องจากทราบถึงผลการตัดสินแล้ว รวมไปถึงตัวอย่างต่างๆ ที่ทางฝ่ายทนายทั้งสองฝั่งได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า เรื่องนี้ ควรจะเป็นอย่างไร
 
 เคสทั้งสามเคสที่ดิฉันมีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกในคณะลูกขุนนั้น สองเคสอยู่ที่รัฐ Indiana และอีกเคสหนึ่งอยู่ที่รัฐ Kentucky ทั้งสองรัฐอนุญาตให้มีการประหารชีวิตได้ สำหรับรัฐที่เคยอยู่เช่น New Jersey จะไม่มีเรื่องการประหารชีวิต  เคสที่ตัดสินสองเคส จบลงด้วยการลงโทษตลอดชีวิต และมีการตัดสินให้ประหารชีวิตเคสหนึ่ง 
  
ถ้ามีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ผู้ที่กระทำผิดสามารถอุทธรณ์ต่อได้ จะต้องผ่านขั้นตอนสามศาล ตามระบบยุติธรรมสากลทั่วไป
 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
ดิฉันเคยเขียนในเว็บบอร์ดหลายครั้งว่า ประเทศไทย ยังไม่พร้อมในการใช้คณะลูกขุนต่อการพิจารณาคดีในเวลาปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้:
 
1.ระบบศาลเอง ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือโยงกับประชาชนเลย การเป็นผู้พิพากษาในประเทศไทย ใช้ระบบการแต่งตั้ง หรือ สอบเข้าไป ซึ่งตนเองไม่มีความผูกพันกับประชาชน จะมาให้ตัดสินคดีของประชาชนก็กระไรอยู่  ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น การเป็นผู้พิพากษาต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือ การยินยอมโดยผู้แทนของประชาชน 
 
การยินยอมโดยผู้แทนของประชาชนนั้น ทางฝ่ายบริหาร เช่น ประธานาธิบดี หรือ ผู้ว่าการรัฐ หรือ นายกเทศมนตรี (เมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เมืองเล็กๆ จะเป็นการเลือกตั้งเข้าไป) จะเป็นผู้เสนอชื่อผู้พิพากษาเข้าไปให้ทางคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเป็นผู้ลงคะแนนเสียงว่า ผู้นี้มีความเหมาะสมหรือไม่  ตัวคณะกรรมาธิการวุฒิสภาทุกท่านมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ดังนั้น พวกเขาคือตัวแทนของประชาชนโดยสมบูรณ์ เมื่อทางคณะกรรมาธิการวุฒิสภาให้ความยินยอมแล้ว ตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อ ก็จะต้องไปตอบคำถาม ให้กับคณะกรรมาธิการฟังว่า ทำไมเขาถึงมีคุณสมบัติเป็นผู้พิพากษาได้  เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็มีการเสนอชื่อให้นำเข้าไปโหวด ถ้าผ่านครึ่งหนึ่งของจำนวนวุฒิสภา บุคคลผู้นั้นก็กลายเป็นผู้พิพากษาได้  ซึ่งถือว่า มาจากประชาชนเหมือนกัน เพราะได้รับการเลือกตั้งและยินยอมจากผู้แทนของประชาชน
 
ผู้พิพากษาในศาลของประเทศไทย ไม่มีการถูกซักไซร้ไล่ประวัติว่า ทำไมถึงกระทำการตัดสินออกมาในรูปนี้ ในคดีเหล่านี้ เพื่อสร้างความเหมาะสมในความรู้และตำแหน่งที่มีอยู่
 
ที่สำคัญที่สุดคือ ฝ่ายตุลาการจะต้องมีการโยงถึงประชาชนได้
 
 2.    การคัดเลือกคณะลูกขุนนั้น จะต้องทำแบบล็อตเตอรี่คือเลือกขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน มีสิทธิ์เท่าเทียมกันหมด ต้องมีกฎหมายออกมาว่า นายจ้างจะต้องอนุญาตให้บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกนั้น มาปฎิบัติหน้าที่การเป็นลูกขุน และบริษัทร้านค้าจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้ด้วย (ไม่สามารถไล่ออกได้ เพราะเป็นคดีอาญาทันที) จนกว่าคดีจะสิ้นสุดลง
 
3. บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปนั้น อาจจะมีฐานะทางสังคมดีกว่า และทำให้ลูกขุนอีกหลายคนไม่อยากเสียหน้า  การแสดงความเห็นต่างๆ แบบ “หัวหมอ” เป็นการสร้างความโน้มน้าว สร้างพวกให้กับตนเอง บางคนชอบอ้างมาตรานู้น มาตรานี้ การตัดสินโดยมีความเกรงอกเกรงใจเพราะฐานะทางสังคม เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะเคสแต่ละอย่างนั้น มันจะเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินต่อไป การแก้ไขคือต้้องมีการพิจารณาความอย่างเป็นธรรม และลูกขุนทุกคนจะต้องออกความคิดเห็น ไม่อย่างนั้น เคสจะเป็นอย่างเอกฉันท์ไม่ได้
 
4. ประเทศไทยยังมีมาตรา 112 ซึ่งถือว่าเป็นคดีอาญา แต่เคสเหล่านี้ ไม่สามารถทำการตัดสินโดยคณะลูกขุนได้ ต้องให้ผู้พิพากษาตัดสินกันแบบลับๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดนิติธรรมและนิติรัฐอยู่แล้ว
 
5. ฝ่ายผู้มีอิทธิพลในวงการ สามารถทำให้รูปคดีเสียได้ทันที  ซึ่งเห็นได้หลายครั้ง จากการแทรกแทรงโดยฝ่ายมือที่มองไม่เห็น ซึ่งสามารถการแทรกแทรงในการพิจารณาคดีได้ทุกเมื่อ รวมทั้ง “สั่ง” ให้เรื่องที่เราเห็นผิดๆ เป็นถูกได้ รวมทั้งการปฎิบัติการแบบสองมาตรฐานที่เห็นกันอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้
 
6. การรักษาความปลอดภัยของคณะลูกขุน รวมไปถึงการปกปิดความลับต่อข้อมูลในการพิจารณาคดี  จะต้องทำอย่างไรถึงจะปกป้องคณะลูกขุนในความปลอดภัยของพวกเขาได้ เมื่อคดีได้ถูกตัดสินเรียบร้อยแล้ว?  ถ้าลูกขุนถูกคุกคามจากอิทธิพลมืด จะทำอย่างไรในการปกป้องชีวิตของพวกเขาและครอบครัว เพราะที่ประเทศไทยไม่มีสำนักงานอย่าง Adult Protective Services หรือแม้แต่ United States Federal Witness Protection Program ซึ่งสามารถแปลงชื่อเปลี่ยนชื่อทุกอย่างได้หมด และย้ายถิ่นฐานได้เหมือนกับเป็นบุคคลคนใหม่เลย  
 
7. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายปกป้อง Whistleblower แบบที่เรียกว่า Whistleblower Protection Act เพราะกฎหมายนี้ จะเป็นกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่เอาความชั่วร้ายของบุคลากรฝ่ายรัฐบาลมาเปิดเผยให้ทราบ ตัวอย่างเช่น คนที่บันทึกเทปการคอรัปชั่นของพนักงานของรัฐ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่กลับกลายเป็นคนถูกฟ้อง ทั้งๆ ที่ตัวเองได้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างมหาศาล
 
 
ตามความคิดของดิฉันนั้น สามารถเริ่มระบบการตัดสินโดยใช้ คณะลูกขุน ในลักษณะที่เป็นแบบ ลูกขุนจำลอง (mock jury) แบบเคสจำลอง  (Mock Trial)  ก่อน  เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นในห้องเรียนของสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยใช้เคสจริง ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เข้ามาทำการพิจารณา  สามารถทำกันได้ในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมเป็นอย่างแรก  อาจจะทำเป็นแบบ Role Play หรือ มีบทบาทเหมือนกับการพิจารณาความอย่างแท้จริง อาจจะมีการสัมมนาด้วยก็ย่อมได้  เรื่องแบบนี้เป็นการศึกษาจากเคสจริง ที่กำลังเกิดขึ้น  ถ้ามีการตื่นตัวเรื่องแบบนี้ขึ้น และขยายวงกว้างขึ้น  
 
สิ่งที่น่าติดตามคือ การตัดสินของ Mock Trial จะต่างกับคำตัดสินของเคสจริงแค่ไหนนะคะ
 
ถ้ามีรูปร่างแบบนี้ขึ้นมา ดิฉันขอเสนอให้บันทึกภาพและเสียงไว้ด้วย เพื่อการเผยแพร่  ทำการตัดต่อให้ดีๆ เก็บใจความสำคัญไว้ เพื่อความเข้าใจและบทสรุปของเคส อาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ของการพัฒนาประเทศไทย ในระบบตุลาการรูปใหม่ ซึ่งเป็นศาลของประชาชนโดยแท้จริง
 
ดิฉันคิดว่า มันมีความเป็นไปได้ ที่ประเทศไทยจะรับเอาการตัดสินโดยคณะลูกขุนเข้ามาใช้ในอนาคตข้างหน้า  แต่ต้องไม่ลืมว่า ความรู้ความสามารถของบุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน ระบบลูกขุนในเรื่องตีความตามมาตราและตัวอักษร ยังเป็นเรื่องที่งุนงงอยู่สำหรับคำศัพท์ที่ใช้  (รวมถึงการตีความแบบพลิกแพลง ประหลาดๆ ตามตัวอักษร หรือ ศาลใช้อำนาจเกินกว่าจากที่ตนเองมีอยู่) ซึ่งตรงกันข้ามกับ ระบบตีความตามสามัญสำนึก ที่ผู้พิจารณาความ (คณะลูกขุน และ / หรือ ผู้พิพากษา) จะต้องพิจารณาไปตามครรลองข้อคิดเห็น โดยอาจจะมีการอ้างอิงถึงคดีที่คล้ายๆ กัน ซึ่งเคยตัดสินกันมาก่อนเป็นต้น
 
ถ้าสามารถแก้ไขเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ดิฉันมั่นใจว่าระบบการพิจารณาความอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมจะไม่แพ้ประเทศไหนในโลกเลย
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net