Skip to main content
sharethis

กลุ่ม 'ภาวนาเพื่อพม่า' ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมพุทธ มุสลิม ฮินดูในพม่า ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชายแดนใต้ เรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธ์ ลงชุมชนทรายขาว ฟังบรรยายจาก DeepSouthWatch พบปะเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพและกลุ่มเยาวชน เชื่อปัญหาไฟใต้มาจากการเลือกปฏิบัติของรัฐ

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2556 กลุ่ม "Pray for Myanmar" หรือ กลุ่ม "ภาวนาเพื่อพม่า" จากประเทศพม่า จำนวน 17 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลามและฮินดู ได้เดินทางมาเยี่ยมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch : DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเรียนปัญหาและการจัดการความขัดแย้งทางด้านชาติพันธ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยในช่วงเช้ากลุ่มภาวนาเพื่อพม่า ได้เข้าฟังการบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้จาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จากนั้นในช่วงบ่ายกลุ่มดังกล่าวได้พบปะกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี ต่อด้วยการพบปะกับกลุ่มเยาวชนและนักกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 กลุ่มภาวนาเพื่อพม่า ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิม

นายซอ มิน ลัต (Zaw Min Latt) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า เปิดเผยว่า ทางกลุ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงประมาณปลายปี 2012 หลังเกิดเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่า ที่ทำให้มีชาวมุสลิมโรฮิงญาเสียชีวิตจำนวนมาก และความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมหลายแห่งในประเทศพม่า

นายซอ มิน ลัต เปิดเผยต่อไปว่า จุดประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า เป็นไปเพื่อทำงานในกระบวนการสันติภาพ เป้าหมายคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและปกป้องความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยในกลุ่มมีสมาชิกหลักประมาณ 30 คน และสมาชิกที่หนุนเสริมอีกประมาณ 100 กว่าคน สมาชิกในกลุ่มมีทั้งนักกิจกรรมสังคม นักธุรกิจที่ทำงานเพื่อสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือNGO โดยมีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม พุทธและฮินดู

นายซอ มิน ลัต เปิดเผยอีกว่า กิจกรรมของกลุ่มจะเป็นการรณรงค์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพ สันติวิธี และให้ผู้นำศาสนาของแต่ละศาสนาที่มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มีการนำลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำศาสนา เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีซึ่งกันและกัน และพยายามรวมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง

เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุที่เดินทางมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เนื่องจากต้องการมาศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาของที่นี่ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของที่นี่มีความคล้ายกันกับปัญหาความขัดแย้งในประเทศพม่า จึงต้องการศึกษาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อนำกลับไปใช้ในการแก้ในพม่าด้วย

“ผมคิดว่าปัญหาความขัดแย้งของที่นี่ เป็นปัญหาที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อคนมุสลิมในพื้นที่” นายซอ มิน ลัต กล่าว

นายซอ มิน ลัต เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มภาวนาเพื่อพม่าขึ้นมา ยังไม่มีสมาชิกคนใดเคยได้ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากปัจจุบันสิทธิเสรีภาพต่างๆในประเทศพม่ามีมากขึ้น ต่างจากเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ประชาชนสามารถรวมกลุ่มหรือชุมนุมเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแล้ว ตอนนี้มีการเปิดกว้างมากขึ้นในพม่า

นายหม่อง เซาก์ (Maung Saung) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า และนักกวี ชาวพุทธ กล่าวว่าสิ่งแรกที่มาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับปัญหาความขัดแย้งในพม่า และหาทางแก้ปัญหา สอง คือเรียนรู้ความเป็นมาของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะจากการพบปะกับคนกลุ่มต่างๆ พบว่าแต่ละคนก็มีคำอธิบายเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายรัฐพูดอย่างหนึ่ง ก็ต้องมาฟังจากฝ่ายคนในชุมชนด้วยว่าเขาจะพูดอย่างไร

นายหม่อง เซาก์ กล่าวว่า เหตุที่เดินทางมาศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเลือกปฏิบัติ สิทธิเสรีภาพทางศาสนา และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน รวมทั้งการต่อสู้ในรูปของขบวนการ

ส่วน น.ส.ชาฮาล (Shahal) สมาชิกอีกคนของกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่นี่มีความซับซ้อนมาก พวกตนยังไม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมด แต่จากการติดตามในสื่อกระแสหลักมักบอกว่า ผู้ก่อการเป็นคนร้าย แต่เมื่อลงมาในพื้นที่แล้ว กลับได้รับรู้ในมิติหนึ่งที่แตกต่างออกไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net