Skip to main content
sharethis

ก่อนหน้าการประท้วงใหญ่ในประเทศบาห์เรนเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนเปิดเผยว่ามีสื่อทั้งช่างภาพและบล็อกเกอร์ถูกจับกุม มีบางคนถูกทำร้ายและข่มเหงเพื่อคุ้ยข้อมูล จากการที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วง

15 ส.ค. 2013 - สำนักข่าวอัลจาซีราเปิดเผยว่าตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมามีการประท้วง 60 แห่งทั่วประเทศบาห์เรน ซึ่งขณะที่ทางการบาห์เรนมีมาตรการจำกัดการชุมนุมโดยการสั่งห้ามการชุมนุมในเมืองหลวง มีการปิดถนนและตั้งด่านตรวจพร้อมรั้วลวดหนาม

การประท้วงล่าสุดในบาห์เรนจัดตรงกับวันครบรอบการประกาศอิสรภาพของบาห์เรนจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จัดโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ทามารอด" แปลว่า "กบฏ" โดยได้รับอิทธิพลจากขบวนการคนหนุ่มสาวที่เคยประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีมอร์ซี ในอียิปต์ กลุ่มผู้ประท้วงในบาห์เรนได้ประท้วงเรียกร้องเสรีภาพ โดยประเทศบาห์เรนเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ แต่มีโครงสร้างอำนาจและผู้ปกครองระบอบราชาธิปไตยเป็นนิกายซุนนี

ทางด้านศูนย์สิทธิมนุษยชนในบาห์เรน (BCHR) เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ผ่านมามีการจับกุมตัว 19 ราย โดยก่อนหน้านี้ก็มีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่มีการลุกฮือเกิดขึ้นในบาห์เรนปี 2011 ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ นักสิทธิมนุษยชน ผู้ชุมนุม และนักข่าว แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีการปราบปรามนักข่าวมากขึ้น โดยที่มีนักข่าว บล็อกเกอร์ และช่างภาพรวม 5 คนถูกจับกุมตัวตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค.

ซาอิด ยูซีฟ จากศูนย์สิทธิมนุษยชนในบาห์เรนเชื่อว่าการจับกุมผู้รายงานข่าวเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบการประท้วง 'ทามารอด'


เหตุจับกุมนักข่าว
เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ช่างภาพชื่อ อาห์เมด อัล-ฟาร์ดาน ผู้ที่ทำงานให้กับสื่อ Demotix และ Sipa press ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบสองคนจับกุมตัวขณะอยู่ที่ร้านกาแฟใกล้บ้าน โดยตำรวจอ้างว่าต้องการเวลาพูดคุยกับเขา 5 นาที แต่ก็พาเขาไปทำร้ายร่างกาย โดยอีกคนหนึ่งชกต่อยขณะที่อีกคนบีบคอเขา รวมถึงข่มขู่ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเดินขบวนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและของนักข่าวรายอื่นๆ

อาห์เมด อัล-ฟาร์ดาน กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนขู่บอกว่าพวกเขาสามารถนำตัวอัล-ฟาร์ดานไปไว้ที่ไหนก็ได้ พวกเขาขู่จะบุกรื้อค้นบ้าน ขู่ว่ารู้เบอร์โทรศัพท์ รู้ว่าบ้านเขาอยู่ไหนและสามารถจับกุมตัวคนในครอบครัวเขาได้

โดยก่อนหน้ากรณีของอัล-ฟาร์ดาน ก็มีบล็อกเกอร์ชื่อ โมฮัมเหม็ด ฮันซัน ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่นักข่าวต่างประเทศบอกว่าเขาถูกจับเมื่อช่วงดึกของวันที่ 31 ก.ค. โดยมีคนสวมหน้ากากบุกรุกบ้านเขา ตัวเขาถูกจับไปไว้ในสถานที่ไม่ทราบชื่อเป็นเวลาสามวันและไม่รู้ว่าถูกจับด้วยข้อหาใด

นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า ฮัสซัน ตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากเขาออกตัวเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในบาห์เรน ก่อนหน้านี้ในปี 2012 เขาถูกจับกุมตัวจากข้อความในบล็อกและจากที่เขาให้การสนับสนุนนักข่าวต่างประเทศในการรายงานข่าวการชุมนุมประท้วง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนกล่าวอีกว่าฮัสซันถูกสอบสวนที่สำนักงานกรมอัยการเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ในเรื่องกิจกรรมในโลกออนไลน์ การเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนานอกประเทศ และความสัมพันธ์กับนักข่าวที่เข้ามาในบาห์เรน

ฮัสซันบอกว่าเขาถูกทุบตีระหว่างสืบสวน โดย อับดุล อะซิซ โมซา ทนายความของฮันซันเปิดเผยว่าฮัสซันมีรอยแผลถูกทุบตีที่แขน และเขาได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์และหลังจากนั้นสำนักงานอัยการของบาห์เรนก็ได้ประกาศกักตัวโมซาไว้เพื่อการสืบสวนเรื่องการเปิดเผยชื่อจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต

อีกรายหนึ่งคือฮุสเซน ฮับบิล ช่างภาพข่าวบาห์เรนถูกจับกุมที่สนามบินมานามาในคืนเดียวกับฮัสซัน และถูกไต่สวนจากการที่เข้าใช้ทวิตเตอร์กล่าวโยงถึงเหตุการณ์ประท้วงเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ทั้งฮัสซันและฮับบิลถูกขังไว้ 45 วันเพื่อการสืบสวน โดยองค์กรแอมเนสตี้กล่าวว่าพวกเขาถูกตั้งข้อหา "ยุยงให้เกิดความรุนแรง"  "เรียกร้องให้มีการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย"  "ยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย" และ "มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสื่อ 14 ก.พ. (กลุ่มแนวร่วมคนหนุ่มสาวที่เรียกร้องให้มีการประท้วงลุกฮือในบาห์เรน)"

ช่างภาพข่าวอิสระอีกรายชื่อ กัสซิม ซาอิน อัลดีน ถูกจับกุมตัวขณะอยู่ที่บ้านเมื่อวันที่ 2 ส.ค.

เจ้าหน้าที่ศูนย์สิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่านอกจากมีนักข่าวพลเมืองถูกจับกุมตัวแล้ว ยังมีนักข่าวอย่างน้อย 7 คน ที่หลบซ่อนตัวหลังจากถูกบุกค้นบ้านหลังการประกาศของกลุ่มทามารอดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.


"ทุกคนในบาห์เรนกลายเป็นผู้สื่อข่าวได้หมด"
ทางสภาของบาห์เรนได้มีการประชุมร่างกฏหมายข้อแนะนำ (recommendations) 22 ข้อและให้มีการรับรองโดยกษัตริย์ฮาหมัด บิน อิสซา คาลิฟา และมีข้อแนะนำหนึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. คือการสั่งห้ามการปักหลักชุมนุม การเดินขบวนและการรวมตัวกันในเมืองหลวงมานามา และอีกข้อแนะนำเรียกร้องให้สื่อเปิดโปงเรื่องการก่อการร้ายและผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ฝ่ายสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย และข้อแนะนำหนึ่งที่ระบุให้มีการยกเลิกสัญชาติผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย

ทางด้านองค์กรแอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการบาห์เรนเลิกปราบปรามการชุมนุมโดยสันติ และประณามการจับกุมนักข่าว ช่างภาพ บล็อกเกอร์ และผู้มีบทบาทในโซเชียลมีเดียเพื่อป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์

นิโคลาส แมคจีฮาน นักวิจัยจากฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ากลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียมีความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่ถกเถียงในอินเทอร์เน็ตเนื่องจากพวกเขาไม่คุ้นเคยกับการมีพื้นที่เสรีจึงไม่รู้วิธีต่อรอง พวกเขาจึงใช้วิธีการขั้นรุนแรงและมีลักษณะกดขี่

แม้ว่าจะมีการจับกุมจากทางการเกิดขึ้นหลายกรณี แต่นักข่าวพลเมืองและนักกิจกรรมก็ยืนยันทำข่าวการประท้วงภายในประเทศต่อไป โดยในการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนลูกเบอร์ (birdshot) เมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็มีคนเก็บภาพและโพสต์ลงบนอินสตาแกรมและทวิตเตอร์

"ตอนนี้ทุกคนในบาห์เรนกลายเป็นนักข่าวกันได้หมด" ยูซิฟกล่าว "คุณไม่สามารถจับกุมตัวคนบางคนแล้วคิดว่าคนอื่นจะถ่ายรูปไว้ไม่ได้ มันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ถ้าคุณจับผู้สื่อข่าวไปคนหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนอื่นถ่ายรูปได้อีก"

 


เรียบเรียงจาก

Bahrain clamps down on citizen media, aljazeera, 15-08-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/08/201381512518789977.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net