Skip to main content
sharethis
วิจัยชุมชนศึกษาข้อมูลหนี้สินชาวนา เผยอยุธยาจากอู่ข้าวอู่น้ำสู่แหล่งอุตสาหกรรม หนี้สูงเฉลี่ย 6.3 แสน ขณะที่เพชรบุรีค่าเช่านาสูงถึง 35% ของต้นทุนทำนา ด้านนักวิชาการชี้ชาวนาไม่มีวันตาย แต่อยู่ทุกวันก็เหมือนตาย มองทิศทางการต่อสู้ยังต้องต่อรองกันไปเรื่อยๆ
 
 
15 ส.ค.56 กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Action Links) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “คุณค่า ความหมายของชาวนาและชุมชน ในยุคโลกาภิวัตน์” ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
นำเสนอ ข้อค้นพบบางประการจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ภาวะหนี้สินชาวนากับนัยที่มีผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” ใน 2 กลุ่มพื้นที่ คือ 1.เกษตรกรกลุ่มอุทัยพัฒนา จ.อยุธยา จำนวน 100 ราย และ 2.เกษตรกรกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชร จ.เพชรบุรี จำนวน 135 ราย และเรื่อง “การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยกับนัยยะที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” ศึกษาพื้นที่ ชุมชนบ้านไร่เหนือ ต.ในเตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยดำเนินโครงการตั้งแต่ ก.ย.55 - ส.ค.56
 
 
อยุธยา: การเปลี่ยนผ่าน เมืองเกษตรสู่นครโรงงาน
 
กิมอัง พงษ์นารายณ์ ชาวนา จ.ชัยนาท ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) นำเสนอผลสรุปกรณีศึกษา จ.อยุธยาว่า อยุธยาจากที่เคยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ตอนนี้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม โดยผลผลิตมวลรวม (จีดีพี) ของจังหวัดมาจากภาคอุตสาหกรรมถึง 98.27% และจากภาคเกษตรกรรมเพียง 1.73%
 
ชาวนาส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 62 ปี และมีแนวโน้มไม่มีลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกรต่อ ปัจจุบันเกษตรถึง 84 % เปลี่ยนไปทำอาชีพนอกภาคเกษตร ด้วยสาเหตุที่ว่ารายได้ไม่เพียงพอ ภาระหนี้สิน ราคาผลผลิตตกต่ำ และสุขภาพไม่เอื้ออำนวยตามลำดับ
 
ในส่วนของพื้นที่ ปัจจุบันเนื้อที่ 60% ของจ.อยุธยายังคงเป็นที่ทำนาปลูกข้าว แต่มีแนวโน้มลดลง และชาวนาส่วนใหญ่คือ 72% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองจึงมีการเช่าทำนามายาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย
 
กิมอัง กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันเกษตรกร 27% มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ เกษตรกร 45% มีที่ดิน 1-4 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่มีที่ดิน 5-9 ไร่ คิดเป็น 15% รวมแล้วเกษตรกร 87% มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีคนที่ต้องเช่าที่นาทำนาถึง 85% โดยเสียค่าเช่านาประมาณ 1,052 บาทต่อไร่ ซึ่งคิดเป็น 17.5% ของต้นทุนทำนาทั้งหมด 6,007 บาทต่อไร่
 
สำหรับเรื่องหนี้สิน เกษตรกรอยุธยากลุ่มตัวอย่างมีหนี้สินเฉลี่ย 636,387 บาทต่อครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยถึง 58% ของหนี้สินทั้งหมด
 
 
เพชรบุรี: ที่ดินปัจจัยการผลิตที่ต้องเลือกเพาะปลูก
 
งานศึกษา จ.เพชรบุรี ระบุข้อมูลว่า ผู้ที่มีอาชีพทำนาส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุเฉลี่ย 60 ปี และตัวเลขของคนที่ทำนาเป็นอาชีพหลักลดลงจากอดีตประมาณ 1 ใน 3 ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้เกษตรกร 89% ยังคงสืบทอดอาชีพทำนาจากรุ่นพ่อแม่ แต่อาชีพทำนาไม่ใช่อาชีพหลักของเกษตรกรส่วนใหญ่ และพื้นที่นาได้ถูกปรับขนาดให้ลดลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อตอบสนองตลาด
 
อีกทั้ง พบว่ารายได้ที่เป็นกำไรสุทธิจากการทำนาขายข้าวของชาวนา จ.เพชรบุรี เท่ากับ 8,220 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 7,500 บาทต่อเดือน มีส่วนต่างรายได้เพียง 720 บาท ซึ่งไม่มากนัก ตรงนี้อาจเป็นเงื่อนไขให้ชาวนานำไปเปรียบเทียบรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
 
กิมอัง ให้ข้อมูลว่า พบเกษตรกรมีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ 4% เกษตรกรมีที่ดิน 1-4 ไร่ 27% เกษตรกรมีที่ดิน 5-9 ไร่ 29% รวมแล้วเกษตรกร 60% ที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีคนที่ต้องเช่าที่นาทำนา 24% โดยค่าเช่านาเฉลี่ย 2,400 บาทต่อไร่ คิดเป็น 35% ของต้นทุนทำนาเฉลี่ย 6,950 บาทต่อไร่ และค่าใช่จ่ายในการลงทุนทางการเกษตรที่สูงที่สุดคือค่าเช่าที่ดิน
 
ส่วนหนี้สินของเกษตรกร จ.เพชรบุรี เฉลี่ย 364,787 บาทต่อราย ในจำนวนหนี้เป็นดอกเบี้ย 35% ของหนี้สินทั้งหมด
 
 
ภาวะหนี้สินชาวนาวังวนปัญหาที่ยังรอการแก้ไข
 
กิมอัง แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ก็ทำได้เพียงเยียวยา ไม่ได้ลงลึกถึงโครงสร้างของปัญหา ซึ่งจะช่วยเหลือและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมชาวนาได้จริง อีกทั้งยังพบปัญหาการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม การไม่ควบคุมราคาปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม การกว้านซื้อที่ดินเพื่อปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทั้งสิ้น
 
กิมอังให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่ที่ให้ผลผลิตสูง โดยมีการรับปากว่าจะรับซื้อผลผลิตคืน ซึ่งส่วนตัวกลัวว่าหากพันธุข่าวดังกล่าวปลูกกันอย่างแพร่หลายแล้ว เกษตรกรจะถูกผูกขาดต้องซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่บริษัทฯ เป็นผู้กำหนดราคา
 
“ผลผลิตเกษตรตกอยู่ในมือเขา แล้วนโยบายของรัฐสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า” กิมอังตั้งคำถาม
 
ส่วนเรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกร นางกิมอัง กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ยื่นคำร้อง 500,000 ราย มีหนี้สินกว่า 60,000 ล้าน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 30,000 ราย คิดเป็นหนี้สิน 3,000 กว่าล้าน ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้ปัญหาหมด
 
กิมอัง กล่าวด้วยว่า ทางรอดของเกษตรคือลด-เลิกการใช้สารเคมี หันมาใช้ชีวภาพ แต่ทางรอดกลับไปไม่ได้เพราะวิธีดังกล่าวต้องใช้เวลา ตราบใดที่เกษตรกรยังมีหนี้สินติดหลังอยู่คงเกิดขึ้นยาก อีกทั้งยังไม่มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของเกษตร
 
 
นักวิชาการฟันธงไม่มีวันที่ชาวนาไทยจะหมดไป
 
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงคำถามสำคัญสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับชาวนาที่ว่า “ชาวนาคือใคร?” ว่า สถานะของชาวนามีความสับสนมาตั้งแต่ในอดีต โดยชาวนาถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีสถานะที่ยื่นอยู่ระหว่างกลางไม่ใช่คนรวยหรือคนจน เพราะชาวนามีปัจจัยการผลิตคือที่ดินอยู่แต่ไม่มากนัก แต่มีวิถีชีวิตแบบขึ้นๆ ลงๆ เพราะพึ่งพาดินฟ้าอากาศในการทำการเกษตร จึงต้องดิ้นรนตลอดเวลา ต่างจากโลกสมัยใหม่ ที่ชาวนากลายเป็นผู้รับจ้างทำนาหรือเป็นกรรมกรที่ใช้แรงงานโดยไม่มีที่ดิน ไม่ต้องแบกรับภาวะความเสี่ยง
 
ส่วนคำถามที่ว่าชาวนาจะหายไปจากสังคมหรือไม่ เพราะในอดีตมีความเชื่อว่าชาวนานั้นอยู่ในช่วงรอยต่อที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อเข้าสู่สังคมสมัยใหม่แล้วชาวนาจะถูกผลักเข้าไปเป็นกรรมกรในเมือง ก็มีข้อถกเถียงทางทางทฤษฎีว่าคนที่ทำนาอยู่ในทุกวันนี้เป็นชาวนาหรือไม่
 
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันชาวนาไทยอยู่ในภาวะที่ยังมีที่ดินขนาดเล็กอยู่ แต่กำลังจะสูญเสียที่ดินไปเรื่อยๆ และมีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า “ทำไมชาวนายังไม่ตาย” ซึ่งตรงนี้เป็นข้อค้นพบใหม่ที่ได้จากงานศึกษาวิจัยในวันนี้ นั่นคือชุดความคิดที่พูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
 
ในทางหนึ่งมีการค้นพบกรณีคลาสสิกในงานวิจัยชุมชนเกี่ยวกับชาวนาเสมอๆ นั่นคือ ที่ดินลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ที่ชาวนาไม่ตายเพราะความเสี่ยง เนื่องจาก 1.โลกต้องการอาหาร หากไม่มีชาวนาก็อาจยังผลิตอาหารได้ในลักษณะที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จ้างแรงงานชาวนาในการผลิต แต่ในความเป็นจริงไม่มีวันที่ชาวนาจะหมดไปโดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทย เพราะทุนขนาดใหญ่ไม่กล้าแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนผลิตเอง แต่โยนความเสี่ยงให้เกษตรแบกรับ   
 
2.มิติทางการเมือง ทางการแรงตึงเครียดตรงนี้รัฐได้ทำหน้าที่บางประการ เพื่อให้วิกฤตดีขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะรัฐที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งทางหนึ่งเป็นเพราะต้องการได้รับการเลือกตั้ง และอีกทางหนึ่งคือต้องการลดวิกฤติ ไม่เช่นนั้นคนจะไม่มีอาหารกิน หากไม่มีการเพาะปลูก ดังนั้นหน้าที่ทางการเมืองตรงนี้จึงยังมีอยู่เสมอ
 
“ความแตกต่างก็คือทุกข์ของชาวนาเปลี่ยน มันมีความซับซ้อน แต่ชาวนาก็ยังดำรงอยู่ ตราบใดที่ยังมีวิกฤติของสังคมในการสะสมทุนในวันนี้ ในลักษณะพิเศษแบบนี้ คือโลกนี้ในทางหนึ่งยังจำเป็นต้องมีอาหาร และในอีกทางหนึ่งทุนใหญ่ก็ไม่อยากแบกความเสี่ยง ฉะนั้นชาวนาก็ต้องมาทำหน้าที่แบบความเสียงของทุน แล้วก็ต้องเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงโลก แต่การพูดแบบนี้ก็ต้องเอาทุกข์ชาวนาเป็นที่ตั้งด้วย”
 
 
มองทิศทางการต่อสู้ของชาวนา ยังคงต้องต่อรองกันไปเรื่อยๆ
 
ผศ.ดร.พิชญ์ ยังกล่าวแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า เรื่องความมั่นคงทางอาหารดีในทางหนึ่งคือทำให้คนชั้นกลางในเมืองได้เข้าใจว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นมาจากไหน ความมั่นคงทางอาหารในขั้นลึกคือชาวนาต้องสามารถที่จะยืนอยู่ได้จึงจะผลิตออาหารที่มั่นคงให้ชนชั้นกลางได้ แต่ในอีกทางหนึ่งข้อเสนอนี้เป็นแนวความคิดที่เห็นแก่ตัว เพราะสุดท้ายไม่ได้เอาทุกข์ชาวนาเป็นที่ตั้ง แต่เอาทุกข์ระยะสั้นของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง
 
อีกประเด็นใหม่ที่พบในงานวิจัยคือโครงสร้างอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ไม่ใหม่คือชาวนาออกจากภาคเกษตรไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามักตอบว่าเป็นเพราะไม่พอกิน หากมองในระดับทฤษฎีนักวิชาการจะบอกว่าเหตุผลที่สำคัญเป็นเพราะวิธีการผลิตข้าวในปัจจุบันนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเพียงพอ แต่กลับไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในระดับตัวชาวนาเองและกลุ่มทุนก็ไม่เห็นความสำคัญ ชาวนาจึงต้องดิ้นรนไปทำอย่างอื่น  
 
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า จากงานวิจัยพบว่ามีองค์กรใหม่ๆ ที่การเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจำนวนมากทั้งของรัฐเอง และการรวมตัวของชาวนา แต่ลักษณะการประเมินผลอาจกระจุกอยู่เฉพาะเรื่องการเจรจาต่อรองเรื่องหนี้สิน ทั้งที่ภาพใหญ่ในวันนี้ ในงานวิจัยหลายๆ ชุดพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องชาวนาเข้ากับมิติทางการเมืองในระดับชาติด้วย
 
ยกตัวอย่างงานวิจัยของนักวิชาการอินเดีย ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนาข้อหนึ่ง จากอดีตที่เรานิยามสังคมชาวนาว่าเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษ มีชุดทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง เป็นสังคมช่วงรอยต่อจากเก่าสู่ใหม่ แล้วมักจะต้องรวมตัวกันต่อสู้กับโลกภายนอกที่เข้ามากดขี่ขูดรีดชาวนาโดยเฉพาะรัฐ แต่ในวันนี้นักวิจัยในอินเดียค้นพบว่า โครงสร้างของรัฐ โครงการต่างๆ มันแทรกซึมลงไปในชีวิตของหมู่บ้านหมดแล้ว ชาวนาไม่ได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของภายนอกที่จะเข้ามาทำลายสังคมชาวนาให้กระจัดกระจายอีกต่อไป และชาวนาก็มีความสามารถในการต่อรองในโครงการต่างๆ สูง
 
“คือมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวนา เพราะฉะนั้นชาวนาก็ไม่ได้ปฏิเสธรัฐ หรือถูกรัฐครอบงำอย่างสมบูรณ์ แต่มันเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งมันต่างจากเดิมที่เรามองว่าชาวนาจะถูกดกขี่โดยรัฐอย่างสมบูรณ์” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว และว่าชีวิตชาวนาเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องเนื่องจากชาวนามีหลายสถานภาพ ดังนั้นการพูดถึงหนี้สินชาวนาในงานวิจัยยังจำเพาะอยู่ในเรื่องเดียวไม่ได้เชื่อมกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นความอยู่รอดของสังคมชาวนา
 
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ยังตั้งคำถามด้วยว่า ทิศทางการต่อสู้ของชาวนาจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นทิศทางการตั้งรับและประนีประนอมหนี้ ซึ่งจะยังไม่นำไปสู่การระเบิดออกมา เพราะสุดท้ายทุกคนยังคงต้องพึ่งพากันอยู่ ทุนนิยมต้องการชาวนา รัฐก็ต้องการชาวนาเป็นฐานคะแนนเสียง ชาวนาก็ต้องการคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้นความเชื่อแบบโบราณที่นำไปสู่การศึกษาเรื่องสังคมชาวนา ที่เชื่อว่าชาวนานั้นจะเป็นปัจจัยในการปฏิวัติสังคมคงไม่จริง วันนี้ก็คงต้องเจรจาต่อรองกันไปเรื่อยๆ
 
“ชาวนาไม่มีวันตาย แต่ทุกวันชาวนาก็เหมือนตายอยู่อย่างนี้ นี่คือลักษณะปกติของความเป็นชาวนาในทฤษฎี เพราะชาวนาจะมีอาการปริ่มน้ำตลอดเวลา” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย
 
 
 
ดาวน์โหลดงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.landactionthai.org :
- “ภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” กรณีศึกษา สค.ปท. จ.พระนครศรีอยุธยา โดย อารีวรรณ คูสันเทียะ นักวิจัยพื้นที่ จ.อยุธยา
- “ภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” กรณีศึกษา สค.ปท. จ.เพชรบุรี โดย เมธี สิงห์สู่ถ้ำ นักวิจัยพื้นที่ จ.เพชรบุรี
- “การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย กับนัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” กรณีศึกษา องค์กรชุมชนบ้านไร่เหนือ คปบ. จ.ตรัง โดย กฤษดา ขุนณรงค์ นักวิจัยพื้นที่ จ.ตรัง
- “นัยยะความมั่นคงทางอาหารในกระแสความเปราะบางของสังคมผู้ผลิต” โดย ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิจัยประจำโครงการสิทธิชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net