Skip to main content
sharethis

(15 ส.ค.56) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สพร.ท) ประกอบด้วย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 200 คน เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านขอให้ กสทช. ยุติบทบาทการทำหน้าที่กำกับดูแล 3 ประเด็น ได้แก่

1.การประมูลทีวีดิจิตอล เดือน ต.ค. 56 ซึ่ง อสมท.ต้องแข่งขันกับภาคเอกชน ทั้งที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจของรัฐและนำส่งรายได้แผ่นดิน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อองค์กรและจะกระทบต่อการจัดหารายได้และการจัดส่งรายได้เข้าแผ่นดิน และการลดเวลาให้เปลี่ยนจากการออกอากาศจากระบบอะนาล็อกมาเป็นดิจิตอล ภายใน 5 ปี จากเดิมที่กำหนด 10 ปี ตลอดจนหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิตอลที่ไม่เป็นธรรม

โดยชี้ว่า อสมท. เป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ของรัฐในอดีตเพียงรายเดียว ที่ถูกประกาศของ กสทช. ผลักไปประมูลทีวีดิจิทัล แต่ช่องที่เหลือเช่น ช่อง 11 ช่อง 5 ไทยพีบีเอส ได้รับจัดสรรคลื่นสาธารณะและสามารถมีโฆษณาได้ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ  ใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนการประมูลช่องข่าว กสทช. ยังปรับลดรายการข่าวจากเดิมที่ต้องมีข่าวร้อยละ 75 เหลือแค่ร้อยละ 50 ส่อเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหันมาประมูลช่องข่าว เพื่อผลิตรายการวาไรตี้ แทนที่จะไปประมูลช่องวาไรตี้  เนื่องจากช่องข่าว ราคาเริ่มประมูลถูกกว่าช่องวาไรตี้อย่างมาก ขณะเดียวกัน ทีวีดิจิทัลมีได้เป็น 100 ช่อง แต่ กสทช.  กำหนดให้มีเพียง 24 ช่อง ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

2.การจัดสรรคลื่นความถี่โทรศัพท์ระบบ 3G ที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนที่ชนะการประมูล สร้างโครงข่ายโทรศัพท์เป็นสมบัติของเอกชนได้ ทั้งที่โครงข่ายเหล่านี้เป็นสมบัติชาติ และยังโอนเลขหมายโทรศัพท์สมบัติชาติไปเป็นของเอกชนอย่างเสรี ซึ่งจะกระทบต่อบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที

และ 3.กรณีที่คลื่นโทรศัพท์ 1800 MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานใน ก.ย. นี้และต้องคืนคลื่นให้ กสทช.ทำให้รายได้ที่จะส่งให้แผ่นดินลดลง รวมทั้งคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของชาติตกไปอยู่ที่เอกชน

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เปิดเผยภายหลังเข้าหารือร่วม กสทช.ว่า ให้กรอบระยะเวลาพิจารณาข้อคัดค้านดังกล่าวไม่เกิน 7 วัน โดยเบื้องต้นเป็นกระบวนการหารือเพื่อหาข้อยุติถึงผลกระทบขององค์กรรัฐวิสาหกิจ แต่หลังจากนี้จะยื่นขอให้ประธานวุฒิสภาถอดถอน กสทช. ฟ้องศาลปกครองเรื่องการใช้โครงข่ายร่วม การกำกับดูแลที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ในวันที่ 23 ส.ค. 56 จะเปิดเวทีสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนต่อไป

ด้าน ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.ดูแลภารกิจยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร และนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน กฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ รักษาการรองเลขาธิการกสทช. ภารกิจกระจายเสียงและโทรทัศน์  ร่วมกันเปิดเผยว่า จะรีบนำข้อร้องเรียนและคำคัดค้านของสรส. เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) และที่ประชุม กสทช. ตามลำดับ โดยยืนยันว่า กสทช.ได้ปฎิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553  ที่กำหนดให้จัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูล และสร้างการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ภารกิจโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช.ดำเนินการตามกรอบข้อกฎหมายกำหนด ซึ่งทั้ง กสทช. และ สรส. มีจุดยืนเช่นเดียวกันคือดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ แต่แตกต่างกันที่รายละเอียด เนื่องจากรัฐวิสาหกิจคำนึงถึงการสร้างรายได้จากการดำเนินการ ขณะที่ กสทช. ต้องคำนึงถึงการบริหารคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้กรอบของกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ยอมรับว่า กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจหนึ่งที่จะต้องนำคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ในช่วงเวลาปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนผ่าน กสทช. ต้องคำนึงถึงการดูแลหลายฝ่าย จึงย่อมไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันในทุกมุมมองได้   

ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า อสมท. นั้นด้วยฐานะถือเป็นเอกชน เพราะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องประมูลทีวีดิจิตอล เพราะกฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งคณะรัฐมนตรี ก็เห็นชอบประมูล ซึ่งส่วนตัวไม่ได้มีความกังวลใดๆ และมั่นใจว่าการประมูลทีวีดิจิตอล จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.นี้แน่นอน

 

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ใบแจ้งข่าว กสทช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net