Skip to main content
sharethis

(14 ส.ค.56) สำนักงาน กสทช. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ว่า กสทช. เห็นชอบผลการรับฟังความเห็นสาธารณะและเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... หลังจากนี้จะนำร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ให้ทัน 25 สิงหาคมนี้

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงผลการประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2556 ว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติ 9 ต่อ 2 เห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป และเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... โดยหลังจากนี้จะนำร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ฐากร ระบุว่า ผลการรับฟังความเห็นในประเด็นหลักๆ คือ  ก่อนสิ้นสัญญาสัมปทานเป็นสิทธิของผู้ให้บริการ   การย้ายลูกค้าทั้งหมดไปยังผู้ให้บริการรายอื่นก่อนสิ้นสัญญาสัมปทานแม้จะทำได้ทางวิศวกรรมแต่ทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการโดยพลการ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจของผู้บริโภค   การให้บริการต่อเนื่องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในระยะเวลา 1 ปี  โดยให้ประชาสัมพันธ์ผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นมากที่สุด  และผู้แทนกระทรวงการคลังได้แสดงความเห็นว่าการหยุดรับลูกค้าใหม่เป็นการดำเนินการตามมาตรการชั่วคราว ในส่วนของรายได้ให้แสดงรายได้ รายจ่าย และให้นำรายได้เหลือจากการหักรายจ่ายนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน  และควรให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (True Move) รวมถึงบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC) ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตเดิมตามกฎหมายร่วมกันจัดทำแผนดำเนินการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาเพื่อนำเสนอ กทค.

ทั้งนี้ในส่วนของการนำคลื่นที่ประมูลได้ไปใช้ให้บริการกับเทคโนโลยีใดเป็นสิทธิของผู้ประมูลได้ การดำเนินการของ กสทช. ในครั้งนี้เป็นไปโดยฐานอำนาจปกครอง เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นกฎเกณฑ์

โดยนายแก้วสรร อติโพธิ พร้อมคณะทำงานได้ชี้แจงถึงประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้แก่ 1. ประเด็นฐานอำนาจทางกฎหมาย 2. ประเด็นผู้ให้บริการตามร่างประกาศฉบับนี้หมายถึงใคร 3. ประเด็นเงินรายได้ที่จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 4. ประเด็นร่างประกาศฉบับนี้เป็นการขยายเวลาสัมปทานหรือไม่ 

โดยในประเด็นที่ 1 เรื่องฐานอำนาจทางกฎหมาย กสทช. มีฐานอำนาจในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 20 ที่กำหนดว่า ผู้ให้บริการจะหยุดการให้บริการไม่ได้นอกจากจะได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.  และมาตรา 15 ว่า ในการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. สามารถกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการเพิ่มเติมได้ ซึ่งในกรณีนี้สัญญาของ CAT True และ DPC ยังไม่สิ้นสุด ทาง กสทช. จึงได้กำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

ประเด็นที่ 2 เรื่อง ผู้ให้บริการตามร่างประกาศฉบับนี้ ในร่างประกาศฉบับเดิม “ผู้ให้บริการ” ให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการผู้ใช้บริการในระยะเวลาตามมาตรการเยียวยาเท่านั้น เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในบอร์ด กทค. ได้มีความเห็นว่าผู้ให้บริการหมายถึง บมจ. กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด อีกสัญญาหนึ่งหมายถึง บมจ. กสท โทรคมนาคม และบริษัท ดีพีซี  โดยช่วงเวลาตามมาตรการเยียวยาจะไม่มีผู้รับใบอนุญาต ไม่มีผู้ให้สัมปทาน ผู้รับสัมปทาน คู่สัญญาสัมปทานเดิมเคยดำเนินการอย่างไร ก็ให้ดำเนินการอย่างนั้นต่อไป (Stand Still) 

ประเด็นที่ 3 เรื่อง เงินรายได้ที่จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามร่างประกาศฉบับนี้ ในช่วงเวลาเยียวยา รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 3 ส่วน คือ ค่าต้นทุนโครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมาย และต้นทุนรายจ่ายในการบริหารจัดการ ส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างมาตรการเยียวยามา คณะทำงานชุดนี้จะประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชี และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มาร่วมกันพิจารณารายได้และรายจ่ายดังกล่าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยอาศัยฐานอำนาจ จาก พ.ร.บ. เงินคงคลัง  พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และ พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 10 ที่ให้ กระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง

ประเด็นที่ 4 เรื่อง ร่างประกาศฉบับนี้เป็นการขยายเวลาสัมปทานหรือไม่ ร่างประกาศฉบับนี้ เป็นแนวทาง เป็นทางเลือกสำหรับประชาชน กรณีเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เนื่องจากเลขหมายที่ค้างอยู่ในระบบขณะนี้มีถึง 17 ล้านเลขหมายไม่สามารถดำเนินการให้ยุติการใช้หรือย้ายระบบได้ทันที

 

เสียงข้างน้อยยันร่างประกาศขัดกฎหมาย เอื้อเอกชน  

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.เสียงข้างน้อย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ได้ลงมติไม่รับร่างประกาศฯ เนื่องจากมองว่า จะขัดกับกฎหมาย กสทช. และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุด้วยว่า การอ้างป้องกันซิมดับ แท้จริงคือการจับเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน เพื่อ stand still ประโยชน์ให้เอกชนแบบท้าทายกฏหมายของ กสทช. เอง

สุภิญญา แสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 40 / 50 ออกแบบให้มีองค์กรอิสระแบบ กสทช. เพื่อแก้ปัญหายากๆ อันนี้ แบบที่คลื่นความถี่ฯสมัยอยู่ภายใต้รัฐบาลเขาไม่ทำหรือทำไม่ได้ ... สัมปทานหมดอายุก็คือหมดอายุ ทางประนีประนอมสุดคือให้รัฐวิสาหกิจบริหารคลื่น ส่วนจะจ้างเอกชนค่อยไปว่ากัน แต่ไม่ใช่ขยายสัญญาร่วมการงานต่อ 1 ปี ที่สำคัญร่างประกาศฯฉบับนี้ไม่ใช่จะใช้เฉพาะกรณี 1800 (TrueMoe & DPC) เท่านั้นแต่เหมาเข่งครอบจักรวาลคลุมไปถึงคลื่น 900 (AIS) และ 800 (Dtac) ในอนาคตด้วย

สุภิญญา กล่าวต่อว่า ร่างประกาศฯวันนี้เป็นภาค 2 ต่อจากการประมูลคลื่น ‪2100MHz‬ (3G) กลุ่มที่ win-win-win สุดคือ 3 ค่ายมือถือที่มีผู้บริโภคอยู่ในกำมือ ถ้ารักษาจุดยืนเรื่องการจัดสรรคลื่นหลังยุคสัมปทานสิ้นสุดรายแรกนี้ไม่ได้ ก็จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดพลาดสู่อนาคต เหมือนติดกระดุมผิดเม็ด กสทช.ชุดนี้ยังอยู่อีก 4 ปี ต่อจากเรื่องคลื่น 1800 รอดูคลื่น 900 กันต่อไม่นานจากนี้

สุภิญญา เสนอด้วยว่า การแก้ปัญหาสัมปทานสิ้นสุด มีทางตรงเดินได้คือ 1. เร่งให้ลูกค้าย้ายค่ายเบอร์เดิม 2. กรณี 1800MHz ให้เจ้าของสัมปทานคือ CAT บริหารต่อโดยซิมไม่ดับ ถ้ามีคนถามว่าจะให้ CATบริหาร เขาจะทำได้หรือ ดีเลย ใช้กรณีนี้พิสูจน์เลย ถ้า CAT บริหารไม่ได้ ความชอบธรรมในการถือครองคลื่นจะไม่เหลืออยู่แล้ว การขอคืนคลื่นมาประมูลใหม่จะได้ง่าย ผลออกมาเช่นนั้นอาจจะเจ็บปวด แต่เราต้องยอมเจ็บปวดเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบใหม่ ลองบีบให้ CAT ต้องหัดบริหารคลื่นเอง ทำไม่ได้ คืนคลื่นมาเลย การรักษาสภาพเดิม (status-quo) แบบเอื้อเอกชนแต่ปล่อยรัฐวิสาหกิจให้เป็นเสือนอนกิน จะไม่แก้ปัญหาประเทศชาติทั้งคู่ บีบให้เขาต้องแข่งขันกันคืองานของเรา เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่ของ 1800 เป็นบัตรเติมเงิน ซึ่งที่จริงถ้าเขาไม่เติมเงินใน 30 วัน ซิมก็ดับแล้ว ถ้า กสทช.จริงใจกับผู้บริโภคจริง ต้องกำกับเรื่องบัตรเติมเงิน ไม่รีบตัดวันเขามากกว่า

ทั้งนี้ สุภิญญา ระบุด้วยว่า ถ้าท่านใดใน กสทช.จะกล่าวหาว่าดีแต่ค้านก็ได้ แต่อยากให้เปิดใจดูด้วยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเราได้พยายามทำงาน ชงเรื่องอะไรให้บอร์ดแก้ปัญหาผู้บริโภคแล้วบ้าง ถ้าค้านอย่างเดียวแล้วไม่ทำงานเพื่อเสนอทางออก อันนี้เราสมควรถูกด่า แต่ถ้าเราพยายามทำงานแล้ว ชงเรื่องแล้ว เสนอวาระแล้ว ท่านไม่ฟัง เราก็เหนื่อย ถ้าท่านใดใน กสทช.จะกล่าวหาว่า 2 เสียงข้างน้อย มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ค้านตลอด อยากให้อ่านข่าวนี้ย้อนหลังปีที่แล้วก่อน 31 สิงหาคม ปีที่แล้ว ตนเองและ นพ.ประวิทย์ ได้จัดเวที NBTC Public Forum เสนอทางออกคลื่น 1800MHz ก่อนที่ กทค.จะขยับเสียอีก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net