Skip to main content
sharethis

ขณะที่ ส.ส. ญี่ปุ่นต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนกองกำลังป้องกันตนเองให้เอื้อต่อการทำสงคราม สมาชิกของสตูดิโอจิบลิเจ้าของผลงาน "spirited Away" และ "สุสานหิ่งห้อย" ได้กล่าววิจารณ์กรณีนี้ไว้ในบุ๊คเล็ทฉบับล่าสุด

ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นและสมาชิกคนอื่นๆ ของสตูดิโอจิบลิ ซึ่งสร้างชื่อเสียงจากการ์ตูนเรื่อง "Spirited Away" ได้แสดงความเห็นต่อต้านการที่นักการเมืองญี่ปุ่นพยายามปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้มีการสนับสนุนสงคราม ผ่านทางบุ๊คเล็ทหรือหนังสือเล่มเล็ก

ขณะที่ ส.ส. ร้อยละ 75 ของญี่ปุ่นสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นในทางสนับสนุนสงคราม มิยาซากิและสมาชิกสตูดิโอจิบลิได้แสดงความเห็นผ่านบุ๊คเล็ทที่ชื่อ "เนปปุ" (แปลว่า "ลมร้อน" ในภาษาญี่ปุ่น) ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ส. ญี่ปุ่น เช่น การแก้มาตรา 9 ให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นสามารถวางกำลังข้ามน่านน้ำได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรา 21 ที่มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม

ในญี่ปุ่นมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดโดยพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นหลักในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุด มีนักวิจารณ์บางคนเกรงว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและทำให้กองทัพมีอำนาจมากขึ้น

แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. จำนวนมาก แต่การสำรวจความเห็นจากประชาชนทางโทรศัพท์พบว่ามีร้อยละ 44 ที่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ และอีกร้อยละ 38 ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ

บุ๊คเล็ทของสตูดิโอจิบลิประกอบด้วยบทความจากผู้เขียน 4 คน โดยเริ่มต้นบรรยายสั้นๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการแก้รัฐธรรมนูญ และอยากให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แสดงความเห็นของตนชัดเจนกว่านี้

ในเวลาต่อมาการแสดงความเห็นผ่านบุ๊คเล็ทของพวกเขาก็ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักของญี่ปุ่น ทำให้ผู้จัดพิมพ์นำเสนอบุ๊คเล็ทดังกล่าวเป็นฉบับดิจิตอล ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จนถึงวันที่ 20 ส.ค. เท่านั้น โดยปกติแล้วบุ๊คเล็ทของพวกเขาจะสามารถซื้อได้จำนวนจำกัดจากร้านหนังสือเท่านั้น


ฮายาโอะ มิยาซากิ : แค่คนนำระบบไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ได้หมายความว่าต้องปฏิรูประบบ

ในเนื้อหาบทความ ฮายาโอะ มิยาซากิ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญในความเห็นของเขาว่ารัฐธรรมนูญเป็นเสมือนเป้าหมาย เขาไม่คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญให้ใช้ภาษาดีขึ้นจะช่วยทำให้คนหายจนได้ แต่ว่าการปกป้องมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญและการร่วมกันกู้วิกฤติเศรษฐกิจของญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนคนที่อดตายเหลือน้อยมาก

"...จนถึงช่วงเวลาหนึ่ง คนญี่ปุ่นรวมถึงกระทั่งนักการเมืองฝ่ายขวา พยายามอย่างหนักในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งขึ้นหลังสงคราม คือการสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริง" มิยาซากิกล่าว

มิยาซากิกล่าวอีกว่า หลังจากชาวญี่ปุ่นสามารถบรรลุเป้าหมายได้แล้ว พวกเขาพบว่าเศรษฐกิจไม่สามารถเจริญเติบโตได้มากกว่านี้อีก ก็เริ่มมีความเห็นเชิงว่า "ระบบนี้มันไม่ดี" แต่การที่มีคนไม่ดีบางคนใช้ระบบไปในทางที่ผิดไม่ได้หมายความว่าต้องปฏิรูประบบ

มาตราที่ 9 ของรัฐธรรรมนูญญี่ปุ่นระบุให้ญี่ปุ่นมี "กองกำลังป้องกันตนเอง" (ซึ่งไม่นับว่าเป็นกองทัพ) แต่ไม่สามารถประกาศสงครามโดยอ้างสิทธิการปกป้องอธิปไตยของประเทศและไม่มีการใช้กำลังทหารในความขัดแย้งกับต่างชาติ มิยาซากิ กล่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้ แม้ว่ากองกำลังป้องกันตนเองจะไม่เป็นไปตามกฎหมายมาตรานี้ แต่ก็ดีกว่าการเปลี่ยนกองกำลังป้องกันตนเองให้กลายเป็นกองทัพของชาติ

"สังคมที่สงบสุขของเราจะไม่อาจเป็นจริงได้ หากไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราที่ 9" มิยาซากิกล่าว เขาเขียนในบทความอีกว่า ประชาชนทั่วไปเป็นห่วงเรื่องชีวิตประจำวันของเขามากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้จึงเป็นเพียงการถือตัวของนักการเมืองเท่านั้น


อิซาโอะ ทากาฮาตะ : ผู้ที่ริเริ่มสงคราม ไม่มีใครเลยที่จินตนาการถึงความโหดร้ายของสงคราม

ทางด้านอิซาโอะ ทากาฮาตะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิและผู้กำกับเรื่อง "สุสานหิ่งห้อย" (Grave of the Fireflies) ซึ่งเป็นเรื่องของสองพี่น้องที่เผชิญกับความยากลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แสดงความเห็นว่า ตัวกฎหมายมาตรา 9 เป็นอุดมการณ์ที่ควรจะนำมาใช้ทั่วโลก และรัฐบาลญี่ปุ่นควรใช้กฎหมายนี้เป็นหลักการทางการทูต

"จากการสร้างเรื่อง 'สุสานหิ่งห้อย' ผมไม่คิดว่าภาพยนตร์การ์ตูนแนวนี้จะมีพลังมากพอในการต่อต้านสงคราม ในทุกวันนี้เราสามารถเห็นความโหดร้ายของสงครามได้ผ่านจอโทรทัศน์โดยไม่ต้องย้อนความจำในอดีต และผู้ที่ริเริ่มสงครามก็ไม่มีใครเลยที่จินตนาการถึงความโหดร้ายของสงคราม"

ทากาฮาตะกล่าวอีกว่า นักวิชาการและผู้ที่เคยตั้งคำถามกับสงครามเริ่มเปลี่ยนใจไปสนับสนุนการเดินหน้าทำสงครามของนักการเมือง พวกเขาไม่ได้ใช้เหตุผลและสติปัญญาอีกแล้ว มีผู้กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับทากาฮาตะในเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กของญี่ปุ่น โดยบอกว่าในทุกวันนี้มีคนถูกชักจูงไปสู่สงครามได้ง่ายเพราะใช้อารมณ์นำ แต่ก็มีประชาชนบางคนที่บอกว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้นแม้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเรื่อง "สุสานหิ่งห้อย" ได้สอนให้พวกเขาต่อต้านสงคราม

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหนึ่งในอินเทอร์เน็ตที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับบทความในบุ๊คเล็ท โดยกล่าวหาว่าสตูดิโอจิบลิเริ่มทำตัวเป็นองค์กรทางการเมืองมากขึ้น ขณะที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ทามาฮิโระ โมชิยามะ มองว่ามิยาซากิไม่ใช่นักสันตินิยม แต่เป็นเพียงคนที่สนับสนุนกองกำลังป้องกันตนเอง โดยแม้เขาจะปกป้องมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีการอนุญาตให้มีกองกำลังป้องกันตนเอง มีตัวอย่างจากหลายประเทศที่มีกองทัพแต่ไม่อนุญาตให้ใช้สงครามเป็นหลักในการแก้ไขความขัดแย้งกับต่างชาติ เช่น ประเทศเยอรมนี สเปน และอิตาลี

 

 

 

เรียบเรียงจาก

‘Spirited Away’ Director Criticizes Plans to Amend Japan's Pacifist Constitution, Global Voices, 10-08-2013
http://globalvoicesonline.org/2013/08/10/spirited-away-director-criticizes-plans-to-amend-japans-pacifist-constitution/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net