Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"นักวิทยาศาสตร์มักเป็นพวกชอบตัดสิน Latour ได้ไปศึกษาแล้วก็พบว่า อันนี้คล้ายๆ กับนักกฎหมาย ทำงานคล้ายคลึงกันเลย คือชอบตัดสินว่าอันนี้เป็นอย่างนี้ อันโน้นเป็นอย่างนั้น คือมีการจัดแบ่งสร้างพรมแดนแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่ปรากฎว่าอ้างตัวว่าเป็นกลาง มีการตัดสินที่เป็นกลาง แล้วอ้างว่าพื้นฐานการตัดสินนั้นแม่นยำมาก และทิ้งระยะห่างว่าฉันไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง แล้วมีการใช้ภาษาและระบบเหตุผลที่ค่อนข้างประหลาดในการบอกว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยท่าทีของภาษาที่ Latour บอกว่ามีการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี จนกระทั่งทำให้นักกฎหมายและนักวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับ" (อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2548: 6)


สิ่งหนึ่งที่มนุษย์มักจะตกเป็นเหยื่อในการใช้ความคิดโดยตลอดคือ ความหมายของคำว่า "ถูก" และ "ผิด" สังคมต่างต้องการความถูก-ผิด เพื่อให้บุคคลฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่าย "ถูก" จะจัดการกับฝ่ายที่ตนเองประเมินค่าแล้วว่า "ผิด" โดยการสร้างกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า "กฎหมาย" และบอกว่า "กฎหมาย" นั้นยุติธรรม โดยเหตุที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายซึ่งตั้งข้อสงสัยในเรื่อง "ความยุติธรรมตามกฎหมาย" กับความ "ยุติธรรมตามความเป็นจริง" และแม้กระทั่งกับ "ความยุติธรรม" เอง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกรอบแนวคิดหลักของมนุษย์ทั้งมวลในโลก เมื่อต้องไปมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่มนุษย์เรียกว่า "กฎหมาย" แต่ยังปรากฎคำถามจากหลายคนซึ่งได้รับผลกระทบจากคุณค่าที่สังคมหยิบยื่นให้ เกี่ยวกับ "ความยุติธรรม" อยู่ "เป็นนิจ"ว่า "ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน" เมื่อ เขาเหล่านั้นได้รับผลกระทบจาก "ความยุติธรรม" จึงทำให้ผู้เขียนสามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า "ความยุติธรรมคงจะมีจริง แต่ไม่รู้อยู่ที่ไหน ?" อย่างไรก็ดี ไม่ว่าความยุติธรรมจะอยู่ที่ไหน หรือมีหน้าตาเป็นอย่างไร คงไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญไปมากกว่า "การพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมาย" โดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงทางสังคมประกอบ แต่หากนักกฎหมายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องยังติดกรอบว่ากฎหมายที่เขียนขึ้นมาหรือสร้างขึ้นมานั้น เป็นการอำนวยความยุติธรรม หรือคิดว่าตนเองสามารถพิจารณาหากฎเกณฑ์ในการสร้างความยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง โดยไม่พิจารณาบริบทของสังคมทั้งหมดอย่างรอบด้าน "ความยุติธรรม" ที่พูดกัน ก็จะยังคงเป็น "ความยุติธรรมที่พูดกัน" อยู่เช่นเดิม

เนื้อหาของบทความนี้จะนำเสนอผ่านนิทานสามเรื่อง โดยในแต่ละเรื่องจะเป็นเนื้อหาประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้สอยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในมุมมองของ "กฎหมาย" กับ "ความเป็นจริง" ของสังคม และการประเมินคุณค่าของเรื่องการใช้สอยทรัพยากรกับการทำลายทรัพยากร โดยใช้กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ และกฎเกณฑ์ทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินเรื่องต่างๆ ซึ่งทั้งนักกฎหมายและนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก็ทำหน้าที่ในการนำเอาความรู้ของตนเองมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินเรื่องต่างๆ บนพื้นฐานที่ว่าตนเองมีความรู้มากกว่าคนอื่น ในฐานะ "ผู้เชี่ยวชาญ" โดยไม่ได้มีการมองบริบทต่างๆ อย่างรอบด้านเสียทีเดียว และสร้างกรอบแคบๆ เพื่อตัดสินความถูกผิด อีกทั้งยังเชื่อด้วยว่าวิธีการของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด น่าเชื่อถือที่สุด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วกฎเกณฑ์ที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นสร้างขึ้นก็เป็นเพียง "พรมแดนความรู้" ในส่วนที่เขามีความสามารถเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีอยู่จริง เมื่อความจริงเผชิญหน้ากับความไม่จริง จึงเป็นที่มาของคำว่า "นิทาน" นอกจากนั้น สาเหตุที่ใช้คำว่านิทาน ก็เนื่องจากผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ท่านหนึ่งว่าเมื่อความจริงโหดร้ายเกินไป เราก็แสดงเรื่องราวผ่านนิทานแทน ประการต่อมาคือ เรื่องเล่าทั้งหมดในบทความนี้นั้นมาจากเรื่องจริง แต่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบางอย่างของเรื่องใหม่เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงมากขึ้น ผู้เขียนจึงไม่ประสงค์ที่จะบอกว่าเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งนิทานทั้งสามเรื่องจะได้อธิบายดังต่อไปนี้

 

1. นิทานเรื่อง "คดีโลกร้อน" กับ "ไร่หมุนเวียน"

นางขันเงิน (นามสมมติ) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อยู่อาศัยในเขตป่าภายในเขตอนุรักษ์ป่าภูผาแดง ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสามารถทำกินต่อไปได้ นางขันเงินมีอาชีพทำการเกษตรเพื่อยังชีพ โดยทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน โดยใช้การหมุนเวียนแบบแปลงกระจายพื้นที่ไม่ประจำเป็นหลัก คือ การทำไร่แต่ละปีไม่ซ้ำที่เดิม แต่จะแสวงหาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกแห่งใหม่ หลังจากทำการเพาะปลูกครบ 6 แห่งแล้ว ก็จะกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่แรกที่ได้เคยทำ (อานันท์  กาญจนพันธุ์ และคณะ, 2547: 104) โดยรอบระยะเวลาการทำไร่หมุนเวียนหนึ่งรอบจะอยู่ที่ประมาณ 20 ปี ในปี 2548 นั้น นางขันเงิน ได้ทำไร่ในพื้นที่นอกเหนือจากที่ตนได้รับผ่อนผันให้อยู่อาศัย โดยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้เข้าไปตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่า และพบว่านางขันเงินได้ทำการบุกรุกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ซึ่งตรวจพบว่ามีพื้นที่ถูกบุกรุกประมาณ 3 ไร่ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าจับกุม และฟ้องนางขันเงินเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดหล่มสัก โดยกล่าวหาว่าจำเลยได้เข้าไปทำลายให้ต้นไม้เสียหาย ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่าภายในเขตอนุรักษ์ป่าภูผาแดง ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นที่ของรัฐโดยผิดกฎหมาย เป็นพื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 97,654 บาท และโจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ทำละเมิด (13 พฤษภาคม 2548) คิดเป็นจำนวนเงิน 32,078.28 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 129,732.28 บาท ในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากค่าเสียหายที่น้ำสูญไปจากพื้นดิน และแร่ธาตุหายไป อีกทั้งยังส่งผลต่ออุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเพราะป่าถูกทำลาย โดยโจทก์ได้มีการสร้างแบบจำลองการคำนวณความเสียหาย* ที่เกิดขึ้นจากการทำลายป่าคือวัดอุณหภูมิของป่าบริเวณดังกล่าวที่สมบูรณ์เทียบกับอุณหภูมิในบริเวณของป่าที่ถูกทำลาย และคำนวณว่าหากมีการสร้างห้องครอบพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย แล้วทำการเปิดเครื่องปรับอากาศ จะต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าไร และเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร จึงจะทำให้อุณหภูมิในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายลดลงมาเท่ากับเขตป่าสมบูรณ์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งหลังจากการคำนวณแล้วก็จะได้ค่าใช้จ่ายตามที่เรียกมาในคำฟ้อง

ในคดีนี้จำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการลุ่มน้ำ เบิกความว่า ผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนจากการทำลายป่า ไม่สามารถให้คำตอบได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อัตราการสูญเสียเนื้อดินตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่เป็นความจริง และการสูญเสียธาตุอาหารก็ไม่ได้เป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การเกษตรขนาดเล็กเพื่อยังชีพจะเป็นการเพิ่มปุ๋ยให้กับดินมากกว่าการทำลายดิน ในขณะที่พยานผู้เชี่ยวชาญของจำเลยอีกหนึ่งคนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์วิทยา ก็เบิกความว่าแบบจำลองค่าเสียหายของโจทก์นั้น การคำนวณโดยใช้ปริมาณพื้นที่ และคำนวณความสูง ความยาวของพื้นที่ และความสูงของต้นไม้คูณด้วยอุณหภูมิผิวดินซึ่งร้อนที่สุด แล้วเอาพื้นที่กว้างยาวมาคูณกัน เป็นปริมาณความร้อนทั้งหมด แล้วนำมาเทียบกับอุณหภูมิความร้อนที่วัดได้ จัดได้ว่าไม่เป็นธรรม นอกจากนั้น ในผลการศึกษาของอาจารย์มหาวิทยาลัยเบอร์กเล่ ที่ไปศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย พบว่าบริเวณที่ทำไร่หมุนเวียน ในระยะเวลา 10 ปี มีการกัดเซาะผิวดินประมาณ 1.5 มิลลิเมตร (คำพิพากษาศาลจังหวัดหล่มสัก คดีหมายเลขแดงที่ 789/2552) ศาลในคดีนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลที่พยานจำเลยกล่าวอ้างนั้นมีเหตุผลน่าเชื่อถือ แต่พยานจำเลยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าค่าเสียหายควรเป็นเท่าไร ท้ายสุดศาลเลือกที่จะเชื่อว่าค่าเสียหายที่แท้จริง ควรจะอยู่ในส่วนค่าเสียหายที่คำนวณได้จริงเท่านั้น จึงคำนวณค่าเสียหายเฉพาะต่อจำนวนต้นไม้ที่ถูกตัดโค่น และปริมาณดินที่ถูกบุกรุกแผวถาง ซึ่งคำนวณได้เป็นค่าเสียหายจำนวน 45,000 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้โจทก์นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จากนิทานเรื่องดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐ อยู่บนพื้นฐานของเรื่อง "อำนาจ" และการรักษา "ประโยชน์" ขององค์กรหรือสถาบัน โดยใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินความถูกผิด ในกรณีดังกล่าว มีการสร้างสูตรในการคำนวณค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ซึ่งสามารถวัดความเสียหายเป็นตัวเลข เป็นจำนวนเงินได้จริง เพียงแต่ตัวเลขหรือจำนวนเงินที่วัดหรือประเมินค่าออกมานั้น จะตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่หน่วยงานที่เขาเชื่อว่า "ตนเป็นผู้เสียหาย" ต้องการแสดงให้เห็น แต่เขาต้องการแสดงให้เห็นว่าเขามีองค์ความรู้บางอย่างที่มากพอที่จะตัดสินเรื่องเหล่านี้ได้ โดยใช้วิธีการที่มีเหตุผลด้วย และเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่ต้องพิจารณาความจริง และบริบทรอบข้างอื่นๆ เพราะเชื่อมั่นในผลประโยชน์ที่ "รัฐ" เสียไป แต่เมื่อปรากฏว่าพยานจำเลยนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่หักล้างว่าสูตรในการคำนวณของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ และมีการอ้างหลักฐานจากงานวิจัย และความรู้ด้านต่างๆ เข้ามาประกอบ ก็ทำให้ศาลสถิตยุติธรรมรับฟังและเชื่อในเหตุผลดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลสำคัญประการหนึ่งที่เพิ่งเป็นที่ปรากฏและเป็นที่ยอมรับในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน คือข้อมูลในเรื่อง "ไร่หมุนเวียน" โดยคำว่า "ไร่หมุนเวียน" ไม่เคยปรากฏในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใด สิ่งที่มีการปลูกฝังกันในสังคมไทย คือเรื่อง "ไร่เลื่อนลอย" ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบของการบอกแบบปากต่อปาก หรือการสั่งสอนกันในชั้นเรียนว่า "ชาวเขา ชอบทำไร่เลื่อนลอย" วาทกรรมดังกล่าว สื่อสารให้เห็นถึงทัศนคติในสองมุมมอง คือ มุมที่หนึ่ง มีการแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ โดยแบ่ง "ชาวเขา" กับ "ชาวเรา" มุมที่สอง เป็นการโยนความผิดบาปให้ "ชาวเขา" ว่าเขาชอบทำไร่เลื่อนลอย และอย่างที่ทราบกันว่า สังคมไทยไม่ค่อยมีการตั้งคำถามกับเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาเท่าไรนัก ก็ทำให้วาทกรรมเรื่อง "ไร่เลื่อนลอย" กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไปโดยปริยาย ตามมาด้วยความเกลียดชังในเชื้อชาติ "ชาวเขา" ไม่มาก ก็น้อย

เมื่องานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์  กาญจนพันธุ์ ในเรื่อง ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน เกิดขึ้นมา ก็เป็นการทำให้สังคมเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า ไร่เลื่อนลอยที่เราเข้าใจกันมายาวนาน ในการทำการเกษตรของบุคคลบนพื้นที่สูง แท้จริงแล้วเป็น "ไร่หมุนเวียน" เพียงแต่การหมุนเวียนไร่ทำการเกษตรนั้น เกษตรกรจะต้องทำการแสวงหาแหล่งเพาะปลูกที่มีความสมบูรณ์แหล่งใหม่ไปเรื่อย จนกว่าจะครบรอบระยะเวลาที่สามารถกลับมาทำไร่ในบริเวณแหล่งแรกได้ ซึ่งบางครั้งก็ใช้ระยะเวลาต่อรอบประมาณ 5-7 ปี (อานันท์  กาญจนพันธุ์ และคณะ, 2547: 104) ดังนั้นหากดูภาพที่เกิดขึ้นในระยะสั้นก็จะเห็นว่าบุคคลบนพื้นที่สูงตัดไม้ไปเรื่อย และทำไร่ไปเรื่อยจึงมีลักษณะเป็นไร่เลื่อนลอย ทั้งที่วิถีชีวิตของ "คนที่อยู่กับป่า" เขาคงจะไม่ทำลาย "บ้านของตัวเอง" เพื่อให้ตนเองอยู่ไม่ได้ และยิ่งหากพิจารณาจริงๆ ยิ่งจะพบว่า คนพื้นราบที่มีกำลังซื้อสูงต่างหาก ที่นำเอาระบบทุนนิยมเข้าไปชักพาให้บุคคลบนพื้นที่สูงเหล่านั้นต้องกระทำความผิดในการบุกรุกป่าไม้ และตัดไม้เพื่อนำมาใช้ในธุรกิจเครื่องตกแต่งบ้านที่เราๆ ชื่นชอบ ดังนั้น การพิเคราะห์เรื่อง ทำลายป่าหรือไม่ คงต้องดูบริบทรอบด้านในเรื่องต่างๆ เป็นสำคัญด้วย เพราะสิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมดก็ได้ และการตัดสินเพียงแค่การพบเห็น อาจเป็นการจำกัดพรมแดนความรู้ และความคิดของเรามาก "เกินไป"


2. นิทานเรื่อง "สิทธิชุมชน" กับ "การบุกรุกที่ดิน"

ชาวบ้านในพื้นที่บ้านโป่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เคยมีที่ดินทำกินแปลงหนึ่ง ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่เอกชนที่ชาวบ้านทุกคนมีกรรมสิทธิ์และใช้ในการทำไร่ แต่ต่อมาปรากฏว่ามีนายทุนต้องการซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อการจัดสรรที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย จึงเริ่มซื้อที่ดินจากชาวบ้าน เริ่มต้นที่แปลงหนึ่งแล้วขยายการซื้อไปยังแปลงอื่นๆ ต่อไป และขยายวงกว้างมากขึ้น จนกระทั่งท้ายที่สุดชาวบ้านทุกรายต้องยอมขายเพราะที่หลายแปลงถูกกว้านซื้อจนที่แปลงในไม่สามารถเดินทางออกสู่ถนนได้ หลังจากที่ได้ที่ดินไปทั้งหมดนายทุนก็หายไป ระยะเวลาการทิ้งที่ดินร้างไว้เริ่มเป็นเวลานานมากเข้า ชาวบ้านซึ่งเคยอยู่ในที่ดินแปลงนั้นไม่เห็นว่านายทุนทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ซื้อขาย ชาวบ้านจึงเริ่มเข้าไปอาศัยอยู่ในที่ดินนั้นอีกครั้งหนึ่ง และทำการปลูกต้นสะเดา และพืชอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้ของชุมชน หลังจากดำเนินการได้ไม่นานนัก นายทุนเจ้าของที่ดินก็กลับมา มาทวงที่ดินของตนคืน โดยการฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกไป ชาวบ้านไม่ได้ออกไปจากพื้นที่ แต่ได้ขอความช่วยเหลือทั้งจากภาคหน่วยงานราชการ และจากนักวิชาการ และทนายความสิทธิมนุษยชนว่ามีแนวทางไหนที่จะช่วยให้ชาวบ้านยังคงอยู่อาศัยในพื้นที่ได้บ้าง ท้ายสุดได้ความช่วยเหลือจากทนายความสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ช่วยว่าความแก้ต่างคดีฟ้องขับไล่ และความผิดฐานบุกรุกให้ และได้กรมที่ดินเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยท้ายสุดกรมที่ดินยอมรังวัดที่ดินให้ และชาวบ้านต่อรองให้รัฐดำเนินการซื้อที่ดินคืนให้แก่ชาวบ้าน โดยชาวบ้านเสนอที่จะผ่อนชำระราคาคืนให้แก่ราชการ หลังจากนั้นชาวบ้านออกเอกสารของชุมชนเอง ใช้ชื่อว่า "โฉนดชุมชน"* แต่มุมมองของนักวิชาการที่ดินหลายคนยังคงเห็นว่า การกระทำของชาวบ้านในกรณีดังกล่าว นอกจากไม่มีกฎหมายรับรองแล้ว ยังเป็นความผิดฐานบุกรุกซึ่งผิดกฎหมายอีกด้วย

นิทานเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องของชุมชนที่ต้องการที่ดินทำกิน กับกลุ่มทุนที่ต้องการประโยชน์ที่เพิ่มพูนจากราคาที่ดิน ทั้งสองฝ่ายอยู่บนพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มชาวบ้านคิดบนพื้นฐานของเรื่องสิทธิร่วมกันของชุมชนในการถือครองที่ดินโดยปราศจากแนวคิดในเรื่องความมั่นคงตามเอกสารสิทธิ์ของหน่วยงานราชการ (อานันท์  กาญจนพันธุ์. 2543: 113) ในขณะที่กลุ่มทุนภาคธุรกิจคิดบนพื้นฐานของความมั่นคงในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ที่ออกจากหน่วยงานราชการ ตามหลักเรื่องกรรมสิทธิ์อันเป็นฐานคิดสำคัญในการประเมินคุณค่าที่เป็นราคาเชิงพาณิชย์ และเชิงเศรษฐศาสตร์ในที่ดิน (Rutherford H. Platt. 2004: p. 211) บนพื้นฐานของกฎหมายการเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นคือ "การบุกรุก" โดยไม่ต้องสนใจเจตนาที่แท้จริง เพราะนั่นคือสิ่งที่ต้องแสดงในชั้นศาลเอา ดังนั้นไม่ว่าประชาชนธรรมดา จะเข้าไปอยู่ในที่ดินของ "รัฐ" หรือ "เอกชน" ก็ถือเป็นการบุกรุกทั้งหมด ปัญหาคือ กฎหมายสนใจเรื่องความ "จำเป็น" ที่ "เป็นจริง" หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าในทางเศรษฐศาสตร์นั้น กฎหมายยังคงคิดถึงเรื่องความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์จากที่ดินบ้างตามหลัก "ครอบครองปรปักษ์" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เหตุการณ์ที่เล่ามาในนิทานเรื่องนี้นั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วย เช่นในประเทศบราซิลเองก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานผู้ไร้ที่ดินทำกิน (The Movimento dos Trabalhadores Rurais sem Terra; MST, or Landless Rural Workers' Movement) (Ruth Caldeira. 2008: 135) ซึ่งดำเนินการยึดที่ดินของกลุ่มทุนเอกชนเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ผู้ไร้ที่ดินทำกิน อย่างไรก็ดีแนวคิดที่เกิดที่บราซิลแม้จะดูเหมือนคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย แต่ก็มิได้หมายความว่าทั้งสองกรณีจะนำเอากฎหมายเรื่องเดียวกันมาใช้ด้วยกันได้ เพราะระบบสังคม และแนวคิดของคนในสังคมทั้งสองก็แตกต่างกัน แต่ทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างสิทธิของเอกชนแบบทุนนิยมในเรื่อง "กรรมสิทธิ์" และสิทธิร่วมกัน ในเรื่อง "Collective Rights" ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็คือการเผชิญหน้ากันของการบุกรุก กับสิทธิแบบกลุ่มนั่นเอง

ตามกฎหมายไทยมีพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนผู้ไร้ที่ทำกิน คือพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการนำที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน โดยแรกเริ่มนั้นต้องการให้เป็นการกระจายการถือครองที่ดินโดยเอกชนรายใดรายหนึ่งมากเกินความจำเป็นด้วย จึงให้มีการจัดสรรทั้งที่ของรัฐและที่ของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นที่ดินทำกินของประชาชน แต่เนื่องด้วยการจัดสรรที่ดินเอกชนนั้นรัฐจะต้องทำการซื้อที่ดินคืนมาก่อนซึ่งคงจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ไม่เกิดการจัดสรรที่เอกชน (สุมิตรชัย  หัตถสาร. 2556) แต่มีการจัดสรรเฉพาะที่รัฐ ท้ายสุดพอมีการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่เกษตรกร ก็พบปัญหาว่าเกษตรกรหลายรายขายที่ดินไปเพราะไม่มีความสามารถในการสร้างมูลค่าในที่ดินเปล่าๆ ได้ การลงทุนทำการเกษตรก็นำมาแต่หนี้สิน ที่ดินจึงตกไปสู่มือของกลุ่มทุนผู้ประกอบธุรกิจ ยิ่งทำให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือเอกชนกลุ่มธุรกิจเพิ่มเข้าไปอีก ทำให้ปัญหาในการกระจายการถือครองที่ดิน และการแก้ไขปัญหาสิทธิทำกินไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ปัญหาที่เกิดจากการต้านทานต่อระบบทุนนิยมไม่ไหวจึงตามมาด้วยการบุกรุกเข้าไปทำกินทั้งที่ดินรัฐ และที่ดินเอกชนของผู้ไร้ที่ทำกิน สารสำคัญที่จะต้องมาพิจารณาคือ เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร แนวคิดนี้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ การสร้างหลักการเรื่องธนาคารที่ดิน และโฉนดชุมชนขึ้นมาเพื่อรับรองสิทธิร่วมกันของชุมชน โดยกำหนดให้รัฐดำเนินการซื้อที่ดินเอกชนมาให้ชุมชน และจัดสรรเป็นที่ดินโฉนดชุมชน ซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ และเป็นสิทธิครอบครองร่วมกันแบบหมู่ เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนมือในที่ดิน (อิทธิพล  ศรีเสาวลักษณ์. 2550: 16) เป็นการใช้หลักการสิทธิร่วมกันที่คล้ายคลึงกับแบบสังคมนิยมมาจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากยุคทุนนิยมเฟื่องฟู (อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2544: 35)  ในระบบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้งของการเผชิญหน้ากันระหว่างการบุกรุก และสิทธิชุมชน โดยใช้ความเหมาะสมในบริบททางสังคมเข้ามาช่วยพิจารณา

นิทานเรื่องที่สองนี้บอกให้รู้ว่า การสร้างกฎหมายที่คุ้มครองระบบกรรมสิทธิ์มากจนเกินความพอดี ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องสารสำคัญของการใช้สอยประโยชน์ในที่ดินที่เพียงสิทธิครอบครองก็มีประโยชน์เพียงพอ ดังนั้นการจำกัดความรู้และขอบเขตของการเป็นเจ้าของแค่เรื่องโฉนด และกรรมสิทธิ์ ก็มีแต่จะนำไปสู่การคิดถึงเฉพาะความมั่งคั่ง มากกว่าความมั่นคงของการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั่นเอง


3. นิทานวาทกรรมเรื่อง "บ้านเธอ" กับ "บ้านฉัน"

จากการอนุมัติของหน่วยงานระดับจังหวัด ก่อให้เกิดการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล* ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ในพื้นที่อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ทำให้ชาวบ้านหมู่ 2 บ้านเวียงเดิม ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงรายไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะในชุมชนของเขาเอง เมื่อศึกษาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งขึ้นแล้วในพื้นที่จังหวัดอื่น ยิ่งเชื่อว่าการตั้งโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลภาวะทางอากาศที่ย่อมต้องเกิดขึ้นจากทั้งฝุ่นละอองที่มาจากซากพืชที่เป็นเชื้อเพลิง และเขม่าที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิง ซึ่งย่อมต้องเล็ดลอดผ่านไส้กรองอากาศของโรงงาน หากไส้กรองไม่มีมาตรฐานที่ดีพอ ชาวบ้านจึงเห็นว่าสมาชิกในหมู่บ้านน่าจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งนี้ด้วย ไม่ใช่หน่วยงานราชการอนุญาตแต่เพียงฝ่ายเดียว อย่างน้อยน่าจะมีการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทำประชาพิจารณ์ในหมู่บ้านก่อน ในขณะที่ทางฝั่งผู้ประกอบกิจการเองได้รับใบอนุญาตเนื่องจาก โรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ถึงเกณฑ์ 10 เมกะวัตต์ (ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2555) (ฉบับเดิมเป็นฉบับปี 2552) และฝ่ายผู้ประกอบกิจการได้เคยมีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว เพียงแต่ในเวลาดังกล่าวชาวบ้านไม่อยู่กัน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูทำนา จึงเหลือเพียงคนแก่ที่ไม่ได้ทำนาเท่านั้นมาเข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์ อีกทั้งโรงไฟฟ้ายังอยู่ห่างจากบ้านเรือนในชุมชนราวสามกิโลเมตรน่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นที่ไม่พอใจแก่ชาวบ้านในพื้นที่มาก เนื่องด้วยเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเจตนาที่จะเลี่ยงกฎหมายเรื่องขนาดของกิจการโรงไฟฟ้าให้มีขนาดไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ และการทำประชาพิจารณ์ก็ไม่ได้เป็นที่เผยแพร่อย่างเหมาะสม ชาวบ้านจึงทำการต่อต้านโดยการส่งหนังสือถึงหน่วยงานราชการหลายแห่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานนั้น คือ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ในขณะที่ยื่นหนังสือไปแล้วไม่ได้คำตอบ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงชุมนุมประท้วงบนถนนทางหลวง และมีการใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุม หลังจากนั้นไม่นาน มีคำฟ้อง 2 คดีส่งมาถึงแกนนำชาวบ้าน คดีแรก ฟ้องแกนนำชาวบ้าน 13 คน ซึ่งได้มีการนำชาวบ้านไปชุมนุมกันที่แยกแม่กรณ์ โดยตั้งข้อหาเป็นการชุมนุมที่กีดขวางทางจราจร ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง คดีที่สอง ฟ้องแกนนำชาวบ้าน 3 คนซึ่งขึ้นไปยื่นหนังสือที่ห้องประชุมของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยตั้งข้อหาว่า เป็นการชุมนุมกันเกินสิบคนและมีการประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ผิดตามประมวล (กฎหมายอาญา มาตรา 215) และมีการกีดขวางทางจราจรให้ผู้มาติดต่อราชการไม่ได้รับความสะดวก** (ดามร  คำไตรย์, 2553: 102) หลังจากที่กลุ่มชาวบ้านดำเนินการตามขั้นตอนที่ควรกระทำแล้วก็ปรากฏว่าโครงการดังกล่าวดูเหมือนจะยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ ชาวบ้านจึงรุกหนักมากขึ้นในการปิดพื้นที่ซึ่งเป็นเขตก่อสร้างโรงไฟฟ้า และมีการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในหมู่บ้านทั้งหมดได้ทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น ท้ายสุดชาวบ้านต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าดังกล่าว การต่อสู้ของชุมชนเป็นไปอย่างยาวนานนับแต่ปี 2553 ถึงปี 2556 ศาลปกครองก็มีคำสั่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ก.ก.พ.) เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าในท้ายที่สุด (ศาลปกครองสั่ง ก.ก.พ. ถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย www.thairath.co.th 24 มิถุนายน 2556)

มุมมองของเราๆ ในฐานะทั้ง "ประชาชน" ปกติ และ "ปัญญาชน" มักจะมีทัศนคติในทางไม่ดีกับเรื่องการชุมนุมเป็นทุนเดิม โดยมีค่านิยมว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม เป็นพวกใช้สิทธิเกินส่วนที่ตนเองมี แต่หากคิดดีๆ คำถามที่น่าจะถามกลับสู่ผู้ที่มีความคิดเช่นว่าคือ ถ้าเป็นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับ "ท่าน" และ "ชุมชนของท่าน" บ้าง ท่านจะทำอย่างไร นั่นเป็นที่มาของชื่อเรื่อง "บ้านเธอ" "บ้านฉัน" ซึ่งเป็นกรณีที่ชาวบ้านไม่มีทางออก โดยแรกเริ่มนั้นชาวบ้านอาจไม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชนตามกฎหมายเสียทีเดียว แต่เมื่อมีนักศึกษา นักวิชาการ และทนายความเข้าไปสร้างความเข้าใจ ก็ทำให้ชาวบ้านรู้ถึงสิทธิของตนเองตามกฎหมายมากขึ้น และรู้ว่าแท้จริงแล้ว "สิทธิชุมชน" ที่ว่าก็หมายถึงการที่ชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อม และใช้สิทธิของตนได้ เหมือนอย่างที่คนรักษาบ้านของตัวเองนั่นเอง ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบกิจการที่เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่เขาจะได้จากการลงทุนคงไม่ได้สนใจเท่าไรนักว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไร ซึ่งก็ย่อมต้องเป็นเช่นนั้น และกฎหมายก็ได้สร้างมาตรฐาน "ที่ดี" เอาไว้อย่าง "ชัดเจน" อีกว่า ต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปเท่านั้น จึงต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัญหาคือ 9.9 กับ 10 มันต่างกันในเชิงตัวเลข แต่มันแทบไม่ต่างกันในความเป็นจริงเลย และกฎหมายจะยังคงเป็น "ไม้บรรทัด" โดยไม่สนใจเจตนาของมนุษย์จริงๆ อย่างนั้นหรือเปล่า การทำประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นในนิทานเรื่องที่เล่า ก็เป็นการ "ทำ" ไปอย่างนั้น โดยไม่ได้สนใจเจตนารมณ์ของการทำ ยิ่งไปกว่านั้นทั้งหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการยังกล่าวอ้างอีกว่าบริเวณที่สร้างโรงไฟฟ้าอยู่ห่างจากบ้านเรือนเป็นระยะทางถึงสามกิโลเมตร น่าจะไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือนของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ทั้งที่รอบพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าเป็นไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ก็คงจะไม่เป็นประโยชน์อะไรที่จะไปกล่าวอ้างผลกระทบเช่นว่านี้ ทั้งต่อผู้ประกอบการเอง และกับหน่วยงานที่อนุมัติ เพราะเรื่องราวทั้งหมดและผลที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ "บ้าน" ของผู้ประกอบการ และผู้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ เช่นเดียวกันกับแนวคิดในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีประโยชน์มาก ปัญหาคือสร้างที่ไหน ซึ่งก็แน่ว่าต้องอยู่ใกล้ๆ ชุมชนสักแห่ง แต่อาจเว้นพื้นที่ไว้บ้างเพื่อความปลอดภัย สาเหตุที่กล้าทำเช่นนั้นก็เพราะมองว่ามันเป็นผลประโยชน์ที่จะเกิดกับทั้งตัวผู้อนุมัติที่จะได้รับค่าธรรมเนียมและภาษีต่างๆ และกับตัวผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกำไรจากการดำเนินโครงการ โดยไม่สนใจว่า คนที่อยู่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้าจะรู้สึกอย่างไร เพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้อยู่หลังบ้านพวกเขาเหล่านั้นที่ได้รับประโยชน์ ชาวบ้านคนหนึ่งในพื้นที่อำเภอเวียงชัยกล่าวว่า “เราต้องการวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม” (http://pachathai.com/journal/2010/03/28095) ยิ่งเป็นการย้ำเตือนว่าบ้านเขา เขาต้องการให้เป็นอย่างไร ก็น่าจะเป็นสิทธิของเขาด้วย

นอกจากเรื่องโรงไฟฟ้าแล้ว เรื่องขยะๆ ในบางพื้นที่ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่เช่นเดียวกัน คือเรื่องการทิ้งขยะบนดอยในเขตแม่สลองใน ซึ่งปรากฏปัญหาว่าชาวบ้านพากันไปทิ้งขยะที่หน้าผาแห่งหนึ่ง และทิ้งมานานมากจนขยะส่งกลิ่นเหม็น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองใน ก็ต้องการจัดการกับปัญหาดังกล่าว แต่ก็ติดปัญหาว่าจะจัดการอย่างไร จึงเกิดมลภาวะน้อยที่สุด และจะนำขยะไปจัดการในพื้นที่ไหน เพราะหากนำไปจัดการในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็อาจเข้าตำรา "บ้านเธอ" อีกก็ได้* นั่นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เข้าวาทกรรม "บ้านเธอ บ้านฉัน" เพราะที่ทิ้งขยะเป็น "บ้านเธอ" ฉันไม่เหม็น ฉันจึงไม่เดือดร้อน นิทานเรื่องที่สามนี้จึงสื่อให้เห็นว่า "กฎหมาย" ที่ว่า "ยุติธรรม" และสร้าง "มาตรวัด" ที่เชื่อถือได้ทางวิทยาศาสตร์นั้น บางครั้งก็ไม่ได้สอดคล้องกับความจริง และความเหมาะสมเสมอไป หรืออาจจะกล่าวว่า "กฎหมายที่ดีอาจไม่ใช่กฎหมายที่ชัดเจนมากๆ" เสียทุกกรณีไป บางครั้งความชัดเจน วัดค่าได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มิได้หมายความว่า "ยุติธรรม" ในขณะที่บางครั้งกฎหมายไม่ชัดเจน แต่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจได้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น แม้จะไม่แน่นอน แต่เป็นที่พอใจ ก็อาจได้รับการยอมรับว่า "ยุติธรรม" มากกว่า หรือแท้จริงแล้วความพอใจในการสร้างดุลภาพในผลประโยชน์ต่างหากคือสิ่งที่มนุยษ์ต้องการ แล้วเรียกมันว่า "ความยุติธรรม"

แท้จริงแล้ว นิทานเรื่องนี้มีชื่อเรื่องจริงๆ ว่า "บ้านมึง" กับ "บ้านกู" บนพื้นฐานที่ว่า สิทธิชุมชนในการรักษาทรัพย์กรธรรมชาตินั้น เป็นเรื่องของคนในชุมชนร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชนซึ่งเป็นเหมือน "บ้าน" ของเขา โดยที่คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของคุณเจริญ  วัดอักษร ได้เคยกล่าวเอาไว้ในงานครบรอบ 5 ปีการเสียชีวิตของคุณเจริญ  วัดอักษรว่า "สิทธิชุมชน" แปลว่า "บ้านกู" (เกรียงศักดิ์  ธีระโกวิทขจร, 2552) แต่พอมีการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางใดทางหนึ่งก็แล้วแต่ หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งในชุมชนเองเรื่องการจัดการมลภาวะหรือสิ่งแวดล้อมในชุมชน หลัก "บ้านกู" กลับกลายเป็นหลัก "บ้านมึง" กล่าวคือ เพราะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้ตัดสินใจอนุมัติโครงการมีส่วนได้เสียกับมลภาวะที่เกิดขึ้น (แม้ว่าในความเป็นจริงผู้ตัดสินใจอาจได้ประโยชน์ในทางอื่นก็ตาม) เขาจึงยอมให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ใช่พื้นที่ "บ้านฉัน" นั่นเอง


ส่งท้าย

ปัญหาตามนิทานสามเรื่องที่เล่ามา คงจะสะท้อนภาพของปรากฎการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายโดยอ้างประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ในระดับหนึ่งว่า การจะกล่าวอ้างว่าใครล่วงละเมิดสิทธิใคร การกระทำเช่นไรเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ และกฎหมายกำหนดเกณฑ์ในการสร้างดุลภาพเพียงพอหรือไม่ จะมองดูกฎหมายแบบเชิงเดี่ยวไม่ได้ แต่จะต้องพิจารณากฎหมายให้มีความสัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริง และความจำเป็นของคนในสังคมด้วย เพราะกฎหมายเกิดขึ้นมาจากสังคมมนุษย์ และไม่ได้ใช้เพียงเพื่อควบคุม แต่จะต้องจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ อย่างรอบคอบด้วย การใช้กฎหมายโดยขาดมิติการประเมินคุณค่าทางสังคมย่อมก่อให้เกิดการจำกัด "พรมแดนความรู้" ให้อยู่เพียงด้านเดียว ซึ่งนอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาได้จริงแล้ว อาจเป็นตัวการก่อปัญหาอีกด้วย

 

บรรณานุกรม

เอกสารภาษาไทย

คำพิพากษาศาลจังหวัดหล่มสัก คดีหมายเลขแดงที่ 789/2552 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2552

ดามร  คำไตรย์. (2553). "ข้อท้าทายว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กับการชุมนุมของชาวบ้านในอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย." วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 กันยายน 2553.

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 97 ง วันที่ 20 มิถุนายน 2555

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2544). วิธีคิดเชิงซ้อนในการวิจัยชุมชน พลวัตและศักยภาพของชุมชนในการพัฒนา. กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

อานันท์  กาญจนพันธุ์. (2548). "พรมแดนความรู้เรื่อง Legal Pluralism." นิติสังคมศาสตร์. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1/2548.

อานันท์  กาญจนพันธุ์. (2547). รายงานการวิจัย ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน: เล่ม 1 สถานภาพและความเปลี่ยนแปลง. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อานันท์  กาญจนพันธุ์. (2543). พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร กระบวนทัศน์และนโยบาย. กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

อิทธิพล  ศรีเสาวลักษณ์, “สิทธิในที่ดินของชุมชน: โฉนดชุมชน และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.” บทความเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), กันยายน 2550. สืบค้นจาก http://www.opm.go.th วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2555. หน้า 16.

เอกสารภาษาต่างประเทศ

Rutherford H. Platt. (2004). Land use and society Geography, Law, and Public Policy. Washington, D.C. : Island Press.

Ruth Caldeira. (2008). "Up-dating Its Strategies and Amplifying Its Frames: The Landless Rural Workers' Movement in Brazil and the Displacement of the Struggle for Land." Perspectives on Global Development and Technology. Leiden: Brill Publishing.

สิ่งพิมพ์ออนไลน์

เกรียงศักดิ์  ธีระโกวิทขจร. (2552). บทเรียนจากมาบตาพุดและการเรียกร้องสิทธิชุมชน. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25 มิถุนายน 2552 http://www.bangkokbiznews.com สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556

ข่าว "ศาลปกครองสั่ง ก.ก.พ. ถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย" www.thairath.co.th วันที่ 24 มิถุนายน 2556

http://www.esaanlandreformnews.com สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

http://www.dnp.go.th สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

http://pachathai.com/journal/2010/03/28095 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

สัมภาษณ์

คุณสุมิตรชัย  หัตถสาร. ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น. วันที่ 16 พฤษภาคม 2556




* อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, น.บ., น.ม. (กฎหมายระหว่างประเทศ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

* โมเดลการคำนวณค่าเสียหายจาการทำให้โลกร้อนขึ้นของนักวิชาการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหลักเกณฑ์ในการคำนวณคือ

          1. การทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย คิดค่าเสียหาย 4,064 บาท/ไร่/ปี เป็นการคิดค่าใช้จ่ายในการซื้อแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ขึ้นไปโปรยทดแทน

          2. ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาท/ไร่/ปี

          3. ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาท/ไร่/ปี คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงความสูงของน้ำจาก 3 ส่วน คือ น้ำที่ดินไม่ ดูดซับน้ำจากการระเหย และฝนตกน้อยลง คิดเป็นปริมาตรน้ำทั้งหมดต่อพื้นที่ 1 ไร่ แล้วคิดเป็นค่าจ้างเหมารถบรรทุกเอาน้ำไปฉีดพรมในพื้นที่เดิม

          4. ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรทุกดินขึ้นไปและปูทับไว้ที่เดิม

          5. ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาท/ไร่/ปี คำนวณจากปริมาตรของอากาศในพื้นที่ที่เสียหายเอามาคูณด้วยความหนาแน่น (1.153 คูณ 10-3 ตัน/ลูกบาศก์เมตร) เพื่อหามวลของอากาศ แล้วใช้มวลหาปริมาณความร้อนที่ต้องปรับลด หลังจากนั้นเอาจำนวน B.Th.U. ของเครื่องปรับอากาศขนาด 1 ตัน (3,024,000 แคลอรี่/ชั่วโมง) มาหารเพื่อจะได้รู้ว่าต้องใช้เครื่องปรับอากาศเท่าไหร่ แล้วคิดค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับเดินเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อุณหภูมิของอากาศเย็นลงเท่ากับพื้นที่ป่าปกคลุม

          6. ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นค่าเสียหาย 5,400 บาท/ไร่/ปี

          7. มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท การทำลายป่าเบญจพรรณค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท และการทำลายป่าเต็งรังค่าเสียหาย 18,634.19 บาท

          เมื่อนำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด มีค่าเท่ากับ 40,825.10 บาท/ไร่/ปี มารวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 1-6 จำนวน 110,117.60 บาท/ไร่/ปี รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาท/ไร่/ปี แต่เพื่อความสะดวกของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท/ไร่/ปี

 (http://www.esaanlandreformnews.com และ http://www.dnp.go.th)

* ข้อเท็จจริงจากการสำรวจพื้นที่ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2555

* โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้ซากพืชเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ฟางข้าว แกลบข้าว ซังข้าวโพดแห้ง ฯลฯ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการสร้างกระแสไฟฟ้า

** ข้อเท็จจริงจากการสัมมนา “สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กับการส่งเสริมความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของประชาชน” ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านเวียงเดิม ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย วันที่ 18 มีนาคม พ.. 2553.

* ข้อเท็จจริงจากการสำรวจพื้นที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองในเมื่อปี 2553 ของผู้เขียนเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net