เกร็ดข่าว: เสียงจากเด็กอายุ 13 ทำไมไม่ใช้เฟซบุ๊ก

Ruby Karp นิวยอร์กเกอร์วัย 13 ปีเขียนบทความลงในเว็บ mashable เว็บข่าวเกี่ยวกับแวดวงโซเชียลเน็ตเวิร์ก บอกถึงสาเหตุที่ตอนนี้เพื่อนของเธอไม่มีใครใช้เฟซบุ๊กเลย

Ruby Karp บอกว่า เมื่อเธอเด็กกว่านี้ เธอเคยขอแม่ว่าอยากมีเฟซบุ๊ก (เฟซบุ๊กไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีสร้างแอคเคาท์) แต่พอตอนนี้ที่เธออายุ 13 แล้ว เธอสังเกตว่า มีบางอย่างแปลกไป เฟซบุ๊กกำลังเสียฐานวัยรุ่น ซึ่งเกิดจาก

- มีเน็ตเวิร์กอื่นๆ เข้ามา เธอบอกว่า ตอนอายุ 10 ปีที่ยังโตไม่พอจะมีเฟซบุ๊ก ก็มีอินสตาแกรมเกิดขึ้น ซึ่งพ่อแม่ของพวกเธอไม่รู้ว่ามันมีการจำกัดอายุผู้ใช้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อนๆ ของเธอก็เลยมีอินสตาแกรมของตัวเอง และเมื่อโตพอจะมีเฟซบุ๊ก พวกเธอก็ติดอินสตาแกรมเสียแล้ว ขณะที่บรรดาพ่อแม่ก็เหมือนจะมีแต่เฟซบุ๊กกัน

- ไม่มีเพื่อนเล่น - แม้เธอจะมีเฟซบุ๊ก แต่เมื่อเพื่อนของเธอไม่เล่นเพราะมองว่าเสียเวลา มันก็เปล่าประโยชน์ โดย "เพื่อน" ที่เธอมีกลับกลายเป็นยายของเธอ

- วัยรุ่นเป็นผู้ตาม ถ้าเพื่อนของเธอใช้แอปใหม่อย่างสแนปแชท (บริการแชร์ภาพพร้อมข้อความที่จะทำลายตัวเองอัตโนมัติ) เธอก็อยากมีบ้างเหมือนกัน "เราอยากได้อะไรที่มันอยู่ในกระแส และถ้าเฟซบุ๊กไม่อยู่ในกระแส วัยรุ่นอย่างเราก็ไม่สนใจ"

- เกิดปัญหากับผู้ปกครอง เมื่อทั้งพ่อแม่ของเธอและเพื่อนต่างก็มีเฟซบุ๊ก มันไม่ใช่แค่ว่าบางทีจะมีคนมาโพสต์บนวอลล์ของเธอประเภท "หวัดดีจ้ะ ที่รัก" แต่บางครั้งเพื่อนของเธอก็โพสต์รูปที่สร้างปัญหาตามมา

เธอยกตัวอย่างว่า ถ้าเธอได้รับเชิญไปงานปาร์ตี้ ซึ่งมีการดื่มเหล้าขณะที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย แม้ว่าเธอจะไม่ได้ดื่ม หรือแม้แต่ถือแก้ว แต่เธออาจถูกถ่ายภาพติดไปกับคนที่ดื่ม และต่อมา เมื่อภาพพวกนี้ถูกเผยแพร่ออกไป เมื่อแม่เธอมาเห็น เธอก็อาจจะตายได้

"มันไม่ใช่ความผิดของเฟซบุ๊ก แต่มันก็เกิดขึ้นที่นั่น" เธอบอก

- เฟซบุ๊กเป็นแหล่งใหญ่ของการกลั่นแกล้งในหมู่เด็กมัธยมต้น เด็กๆ มักจะคอมเม้นท์รูปอย่างร้ายกาจ หรือส่งข้อความแย่ๆ มาให้ เธอย้ำว่า มันไม่ใช่ความผิดของเฟซบุ๊ก แต่มันก็เกิดขึ้นที่นั่นอยู่ดี  และถ้าแม่เธอรู้ว่าเธอถูกแกล้งในเฟซบุ๊กล่ะก็ แม่ก็จะบอกให้เธอหยุดเล่นแน่ๆ 

- ซับซ้อนเกินไป - ตอนเธอยังเด็กกว่านี้ เธอเข้าไปใช้เฟซบุ๊กแม่ เพื่อเล่นควิซ เล่นเกม ตอนนั้นมันเป็นอะไรที่โดดเด่นและเจ๋งมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอมีเฟซบุ๊กของตัวเอง เธอพบว่าทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป จู่ๆ มันก็เปลี่ยนจากเฟซบุ๊กแบบเดิมเป็นไทม์ไลน์

เธอยกตัวอย่างทวิตเตอร์ ที่มีแค่สี่ปุ่มคำสั่ง และว่าคนน่าจะชอบดีไซน์ที่มันเรียบง่าย มากกว่า

- มันกลายเป็นพื้นที่โฆษณาขนาดใหญ่ เฟซบุ๊กจะดูว่าผู้ใช้สนใจอะไร จากสิ่งที่ผู้ใช้กด "ไลค์" และจะฟีดโฆษณามาให้ "ไม่ได้ว่านะ แต่เวลาดูฟีดข่าวในไทม์ไลน์ ฉันไม่ได้สนใจสินค้าใหม่ของแพนทีนเลย"

มันไม่ใช่เฟซบุ๊กแบบตอนเธอเจ็ดขวบอีกแล้ว มันยุ่งยากขึ้น "เราชอบมันแบบที่มันเคยเป็น ทำไมคุณถึงเปลี่ยนมันล่ะ" เธอถาม

- ท้ายที่สุด เธอบอกว่า เฟซบุ๊กพยายามมากเกินไป เธอบอกว่ามันคล้ายกับเวลาที่แม่ห้ามไม่ให้ทำบางอย่าง เธอจะยิ่งอยากทำ หรือเมื่อแม่สั่งให้ทำอะไร เธอก็ไม่อยากจะทำมัน

วัยรุ่นจะเข้าร่วมด้วยตัวเขาเอง ถ้าคุณยิ่งเสนอฟีทเจอร์บนเฟซบุ๊ก พวกเขาจะรำคาญและไปใช้โซเชียลมีเดียอื่นแทน เธอบอกพร้อมทิ้งท้ายว่า เธอรักเฟซบุ๊กจริงๆ และหวังว่า เฟซบุ๊กจะกลับมาได้อีกครั้ง

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท