Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ จี้ประเทศไทยต้องยกเลิก/แก้ไขม.112 และมาตรา 14,15 ของพ.ร.บคอมพิวเตอร์ ชี้เป็นการลงโทษจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ขัดกับอนุสัญญาของ ILO ซึ่งไทยเป็นภาคี

12 ส.ค. 56 - รายงานประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization- ILO) ซึ่งประมวลการใช้อนุสัญญาและรวมข้อเสนอแนะ ฉบับล่าสุด ได้มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงมาตรา 14 และ 15 ของพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากพบว่ามีผู้ที่ถูกดำเนินคดีและคุมขังด้วยกฎหมายดังกล่าวจากการแสดงออกทางการเมือง 
 
รายงานระบุว่า กฎหมายดังกล่าว ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกการบังคับใช้แรงงานปี 1975 มาตราที่ 1(a) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่รัฐไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ มาตรา 1(a) ระบุว่า ห้ามประเทศที่เป็นภาคี กระทำการกดขี่ หรือใช้การแรงงานบังคับเพื่อเป็นการการบังคับขู่เข็ญทางการเมือง หรือเป็นการให้การศึกษาทางการเมือง หรือเป็นการลงโทษต่อการแสดงออกทางการเมือง หรือทัศนะที่มีอุดมการณ์ขัดจากระบบทางการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
 
คณะกรรมการซึ่งจัดทำรายงานดังกล่าว ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายจำนวน 20 คน จากหลากหลายภูมิภาค ยังอ้างถึงรายงานของผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ที่ได้เดินทางมาเยือนไทยเมื่อต้นปีที่แล้ว ที่มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยจัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดเห็นในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
 
ประกอบกับการรวบรวมข้อมูลจากรายงานของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อนำเสนอในเวที Universal Periodic Review (กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิของสภาสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ จึงเรียกร้องให้รัฐไทยยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
 
"คณะกรรมการจึงเสนอแนะให้รัฐบาลใช้มาตรการที่จำเป็นในการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 14-15 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อให้บุคคลที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติ จะไม่ถูกลงโทษจำคุก ซึ่งจะมีการบังคับใช้แรงงาน" รายงานระบุ "คณะกรรมการขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่กระทำไปในเรื่องนี้ในรายงานครั้งต่อไปด้วย" 
 
 
หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าวได้ที่ท้ายข่าวนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net