Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
โครงสร้างทางการเมืองและวัฒนธรรมที่แปลก ความเป็นประชาชนที่แปลก และวิธีคิดในแวดวงวิชาการที่แปลก คือสาเหตุหลักของการแสดงออกทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง การใช้สองมาตรฐานทางศีลธรรมและกฎหมายในสังคมไทย
 
 
อ่านข่าวจากประชาไทที่ว่า “เอเชียบุ๊คส์ ซึ่งส่งถึงสาขาต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเก็บคืนหนังสือ 3 รายการ ภายในวันที่ 10 ส.ค. ประกอบด้วยนายในสมัยรัชกาลที่ 6 และ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อฯ ทั้งฉบับปกแข็งและปกอ่อน ด้วยเหตุผลว่า หนังสือภาษาไทยดังกล่าวมีเนื้อหาค่อนข้างเปราะบางกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงขอเรียกเก็บคืนหนังสือทั้ง 3 รายการ…” ทำให้สัมผัสชัดเจนถึง “ความแปลก” ในสังคมนี้
 
ที่ว่าแปลกไม่ได้หมายความว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เหนือความคาดหมาย ที่จริงมันคาดหมายได้อย่างเป็นปกติ แต่มันเป็นความปกติที่แปลกในวิถีของโลกสมัยใหม่ และในสังคมที่นิยามตนเองว่า “ปกครองด้วยระบบอบประชาธิปไตย” พูดตรงๆ คือ ความแปลกตามนิยามของผมหมายถึง
 
1. ความแปลกเชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมในสังคมที่นิยามตนเองว่าปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ยอมรับ ไม่เคารพเสรีภาพของประชาชนที่เขามีสิทธิ์จะรู้เรื่องอะไรก็ได้ที่เขาอยากรู้ มีสิทธิที่จะพูด จะอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลในเรื่องอะไรก็ได้ หรืออยากศึกษาเรื่องอะไรก็ได้ที่เขาอยากศึกษา ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกาย หรือไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล
 
2. ความแปลกข้อ 1 ทำให้เกิดความแปลกตามมาคือ ที่พูดกันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เป็นคำพูดที่ไร้ความหมาย เพราะนอกจากอำนาจสูงสุดจะไม่เคยเป็นของประชาชนจริง ยังถามได้ว่า “ประชาชน” มีอยู่จริงหรือเปล่า เพราะการจะเป็นประชาชนได้ต้องมีสิทธิ์เป็น “คน” ได้ก่อน คนนั้นต้องมีเสรีภาพในการใช้เหตุผลคิดในเรื่องที่อยากคิด พูด อภิปรายถกเถียงในเรื่องใดๆ ที่ตนเองสนใจได้ เพราะเสรีภาพและเหตุผลเป็น “เนื้อหา” (essence) ของความเป็นคน เมื่อโครงสร้างเชิงอำนาจและวัฒนธรรมดังกล่าวปิดกั้นลดทอนเสรีภาพในการใช้เสรีภาพและเหตุผลก็เท่ากับปิดกั้นลดทอนความเป็นคน เมื่อคนไม่ใช่ “เสรีชน” ก็เป็นประชาชนไม่ได้จริง
 
3. เป็นประชาชนไม่ได้เพราะเป็นเสรีชนไม่ได้ เพราะที่จริงเราอยู่ในประเทศ “ไม่เสรี” (not free) ดังคำแถลงขององค์กรฟรีดอมเฮ้าส์แถลงไปเมื่อต้นปีนี้ว่า เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ” และการใช้มาตรา 112 ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 
 
แต่ทั้งๆ ที่ในสังคมนี้ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก หรือไม่มี freedom of speech แต่เมื่อนักวิชาการบางคนเช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลชี้ว่า “สังคมไทยไม่มีเสรีภาพทางวิชาการอยู่จริง” แต่กลับแปลกอย่างยิ่งที่นักวิชาการหลายคน (อย่างน้อยที่เถียงกับ อ.สมศักดิ์ในหลายที่) พยายาม defend ว่าสังคมไทยมีเสรีภาพทางวิชาการ เพราะถึงไม่มีเสรีภาพศึกษาประเด็นสถาบันกษัตริย์ในมาตรฐานเดียวกับศึกษาเรื่องอื่นๆ ก็ถือว่าสังคมไทยมีเสรีภาพทางวิชาการในการศึกษาเรื่องอื่นๆ
 
แต่ที่จริงผู้โต้แย้งไม่เข้าใจว่าเสรีภาพทางวิชาการในการศึกษาเรื่องอื่นๆ โดยห้ามศึกษาประเด็นสถาบันในมาตรฐานเดียวกันได้นั้นไม่ได้อิงอยู่กับ “กรอบเสรีภาพทางวิชาการ” ตามนิยามของโลกสมัยใหม่ มันเป็นเพียงเสรีภาพทางวิชาการที่ชนชั้นปกครองอนุญาตให้มีได้ ไม่ต่างจากที่ชนชั้นปกครองอนุญาตให้คุณมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลสาธารณะอื่นๆได้หมดเลยแต่ห้ามแตะเรื่องสถาบันกษัตริย์ เสรีภาพที่ชนชั้นปกครองอนุญาตดังกล่าวนี้ไม่ใช่เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลที่อยู่บนพื้นฐานการยอมรับความเสมอภาคของมนุษย์ ยอมรับเสรีภาพที่เท่าเทียมในการคิด การพูด การเขียน อภิปราย ถกเถียงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ก็ได้ที่แต่ละคนสนใจ
 
การแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นแค่เสรีภาพตามการอนุญาตของชนชั้นปกครอง อะไรเป็นเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจึงเป็นความแปลกอย่างยิ่งในวงวิชาการ และเป็นความแปลกที่ทำให้ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังยืนยันการคงอยู่ของเสรีภาพตามการอนุญาตของชนชั้นปกครอง และกำลังปฏิเสธข้อเสนอของสมศักดิ์ที่ยืนยันว่าเสรีภาพทางวิชาการไม่มี เพื่อที่จะเรียกร้องให้ต่อสู้ร่วมกันเพื่อให้มีเสรีภาพทางวิชาการตามมาตรฐานโลกสมัยใหม่ที่ยืนยันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งในเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรมทางสังคมการเมือง และวิถีชีวิตประจำวัน
 
โครงสร้างทางการเมืองและวัฒนธรรมที่แปลก ความเป็นประชาชนที่แปลก (เพราะไม่ใช่คนที่เป็นเสรีชน) และวิธีคิดในแวดวงวิชาการที่แปลก (แปลกแยกจากหลักประชาธิปไตย/สิทธิมนุษยชนในโลกสมัยใหม่) ดังกล่าว คือสาเหตุหลักๆ ของการแสดงออกทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง การใช้สองมาตรฐานทางศีลธรรมและกฎหมาย เป็นต้นทั้งหลายทั้งปวงในสังคมไทย
 
เช่น นึกถึงวิธีต่อต้านอำนาจรัฐบาลกรณีค้านกฎหมายนิรโทษกรรมของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่พยายามใช้วิธีให้ม็อบเดินเข้าไปส่งในสภา ทำให้นึกถึงตอนที่เขาก้าวสู่อำนาจอย่างลุกลี้ลุกลนและทุลักทุเล ตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็เอา ประชุมโหวตเลือกนายกฯ นอกทำเนียบรัฐบาลก็เอา ยอมที่จะใช้ทหาร รถถัง ปืน กระสุนจริงรักษาอำนาจ โดยทั้งหมดนั้นเขาอธิบายว่าทำไปบน "จุดยืนแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งแตกแยกของบ้านเมือง" โดยยืนยันว่า "ตัวเขาและพรรคการเมืองของเขาไม่ใช่เงื่อนไขความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น"
 
วิธีคิดและการกระทำของคุณอภิสิทธิ์ในหน้าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ต้องนับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากว่าเป็นแบบนี้ไปได้อย่างไร หากเทียบกับประวัติการศึกษาและภาพพจน์นักการเมืองรุ่นใหม่ที่เขาพยายามสร้างขึ้นตั้งแต่แรก
 
แต่ในสังคมนี้ก็มีเรื่องแปลกอีกมาก เช่น คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็โชว์ความสามารถบางอย่างได้เกินคาด เช่น บทบาทที่ "นิ่งทางการเมือง" (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการแสดงภาวะผู้นำแก้ปัญหาประชาธิปไตย) ไม่โต้ตอบ ไม่ต่อล้อต่อเถียง ไม่ตกไปในเกมการเมืองแบบเก๋ากึ๊กของประชาธิปัตย์ ราวกับว่าคุณยิ่งลักษณ์ก็เก๋าเกมทั้งที่เป็นนักการเมืองสมัยแรก และอันที่จริงเธอก็เป็นนายกฯที่แปลกที่สุดของสังคมไทย เพราะลงเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้เป็นนายกฯเลย
 
และคุณทักษิณนี่ก็แปลก ทั้งที่อยู่นอกประเทศ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเลย แต่ก็ยังมีอำนาจรูปธรรมในการตั้งรัฐบาล กำหนดเกม และทิศทางการเมืองในประเทศ มีอิทธิพลสูงต่อนักการเมืองทั้งในพรรคนอกพรรค มีอิทธิพลต่อประชาชนจำนวนมาก ทำให้ผู้มีอำนาจในประเทศหนักใจ
 
แต่ความแปลกตามตัวอย่างที่ยกมา และความแปลก ฯลฯ ในทางการเมืองของประเทศ ที่จริงแล้วมีรากฐานมาจากความแปลกเรื่องเดียวคือ "ความแปลกที่มีการอ้างสถาบันในทางการเมืองตลอดมา อ้างสถาบันทำรัฐประหารตลอดมา แต่ห้ามแตะห้ามอภิปรายประเด็นสถาบันเหมือนกับอภิปรายนักการเมือง"
 
นี่อาจเรียกว่าเป็น "ความแปลกเชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรม" ที่เป็นมูลเหตุที่มาของความแปลกทางสังคมการเมือง อุดมการณ์ วิธีคิด การแสดงออกทางการเมืองทั้งหลายทั้งปวงในบ้านเรา
 
ล่าสุดรัฐบาลจะมีการเชิญบุคคลสำคัญต่างๆ มาพูดคุยกันหาทางออกให้กับประเทศ แต่นี่ก็เป็นการพูดคุยที่แปลกอีก เพราะเป็นการพูดคุยภายใต้การขีดเส้น "ห้ามแตะ" เหมือนเดิม 
 
ซึ่งเราก็รู้ว่าเส้นห้ามแตะนี้มันก่อให้เกิดความผิดปกติทุกเรื่อง เช่น มันทำให้นักโทษการเมือง (112) ไม่ใช่นักโทษการเมือง มันทำให้คนด่านักการเมืองไป อวยเจ้าไปรู้สึกว่าตนเองเป็นคนดีมีความกล้าหาญทางจริยธรรมรับผิดชอบสูงต่อบ้านเมือง มันทำให้นักศาสนา นักศีลธรรมดูดีที่อ้างศีลธรรมอวยเจ้าไป พิพากษาตัดสินนักการเมือง และคนธรรมดาไป ฯลฯ
 
แล้วล่าสุดมันก็แปลกที่ยังมีนักวิชาการออกมาพูดแบบเดิมๆว่า คนไทยพูดกันไม่รู้เรื่องเพราะอารมณ์โกรธ เกลียดกัน ทั้งๆที่ก็รู้ๆกันอยู่ว่าปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ "คนไทยโกรธเกลียดกันจนไร้ความสามารถจะพูดคุยกันให้รู้เรื่อง" แต่อยู่ที่ "การขีดเส้นห้ามพูดเรื่องสำคัญ" ต่างหาก มันจึงไม่มีทางจะพูดรู้เรื่องกันจริงๆ ได้สักที
 
แล้วมันก็ยิ่งแปลกเข้าไปอีกที่สังคมนี้ยอมรับ "ความแปลกเชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรม" กันอย่างปกติ ทั้งๆ ที่ยืนยันว่าสังคมไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คือยอมรับเรื่องแปลกเป็นเรื่องปกติไป (แต่ซีเรียสกับเรื่องปกติเช่นคนโกรธกันเกลียดกัน ฯลฯ ว่าเป็นเรื่องผิดปกติ)
 
แปลกจริงๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net