Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break->มักมีคนเข้าใจว่าทั้งฮิตเลอร์และนาซีนั้นเป็นพวกป่าเถื่อนที่หมกมุ่นแต่อำนาจและความรุนแรง อีกยังดื่มด่ำกับการใช้อำนาจเผด็จการในการควบคุมสังคมเยอรมันที่เต็มไปด้วยสีสันที่แห้งแล้ง จืดชืด หรือไม่ก็เป็นตัวตลกที่ไร้มันสมอง มีแต่พฤติกรรมที่โง่เง่าน่าขบขัน  ความเชื่อเช่นนี้ถูกผลิตซำผ่านสื่อกว่า 70 ปีที่ผ่านมาที่อันเป็นการค่อนข้างใส่สีของฮิตเลอร์ในด้านที่บิดเบือนจากความเป็นจริงว่าอารยธรรมของเยอรมันนาซีนั้นที่แท้มีความซับซ้อนและลุ่มลึกอย่างมาก เช่นเดียวกับตัวของฮิตเลอร์รวมไปถึงลูกน้องบางคนของเขาอย่างเช่นโจเซฟ เกบเบิลส์และอัลเบิร์ต สเปียร์สที่คือการผสมผสานระหว่างความของคนบ้าอุดมการณ์ กระหายเลือด กับความเป็นผู้คงแก่เรียน เป็นหนอนหนังสือและคลั่งไคล้สถาปัตยกรรมและงานศิลปะ

กระนั้นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างฮิตเลอร์ นาซีและดนตรีของบทความนี้ไม่ใช่เป็นการเชิดชู   ฮิตเลอร์แต่ประการใดแต่ต้องการจะบอกว่าคนที่มีอารยธรรมสูงไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีเลิศ ประเสริฐศรีเสมอไปอย่างเช่นนอกจากเยอรมันนาซีแล้วยังมีผู้ดีอังกฤษหรือนักรักไวน์แก้มศิลปะอย่างฝรั่งเศสที่เข่นฆ่าชาวอาณานิคมในประเทศโลกที่ 3 รวมกันน่าจะมากกว่าเยอรมันนาซีเสียอีกอันสะท้อนว่ายิ่งมนุษย์มี    อารยธรรมซับซ้อนละเอียดอ่อนหรือมีอุดมการณ์ที่สูงส่งราวกับว่าจะพามนุษย์ไปสู่ความเป็นพระเจ้าได้แล้ว ในสัญชาติด้านมืดของมนุษย์กลับไปไม่ถึงไหน อีกยังใช้อารยธรรมหรืออุดมการณ์ในการสร้างความชอบธรรมกับสิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้บทความนี้ยังน่าจะช่วยให้คำตอบหรือคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ของรัฐชาติยุคใหม่ที่นิยมนำวัฒนธรรมโดยเฉพาะดนตรีมาเพื่อสร้างความศรัทธาและความภักดีแก่ประชาชนด้วยท้วงทำนองอันทะลวงลึกไปถึงแก่นวิญญาณผสานกับเนื้อหาที่งดงามแต่เกินความจริงเพื่อเชิดชูรัฐและชนชั้นปกครอง  ส่วนนักดนตรี ผู้ประพันธ์เพลงก็เปรียบได้ดังพวกที่ชะตาชีวิตตกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิของทั้งอำนาจรัฐและประชาชนรวมไปถึงความโลภและเจตจำนงอิสระในการสร้างศิลปะของตน
 

ดนตรีคลาสสิกกับการโฆษณาชวนเชื่อ

วิธีการหนึ่งสำหรับรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในการสร้างลัทธิชาตินิยมอย่างเช่นเยอรมันนาซีคือการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ มีสีสัน เพื่อยกย่องความเป็นชนเผ่าอารยัน ไม่ว่าจะเป็นขบวนสวนสนาม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกายของประชาชนและศิลปะ สำหรับดนตรีจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะที่ทรงพลังในการเร้าอารมณ์ของประชาชนให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของรัฐนาซีจึงได้จัดตั้งกระทรวงดนตรีและองค์กรอื่นๆ อีกมากมายเพื่อรวบรวมนักดนตรีที่อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของชนชาติเยอรมัน ถึงแม้ดนตรีในยุคต้นศตวรรษที่ 20 จะมีความหลากหลายแต่ดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์สืบทอดความยิ่งใหญ่ตั้งแต่อดีตของเยอรมันก็คือดนตรีคลาสสิกเช่นเดียวกับที่รัฐไทยโฆษณาโขนหรือดนตรีไทยนั้นเอง  สำหรับฮิตเลอร์และโจเซฟ เกบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวงการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda Ministry) เห็นว่าคีตกวีที่แต่งดนตรีอันยอดเยี่ยมแบบเยอรมันมีอยู่สามท่าน คือนอกจากริชาร์ด วากเนอร์ แล้วยังมีลุกวิก  ฟาน    เบโธเฟน รวมไปถึงอันตัน บรุกเนอร์ทั้งสามคนล้วนแต่มีชีวิตอยู่ก่อนศตวรรษที่ยี่สิบทั้งสิ้น


ริชาร์ด วากเนอร์  (Richard Wagner)

ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีผู้สร้างสรรค์อุปรากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตกถือว่าเป็นสุดยอดขวัญใจของฮิตเลอร์  แม้ว่าเขาไม่ทันได้พบหน้าวากเนอร์เพราะวากเนอร์ได้เสียชีวิตในปี 1883 หกปีก่อนจอมเผด็จการจะเกิด  ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ขณะที่ฮิตเลอร์ยังเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหัวรุนแรงเล็ก ๆ คือพรรค German Worker's Party (ต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ ก็เปลี่ยนชื่อเป็นพรรค NSDAP หรือที่นิยมเรียกกันว่าพรรคนาซี) เขาเดินทางไปดูอุปรากรของวากเนอร์คือเรื่อง Rienzi ที่เมืองลินซ์ บ้านเกิดของเขา ในออสเตรีย เขาพูดกับเพื่อนว่า "นี่คือจุดกำเนิดของทุกสิ่ง" ฮิตเลอร์ย่อมหมายถึง แผนการที่เขามีต่อชาติและประชาชนเยอรมัน เขากำลังวาดภาพของเยอรมันที่ไม่ใช่ประเทศหากเป็นอาณาจักรเยอรมันอันยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับอาณาจักรโรมันซึ่งเป็นฉากของอุปรากรเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามไม่น่าประหลาดใจว่าฮิตเลอร์จะเข้าชม Rienzi และ Lohengrin กันไม่ต่ำกว่ายี่สิบสามสิบรอบจนเรียกได้ว่าฮิตเลอร์สามารถท่องบทพูดในอุปรากรสองเรื่องนี้จนขึ้นใจ ซึ่งก็เป็นอากัปกิริยาของคนที่คลั่งใคล้ในศิลปะมากกว่าเรื่องการเมือง และต่อมาเมื่อฮิตเลอร์เข้ามาเล่นการเมือง เขาก็นำเอาศิลปะเข้ามาผสมผสานกับการเมืองได้อย่างน่าทึ่ง เช่นสัญลักษณ์สวัสดิกะหรือชุดแต่งกายของทหาร รวมไปถึงดนตรีของวากเนอร์ ฮิตเลอร์คลั่งไคล้ในตัววากเนอร์ถึงกลับเขียนลงไปในหนังสือชีวประวัติของเขาคือ Mein Kampf ดังนี้

เมื่ออายุได้สิบสองขวบ ผมไปดูอุปรากรเป็นเรื่องแรกในชีวิตของผม นั่นคือ Lohengrin ในวินาทีนั้น ผมเกิดความลุ่มหลง ความคลั่งไคล้ในยามหนุ่มของผมที่มีต่อนายใหญ่แห่งไบรอยท์ (คือวากเนอร์) นั้นหาขอบเขตมิได้"

ในปี 1923 ฮิตเลอร์เดินทางไปเยือนวาห์นฟรีดคฤหาสน์ของวากเนอร์เป็นครั้งแรก ภายหลังจากไปคารวะหลุมฝังศพของวากเนอร์และโคสิมา เขาก็กล่าวว่า "ถ้าหากผมประสบความสำเร็จในการมีอิทธิพลต่อโชคชะตาของชาวเยอรมัน ผมจะทำให้ Parsifal (อุปรากรเรื่องหนึ่งของวากเนอร์) กลับมาสู่ไบรอยท์อีกครั้ง" นั่นคือเขาต้องการจะสนับสนุนบรรดาสาวกลัทธิวากเนอร์ที่ต้องการให้มีกฏหมายจำกัด Parsifal ให้เล่นเฉพาะในเมือง เท่านั้น แต่เมื่อมีอำนาจแล้ว ฮิตเลอร์กลับทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของเยอรมันไม่ได้เอื้อเช่นนั้นอีกแล้ว

วากเนอร์ถึงแม้จะเขียนบทความทางปรัชญาหรือทางศิลปะมากมายซึ่งจำนวนมากโจมตียิว แต่มีการถกเถียงทางประวัติศาสตร์ว่าจริงๆ แล้ว ฮิตเลอร์ได้อ่านผลงานเหล่านั้นหรือไม่ หรือว่าฮิตเลอร์เพียงได้รับแรงบันดาลใจทางอารมณ์ และเนื้อหาของอุปรากรจากวากเนอร์ผสมกับงานเขียนของปัญญาชนหัวรุนแรงที่ต่อต้านยิวในยุคของเขา แต่ที่แน่ ๆ วากเนอร์อาจจะต้องรับผิดชอบในการเป็นแหล่งหนึ่งที่ถ่ายทอดความเกลียดยิวให้กับฮิตเลอร์ ผ่านอุปรากรของเขาซึ่งมีสัญลักษณ์ของความเกลียดยิวแฝงอยู่หลายแห่งแต่ข้อแตกต่างระหว่างวากเนอร์และฮิตเลอร์ก็คือฝ่ายแรกยังไม่ถึงกลับต้องการจะทำลายพวกยิวให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้  ทำไมวากเนอร์ถึงเกลียดยิว ? มีเรื่องเล่าลือว่าในตอนวากเนอร์เดินทางไปทำมาหากินในปารีส เขาได้พบกับนักแต่งอุปรากรเยอรมันเชื้อสายยิวคนหนึ่งที่โด่งดังเกือบที่สุดในยุโรปคือจักโคโม เมเยอร์เบียร์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่วากเนอร์อย่างดี แต่ว่าจะด้วยความอิจฉาหรืออะไรก็แล้วแต่ วากเนอร์ก็เพียรโจมตีเมเยอร์เบียร์ในฐานะที่เขาเป็นพวกยิวเช่นเดียวกับเฟลิกซ์ เมนโดลส์เซห์นซึ่งวากเนอร์ชมชอบ ความรู้สึกเช่นนี้สอดคล้องกับกระแสต้านยิวซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปารีสและนักปรัชญาชาวเยอรมันที่ชื่ออาร์เทอร์ เชโปนเฮอร์กซึ่งวากเนอร์ให้ความสนใจอย่างมากก็โจมตียิว 

อุปรากรและดนตรีของวากเนอร์ถูกพวกนาซีปลุกเร้าให้คนเยอรมันเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับเทพตำนานซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเผ่าอารยันของตน ความอลังการของดนตรีทำให้ฮิตเลอร์เลือกใช้สำหรับงานพิธีต่าง ๆ เช่นงานเดินสวนสนาม  พวกนาซีเห็นว่าดนตรีของวากเนอร์เปรียบได้ดังวัฒนธรรมยุคเก่าอันดีงามท่ามกลางวัฒนธรรมอันต่ำช้าของเยอรมันในช่วงสาธารณรัฐไวน์มาร์ (1918-1933)  ก่อนที่นาซีจะขึ้นมามีอำนาจ   อุปรากรของวากเนอร์ที่ชื่อ  Die Meistersinger Von Nuernberg อันมีตัวผู้ร้ายเป็นยิว และหลายฉากมีประโยคพูดเรื่องการเมือง ก็ได้กลายเป็นการแสดงย่อยๆ ในงานชุมนุมของพรรคนาซีที่เมืองนูเรมเบิร์ก รวมไปถึงเรื่อง Die Walkure (หนึ่งในอุปรากรย่อยของ The Ring of Nibelungen) ตอนที่วากีรีย์สธิดาของเทพโวตันเหาะทะลุเมฆออกมา ก็ถูกฮิตเลอร์ใช้ในภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อถ่ายทำตอนที่เครื่องบินรบกำลังออกบิน  

นอกจากนี้อุปรากร Parsifal ซึ่งเป็นเรื่องที่วากเนอร์ดัดแปลงจากตำนานอัศวินที่ปกป้องรักษาจอกศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ไปเป็นหอกศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ มีการพูดถึงเรื่องชนเผ่าที่มีสายเลือดศักดิ์สิทธิ์ ที่ฮิตเลอร์ตีความเป็นสายเลือดของชนเผ่าอาระยันหรือเยอรมันนั่นเอง แต่เป็นที่น่าประหลาดใจมากว่าทำไมอุปรากรเรื่องนี้ถึงถูกเกบเบิลส์ สั่งห้ามไม่ให้แสดงในขณะที่พวกนาซีกลับผลิตโปสเตอร์เป็นรูปฮิตเลอร์ซึ่งทำท่าทางเหมือนอัศวิน Parsifal ที่กลับมาชำระล้างเลือดของชนเผ่าเยอรมันให้บริสุทธิ์และนกเขาสีขาวที่โฉบลงมาดังเช่นตอนจบของอุปรากรเรื่องนี้

สายสัมพันธ์ทางกายกับฮิตเลอร์ที่มีกับตระกูลวากเนอร์คือ ความใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกสะใภ้ของวากเนอร์ที่มีเชื้อสายอังกฤษนามว่าวินิเฟรด  เธอแต่งงานกับซิกฟรีดลูกชายของวากเนอร์และเข้ารับช่วงต่อกิจการของโรงแสดงอุปรากรที่ชื่อเฟสต์สปีลฮาสภายหลังจาก "นายหญิงใหญ่" โคสิมาภรรยาของวากเนอร์เสียชีวิตในปี 1930 วินิเฟรดช่วยเหลือฮิตเลอร์ตั้งแต่เขายังเป็นคนคลั่งไคล้วากเนอร์ผู้ยากไร้คนหนึ่งโดยการให้ความอบอุ่นดุจดังครอบครัวแก่เขาและ เป็นประจักษ์พยานต่อการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวของฮิตเลอร์ในปี 1926 ที่เมืองมิวนิก (Beer Hall Putsch) เธอยังได้กลายเป็นคนที่หลงใหลในนาซีเช่นเดียวกับลูกเขยของวากเนอร์อีกคนนามว่าฮุสตัน สจ๊วต แชมเบอร์เลน ซึ่งก็เป็นชาวอังกฤษเหมือนกัน ลูกๆ ของเธอถูกสอนให้เรียกฮิตเลอร์ตามชื่อเล่นว่า "คุณลุงหมาป่า" (Uncle Wolf) แต่ภายหลังจากที่เยอรมันแพ้สงคราม ดนตรีของวากเนอร์ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรสั่งห้ามแสดง เมืองไบรอยท์ซถูกปิดถึงหกปีเพื่อลบล้างความเป็นนาซี (Denazification) นอกจากนี้อิสราเอลยังสั่งห้ามไม่ให้มีการแสดงอุปรากรของวากเนอร์ในประเทศของตนจนถึงปัจจุบัน

ฮิตเลอร์เสียชีวิตในบังเกอร์กลางกรุงเบอร์ลินวันที่ 30 เมษายน 1945 บางทีก่อนตายเขาจะระลึกถึงอุปรากรของวากเนอร์ ที่เขาเคยไปดูนับครั้งไม่ถ้วนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน แล้วคงจะตระหนักว่า เขาช่างเหมือนกับกับ Rienzi พระเอกของเรื่องที่มีชื่อเดียวกันที่เห็นความพังพินาศในอำนาจของตนเมื่อประชาชนใต้การปกครองต่างก่อขบถท่ามกลางพระราชวังที่กำลังจะมอดไหม้จากเปลวไฟ ต่างกันก็เพียง Rienzi ถูกสังหารแต่ฮิตเลอร์เลือกที่จะฆ่าตัวตาย


เบโธเฟนและบรุคเนอร์  (Ludwig Van Beethoven และ Anton Bruckner)

วากเนอร์เชิดชูบูชาดนตรีของลุดวิก ฟาน เบโธเฟนมาก เขาเปรียบเปรยดนตรีของเบโธเฟนว่าเสมือนฝีเท้าของยักษ์ใหญ่ที่วิ่งไล่ตามหลังมา สิ่งเหล่านี้น่าจะส่งผลให้ฮิตเลอร์มีความชื่นชมในเบโธเฟนเช่นกัน   ฮิตเลอร์มีความเชื่อในปรัชญาของคตีกวีหูหนวกท่านนี้ที่ว่า พละกำลังคือศีลธรรมของบุรุษผู้ยืนอยู่เหนือมนุษย์ทั้งมวล ฮิตเลอร์ยังจินตนาการว่าตัวเองเป็นเบโธเฟนผู้ครอบครองจิตวิญญาณของชาวเยอรมันทั้งมวล เพราะชาวเยอรมันทั้งหลายต่างรักดนตรีของเบโธเฟน และถือว่าดนตรีของเขายิ่งใหญ่เหนือคีตกวีทั้งมวล  แต่ก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ใช้ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟนโดยเฉพาะกระบวนแรกในการเป็นสัญญาณแบบรหัสมอสในการสื่อสารระหว่างพวกต่อต้านนาซีในประเทศที่ถูกเยอรมันยึดครอง หมายเลข 5 มีตัวเลขแบบโรมันคือ V ซึ่งย่อมาจากคำว่า Victory 

สำหรับอันโตน บรู๊คเนอร์  เขาเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์ต่อ วากเนอร์อย่างมาก เขาเคยไปพบกับวากเนอร์ในปี 1865 ขณะที่ฝ่ายหลังเปิดการแสดงอุปรากรเรื่อง Tristan and Isode ที่เมืองมิวนิค และยังได้อุทิศ ซิมโฟนีหมายเลข 3 ให้กับวากเนอร์ บรุคเนอร์เป็นคีตกวีที่ถ่อมตนว่ามาจากชนชั้นรากหญ้า รักธรรมชาติและรักชาติเยอรมัน ซึ่งสามารถผสมผสานกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ในแนวคิดแบบชาตินิยมเชิงโรแมนติก (แนวคิดชาตินิยมที่สร้างความชอบธรรมจากภาษา วัฒนธรรม ประเพณี) ฮิตเลอร์จึงถือว่าบรุคเนอร์เป็นตัวแทนของประชาชนเยอรมัน กระบวนหนึ่งในซิมโฟนีหมายเลข 7 ของเขาได้รับการบรรเลงเพื่อเป็นเกียรติแก่การตายของฮิตเลอร์ในปี 1945


บทบาทของคีตกวี วาทยกรและนักดนตรีในยุคนาซี

นอกจากนี้ยังมีวาทยกรและนักดนตรีอีกจำนวนมากที่ต้องเอาตัวเองให้เข้ากับกระแสของพวกนาซีเพื่อเกียรติยศ เงิน หรือแม้แต่การเอาตัวรอดจากการถูกนำเข้าไปค่ายกักกัน อย่างเช่นเฮอร์เบิร์ต ฟอน คารายาน และ วิลเฮล์ม เฟิร์ตแวงเลอร์  ส่วนเคลเมนส์ กราสส์ วาทยกรชาวออสเตรีย ผู้เก่งกาจในการกำกับอุปรากรและเป็นวาทยกรหลักของ วงเวียนนาซิมโฟนีออร์เคสตร้าแทนเฟิร์ตแวงเลอร์  ฮิตเลอร์ชอบเขาถึงแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคนาซีและไม่ยอมให้คราสส์ย้ายที่ทำงานออกจากกระทรวงดนตรี

ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการดนตรีในยุคนาซีเรืองอำนาจยังมีคีตกวีชื่อดังคือริชาร์ด สเตราสส์ คีตกวีผู้ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโยฮันน สเตราสส์ ผู้ลูกเจ้าของเพลง Blue Danube  หากใครนึกภาพดนตรีของริชาร์ด      สตราสส์ไม่ออกก็ลองนึกถึงเพลงโหมโรงอันน่าระทึกใจของหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey นั่นคือเพลง   Also Sprach Zarathustra เช่นเดียวกับ Don Juan ซึ่งเป็น Programming Music (ดนตรีที่สื่อความหมายไปมากกว่าดนตรี) และอุปรากรเรื่อง อื้อฉาว คือ Salome และ Der Rosenklavier             (อัศวินดอกกุหลาบ) ของเขาก็โด่งดังไม่แพ้กัน

สเตราสส์ มีความสนใจในเรื่องดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่กระนั้นก็ยอมรับตำแหน่งประธานสภาดนตรีของเยอรมัน (Reich Music Chamber) เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจในปี 1933 เพราะตัวเองเห็นว่าเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับนักดนตรีที่เก่งกาจท่ามกลางรสนิยมดนตรีที่ไร้รสนิยมของประเทศนี้ สเตราสส์เป็นคนหัวดื้อ ไม่ยอมขับไล่นักดนตรีชาวยิวออกจากวงและพยายามช่วยเหลือญาติ ๆ ที่มีเชื้อสายยิว เขายังหันมาประณามพรรคนาซีแบบเป็นนัย ทำให้พวกนาซีจงเกลียดจังชังเขาในภายหลัง เกบเบิลส์ไม่ไว้ใจเขาเพราะเห็นว่าเขาเป็นพวกชอบฉวยโอกาส และถือว่าดนตรีของเขาต่ำช้า ในที่สุดพวกนาซีก็หมดความอดทนจนต้องไล่สเตราสส์ออกจากประธานสภาดนตรีของเยอรมัน และสั่งห้ามการแสดงดนตรีของเขากระนั้นสตราสส์ไม่ถูกนำเข้าตะแลงแกงเพราะชื่อเสียงระดับโลกของเขานี่เอง อาจเพราะพวกนาซีกลัวว่าจะทำให้นานาชาติมองตนในด้านไม่ดี  เป็นฉากที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อหน่วยทหารอเมริกันบุกเข้าไปในบ้านของเขาภายหลังจากสงครามเพิ่งสิ้นสุดลง  สเตราสส์ได้ประกาศตน ทำให้ทหารอเมริกันซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นนักดนตรีแสดงความคารวะและเขาก็ได้รับการปฏิบัติโดยดี

คีตกวีอีกท่านซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับสเตราสส์มีนามว่าฮันส์ ฟลิตซ์เนอร์ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นอัจฉริยะ และศิลปินผู้ฝักใฝ่ชาตินิยมหัวรุนแรง ที่เห็นว่าศิลปะทั้งมวลควรจะรับใช้ประเทศชาติ เขาเคยพยายามชักจูงให้กุสตาฟ มาห์เลอร์คีตกวีชื่อดังอีกคนเชื่อว่าลักษณะสำคัญของดนตรีวากเนอร์ก็คือความเป็นชาติเยอรมัน แต่มาห์เลอร์บอกว่าคีตกวีควรจะไม่สนใจชาติไปมากกว่าการสร้างสรรค์ดนตรี ทำให้  ฟลิตซ์เนอร์ถลาออกจากห้องด้วยความโกรธ กระนั้นเขาก็สร้างความขัดแย้งกับพวกนาซีโดยการคบกับวาทยกรที่มีเชื้อสายยิวคือบรูเนอร์ วอลเทอร์และยังยกย่องดนตรีของเฟลิกซ์ เมนเดลโซห์นซึ่งเป็นคีตกวีเชื้อสายยิว เช่นเพลงโหมโรงสำหรับบทละครของวิลเลียม เช็คเปียร์สคือ A Midsummer Night’s dream ถึงแม้ฮันส์จะได้ชื่อว่ามีอิทธิพลทางดนตรีต่อมาห์เลอร์และสเตราสส์ แต่ ปัจจุบันไม่มีคนจำชื่อเขาได้อีกแล้ว

สุดท้ายนี้ก็ต้องกล่าวถึงฮันส์ ฮิตเตอร์ส นักร้องอุปรากรเสียงเบสบาริโทน ที่ฮิตเลอร์โปรดปราน และถือว่าเป็นนักร้องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุค เขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคนาซีแต่ก็ทำในที่สุดที่คนเยอรมันทั้งประเทศต้องทึ่งเพราะสามารถล้อเลียนฮิตเลอร์ในงานเลี้ยงได้โดยเจ้าตัวไม่โกรธอันสะท้อนให้เห็นว่าฮิตเลอร์ก็ไม่ใช่เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเสียไปทุกอย่าง

 

 

ความหมายของคำศัพท์

อุปรากร (Opera) –โอเปร่าหรือการแสดงที่ใช้เสียงร้องและดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ

คีตกวี (Musical composer) -ผู้ประพันธ์เพลง

วาทยกร (Conductor) –ผู้นำหรือกำกับวงดนตรีออร์เคสตร้า

ไบรอยท์  (Bayreuth) เมืองในแคว้นบาวาเรียซึ่งมีชื่อเสียงสำหรับการจัดเทศกาลดนตรีของริชาร์ด วากเนอร์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net