Skip to main content
sharethis
 
กว่า 10 วันหลังเหตุการณ์น้ำมันดิบถูกพัดเข้าสู่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จากกรณีที่ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีซีจี หนึ่งในบริษัทลูกของบริษัท ปตท.รั่วไหล จนต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมาช่วยกันเคลียร์พื้นที่ สถานการณ์หน้าหาดเริ่มดีวันดีคืน คราบน้ำมันดำเคลือบผิวน้ำทะเลได้หายไปแล้ว
 
อ่าวพร้าวเมื่อมองจากบนเรือ
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ทหารและอาสาสมัครกำลังทำความสะอาดหาดทราย
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ทางรถเข้าอ่าวพร้าวเป็นช่องเขามีเพียงเส้นทางเดียว ถูกขึ้นป้าย "เขตพื้นที่ควบคุม"
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ภาพของอ่าวพร้าว ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบทั้งในส่วนชายหาด และโขดหินทั้งสองฝั่ง
วันที่ 6 ส.ค.56
 
 
ความพยายามกำจัดคราบน้ำมันที่ผ่านมา ประสบผลดีเพียงพอที่คณะผู้บริหาร บริษัท ปตท.จะพาสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ลงพื้นที่อ่าวพร้าว เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมให้สัมภาษณ์ท่ามกลางสภาพผืนทรายที่ถูกขุดราวถูกไถพรวน โดยระบุว่าขณะนี้อ่าวพร้าวค่อนข้างกลับสู่สภาวะเดิมแล้ว เหลือเพียงคราบน้ำมันที่อยู่ในชั้นทราย ซึ่ง ปตท.ใช้การบำบัดโดยธรรมชาติ โดยวิธีขุดรื้อหน้าทรายเพื่อให้น้ำทะเลชะล้างคราบน้ำมันให้ลอยตัวขึ้นมาแล้วซับคราบน้ำมันออก
 
เบื้องต้นคาดว่าต้องรื้อหน้าทราย 4 ครั้งตามหลักมาตรฐานโลก โดยดำเนินการวันละ 1 ครั้ง แต่หากยังเหลือคราบน้ำมันอยู่ก็จะดำเนินการต่อไปจนกว่าคราบน้ำมันหมด
 

 

 

 

 

 

 
พลิกทรายทั่วทั้งชายหาดขึ้นมา เพื่อใช้แผ่นซับน้ำมัน (Absorbant sheet)
ดูดซับน้ำมันที่ปนเปื้อนออกไปเป็นวันที่ 2 ต่อจากเมื่อวานนี้
วันที่ 7 ส.ค.56
 
นอกจากนั้น ในวันที่ 6 ส.ค.เช่นเดียวกัน นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) นำคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมันลงพื้นที่อ่าวพร้าว และร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการรีสอร์ทในอ่าวพร้าว 2 ราย ผู้แทนจาก ปตท. รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถึงแนวทางฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและการเยียวยาพื้นที่อ่าวพร้าว
 
ประชุมร่วม กรมเจ้าท่า ปตท. ผู้ประกอบการรีสอร์ท และหน่วยราชการต่างๆ
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการกังวลใจคือสภาพอ่าวพร้าวที่จะกลับมาสวยงามดังเดิมได้หรือไม่และความปลอดภัยจากคราบน้ำมันและสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำทะเล ซึ่งนายศรศักดิ์ให้ข้อมูลว่าในสัปดาห์หน้ากรมควบคุมมลพิษตรวจสอบคุณภาพน้ำ รวมทั้งหาดทรายอีกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดอ่าวพร้าวให้ลงเล่นน้ำได้ตามปกติหรือไม่ แต่หากยังไม่เหมาะสมก็จะเลื่อนออกไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แต่มั่นใจว่าจะฟื้นฟูอ่าวพร้าวให้กลับสู่สภาพเดิมและเปิดให้เล่นน้ำตามปกติก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยวในเดือน พ.ย.นี้
 
 อธิบดีกรมเจ้าท่าชี้แจงข้อมูล
วันที่ 6 ส.ค.56
 
นอกจากนั้น หากผลตรวจต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่าไม่มีสารปนเปื้อน ทั้งในน้ำทะเล และอาหารทะเล กปน.จะออกหนังสือ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปโปรโมตการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น เรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวกลับคืนมาอีกทางหนึ่ง สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ประกอบการรีสอร์ทในระดับหนึ่ง
 

 
นั่งเรือสำรวจรอบเกาะเสม็ด บริเวณพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกยังคงมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการอยู่บ้างบางส่วน
วันที่ 6 ส.ค.56
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในเกาะเสม็ดซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งร้านอาหาร บาร์ เกสเฮาส์ รีสอร์ท หาบเร่แผงลอย รถเช่า ประมงชายฝั่ง ฯลฯ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์น้ำมันดิบเข้าอ่าวพร้าว แม้ว่าจะคิดเป็นพื้นที่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด แต่การตีข่าวของสื่อมวลชนทำให้เกาะเสม็ดมีภาพเป็นพื้นที่อันตราย กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
 
ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่อ่าวพร้าว และ ปตท.จะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาด้วย
 
บาร์ ร้านเครื่องดื่มกลางคืนหงอยเหงา บางร้านปิดตั้งแต่ 3 ทุ่มเพราะไม่มีลูกค้า
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ร้านค้าบริเวณหน้าสถานีอนามัยเกาะเสม็ดผู้คน-นักท่องเที่ยวไม่คึกคัก
วันที่ 7 ส.ค.56
 
แม่ค้าร้านอาหารทะเลโชว์เทียบกุ้งที่กำลังจะเน่ากับกุ้งที่สั่งมาขายใหม่
พร้อมระบุตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คราบน้ำมัน ทั้งนักท่องเที่ยวและร้านอาหารไม่บริโภคอาหารทะเล
จนทั้งปลา กุ้ง ปูขายไปออกและเน่าเสียจนต้องทิ้ง
ส่วนหอยไม่นำมาขายตั้งแต่ต้นๆ ที่เกิดเหตุการณ์ เพราะหวั่นสารตกค้างเช่นเดียวกัน
วันที่ 7 ส.ค.56
 
 
เจ้าของกิจการคนหนึ่งโชวภาพถ่ายรีสอร์ทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่จะนำไปยื่นเรียกร้องค่าเสียหายจาก ปตท.
วันนี้ 7 ส.ค.56
 
อ่าวพร้าวยามเย็น น้ำเริ่มขึ้น
6  ส.ค.56
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net