Skip to main content
sharethis

 

7 ส.ค.56 ในช่วงค่ำหลังการโหวตเดินหน้าอภิปรายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)  มีการอภิปรายในเนื้อหาสาระร่างดังกล่าว ในส่วนที่โดดเด่นดูเหมือนจะเป็นการนำเสนอเหตุผลตัวแทนฝ่ายค้าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์”  และฝ่ายรัฐบาล “ชาวลิต วิชยสุทธิ์”  

โดยนายจุรินทร์หยิบยกเหตุผล 7 ประการที่ไม่รับหลักการร่างกฎหมายนี้ และนายชาวลิตหยิบยก 3 เหตุผลที่รับหลักการร่างกฎหมายนี้

 

รายละเอียดโดยสรุปมีดังนี้

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึง เหตุผล 7 ประการที่จะขอไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้  

ประการที่ 1 กฎหมายนี้มีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยการระบุรายละเอียดในเหตุผลและวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. เหตุผลการร่างกฎหมายที่ระบุว่า เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะแตกแยกทางความคิด มีการแบ่งฝักฝ่ายในบ้านเมือง ไม่เคารพระบอบประชาธิปไตย มีการประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู่การยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 นั้นเป็นการบิดเบือนกล่าวข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน การประท้วงก่อนการรัฐประหารไม่ได้เกิดจากการไม่เคารพประชาธิปไตยแต่ประท้วงการบริหารของรัฐบาลทักษิณ โดยผู้ยึดอำนาจอ้างเหตุผล 4 ประการคือ 1) สังคมแตกแยก มีการแบ่งฝ่ายรุนแรง 2) มีการทุจริต คอรัปชั่นในคณะรัฐบาล 3) การบริหารราชการแผ่นดินมีการแทรกแซงทุกองค์กร 4) มีการปล่อยให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างกว้างขวาง

2.เหตุผลในร่างพ.ร.บ.นี้ยังระบุอีกว่า จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพื่อการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง เนื้อหาดังกล่าวแปลความได้ว่า มีการอ้างเหตุผลนิรโทษกรรมเพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและสร้างความปรองดอง ทั้งที่การออกกฎหมายนี้ตรงข้ามกับเหตุผลที่กล่าวอ้างทั้งหมด

ประการที่ 2 มีการเขียน “หลักการ” หมกเม็ดอย่างน้อย 2 ประการ หมกเม็ดอันแรก ดูจากชื่อร่างกฎหมายเขียนว่า ร่างนิรโทษสำหรับผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน หลักการก็เขียนล้อไปเช่นนั้น แต่เมื่อพิจารณาที่เนื้อหากลับพบการหมกเม็ด เพราะรวมคดีก่อการร้าย โดยเฉพาะคดีก่อการร้ายที่มีบุคคลที่อยู่นอกประเทศเป็นผู้ต้องหารวมอยู่ด้วย อัยการได้สั่งฟ้องแล้วทั้งหมด 26 ราย จำเลยที่ 1 คือ บุคคลที่อยู่นอกประเทศกับพวกอีก 25 คน และมาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.นี้ เขียนครอบคลุมถึงบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ถือว่าได้รับการนิรโทษกรรมด้วย บุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ถูกส่งฟ้องก็คือ คนที่อยู่ต่างประเทศ

หมกเม็ดอันที่ 2 ผู้ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองนั้น มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ทำผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้มาชุมนุมแต่กล่าวด้วยวาจา ตามมาตรา 3 ของกฎหมายนี้แปลความได้ว่าบุคคลเหล่านี้เข้าข่ายการนิรโทษกรรมด้วย

ต่อไปหากไม่เข้าร่วมชุมนุมแต่ทำผิดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น โพสต์โจมตีสถาบัน คนเหล่านี้ก็ได้รับผลพวงจากกฎหมายนี้ด้วย ซึ่งอย่างน้อยที่สุดมี 4-5 คนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ประการที่ 3 กฎหมายฉบับนี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ยกตัวอย่าง มาตรา 30 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางการเมืองจะกระทำไม่ได้ แต่กฎหมายฉบับนี้เลือกปฏิบัติ เพราะระบุเงื่อนเวลาในการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนว่า 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 เท่านั้น เพราะต้องการกีดกันบางคดีที่มีลักษณะทำนองเดียวกันออกไปเช่น กรณีม็อบเสธ.อ้าย ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

มาตรา 122 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ระบุว่า ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่กฎหมายฉบับนี้มีการขัดกันหลายกรณี เช่น ในบรรดาส.ส.ที่ลงชื่อเสนอร่างนี้ ปรากฏว่ามี 5 คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ก่อแก้ว พิกุลทอง, พายัพ ปั้นเกตุ นอกจากนั้นยังมีผู้มีตำแหน่งทางการเมืองอีกราว 10 คนตั้งแต่รมต. ส.ส. เลขา รมต. ที่จะได้รับผลพวงจากการนิรโทษกรรมรวมถึงคนนอกประเทศ

มาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดเกณฑ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินว่า ต้องมีการขอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน กฎหมายนี้ฝ่ายค้านวินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเกี่ยวกับการเงิน เนื่องจากจะมีผลนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเผาทรัพย์สินราชการ เช่น เผาศาลากลาง ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกและปรับเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาท หากมีการนิรโทษจะกระทบทางการเงินของรัฐซึ่งเข้าข่าย ม.143  

ประการที่ 4 กฎหมายนี้ขัดหลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการว่าใครผิดต้องได้รับโทษ กฎหมายนี้กำลังทำให้คนทำผิดคดีอาญาโทษอุจฉกรรจ์กำลังจะได้ล้างผิด ฐานความผิดที่ครอบคลุมการล้างผิดตามกฎหมายนี้คือ คดีฆ่า คดีเผาทั้งทรัพย์ราชการและเอกชน คดีก่อการร้าย คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่เขียนเปิดเผยและหมดเม็ด นอกจากนี้กฎหมายนี้ยังขัดหลักสิทธิมนุษยชนตามที่องค์กรระหว่างประเทศบางแห่งออกมาตั้งข้อสังเกต

ประการที่ 5 กฎหมายนี้ไม่ได้นิรโทษกรรมคนจำนวนมากเรือนหมื่นเรือนแสนดังกล่าวอ้าง เพราะตัวเลขจริงๆ มีไม่เท่าไร และเป็นเรื่องคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น ข้อมูลของ ปคอป. ระบุว่า นปช.ที่ถูกดำเนินคดีและอยู่ในชั้นอัยการและชั้นศาลมีทั้งหมด 124 คดี , ศูนย์ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ระบุ จำนวนนักโทษการเมืองมีประมาณ 30 คน

ประการที่ 6 หากมีการรับหลักการกฎหมายนี้ สุดท้ายจะกลายเป็นหัวเชื้อหรือบันไดขั้นแรกที่จะ “ล้างผิดคนโกงเต็มรูป” แบบในอนาคต สิ่งที่กังวลและไม่เห็นด้วยตั้งแต่นับหนึ่งเพราะไม่มีหลักประกันใดว่าถ้ารับหลักการในวาระหนึ่ง แล้วขั้นแปรญัตติวาระสองจะไม่มีความพยายามเปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศเรียกร้องให้จัดตั้งสภาปฏิรูปจึงยิ่งเห็นชัดถึงเจตนาว่าสุดท้ายการประกาศตั้งสภาปฏิรูปเพื่อเดินคู่ขนานกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อจะล้างผิดยกเข่ง นอกนากนี้อดีตสอนเราว่าปฏิรูปการเมืองกี่ครั้งๆ ก็จบลงด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมาตรา 309 ที่เป็นก้างขวางคอการล้างผิดก็จะหายไป

ประการที่ 7 กฎหมายนี้ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความปรองดองอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อในทางการเมือง เพราะแค่นับหนึ่งก็ถึงขั้นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง  สะท้อนให้เห็นว่าสุ่มเสี่ยงจะเป็นการเดินหน้าไปสู่วิกฤตรอบใหม่  

นอกจากนี้รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาหรือแนวทางที่ประกาศไว้ อย่างน้อยประกาศว่าจะปฏิบัติตามแนวทาง คอป.และสัญญากับสภาว่าจะปฏิบัติตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า

สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกฯ ชี้แจงว่านายกฯ มาตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เมื่อยังมีการโต้แย้งไม่มีการอภิปรายจึงออกไปปฏิบัติราชการและส่งตนมาเป็นตัวแทน นอกจากนี้คดีการก่อการร้ายนั้นที่อ้างว่าอัยการฟ้องอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องใดๆ

 

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม กล่าวให้เหตุผลในการสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใน 3 ประเด็น คือ ตัวอย่างการนิรโทษในอดีต , ตัวอย่างจากต่างประเทศและการประยุกต์กับสถานการณ์ปัจจุบัน, การเสนอทางออกของแต่ละองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ประเด็นแรก ตัวอย่างในอดีตจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2475 ออกกฎหมายนิรโทษกรรม 22 ฉบับ ในจำนวนนี้ออกเป็น พ.ร.ก.4 ฉบับ และไม่นับรวมพ.ร.บ.ล้างมลทิน 8 ฉบับรวมถึงการพระราชทานอภัยโทษ เหตุผลของทั้ง 22 ฉบับเกือบทั้งหมดระบุว่าต้องการธำรงความสามัคคีของคนในชาติและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้ง 22 ฉบับ แบ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ตนเองและพวกพ้อง ส่วนใหญ่เป็นพวกทำรัฐประหารกว่าครึ่งหนึ่ง อีกส่วนเป็นการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ให้ครอบคลุมประชาชน นิสิตนักศึกษา เห็นชัดเจนในสมัยนายกฯ พระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่มีการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการบาดเจ็บล้มตาย เผาสน.นางเลิ้ง เผากรมประชาสัมพันธ์ เพราะพวกเขาไม่ได้มีเถยจิตเป็นโจร พวกเขาต้องการประชาธิปไตย ต้องการรัฐธรรมนูญ แต่เหตุการณ์เกิดจากแรงกดดันจากการถูกปราบ

จากการตรวจสอบการตรากฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมด พบว่า มีหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ตรา พ.ร.บ./ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม โดยมีเหตุผลเพื่อสร้างความสามัคคีคนในชาติดังกล่าวคือ  1.พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฐานกบฏและจลาจล ปี 2488, พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำการรัฐประหาร ปี 2490  ผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้ง 2 ครั้งคือ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นและเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  

แถลงการณ์วันที่ 9 พ.ค.2488 ของกรมโฆษณาการระบุเหตุผลการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมปี 2488 ระบุว่า เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปกครองแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ถาวรและเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ  ส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 2490 นั้น เนื่องจากมีกลุ่มทหารนอกราชการนำโดย พ.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหารัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ แทน ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวระบุชัดเจนว่ารัฐประหารครั้งนี้คณะผู้ก่อการมิได้ปรารถนาเป็นอย่างอื่น นอกจากขจัดแก้ไขความเสื่อมโทรมของชาติ ขจัดความเดือดร้อนของประชาชน จึงเห็นเป็นการสมควรให้มีการนิรโทษกรรม  

อย่างไรก็ตาม ยังมีการนิรโทษกรรมครั้งสำคัญอีก 2 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่มิได้รวมไว้เนื่องเพราะคงเห็นว่าไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย แต่นับเป็นการนิรโทษกรรมครั้งสำคัญของไทย นั่นคือ คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 66/23 นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ลงนามโดยพล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นการยุติสงครามกลางเมืองครั้งยิ่งใหญ่ หลักคิดของคำสั่งนี้คือปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หากดำเนินการแบบนั้นในสมัยนี้คงมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อ้างไว้อย่างสวยหรูในรายงาน คอป. เหตุใดจึงไม่เอามาใช้แก้ปัญหาบ้านเมือง ผลพวงคำสั่งนี้ทำให้มีคนดีมีคุณภาพออกมาจากป่ามาประกอบสัมมาอาชีพ หลายคนเป็น ส.ส. ส.ว. รมต. รองนายกฯ

อีกฉบับคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 นี้เอง โดยมาตรา 309 ที่ประชาชนทั่วไปทราบดีว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารเองและพวกพ้องตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและรวมไปถึงอนาคต ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เรื่องนี้จะหาทางออกได้แน่ถ้ายอมรับความจริงซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่สอง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศจะสามารถประยุกต์ใช้กับไทยได้อย่างไร จากที่เป็น กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติได้ศึกษาตัวอย่างหลายประเทศ ยกตัวอย่าง กรณีของเนลสัน แมนเดลลา การให้อภัยของท่านทำให้แอฟริกาใต้สงบสุขมาถึงทุกวันนี้ มีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเยียวยา กรณีอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมีการตั้งองค์กรฟื้นฟูเยียวยา, กรณีไอร์แลนด์เหนือ มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกคดีก่อการร้าย มีการฟื้นฟูเยียวยาทั้งตัวเงินและการฟื้นฟูอาชีพ ที่สำคัญ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ “อาทิตย์เลือด” อย่างเป็นทางการและสังคมก็ให้อภัย, กรณีประเทศรวันดา มีการสร้างกระบวนการทางวัฒนธรรมเพื่อรำลึกถึงการสูญเสียจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แลเพื่อไม่ให้ความรุนแรงหวนคืน อาทิ สร้างอนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ การประกาศวันหยุดแห่งชาติ มีการเยียวยาผู้เสียหาย

ประเด็นที่สาม บทบาทของแต่ละองค์กร จะเห็นว่าในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการตั้ง คอป.ขึ้น และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง ลงวันที่ 15 ก.ค.53 ระเบียบนี้มีถ้อยคำที่น่าสนใจต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพียงแต่เรายังไม่นำมาปฏิบัติ นั่นคือการระบุว่า ต้องมุ่งเน้นการใช้มาตรการเชิงสมานฉันท์รวมทั้งความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และความยุติธรรมทางสังคม กานฟื้นฟูและเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหายเพื่อสมานบาดแผลทางสังคมและสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และยอมรับความแตกตางทางความคิดเพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดองในประเทศไทย

หวังว่าเวทีปฏิรูปประเทศไทยของนายกฯ ยิ่งลักษณ์อาจจำแนวคิดนี้ไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความปรองดองต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระเบียบดังกล่าวมีศัพท์กฎหมาย 2 คำ คือ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และ ความยุติธรรมทางอาญา ทั้งสองหลักมีมาตรการลงโทษต่างกัน ผู้กระทำความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองหากนำหลักยุติธรรมทางอาญาที่ลงโทษแต่เพียงอย่างเดียวมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคงไม่สอดคล้องต่อปรัชญาในการลงโทษและไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ การให้ความยุติธรรมทางกฎหมายต่อทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมนั้นรวมถึงการนำหลักวิชาเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาศึกษาและปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ในไทย โดยใช้หลักเมตตาธรรมให้โอกาสทุกฝ่ายในวิถีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย

ในอดีตเคยมีการใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ชัดเจนคือ คำสั่ง 66/23 และพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหตุการณ์ปี  2516

มีการวิพากษ์กว้างขวางว่า ร่างกฎหมายนี้จะทำให้คดีตามมาตรา 112 จะหลุดไหม อยากทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิกว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเพื่อปกป้องสถาบันหลัก กฎหมายนิรโทษกรรมไม่อาจครอบคุลมถึงมาตรา 112 ส่วนการจะขอพระราชทานอภัยโทษนั้นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ในการเสนอให้มี กมธ.ศึกษาการปรองดองแห่งชาติ แต่ละพรรคการเมืองในขณะนั้นรวมถึงพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าจงรักภักดีต่อพรรคมหากษัตริย์ พรรคยืนยันชัดเจนว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 

หากดูบทบาทของรัฐบาล ในสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ตั้ง คอป.มาถึงสมัยยิ่งลักษณ์ก็ยอมรับการดำเนินการของคอป.ซึ่งมีจัดทำรายงานผลการศึกษาแยกได้ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการค้นหาความจริง เม.ย.-พ.ค.53 ส่วนที่สองเป็นรายงานสาเหตุแห่งความขัดแย้งและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความปรองดอง มีข้อสังเกตในรายงานของคอป.ที่คนไม่กล่าวถึงมากนัก คือ การวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมิใช่ของบุคคลใด และระบุสาเหตุประการหนึ่งคือ การละเมิดหลักนิติธรรมทั้งก่อนและหลังรัฐประหร คอป.เสนอให้มีการเยียวยาอย่างทั่วถึง คืนความชอบธรรมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันขัดหลักนิติธรรม และเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาขอโทษประชาชนที่เกิดเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายและจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้ง ปคอป.ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป. และสถาบันพระปกเกล้า จัดให้มีเวทีสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย 108 เวที

สำหรับสภาผู้แทนราษฎรเองได้เห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ผลการศึกษาได้รายงานสภาและครม.แล้ว  โดย กมธ.ฯ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้ารับไปศึกษาในหัวข้อ อะไรคือ รากเหง้าความขัดแย้งในปัจจุบันและมีกระบวนการใดที่จะทำให้คนกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ สถาบันพระปกเกล้าก็เสนอในระยะสั้นว่า ให้มีการจัดการความจริงของเหตุการณ์รุนแรง การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และนำรายงานของสถาบันไปจัดพูดคุยหาทางออกอย่างกว้างขวาง วันที่ 10 เม.ย.55 ครม.ก็รับไปดำเนินการต่อ โดยมีมติให้ ปคอป.ดำเนินการสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย และปคอป.ได้มอบต่อให้สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งไป ระหว่าง 10 มิ.ย.-28 ก.ค.56  มีเข้าร่วมเวทีทั่วประเทศ 101,683 คน เท่าที่สังเกตการณ์ไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายอื่น ดำเนินการตามหลักวิธีวิจัย ผลการสานเสวนามีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ข้อหนึ่งในหลายข้อ คือ ประชาชน 93.39% ขอให้คนไทยมีเมตตา ให้อภัย และปรารถนาดีต่อกันตามพระราชดำรัสของในหลวง

นอกจากนี้ชวลิตยังมีการหยิบยกคำพูดของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ระบุถึงความต้องการให้บ้านเมืองสงบ รวมไปถึงศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ที่ระบุว่าการชุมนุมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net