Skip to main content
sharethis

ในวันที่ 6 ส.ค.56  เวลา 9.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ไต่สวนนัดสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อม.5/2554 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย , นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ , พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. , บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด หรือ STEYR-DAIMLER-PUCH Spezial fahrzeug AG&CO KG (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร  เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยกทม.มูลค่า 6,687,489,000 บาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเวทีเสวนา “หลักนิติรัฐนิติธรรมกับการวางรากฐานประชาธิปไตย” ซึ่งจัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาชนธิปไตย ว่า คำพิพากษาคดีนี้สำคัญมากเพราะเป็นโอกาสที่ศาลจะสามารถปฏิเสธการรัฐประหารได้ โดยรื้อแนวศาลฏีกาที่เคยวางไว้ในปี 2502 ที่ใช้ในการรองรับรัฐประหารเรื่อยมา

ทั้งนี้ แนวศาลฎีกาดังกล่าวคือคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2502 ระบุว่า “ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2502 “ศาลฎีกาเห็นว่าคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนต้องถือว่าเป็นกฎหมาย”

นันทวัฒน์กล่าวว่า คดีรถดับเพลิงเกิดขึ้นในปี 2546 เริ่มต้นจากการร้องเรียนผ่านดีเอสไอ ป.ป.ช. ในปี 2549  ดีเอสไอส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช. แล้วก็เกิดการรัฐประหาร มีการตั้ง ป.ป.ช.ชุดใหม่ รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ที่มาทำประเด็นรถดับเพลิง เมื่อครบวาระ คตส.ได้ส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช.ทำต่อเมื่อส่งให้อัยการ อัยการส่งกลับโดยระบุว่าข้อเท็จจริงไม่ครบ แต่ ป.ป.ช.ก็ให้สภาทนายความเป็นผู้ฟ้องร้องเอง จะเห็นว่าคณะรัฐประหารไปเกี่ยวข้องทั้งกับการตั้ง คตส. และป.ป.ช.

เขากล่าวด้วยว่า แนวคำพิพากษาในการรองรับรัฐประหารไม่เคยเปลี่ยน จนกระทั่งในปี 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินคดีของคุณยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา 9 คน มีผู้พิพากษาอยู่ 1 คนที่เสียงแตกออกไป โดยมีประเด็นหลักที่น่าสนใจในคำวินิจฉัยส่วนตัว 5 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

ประเด็นที่ 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรค์ในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชนย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน  

ประเด็นที่ 2 การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไต

ประเด็นที่ 3 หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์แล้วเท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักษ์รักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักนิติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตัวเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ประเด็นที่ 4 ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้น เมื่อกาละและเทศเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ศาลจึงไม่อาจรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์

ประเด็นที่ 5 ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครอง คือคณะของ คปค. แต่คปค.เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังหาได้ก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดๆ อย่างรัฎฐาธิปัตย์

“ทั้งห้าประการนี้อยู่ในคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ตอนที่เห็นหนแรกเราก็มีความรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้เพราะว่าเรายืนหลักการเดิมมาตลอด แต่พอเห็นความเห็นนี้ก็มานั่งนึกดูว่าทำไมแค่หนึ่ง ถ้าเป็นสองเป็นสามหรือเป็นสี่ แล้วถ้าเป็นห้า มันจะเกิดอะไรขึ้น....ในคำวินิจฉันส่วนตนเราก็จะเห็นแล้วว่าศาลสามารถเลือกที่จะเดินไปในช่องทางที่จะคุ้มครองประชาธิปไตยได้ เพราฉะนั้นถ้าในวันอัที่ 6 สิงหาคม เราเห็นคำพิพากษาออกมาปฏิเสธเรื่องการรัฐประหารก็น่าจะดีใจ เพราะว่าต่อจากนี้ไปการรัฐประหารก็จะถูกรับรองโดยศาลว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้วก็กระทบกับระบบประชาธิปไตยของประเทศ” นันทวัฒน์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net