Skip to main content
sharethis

ปธ.สภาการ นสพ. แนะ 'เสริมสุข' ปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ยืนยันเสรีภาพสื่อ ส่วนเครือข่ายพลเมืองเน็ต ย้ำ แชร์-ไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม ด้าน 'ธิดา' ฟ้องแกนนำกลุ่มกองทัพปชช.โค่นทักษิณด้วยพ.ร.บ.คอม-ม.112

(5 ส.ค.56) พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นำรายชื่อ 4 บุคคล ที่เป็นผู้โพสต์ข้อความในลักษณะจะมีการปฏิวัติรัฐประหารและขอให้ประชาชนกักตุนน้ำและอาหารให้พร้อม  ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก มาเปิดเผยต่อสาธารณชน โดยรายชื่อ ประกอบไปด้วย

1.นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
2.นางสาววารุณี คำดวงศรี ใช้นามแผง warunee khamduangsri
3.Yo onsine เคยร่วมงานทำรายการ แดดร่มชมตลาด
4.นายเดชา ธีรพิริยะ แกนนำ นปช.ชลบุรี นามแฝง ปุ๊ชลบุรี นักสู้ธุลีดิน

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ บุคคลทั้ง 4 เป็นผู้โพสข้อความด้วยตนเองและในวันนี้จะออกหมายเรียก ทั้ง 4 คน มาสอบสวน หากพบว่ากระทำผิดจริงทางพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหา ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต้องระวางโทษไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000บาท และความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 116 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่กฏหมายแผ่นดิน เกิดความปั่นป่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร

นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบว่า มีผู้ใช้นามแผงว่า เดอะ เลดี้  และคณะเสนาธิการร่วม ได้โพสข้อความดังกล่าวและอยู่ระหว่างพิสูจน์ตัวบุคคล พร้อมฝากเตือนไปยังประชาชนห้ามโพส กดไลค์ หรือส่งต่อข้อความที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะจะถือผู้ว่าเป็นผู้กระทำผิดร่วม

วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เปิดเผยว่า ทาง ศอ.รส.ได้รับรายงานจาก พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ หรือส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จ หรืออันจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน หรือน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพสื่อ แนะรัฐหยุดเอาผิดคนใช้เน็ต
กายาทรีย์ เวนกิตสวารัน ผู้อำนวยการองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยมีพลวัตและแปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง มีคนกลุ่มต่างๆ ที่แสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลผ่านการประท้วง และก็เห็นเป็นที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การที่คนกลุ่มหนึ่งแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดีย และถูกมองว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดหรือก่อความวุ่นวายนั้น นับเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล และวิธีการเช่นนี้ ก็เป็นวิธีที่รัฐต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมือกับโซเชียลมีเดีย ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

เธอกล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน แน่นอนว่าประชาชนต้องการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง และรัฐควรมองว่าการแสดงออกนั้นเป็นสิทธิพื้นฐาน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติเช่นนี้

"ทางออกคือต้องให้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน และยิ่งมีมากเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น การพุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียถือเป็นการกระทำฉวยประโยชน์ทางการเมือง และเกินความจำเป็นของประโยชน์สาธารณะ" กายาทรีย์กล่าว


ปธ.สภาการ นสพ. แนะ 'เสริมสุข' ปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ยืนยันเสรีภาพสื่อ  
จักรกฤษ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูก ปอท. เตรียมแจ้งข้อกล่าวหาว่า ไม่ว่าคำสั่งแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังพนักงานสอบสวน ที่ระบุความผิดของเสริมสุข จะมาจากผู้ใด แต่มีความเห็นทั้งในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ยืนยันว่า เสริมสุขต้องปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในครั้งนี้ทุกกรณี และยืนยันว่านี่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่ใช่บุคคลใด โดยมีเหตุผล ได้แก่
     
1.ความผิดที่พนักงานสอบสวน ใช้เป็นฐานในการเตรียมแจ้งข้อหากับเสริมสุข คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าข้อความใดที่นายเสริมสุขโพสต์จะเป็นความผิด เพราะเป็นการอ้างถ้อยคำจากแผ่นปลิว ซึ่งนายเสริมสุข ขยายความต่อมาว่า เขาไม่เห็นด้วย กรณีจึงไม่ครบองค์ประกอบ คือทั้งเจตนาภายนอกในการแสดงออกซึ่งข้อความ และเจตนาภายในในการแพร่กระจายข้อความอันจะกระทบต่อความมั่นคง
      
2.เมื่อมีความชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิด และโดยสามัญสำนึกพนักงานสอบสวนย่อมรู้ดีว่ากรณีมิใช่การกระทำความผิด กรณีจึงน่าจะเป็นตรงกันข้าม คือพนักงานสอบสวนกำลังกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 คือการกระทำที่จะแกล้งให้บุคคลต้องรับโทษ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งกฎหมายต้องการคุ้มครองผู้สุจริต เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าคิดว่า ผู้ถูกกระทำจะต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองในเรื่องนี้ได้หรือไม่ อย่างไร
     
3.พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับ กรณีที่มีหมายเรียกสองครั้งแล้ว ผู้ต้องหายังไม่ได้มารายงานตัว และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงจะไปขออำนาจศาลออกหมายจับ แต่อาการลุกลี้ลุกลน คล้ายจะออกหมายจับในทันทีโดยยังไม่มีเหตุตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับ และไม่ควรปฏิบัติตามอำนาจที่ไม่ชอบธรรม
      
4.หากพนักงานสอบสวน ยืนยันที่จะทำตามหน้าที่ ก็ขอให้มาสอบสวน ณ ที่ทำการของผู้ต้องหา ต่อหน้าผู้บังคับบัญชา ทนายความ และเพื่อนสื่อมวลชน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม ดำเนินไปด้วยความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถทำได้


รมว.ไอซีที เตือนอีก ระวัง ไลค์-แชร์ ข้อความเท็จ อาจผิด พ.ร.บ.คอม
ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีในโซเชียลมีเดีย โพสต์ข้อความปลุกระดมหรือสร้างกระแสเกี่ยวกับการเมืองว่า ในการโพสต์ข้อความลักษณะดังกล่าว เข้าใจว่ามีความผิดเข้าข่าย พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งตามหลักการแล้วการกระทำใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงจะมีเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมายยับยั้งข้อความและดำเนินคดีต่อบุคคลดังกล่าวทันที

ทั้งนี้ การกระทำความผิดดังกล่าวจะมีตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงไอซีทีดูแลอยู่แล้ว โดยหากเจ้าหน้าที่มองว่าข้อความที่โพสต์ และเผยแพร่มีผลกระทบต่อความมั่นคงก็ถือว่ามีความผิดทาง พ.ร.บ.ความมั่นคง และยังต้องตรวจสอบอีกว่ามีความผิดใน พ.ร.บ.อื่นๆ อีกหรือไม่ โดยสุดแล้วแต่ว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนจะระบุว่ามีความผิดอะไร

"กระทรวงไอซีทีไม่ได้มีหน้าที่ระบุความผิดโดยตรง แต่เป็นผู้ให้ข้อมูล เพราะศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) มีหน่วยงานตรวจสอบครอบคลุมทุกด้านอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากมีการพิจารณาว่ามีความผิดทาง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ร้ายแรง เจ้าหน้าที่จะต้องเสนอนิติกรกระทรวงไอซีที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายพิจารณาขอความเห็นชอบจากรมต.ไอซีที ขออำนาจศาลเพื่อออกคำสั่งปิดเว็บเพจของผู้โพสต์" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว           

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงกลุ่มคนที่กดไลค์ หรือ กดแชร์ข้อความดังกล่าว อาจเข้าข่ายมีความผิดเช่นเดียวกับผู้โพสต์ แต่ต้องดูที่เจตนา ที่ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งถ้าไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยาก ควรระมัดระวังเพราะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะมีมาตรการควบคุมการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ ดังนั้น จึงอยากฝากไปยังประชาชนในเรื่องของการแสดงความเห็นทางการเมืองที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนสามารถแสดงสิทธิหรือข้อคิดเห็นได้ แต่ต้องคำนึงข้อกฎหมาย เพราะการใช้สิทธิช่องทางดังกล่าวไปละเมิดและขัดต่อกฎหมายก็ไม่ควรกระทำ ตอบ ส่งต่อ

 

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ย้ำ กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม
ด้านเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุในเพจเฟซบุ๊ก ถึงกรณี รมว.ไอซีที ออกมาเตือนผู้ใช้เน็ต ไม่ให้กดถูกใจหรือแบ่งปันลิงก์ข่าวลือรัฐประหาร เพราะอาจผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนำแถลงการณ์ของกลุ่ม เรื่อง "กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม" ที่เผยแพร่ครั้งแรกปี 2554 มาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเหตุใดการกดไลค์ไม่ควรผิดกฎหมาย

โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ออกเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 54 สืบเนื่องจากกรณี น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรี ไอซีที ระบุว่า การกดถูกใจ หรือแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้เขียน และกล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงกำลัง “ขอความร่วมมือ” ไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ เพื่อปิด “เพจหมิ่น” “วิดีโอหมิ่น” และสืบหาตัวผู้เขียนเนื้อหา และต่อมา มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เสนอให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูบทั้งเว็บไซต์ หากกระทรวงไอซีทีไม่สามารถจัดการไม่ให้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์ดังกล่าวได้

โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตหลายประการ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตแสดงจุดยืนว่า การกดไลค์ไม่ใช่อาชญากรรม โดยรัฐธรรมนูญไทยได้รับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงออกถึงความคิดความรู้สึก นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตนั้นคือการลิงก์ รัฐต้องไม่เอาผิดการแบ่งปันลิงก์ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่สามารถล่วงรู้และควบคุมการใช้งานได้ทั้งหมด ดังนั้น การระวางโทษกับการกดถูกใจ แสดงความเห็น หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งผู้ใช้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะทำให้เกิดการเผยแพร่ต่อหรือไม่ จึงขัดกับธรรมชาติของระบบ ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความกลัว และไม่สามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างปกติ

 

'ธิดา' ฟ้อง พ.ร.บ.คอม-112 แกนนำกองทัพปชช.โค่นระบอบทักษิณ
ด้าน ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.  อารี ไกรนรา ที่ปรึกษา รมช.พาณิชย์ และแกนนำส่วนกลาง พร้อมทีมทนายความ นปช. เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท. ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ ไทกร พลสุวรรณ คณะเสนาธิการร่วม ในฐานะโฆษกกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ กับพวกรวม 7 คน ในข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยกรณีดังกล่าว มีบุคคลโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของคณะเสนาธิการร่วม กล่าวหา ธิดาและกลุ่ม นปช. ด้วยถ้อยคำว่า “ธิดาเรียกร้องเปลี่ยนการปกครองไทยให้เป็นคอมมิวนิสต์ไร้กษัตริย์” ซึ่งเป็นเท็จโดยสิ้นเชิง และยังมีการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ กล่าวหา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และ อารีย์  ไกรนรา ว่ามีพฤติกรรมไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง อันเป็นการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนเพื่อที่จะดำเนินคดีกับบุคคลที่ดำเนินการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าว เป็นการปลุกระดมให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เพื่อสร้างสถานการณ์ดังกล่าว

 

 

บางส่วนจาก แนวหน้าเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์บล็อก นปช., เดลินิวส์ และ เพจเครือข่ายพลเมืองเน็ต 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net