ศรัทธาออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ต่อพุทธศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจาก:  http://mattersindia.com/buddhas-home-in-india-or-nepal

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนหนึ่งในสังคมไทยยึดถือและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากอดีจนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสนใจว่ากระแสการนับถือศาสนาพุทธมีความเอียงเอนไปในลักษณะไหน ศรัทธายังคงดำรงอยู่และเป็นที่พึ่งให้กับคนรุ่นใหม่ได้หรือศาสนาพุทธกำลังตกอยู่ในวิกฤติขาลง สังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนับถือศาสนาอย่างไร

สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดความเป็น “สังคมโลกาภิวัฒน์” สังคมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันมากขึ้น มีความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาล ทั่วทั้งโลก ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งการเคลื่อนไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์

คนรุ่นใหม่ในช่วงยุคนี้สนใจและอยู่กับสังคมออนไลน์มากพอกับอยู่ในสังคมจริง และเป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธที่จะอยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ เนื่องจากการไม่สนใจหรือใส่ใจสังคมออนไลน์อาจทำให้กลายเป็นคนที่ล้าหลังทางข้อมูลข่าวสาร แม้ในบางครั้งการที่คนรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนตำหนิถึงการใช้เกินความจำเป็น มองว่าคนรุ่นใหม่หมกมุ่นอยู่ในสังคมเสมือนจริงเกินไป ผู้ใหญ่เป็นห่วงและพยายามเตือนคนรุ่นใหม่ให้สนใจเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติตนให้เป็นพุทธศาสนิกชนของศาสนา

สังคมออนไลน์เป็นการส่งและรับข้อมูลอย่างรวดเร็ว ข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับศาสนา ถูกแชร์และโพสต์ใน Facebook, Youyube, Twiter ฯลฯ แน่นอนในโลกเสมือนจริงนี้ย่อมมีคนที่หลากหลายทั้งเคารพศรัทธาศาสนาพุทธและไม่ได้สนใจศาสนาพุทธ เมื่อเกิดปรากฏการณ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธขึ้นด้วยความเร็วของสังคมออนไลน์ทำให้ปรากฏการณ์เหล่านั้นถูกส่งต่อไปถึงคนรุ่นใหม่ เมื่อได้รับข้อมูลที่รวดเร็วบางครั้งทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ทันได้ตั้งคำถามหรือคนหาข้อมูลความจริงแต่เชื่อชุดข้อมูลที่ได้รับ

เมื่อคนรุ่นใหม่รับชุดข้อมูลที่ไม่ทันได้ผ่านกระบวนสืบค้นและวิเคราะห์ข้อเท็จจริงย่อมส่งผลต่อความเชื่อและศรัทธาในพุทศาสนา การล้อกันโดยยกเอาตัวอย่างนักบวชในศาสนาพุทธหรือพระสงฆ์ที่กระทำตัวไม่เหมาะสมและถูกแชร์ในสังคมออนไลน์ทำให้คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายศาสนา กรณีพระขี่เครื่องบินเจ็ท สวมแว่น ใช้แบรนด์เนม พระสะพายย่ามสีชมพู พระตั้งวงดื่มของมึนเมา พระเสพสารเสพติด พระมมั่วสุมกามกับหญิง เป็นต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่อให้ศาสนาถูกมองว่าเสื่อม พระทำตัวไม่เหมาะกับเป็นผู้ที่สวมผ้าเหลือง คนรุ่นใหม่เสพข้อมูลในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากในสังคมออนไลน์ ภาพด้านลบที่มากกว่าด้านบวกทำให้ความรู้สึกศรัทธาของคนรุ่นใหม่ลดลง มองว่าศาสนาพุทธเป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไรมากมาย

การนำภาพที่สื่อไปทางลบมาโพสต์ส่งต่อกัน หรือการตัดตกแต่งภาพพระไปในลักษณะตลกขบขันแสดงถึงอารณ์เยาะเย้ยสนุกสนาน หรือการคอมเม้นด่าเสียดสีกรณีทางศาสนาที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นวัฒนธรรมปกติของคนรุ่นใหม่ในสังคมออนไลน์ ภาพพระที่เป็นไปในทางบวกไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่ากับภาพที่ถูกตัดต่อในทางตลกขบขัน พิจารณาจากยอด Like ในหลายแฟนเพจมากมาย เหล่านี้คนรุ่นใหม่อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้คิดอะไร แต่ในขณะเดียวกันนั้นได้ทำให้คนรุ่นใหม่เสื่อมศรัทธาพุทธศาสนาจากความคิดของตนเอง บางครั้งการเข้าวัดฟังธรรมกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่การเข้าวัดเพื่อเวียนเทียนกับคนรักเป็นสิ่งที่ต้องไปมากกว่า หรือการทำบุญปล่อยสัตว์เป็นการไปเพื่อการถ่ายรูปและแชร์สถานะมากกว่าการศรัทธาในการให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์โลก เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็หาว่าคนรุ่นใหม่ห่างศาสนา อนาคตสังคมต้องประสบกับปัญหาความสงบ ระดับจิตใจของคนรุ่นใหม่จะลดลง หลักคำสอนของศาสนาจะไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่อย่างจริงใจ การค้นหาแก่นแท้ของศาสนาจะถูกละเลยและมองข้าม คนรุ่นใหม่จะไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนาได้อย่างมีเหตุมีผล

ในกระแสที่เปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่ต้องพยายามฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ตระหนักถึงการวิเคราห์ข้อมูลอย่างมีเหตุมีผล ออกมาปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ พิจารณาหลักคำสอนของพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นในสังคม เพื่อนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจ แม้คนรุ่นใหม่จะไม่ศรัทธาในพุทธศาสนาก็มิใช่ความผิด แต่อย่าวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่เข้าใจในหลักคำสอนของแต่ละศาสนา ให้ค้นหารายละเอียดของแต่ละเรื่องราวที่เกิดขึ้น มิใช่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเพียงเพราะเป็นกระแสหรือความจำใจเข้าจากการถูกบีบบังคับ ให้ขยับตัวเองเข้าไปเรียนรู้เรื่องราวของศาสนาด้วยความศรัทธา เพราะท้ายที่สุดศาสนาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ศาสนาทุกศาสนามุ่งหวังให้ผู้ที่นับถืออยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การโพสต์หรือแชร์สถานะเกี่ยวกับศาสนาคนรุ่นใหม่จะต้องตระหนักด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคมออนไลน์

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท