พฤกษ์ เถาถวิล: การเมืองเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อเพลิงชีวภาพ 

เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel)[1] หมายถึงเชื้อเพลิงที่ผลิตจากชีวมวล (biomass) หรือสิ่งมีชีวิตได้แก่พืชและสัตว์ เชื้อเพลิงชีวภาพที่สำคัญได้แก่ เอทาทอล ซึ่งผลิตได้จากพืชหลายชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เอทานอล เมื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินจะได้เชื้อเพลิงที่เรียกว่า แก๊สโซฮอล์ เชื้อเพลิงชีวภาพอีกประเภทหนึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล ผลิตจากปาล์มน้ำมัน เชื้อเพลิงชีวภาพ จัดเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานทดแทนหรือบางกรณีเรียกว่าพลังงานทางเลือก ส่วนพืชที่นำมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมักถูกเรียกว่า “พืชพลังงาน”


ที่มาภาพ: http://www.china.org.

การเติบโตของเชื้อเพลิงชีวภาพ เห็นได้จากการเพิ่มอัตราการใช้ของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา  ผู้บริโภคเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลก ระหว่างปี ค.ศ. 2000 -2010 ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นจาก  285.2 พันบาเรลต่อวัน เป็น 1,418.5 พันบาเรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17.9 ต่อปี  และในปี 2010 บราซิลบริโภค 381.9 พันบาเรลต่อวัน จีน 38 พันบาเรลต่อวัน สำหรับประเทศไทยผู้บริโภคอันดับเก้าของโลกอยู่ที่ 7 พันบาเรลต่อวั[2]

สหรัฐอเมริกามีแผนเพิ่มการใช้เอทานอลจาก 9 พันล้านแกนลอน/ปี ในปี 2008 เป็น 36 พันล้านแกนลอน/ปี ในปี 2022 ฝ่ายสหภาพยุโรปมีแผนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งเพิ่มจากร้อยละ 2 ในปี 2005 เป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2020[3] สำหรับประเทศไทย กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ค.ศ.2012-2021)  โดยกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศร้อยละ 25 โดยเฉพาะกำหนดให้ใช้เอทานอล 9 ล้านลิตรต่อวัน และ และไบโอดีเซล 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ในปี ค.ศ. 2021[4]  ในฐานะผู้ผลิต ประเทศไทยยกระดับเป็นผู้ผลิตเอทานอนระดับนำของเอเชีย ผลผลิตของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ในช่วง 5 ปี (ค.ศ. 2005 – 2010) และในตลาดผู้ผลิตในเอเชียแปซิฟิก การผลิตของไทยเพิ่มจากร้อยละ 6 ในปี 2005 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2010 ของผลผลิตในตลาดทั้งหมด[5]

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อเพลิงชีวภาพ มาจากสาเหตุพื้นฐานคือ ความกังวลต่อการขาดแคลนเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะหมดไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานที่สร้างขึ้นใหม่ได้ มันจึงถูกมองว่าเป็นทางออกสำหรับความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต ในกรณีประเทศไทย ซึ่งมีภาระการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงสูงมาก เชื้อเพลิงชีวภาพจะเป็นทางออกสำคัญจากภาระดังกล่าว 

นอกจากนั้นยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกหลายประการ คือมีข้อเสนอว่า เชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวภาพปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า จึงช่วยลดปัญหาโลกร้อน เชื้อเพลิงชีวภาพจึงเป็นการพัฒนาที่ไม่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ  การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพยังจะช่วยให้ราคาพืชผลการเกษตรดีขึ้น และช่วยสร้างงานสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย เชื้อเพลิงชีวภาพจึงถูกมองว่า เป็นทางออกที่ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย (win-win solution)  

แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เรื่องธุรกิจผลประโยชน์มหาศาล คงไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา แต่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจผลักดัน  การให้ข้อมูลอาจแฝงด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และยังเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ใครจะได้ และใครจะเสียประโยชน์

 

ข้อถกเถียงเรื่องผลกระทบ

ภารกิจพื้นฐานประการหนึ่งของศาสตร์คือ “การวัด” (measurement) เพื่อหาค่าที่เที่ยงตรง สำหรับนำผลที่ได้ไปใช้ขั้นต่อไป เช่นประเมินผลกระทบ หรือความคุ้มค่า แต่ก่อนอื่นมีปัญหาว่าเราจะเชื่อถือการวัดของใครดี ?         

ข้อเท็จจริงเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพมีอยู่ว่า ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของหลากหลายสาขาวิชาความรู้ นับตั้งแต่ด้านพลังงาน นิเวศวิทยา เศรษฐศาสตร์ การเกษตร การพัฒนาชนบท ในแต่ละสาขาวิชายังมีค่าย แต่ละค่ายมีทฤษฎีและวิธีการวัดที่แตกต่างกัน นักวิชาการแต่ละสาขาวิชายังสังกัดองค์กรแตกต่างกัน  บ้างสังกัดฝ่ายวิจัยของบริษัทผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพชั้นนำ บ้างสังกัดหน่วยงานรัฐบาล  บ้างสังกัดองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม บ้างเป็นนักวิจัยอิสระ

ภาพสะท้อนที่ดีของสงครามความรู้อาจเห็นได้จาก การกำหนดเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานของเชื้อเพลิงชีวภาพ ในประเด็นเรื่องความยั่งยืน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ของหลายองค์กรในหลายวาระโอกาส เช่น The Roundtable on Sustainable Biofuels (RSB), The Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO), Global Bioenergy Partnership (BGEP),EU. Renewable Energy Directive[6] เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าประหลาดใจว่า เรื่องเดียวกันอาจมีคำตอบที่สวนทางกัน เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งสรุปข้อดีของเชื้อเพลิงชีวภาพต่อสิ่งแวดล้อมว่า การเผาไหม้ของเอทานอลที่ผลิตจากธัญพืช ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ในอัตราร้อยละ 13 และหากเป็นเอทานอลที่ผลิตจากอ้อย จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงร้อยละ 90  ในทำนองเดียวกันกรณีของไบโอดีเซล ก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลจากฟอสซิลในอัตรา ร้อยละ 40 - 60[7]

ในขณะที่งานวิจัยอีกหลายชิ้นเสนอในทางตรงกันข้ามว่า  เชื้อเพลิงชีวภาพมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล[8] และอาจปล่อยพลังงานออกมาน้อยกว่าที่ใช้ในกระบวนการผลิตของมัน[9]  “การผลิตและการขนส่งเชื้อเพลิงชีวภาพ  ในหลายกรณีอาจทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล”[10] และ “ไม่เพียงไกลจากข้ออ้างว่าจะช่วยลดภาวะโลกร้อน  แต่เชื้อเพลิงชีวภาพกลับจะสร้างปัญหาการปกคลุมของคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งใหญ่กว่าเดิม”[11]

เมื่อพิจารณาในประเด็นปลีกย่อยจะพบว่า การวัดขึ้นกับการกำหนดขอบเขต/ตัวแปร/การประเมินคุณค่าของสิ่งที่ต้องการวัด เช่นการพิสูจน์ว่าการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ก็มีคำถามว่า จะประเมินคุณค่าอย่างไร สำหรับการปลูกพืชพลังงานซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่ทำลายถิ่นที่อยู่และความหลากหลายของอาหารและยา และสรรพสัตว์, การจัดการแปลงการผลิตในเงื่อนไขต่างกันยังให้ผลต่างกัน ขึ้นกับประเภทพืชที่ปลูก ประสิทธิภาพการจัดการฟาร์ม การจัดการของเสีย และที่ดินที่ใช้ ลำพังกรณีที่ดินก็เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะขึ้นกับคุณภาพดิน การได้ที่ดินมาและประเภทของที่ดิน เช่นที่ทำการเกษตรมาก่อน ที่ชุ่มน้ำ หรือป่าบุกเบิกใหม่ เพราะการใช้ที่ดินต่างประเภท (เช่นการถางป่า) มีผลต่อการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แตกต่างกัน การชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนฯด้วยพืชพลังงานจึงต้องคิดในเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป    


ที่มาภาพ: http://foodorfuel.weebly.com/

สำหรับเรื่องราวบางประเด็นอาจถูกจัดให้มีความสำคัญอันดับรอง เช่นกรณีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร  ดังการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่ไปลดพื้นที่ปลูกข้าวและพืชอาหาร ทำให้กระทบความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้าน   อันที่จริงเรื่องนี้มีการวิจัยของบางสำนักชี้ว่า การขยายตัวของพืชพลังงานมีผลกระทบต่อการผลิตอาหาร ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนจน[12] และยังมีการประเมินว่าในอนาคตปัญหานี้จะรุนแรงขึ้น ตามการขยายตัวของพืชพลังงาน แต่ก็ดูเหมือนว่าสำหรับภาครัฐและธุรกิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเท่าใดนัก     

กล่าวถึงที่สุด การวัดอาจนำเราไปสู่เขาวงกตทางวิชาการ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบแน่นอน หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ต้องการคำตอบแบบใดก็ได้ อยากให้เรื่องอะไรสำคัญกว่าอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการคำตอบเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านเชื้อเพลิงชีวภาพ  

 

พลังผลักดัน

เราจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ดีขึ้น เมื่อมองไปที่พลังผลักดันระดับโลก เบื้องหลังความเชื่อเรื่อง  win-win solution ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางพลังงาน การแก้ไขความยากจน เราจะพบกลุ่มทุนระดับโลกทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ทำเงินกันอย่างคึกคัก การเกิดอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพคือ “พื้นที่ใหม่” ของผลประโยชน์มหาศาล ในแง่หนึ่งเรื่องนี้เป็นโอกาสของประเทศมหาอำนาจและกลุ่มทุน ที่ต้องการหลุดพ้นจากอิทธิพลของกลุ่มโอเปกที่ครอบงำธุรกิจพลังงานมานาน  สถานการณ์ในปัจจุบันอาจเทียบกับยุคตื่นทอง (goal rush) โดยเรียกว่าเป็นยุคตื่นเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel rush)

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบันมีรูปแบบสอดคล้องกับลัทธิพาณิชย์นิยมในศตวรรษที่ 16[13] ที่การขยายตัวทางการค้าเกิดจากการสนับสนุนของรัฐ โดยการเปิดทางและสนับสนุนการค้าและการลงทุนในประเทศโพ้นทะเล จากนั้นกลุ่มทุนได้เดินทางไปลงทุนค้าขาย ในกรณีนี้จะเห็นได้จากการตั้งเป้ากำหนดนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพของรัฐบาลในยุโรปและสหรัฐอเมริกา  ทำให้กลุ่มทุนแข่งขันกันออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ

แต่กรณีนี้มีความซับซ้อนกว่านั้น ในบริบทโลกาภิวัตน์  ธุรกิจเกิดขึ้นบนแกนความสัมพันธ์ระหว่างซีกโลกเหนือ-ใต้ ซีกโลกเหนือเป็นผู้ลงทุนและบริโภค ส่วนซีกโลกใต้เป็นผู้ผลิต ในซีกโลกเหนือเกิดความร่วมมือกันอย่างซับซ้อนของกลุ่มทุนระดับโลก ระหว่างกลุ่มทุนพลังงานทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ และกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกษตร น่าสังเกตว่าจากเดิมที่ทุนพลังงานกับทุนอุตสาหกรรมเกษตรค่อนข้างแยกขาดจากกัน แต่ในเรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายหันมาจับมือกัน ในระดับรัฐ เกิดข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างรัฐในซีกโลกเหนือและใต้ เครือข่ายธุรกิจได้แผ่ลงไปในระดับประเทศและท้องถิ่น เกิดการร่วมทุนของทุนระดับชาติ และการประสานกับทุนท้องถิ่น ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียมที่ดินและแรงงาน  ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้[14]

- การขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอินโดนิเชีย โดย บริษัทในอินโดนิเชีย ร่วมทุนกับ Cargill (บริษัทเอกชนระดับนำของโลก), ADM-Kuck-Wilmar alliance (อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ที่สุดในโลก),Synergy Drive, และรัฐบาลมาเลเชีย ซึ่งจะทำให้อินโดนิเชียเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่ที่สุดของโลก

-  การเกิด “พันธมิตรผู้ผลิตเอทานอล” หลายกลุ่ม เช่นกลุ่ม “ethanol alliance” เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกา บราซิล อเมริกากลาง; กลุ่มพันธมิตรเอทานอลของบราซิล เป็นความร่วมมือของบริษัทบราซิล กับ อินเดีย จีน โมแซมบิก และ อัฟริกาใต้; กลุ่ม Southern Cone ระหว่าง บริษัท Bunge และ Dreyfue กับ บริษัทในอาร์เจนตินา และปารากวัย จะเห็นว่าแกนความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นระหว่างประเทศซีกโลกเหนือ-ใต้เท่านั้น แต่มีลักษณะเป็น เหนือ-ใต้-ใต้ ด้วย      

- การเตรียมลงทุนของ Royal Dutch Shell กับ Cosan บริษัทเอทานอลรายใหญ่ของบราซิล  ซึ่งจะเป็นโอกาสขยายธุรกิจครั้งใหญ่ของ  Shell ส่วนฝ่าย Cosan กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และยังเป็นการเจาะตลาดพลังงานในยุโรป เพิ่มเติมจากที่มีตลาดหลักในสหรัฐอเมริกา    

- การร่วมมือของ Cargill กับ Monsanto ในนาม Renessen เพื่อประสานกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ กับเชื้อเพลิงชีวภาพ  โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรม เช่น ข้าวโพด และถั่วเหลือง ในกรณีนี้วัสดุเหลือใช้จากการผลิตอาหารสัตว์จะถูกนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งทำให้เห็นว่า การผลิตอาหารและเชื้อเพลิงชีวภาพมีแนวโน้มเคลื่อนไปด้วยกัน ในภาพกว้างกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่าเกิดแนวทาง (trend) การร่วมธุรกิจระหว่างเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตรถยนต์ อาหาร และไบโอเทคโนโลยี ที่มุ่งลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศซีกโลกใต้ และส่งออกในตลาดระดับโลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐในประเทศกำลังพัฒนากับบริษัทข้ามชาติ  ในธุรกิจครบวงจรแบบนี้คงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าเกษตรกรจะยิ่งไร้อำนาจต่อรองเพียงใด       

งานวิจัยบางชิ้นเปิดเผยให้เห็น การถักทอเครือข่ายธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพระดับนานาชาติ ผ่านมิติความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังกรณีของเมืองไมอามี ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจน้ำตาล  ธุรกิจดังกล่าวทำให้ไมอามีฐานะดังที่นักสังคมศาสตร์เรียกว่า “โลกานคร” (global city) คือเป็นทั้งชุมทางข้อมูล การค้า และการลงทุน เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการ/สถาบันกำกับดูแลเอทานอลระดับโลกหลายสถาบัน  กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวงการธุรกิจเอทานอลระดับโลก (a global biofuels assemblage) ที่นี่เราจะเห็นการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยธุรกิจจากระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับมลรัฐ จนถึงระดับท้องถิ่น เป็นที่พบกันของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สถาบันระหว่างประเทศ สถาบันนานาชาติของธุรกิจเอกชน กลุ่มธุรกิจด้านการเกษตร พลังงาน รถยนต์ และไบโอเทคโนโลยี ความสัมพันธ์นี้เชื่อมต่อกับคนจากรัฐบาลนานาประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น บราซิล สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และอื่นๆ [15]        

 

ที่ดินและแรงงาน

ความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพส่งแรงกระเทือนไปทั้งโลก โดยเฉพาะต่อประเทศซีกโลกใต้ ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเริ่มแผนเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จะต้องใช้พื้นที่มากกว่า 500 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่การเกษตรที่ใช้อยู่เพื่อปลูกพืชป้อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ[16] การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของความต้องการเชื้อเพลิงฯในประเทศซีกโลกเหนือ กับการขยายพื้นที่ผลิตวัตถุดิบในประเทศซีกโลกใต้  เช่นใน บราซิล อินโดนิเซีย มาเลเซีย และในอาฟริกา  การแสวงหาที่ดินและแรงงานราคาถูก จากซีกโลกใต้ ป้อนผู้บริโภคในซีกโลกเหนือ  ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลก

การเปลี่ยนที่ดินมาปลูกพืชพลังงานในบางพื้นที่ มีลักษณะคล้ายกระบวนการปิดล้อมที่ดินในยุโรป (The Enclosure) ในอดีต เพราะการขยายพื้นที่ปลูกพืชฯไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่การเกษตรที่ใช้มาก่อนเท่านั้น แต่มีการบุกเบิกพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งคือ การเปลี่ยนพื้นที่ “สาธารณะ” ซึ่งเป็นพื้นที่พึ่งพาของชุมชน ภายใต้สิทธิการถือครองตามประเพณี ในพื้นที่ป่าชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะของชุมชนประเภทต่างๆ ซึ่งตามกฎหมายสมัยใหม่มักจะไม่ให้การรับรองสิทธิการถือครองตามประเพณี จึงมีการยึดพื้นที่ “ไร้การถือครอง” เหล่านั้น ให้เป็นของรัฐ และให้สัมปทานต่อแก่บริษัทเอกชน “.. รัฐบาลในหลายประเทศนิยาม “ที่ดินไร้ประโยชน์” และจัดสรรแก่บริษัทอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ คำว่าที่ดินไร้ประโยชน์ อาจหมายถึง พื้นที่ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินห่างไกลการคมนาคม ซึ่งที่ดินเหล่านี้ที่จริงมักไม่ได้เป็นที่ไร้ประโยชน์ตามนิยาม แต่มักเป็นที่พึ่งพาดำรงชีวิตของคนจน และพื้นที่เหล่านี้ครอบครองโดยสิทธิตามประเพณีของชุมชน”[17]

กรณีพื้นที่กาลิมันตันตะวันตก  ประเทศอินโดนิเซีย เป็นกรณีตัวอย่างอีกแบบหนึ่ง เมื่อทางการมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน  จึงมีโครงการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ถือครองที่ดินทางการเกษตรในระบบกรรมสิทธิ์ตามประเพณี โดยโครงการกำหนดให้ชาวบ้านนำที่ดิน (อย่างน้อย) 7.5 เฮกตาร์เข้าร่วมโครงการ สำหรับพื้นที่ 5.5 เฮกตาร์ รัฐจะให้เป็นพื้นที่สัมปทานแก่บริษัทเอกชน ส่วนที่เหลืออีก 2 เฮกตาร์ รัฐจะออกเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตและสินเชื่อสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันแก่ชาวบ้าน[18] โครงการที่ผลักดันโดยรัฐ ร่วมกับบริษัทเอกชน ด้วยการสร้างแรงจูงใจ (หรือบางกรณีเข้าข่ายล่อลวง หรือบีบบังคับ) เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย ละตินอเมริกา และอัฟริกา   

สำหรับคำอธิบายว่า เหตุใดรัฐบาลประเทศเหล่านั้นจึงขานรับโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างกระตือรือร้น มาจากเหตุผลหลายประการ ข้อเท็จจริงในประเทศกำลังพัฒนาคือ ภาคเกษตรเผชิญความเสื่อมถอยของประสิทธิภาพการผลิต ความตกต่ำของราคา และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ชนบทกลายเป็นพื้นที่ผูกติดกับความยากจน รัฐบาลในประเทศเหล่านั้นไม่ต้องการทุ่มงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท ประกอบกับการแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่สนับสนุนให้ตลาดเสรีเป็นกลไกจัดการปรับเปลี่ยนอาชีพของคนชนบท เกษตรกรในชนบทต้องปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่แรงงาน และรัฐก็ตกอยู่ใต้เงื่อนไขการลดการอุดหนุนภาคเกษตร การเกิดขึ้นของโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงเป็นโอกาสใหม่ของการระดมทุนและการช่วยเหลือลงสู่ชนบท[19]     

เรื่องแรงงานเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ พืชพลังงานเป็นพืชที่ใช้ที่ดินมาก ให้ผลตอบแทนต่อไร่ต่ำ แต่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแล้ว กล่าวในเชิงอุดมคติ หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้  ก็จะสร้างผลกำไรได้ดี แต่ความเป็นจริงทำเช่นนั้นได้ยาก การแปรรูปผลผลิตเป็นเชื้อเพลิงมักเป็นของทุนใหญ่ และเกษตรกรก็ตกอยู่ในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงาน  ผลตอบแทนแรงงานของเกษตรกรสะท้อนให้เห็นได้จากราคาผลผลิตที่ขายได้  เมื่อมองย้อนกลับไปสู่ประสบการณ์การปลูกพืชพาณิชย์ขายโรงงาน จะเห็นว่าปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเกิดขึ้นมานาน เมื่อเป็นเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า การขยายตัวของพืชพลังงาน ไม่มีหลักประกันว่า เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนดีขึ้น ต่างจากการปลูกพืชพาณิชย์ที่ผ่านมา

กรณีต่างประเทศ โรงงานอุตสาหกรรมมีวิธีการจัดการวัตถุดิบป้อนการผลิตหลายรูปแบบ ที่ปรากฏเช่น การผลิตในแปลงขนาดใหญ่ โดยการลงทุนของโรงงาน และจ้างแรงงานเกษตรกรเข้ามาทำงานในแปลงการผลิต (plantation) อีกรูปแบบหนึ่งคือ การทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกร (contract farming) ทั้งสองรูปแบบมีการศึกษาและถกเถียงกันมานานในวงวิชาการ จากประสบการณ์ในหลายประเทศ งานวิชาการจำนวนมากยืนยันว่า รูปแบบการผลิตดังกล่าว คือการขูดรีดแรงงานเกษตรกร และให้ประโยชน์แก่เจ้าของกิจการมากกว่า[20]

งานวิจัยในอเมริกาชิ้นหนึ่งเรียกการขยายตัวของพืชพลังงานว่า “ม้าโทรจัน” (Trojan Horse) ที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยตกอยู่ในการควบคุมอย่างสมบูรณ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในที่สุด ดังกรณีที่ Monsanto และ Cargill  ได้ร่วมทุนกันในนาม Renessen ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดตัดแต่งพันธุ์กรรม บริษัทนี้ขายเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกร และรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เมล็ดพันธ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานเทคโนโลยีของ Monsanto เกษตรกรที่ขายผลผลิตแก่ Renessen จะได้รับสิทธิรับเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเพื่อทำการผลิตรอบต่อไป ของเสียจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ บริษัทจะขายให้เป็นอาหารสัตว์   “… Renessen ได้กลายเป็นฐานทางธุรกิจของ Monsanto และ Cargill อย่างสมบูรณ์, Renessen ตั้งราคาเมล็ดพันธุ์ , Monsanto ขายเคมีภัณฑ์แก่เกษตรกร , Renessen ตั้งราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร,  และ Renessen ขายเชื้อเพลิงชีวภาพแก่ผู้บริโภค. แต่เกษตรกรรับความเสี่ยงจากการผลิตทั้งหมด”[21]

 

(ยังมีต่อ)

 



[1] นักวิชาการบางส่วนใช้คำว่า  agrofuel  แทนคำว่า biofuel  เพื่อเน้นว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร

[2] ส่วนเศรษฐกิจภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2555. เอทานอล โอกาสและความท้าทายของนโยบายพลังงานไทย . น.2.

[3] Sorda, Giovanni; Martin Banse  and Claudia Kemfert. 2010. An Overview of  biofuel policies across the world. Energy Policy. 38, 6977-6988.

[4] Kumar, S.; P. Abdul Salam, ; Pujan Shrestha  and Emmanuel Kofi  Ackom. 2013. An Assessment of Thailand’s Biofuel Development. Sustainability,5, 1577-1579. pp.1586.

[5] Kumar, S., P. et. al  2013. pp.1579.

[6] Kumar, S., P. et. al. 2013. pp.1588.

[7] Quadrelli, R. and S. Peterson. 2007. The Energy –climate challenge : Recent trends in CO2 emission from fuel combustion . Energy Policy.,35, 5938-5952  cited in Kumar, S., P. et.al. 2013.  pp.1588.

[8] Scharlemann. J.  and W.Laurance. 2008. How green are agrofuels ? Sciences. 329 (5859), 43-4. ; Fargione, J. et. al. 2008 Land clearing and argofuel carbon dept. Sciences, 319(5867) 1235-8 . cited in  White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. Agrofuels capitalism : a view from political economy. The Journal of peasant Studies.Vol.37. No.4. October, 593-607. pp.595. .

[9] Shattuck. A. 2009,The agrofuels Trojan Horse : biotechnology and the corporate domination of agriculture.  pp.93. . In Jonasse , R. ed. Agrofuels in the Americas .  A Food First Book. Oakland : Institute for Food and Development Policy.  cited in  White, Ben and  Anirban  Dasrupta.2010. pp.595.

[10] Eide . A. 2008 . The right to  food and impact of liquid biofuels (agrofuels). Right to Food Studies .Rome : Food and Agriculture Organization. pp.4. cited in White, Ben and  Anirban  Dasrupta.2010. pp.595. 

[11] Ernsting,  A.  2007. Agrofuels in  Asia : fueling poverty, conflict , deforestation and climate change. Seedling , July. 25-33. pp. 25 cited in White, Ben and  Anirban  Dasrupta.2010. pp.595. 

[12] Salvador, M. and B. Damen. 2010. BEFS  Analysis for Thailand. Bio Energy and Food Security Project ; Rome : Food and Agriculture Organization. cited in Kumar, S., P. et. al  2013. pp. 1591.

[13] Barros Jr., Saturnino M.; Philip  McMichael and Ian Scoone. 2010. The politic of biofuels ,land and agrarian change : editors’ introduction. Journal of Peasant Studies, 37 : 4, 575-592. pp.577.

[14] ตัวอย่างต่อไปนี้อ้างจาก Barros Jr., Saturnino M.; Philip  McMichael and Ian Scoone. 2010.pp.577-8.

[15] Hollander, G. 2011. Power is sweet : sugarcane in the global ethanol assemblage.  Journal of Peasant Studies, 37 : 4, 699-721.

[16] Gallagher. E. 2008. The Gallagher review of the indirect effect of biofuel production . London : UK. Government , Renewable Fuels Agency. Cited in .Barros Jr., Saturnino M.; Philip  McMichael and Ian Scoone. 2010. pp. 577.

[17] Cotula L.; N. Dyer and  S. Vermeulen.  2008. Fuelling exclusion ? The agrofuels boom and poor people’s access to land . London : IIED/FAO.  pp. 22-23. Cited in White, Ben and  Anirban Dasrupta.2010. pp.601

[18] Sirait, M.T. 2009. Indigenous people and oil palm expansion in West Kalimantan , Indonesia. The Hague/Amsterdam : Cordaid/University of Amsterdam.  Cited in White, Ben and  Anirban Dasrupta.2010. pp.602.

[19] White, Ben and  Anirban Dasrupta.2010. pp.597-8.

[20]Beckford, G. 1972. Persistence  poverty : underdevelopment in the plantation economies of the Third World. New York : Oxford university;  Little. P  and M.  Watts. 1994. Living Under contract : contract farming and agrarian transformation in sub-Saharan Africa. Madison : University of Wisconsin press. Cited in White, Ben and  Anirban Dasrupta.2010. pp.603.

[21]. Shattuck. A. 2009,The agrofuels Trojan Horse : biotechnology and the corporate domination of agriculture pp.93. In Jonasse , R. ed. Agrofuels in the Americas .  A Food First Book. Oakland : Institute for Food and Development Policy.  cited in  White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.604.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท