Skip to main content
sharethis
เสวนา ‘วิกฤติศาสนาหรือศรัทธาที่เปลี่ยนไป’ ร่วมตอบคำถามของคนรุ่นใหม่ถึงความหมายของศาสนาในปัจจุบัน เมื่อสื่อเปิด โลกก็เปลี่ยน หรือการเข้าใจศาสนาอย่างถ่องแท้ไม่เคยมีอยู่
 
 
วันนี้ (1 ส.ค.56) ฟรีดอมโซน ร่วมกับสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดงานเสวนา “วิกฤติศาสนาหรือศรัทธาที่เปลี่ยนไป” เพื่อตอบคำถามของคนรุ่นใหม่ถึงความหมายของศาสนาในปัจจุบัน พร้อมทั้งบันทึกเทปรายการ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” เผยแพร่ออกอากาศทางทีวีเคเบิลท้องถิ่น โดยมีการร่วมพูดคุยของนางสาวกาญจนา คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายวิทยากรโสวัตร นักเขียน/นักอ่าน ร้านหนังสือฟิลาเดเฟีย นางสาวขนิษฐา หาระสาร นักผลิตสื่อรุ่นใหม่ และนายเจนณรงค์ วงษ์จิตร เยาวชนกลุ่มแว่นขยาย ดำเนินรายการโดย นายกมล หอมกลิ่น สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
 
นางสาวกาญจนา คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่า การที่เด็กรุ่นใหม่รู้จักตั้งคำถามเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม คนรุ่นใหม่รู้จักใช่สื่อออนไลน์มาก บางครั้งการเข้ารับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อาจดึงคนรุ่นใหม่ให้หลุดออกจากคำสอนของศาสนา การเรียนรู้แนวคิดทางศาสนาเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิต การปฏิบัติศาสนกิจควรพิจารณาให้เข้มข้น ซึ่งจะกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันว่าจำนวนมากหรือน้อยเท่าใดที่เข้าถึงแก่นธรรมคงไม่สามารถตัดสินได้ เพราะศาสนาไม่จำเป็นต้องเข้าสถานปฏิบัติธรรม การเข้าใจศาสนาเข้าใจชีวิตโดยที่ไม่ปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ต้องคิด
 
ยุคข้อมูลข่าวสาร รูปแบบข้อมูลข่าวสาร ในสังคมที่เราคาดหวังว่าต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ และที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของศาสนาที่มืดบอด แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้ โลกเปลี่ยนไปทำให้เราได้ค้นหาตัวเอง ทำให้บอกได้ว่า การดำเนินทางสายกลางโดยที่เราจะต้องเอาตัวเองเป็นตัววัด ที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และสายกลางของแต่ละบุคคลก็กลางไม่เท่ากัน
 
อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ กล่าวด้วยว่า เราต้องรู้และอยู่กับตัวเอง ต้องเอาทุกอย่างไปปรับใช้ในชีวิต รู้และอยู่กับตัวเองในสิ่งที่มองเห็น เมื่อรู้และเข้าใจแล้วจะกลายเป็นปัญญา เราต้องคิดและยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคมเรา
 
นายเจนณรงค์ วงษ์จิตร เยาวชนกลุ่มแว่นขยาย กล่าวว่า เรื่องการกระทำอันไม่เหมาะสมของพระสงฆ์หรือผู้ที่เป็นนักบวชของศาสนาพุทธนั้น แม้ทุกศาสนาสอนให้คนในสังคมเป็นคนดี แต่กรณีที่เกิดขึ้นและสะท้อนได้ เช่น กรณีพระสงฆ์จับสุนัขโยน เป็นการใช้ความรุนแรงที่ผิดแปลกวิสัยนักบวช ทำให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่ดีงามของพระสงฆ์ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวได้ได้ลึกซึ้งกับคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาก เข้าใจทั่วไปว่าคำสอนของศาสนาพุทธเน้นให้คนที่นับถือปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม พระสงฆ์หรือนักบวชควรอยู่ในส่วนศาสนาสถานหรือพื้นที่สำหรับพระและนักบวช หน้าที่สำคัญคือการศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถ่องแท้
 
นายเจนณรงค์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพยายามค้นหาการใช้ชีวิตตามหลักศาสนาอื่นมากกว่าศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งศาสนาพุทธโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเห็นข้อดีของแต่ละศาสนาว่ามีส่วนที่จะนำมาปรับใช้ในชีวิตได้ และเชื่อว่ามนุษย์มีความศรัทธาที่แตกต่าง เพราะธรรมชาติที่มนุษย์เกิดความกลัวทำให้ศาสนาและความเชื่อเกิดขึ้นในสังคม และคนที่ไม่มีศาสนาในสังคมก็มีน้อย อยากให้ปรับหลักการจากแต่ละศาสนามาปรับใช้ให้ได้ในชีวิต
 
ด้านนายวิทยากร โสวัตร นักเขียนและผู้ดูแลร้านหนังสือฟิลาเดเฟีย อุบลราชธานี กล่าวว่า ถ้าเริ่มจากข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ คนบางกลุ่มที่มีความศรัทธาพระสงฆ์มาก เมื่อไม่ได้ตามที่ตนวาดหวังว่าพระต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็กลายเป็นไปตำหนิพระสงฆ์แทน อารมณ์ที่เราตามวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรองเป็นการกระทำที่เลวร้ายต่อศาสนา
 
มองภาพในสังคมอีสานที่มีท่าทีการนับถือผีมากกว่าศาสนาพุทธ ย่อมไม่แปลกที่มีคนไม่นับถือศาสนาพุทธ การบอกว่าไม่ศรัทธาในศาสนานั้น ต้องถามว่าเราได้อ่านและเข้าใจถึงหลักแก่นแท้ทางศาสนาแล้วหรือยัง การกล่าวถึงองค์กรสงฆ์กับพุทธศาสนานั้น อย่าเอามาวิเคราะห์ให้สับสน ถ้าไม่เข้าใจอย่างแท้จริงเมื่อมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นในสังคมก็อธิบายแบบไม่เข้าใจ
 
ส่วนสถานปฏิบัติธรรมหรือวัดจะเป็นทีพึ่งได้ไหมในกระแสสังคมปัจจุบัน เป็นคำถามที่ยั่วยวนให้เกิดโทสะ ยั่วยวนให้เกิดความขัดแย้ง การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางศาสนานั้นไม่ยาก เพระเรามีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาอะไรก็ได้ เราสามารถเลือกที่จะศึกษาให้ถึงแก่นแท้ของคำสอน และต้องถามตัวเองว่าเราเข้าถึงหลักธรรมคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตอย่างไร
ขณะที่นางสาวขนิษฐา สาระหาญ คนผลิตสื่อรุ่นใหม่ และนักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่มีความชอบในการผลิตสื่อ และช่วงระยะเวลานี้ไม่ชอบติดตามข้อมูลทางโทรทัศน์ เลือกการรับข้อมูลจากสื่อออนไลน์มากกว่า เพราะทำให้รู้สึกว่าดีกว่า แต่ต้องใช้การดูข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งในสังคมออนไลน์นั้นมีข้อมูลที่รวดเร็ว ยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยสังคมออนไลน์ ถ้าเสพสื่อโดยที่ไม่พิจารณาให้ดี อาจทำให้เราได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และถ้าอยู่กับสื่อมากจะทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารมาก รวมถึงข้อมูลทั้งบวกและลบเกี่ยวกับศาสนา
 
นางสาวขนิษฐา กล่าวต่อมาว่า คนรุ่นใหม่ปัจจุบันมีความเชื่อมั่นเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นช่วงที่สับสนในชีวิต และบางครั้งจะไม่เชื่ออะไรเลย การทำบุญตักบาตรกับครอบครัวตอนเช้าในอดีตเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งมองว่ามันเสมือนเป็นเพียงหน้าที่ที่ต้องทำ ขณะนี้ก็ตั้งคำถามว่าทำไม่ต้องทำเช่นนั้น ปัจจุบันเลือกที่จะศึกษาตำราเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ไม่ได้เขียนหรือเรียบเรียงโดยพระหรือนักบวช เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ  จึงหันมาหาตำราที่เกี่ยวกับศาสนาที่แต่งโดยคนทั่วไปมากกว่า
 
คนรุ่นใหม่ยุคนี้อย่าคิดว่าพุทธศาสนาจะต้องเป็นเรื่องที่วัดเพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาให้กว้างขึ้นกว่านั้น ค้นหาความเชื่อหรือความศรัทธา แล้วจะพบว่าอยู่ในตัวเราเอง เราเองที่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเหมาะสม และจะดำเนินชีวิตได้ลงตัว
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net