Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงโครงการเกษตรกรรมในเมืองที่น่าสนใจภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ Garden City Harvest ในเมืองมิสซูล่า มลรัฐมอนทาน่า สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยโครงการส่งเสริมเกษตรกรรมในโรงเรียน โครงการสวนชุมชน สวนแห่งเพื่อนบ้าน และโครงการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้เยาวชนมีความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตนเอง สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ และมองเห็นโอกาสในชีวิตอื่นๆ ด้วย ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น โครงการเหล่านี้เป็นโครงการเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาสังคม ที่ช่วยให้คนชายขอบ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่เข้าไม่ถึงอาหาร สามารถมีอาหารคุณภาพดี สดและปลอดภัยบริโภคฟรีหรือในราคาถูก

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอประสบการณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมในเมือง  ภายใต้ความรับผิดชอบของมูลนิธิ Garden City Harvest เริ่มต้นจาก จอร์จ สล็อตนิค ผู้อำนวยการโครงการพีส์ ฟาร์ม (PEAS FARM) ซึ่งเป็นทั้งเกษตรกร คุณพ่อและอาจารย์มหาวิทยาลัย จอร์จเล่าว่าเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา เขาเคยร่วมโครงการนิเวศเกษตรกรรมของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ ประสบการณ์ในครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตของเขา เพราะเขาเกิดความประทับใจกับการทำเกษตรและการทำงานร่วมกับเยาวชน ในเวลาต่อมา เขาได้เริ่มทำโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชนขึ้นในมหาวิทยาลัยมอนทาน่า เพื่อผลิตพืชผักสดๆ และอาหารป้อนให้แก่ธนาคารอาหาร (Food bank) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ให้บริการอาหารสำหรับคนที่ไม่มีอาหารบริโภคในเมืองมิสซูล่า


เยาวชนมาช่วยทำงานปูผ้ายางพลาสติกป้องกันหิมะใน PEAS FARM


จอร์จ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนที่มาช่วยเพาะเมล็ดพันธุ์ผักในโรงเพาะชำ

จอร์จเล่าว่าโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชนมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งความมั่นคงทางอาหารในที่นี้ เขาให้ความหมายไว้สองด้าน ด้านแรก ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงการที่คนทุกคนควรมีอาหารกิน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือใครก็ตาม ด้านที่สอง ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงการผลิตอาหารควรเป็นสิ่งที่ยั่งยืน การผลิตอาหารในปัจจุบันควรจะเป็นวิธีการที่ใช้ผลิตอาหารได้ในอนาคต โครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชนทำแปลงเกษตรสำหรับนักศึกษา ซึ่งครั้งแรกตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมอนทาน่า ต่อมาได้ย้ายออกจากมหาวิทยาลัยมอนทาน่าไปอยู่ในที่ดินสาธารณะซึ่งเช่ามาจากที่ดินของรัฐ  การดำเนินการโครงการเกษตรกรรมเพื่อเยาวชนและโครงการสวนแห่งเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดการตั้งมูลนิธิ Garden City Harvest ขึ้นมา การดำเนินงานของมูลนิธิฯ กลายเป็นที่สนใจของสังคม จนสามารถระดมเงินบริจาคเพื่อใช้ปรับปรุงฟาร์ม ทำรั้ว สร้างโรงเรือนเพาะชำ และทำกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จ


เยาวชนช่วยหยอดเมล็ดพันธุ์ลงดินใน PEAS FARM

หลังจากนั้นโครงการฯ เปิดรับเยาวชนที่ต้องคดียาเสพติดเพื่อเข้ามาฝึกงานในฟาร์ม ทำให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสทำงานร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยและเยาวชนทั่วไปที่อาสาเข้ามาทำงานในฟาร์ม ตั้งแต่ดำเนินการโครงการมา มีเยาวชนกว่า 2,000 คนเข้ามาเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานในฟาร์มทุกปี นอกจากนั้นเยาวชนยังมีโอกาสรับฟังการบรรยายในห้องเรียน ออกค่ายภาคฤดูร้อน เรียนทำอาหาร โครงการเหล่านี้ช่วยให้เยาวชนเกิดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหาร การเกษตร วิทยาศาสตร์และชีวิตประจำวัน


คอริ แอช อาสาสมัครในโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชน
 

คอริ แอช นักเรียนที่ผ่านการฝึกงานภาคสนามในโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชน เล่าว่าเธอหลงรักการทำเกษตร และเมื่อเธอมาทำงานเป็นอาสาสมัครในฟาร์มสัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เธอพบว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมาก การทำงานในฟาร์มช่วยลดอาการหลงตัวเอง เธอได้เรียนรู้เรื่องดิน การเพาะเมล็ดพันธุ์ การปลูกพืช การรดน้ำต้นไม้ด้วยวิธีการต่างๆ เรียนรู้จักแมลงที่มีประโยชน์และแมลงศัตรูพืช ที่สำคัญที่สุด เธอได้เรียนรู้จักตัวเองและการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ มากขึ้น

เธอบอกว่า “ที่ตั้งฟาร์มที่เราใช้ชีวิตร่วมกันสวยงามมาก เราทำงานด้วยกัน และเรียนรู้จักกัน ที่นี่ไม่มีคำว่าวิธีการที่ผิดหรือวิธีการที่ถูกในการทำงาน มีแค่วิธีการแบบที่ได้ผลสำหรับคุณและวิธีการแบบที่ไม่ได้ผล” คอริกล่าวเสริม “วันหนึ่งฉันนำทีมออกภาคสนามให้กับเด็กๆ ที่มาช่วยเก็บหัวกะหล่ำปลีในฟาร์ม แล้วขนไปใส่รถบรรทุกเพื่อนำไปที่มหาวิทยาลัยมอนทาน่า ฉันได้ตระหนักว่า ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างในการทำฟาร์ม มากกว่าที่ฉันเคยเรียนในห้องเรียนเสียอีก ทุกครั้งที่ฉันทำงานกับดิน ดึงหัวแครอทขึ้นมา ฉันรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวฉันเอง  การมีชีวิตที่ดีหมายถึงการทำงานที่ตอบสนองความจำเป็น หากคนทุกคนยังต้องกินอาหาร คนส่วนหนึ่งก็ยังต้องปลูกพืชผัก เมื่อไรก็ตามที่ฉันได้ยินว่ามีคนได้กินอาหารที่เราใส่ใจปลูกมันขึ้นมา ฉันรู้สึกดีและมีความสุขมาก”

ทิม ฮอลล์ ผู้อำนวยการโครงการสวนชุมชน (Community garden) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 แห่งในเมืองมิสซูล่า เป็นโครงการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตผู้มีรายได้น้อยทั่วเมืองมิสซูล่า พื้นที่ตั้งสวนชุมชนอาจเป็นของเทศบาล โบสถ์หรือองค์กรเอกชนที่นำมาแบ่งสรรเป็นแปลงย่อยเล็กๆ แล้วให้ผู้สนใจเช่าในราคา 35 เหรียญ สำหรับทำสวนปลูกพืชผัก ไม้ดอก สมุนไพร เพื่อบริโภค เพื่อขาย หรือเพื่อพักผ่อน สวนชุมชนแต่ละแห่งจัดหาที่ดินให้สมาชิกขนาดกว้าง 15 ฟุต และยาว 15 ฟุต พร้อมจัดหาอุปกรณ์สำหรับทำเกษตร น้ำ ปุ๋ย ฟาง ตลอดจนให้การอบรมความรู้ในการทำเกษตร นอกจากนี้สมาชิกยังได้รับคำปรึกษาปัญหาการทำฟาร์มจากผู้ประสานงานโครงการด้วย

ทิมเล่าว่าครอบครัวของเขาในอดีตย้อนไปหนึ่งถึงสองรุ่นเคยเป็นชาวนา ทำให้เขามีความทรงจำในวัยเด็กที่ดีเกี่ยวกับการทำฟาร์ม ทิมเรียนจบด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ที่ดินในเมืองนิวยอร์ค ต่อมาเขาย้ายมาอยู่เมืองมิสซูล่า และทำงานในหน่วยงานเกี่ยวกับการวางแผนที่ดินของมลรัฐท้องถิ่น เขาให้คำปรึกษาและช่วยเหลือจอร์จและคนอื่นๆ เพื่อหาที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการทำฟาร์มในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง Garden City Harvest และเมื่อมีการเปิดรับสมัครคนทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนชุมชน เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่โครงการในที่สุด


บ้านดินซึ่งเป็นยุ้งฉางเก็บพืชผักของโครงการ Garden City Harvest

ทิมมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารงานโครงการสวนชุมชนถึง 80 แห่งให้สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีคนเช่าที่ดิน เขาต้องแน่ใจว่าผู้เช่าที่ดินจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในการทำเกษตร มีเครื่องมือพร้อม มีการจัดการเรื่องน้ำพร้อม และมีความรู้ในการทำฟาร์ม  องค์กรต้องแน่ใจว่าผู้ดูแลสวนชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เช่าที่ดิน และทำให้ผู้เช่าที่ดินเกิดความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถขอคำปรึกษาได้ทุกเมื่อ หากต้องการความช่วยเหลือ

ทิมเล่าว่า ในสวนของชุมชน เพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันมีโอกาสมาพบปะกัน คนรวยและคนจนได้ปฏิสังสรรค์และสนทนากัน การสำรวจของโครงการพบว่าคนที่ทำสวนชุมชนมีเงินเหลือเพียงพอซื้ออาหารอื่นๆ รวมถึงซื้ออาหารในระบบผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิต (Community Supported Agriculture-CSA) บางคนมีสวนที่บ้านของตัวเอง แต่เลือกที่จะมาทำสวนของชุมชนด้วยเหตุผลบางอย่างเพราะเงินแค่ 35 เหรียญก็สามารถเช่าสิทธิในสวนของชุมชนเพื่อปลูกผัก พร้อมได้รับจัดสรรน้ำ ปุ๋ย ดิน และฟาง แต่สิ่งที่ดึงดูดใจคนให้มาเช่าที่ดินในสวนชุมชนมากที่สุดคือความเป็นชุมชน เพราะที่นี่มีการพูดคุย การสอน การเรียนรู้ หากเรามีแปลงเกษตรอยู่ติดกัน เราอาจรู้จักกันดีขึ้น จนพัฒนากลายเป็นเพื่อนกันเมื่อทำสวนข้างๆ กันไปสักหนึ่งฤดูกาล บางทีคนหนึ่งอาจช่วยรดน้ำผักในช่วงที่อีกคนไม่อยู่ และอีกคนหนึ่งก็อาจแบ่งปันผักที่ปลูกให้แก่อีกคนหนึ่งตอบแทนน้ำใจ


ที่ตั้งสวนแห่งชุมชนและสวนแห่งเพื่อนบ้าน

สิ่งที่น่าทึ่งในโครงการสวนชุมชนคือการที่คนช่วยเหลือกันและกัน  เรามักได้อาสาสมัครที่มาช่วยทำงานทั้งแบบมาเดี่ยวและมาเป็นกลุ่ม เนื่องจากพื้นที่ตั้งสวนของชุมชนเป็นพื้นที่เปิด มีความปลอดภัย และตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ทำให้สมาชิกสวนของชุมชนเกิดความมั่นใจว่า พวกเขาสามารถเดินมาทำสวนของตัวเองได้บ่อย และสามารถพาเด็กๆ มาเรียนรู้จักการทำฟาร์ม มาสัมผัสผืนดินและธรรมชาติได้ยามว่าง    

ครอบครัวคีลลี่ ประกอบด้วยกิตาและเจสัน พร้อมกับลูกอีกสองคน ครอบครัวนี้เป็นสมาชิกสวนชุมชน กิตาเป็นนักผลิตภาพยนตร์สารคดีและอาจารย์มหาวิทยาลัยมอนทาน่า ครอบครัวของเธอมีที่พัก แต่ไม่มีที่ดินสำหรับเพาะปลูกพืชเลย ต่อมาครอบครัวของเธอพบที่ดินรกร้างขนาดเล็กอยู่ใกล้บ้าน ทำให้เธอได้คุยกับเจ้าหน้าที่โครงการสวนแห่งเพื่อนบ้าน (Neighborhood farm) เพื่อลองปรับสภาพพื้นที่เป็นสวนแห่งเพื่อนบ้าน และลองปลูกพืชผัก เธอเดินเคาะประตูเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปสี่ถึงห้าบล็อคเพื่อถามความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งสวนแห่งเพื่อนบ้านขึ้นในละแวกนั้น ปรากฏว่ามีเพื่อนบ้านถึง 50 คนที่ให้การสนับสนุน และในจำนวนดังกล่าวมีคนถึง 12-15 คนที่ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน

กิตาเล่าว่าครอบครัวของเธอมีความสุขที่ได้ทำสวนครัว เธอสามารถเก็บอาหารสดๆ กินได้ทุกเมื่อยามต้องการ  และสามารถทดลองปรุงอาหารเมนูแปลกๆ จากพืชผักที่ปลูกเอง การทำสวนชุมชนยังทำให้เธอมีโอกาสรู้จักเพื่อนบ้านมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านหลายคน การทำสวนชุมชนยังทำให้เธอมีประสบการณ์ของการเป็นคนท้องถิ่นซึ่งเธอไม่เคยมีมาก่อนตอนอยู่เมืองใหญ่

 


เครก ไพรซ์ ผู้จัดการโครงการสวนชุมชน (เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล)

เครก ไพรซ์ ผู้จัดการโครงการสวนชุมชนบนถนน River Road และผู้จัดการโครงการสวนแห่งเพื่อนบ้าน เล่าว่าเขามีความประทับใจกับหนังสือเรื่อง Living the Good Life ที่เขียนโดย สก็อต เนียริ่ง (Scott Nearing) ซึ่งพูดถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างคนกับธรรมชาติ สก็อตสร้างบ้านด้วยก้อนหินโดยใช้แรงงานตัวเองซึ่งกินเวลานานถึง 7 ปี และขุดบ่อน้ำใช้เองในขณะที่เขามีอายุย่างเข้า 95 ปี และนั่นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เครกเริ่มสร้างสวนหลังบ้านขนาดใหญ่ของเขาเองในมลรัฐเพลซิลวาเนีย ต่อมาเครกและภรรยาเดินทางท่องเที่ยวมลรัฐมอนทาน่า เขาประทับใจบรรยากาศของเมืองมิสซูล่าจนอยากย้ายมาอยู่ที่นี่ เมื่อภรรยาของเขาได้งานทำที่เมืองมิสซูล่า ครอบครัวของเขาจึงย้ายมาอยู่ที่นี่ เครกได้ขอฝึกงานในฟาร์มของครอบครัวจอร์จ สล็อตนิค ผู้อำนวยการโครงการ PEAS FARM

ต่อมาเครกได้งานทำในโครงการผลิตผักป้อนธนาคารอาหาร (The Food Bank Garden) นอกจากนั้น เขามีหน้าที่รับผิดชอบโครงการผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรในฤดูหนาว (a Winter CSA) และโครงการทำงานอาสาแลกผัก (Volunteer for veggies) ซึ่งเปิดรับอาสาสมัครให้มาทำงานในฟาร์มแลกกับการรับผักปลอดสารพิษไปกิน โครงการนี้มีอาสาสมัครทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาทำงานในฟาร์ม ซึ่งเขาต้องดูแลคนจำนวนมากที่ไม่มีทักษะในการทำเกษตรมาก่อน เพื่อให้อาสาสมัครเหล่านี้สามารถทำงานในฟาร์มได้อย่างเหมาะสม PEAS FARM ผลิตอาหารประมาณ 30,000 ปอนด์ในพื้นที่หนึ่งเอเคอร์ ดังนั้นจึงมีรายละเอียดของงานที่ต้องทำมากมายและต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก รวมถึงต้องมีคนที่คอยควบคุมการทำงานไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดด้วย

โครงการส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรกรรมในโรงเรียน ประกอบด้วยโครงการย่อย 3 โครงการ ได้แก่ การฝึกภาคสนามในฟาร์ม การออกค่ายภาคฤดูร้อน และการทำฟาร์มในโรงเรียน ทุกปีนักเรียนเกือบ 2,000 คนจากหลายระดับชั้นจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงเพื่อเยี่ยมชม PEAS FARM ดังนั้น PEAS FARM จึงเปรียบเสมือนห้องเรียนกลางแจ้ง ที่เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนสามารถทำความเข้าใจกับความรู้ในเรื่องต่างๆ นักเรียนสามารถเรียนรู้ในเรื่องวงจรชีวิตของพืชและสัตว์ สัตว์เลี้ยง ระบบนิเวศ เทคนิคการทำเกษตร และประวัติศาสตร์การเกษตร

แอรอน บรอค อดีตผู้อำนวยการโครงการธนาคารอาหารแห่งมิสซูล่า เล่าว่าในเมืองมิสซูล่ามีคนอาศัยอยู่ประมาณ 100,000 คน และมีคนมาขอรับบริจาคอาหารประมาณ 12,000 คนทุกปี นั่นหมายความว่าในบรรดา 8 คนที่เดินอยู่ตามท้องถนน จะมี 1 คนที่เปิดประตูเข้ามาขอรับอาหารจากธนาคารอาหาร เขาเล่าว่ามีคนจำนวนมากที่หารายได้แค่พอกินพอใช้เดือนชนเดือน และมีงบประมาณจำกัดมากในการซื้ออาหาร

แอรอนอธิบายเสริมว่า “คุณอาจมีงานทำ 8 ชั่วโมงต่อวัน และคุณต้องใช้รถยนต์เพื่อขับไปทำงาน แต่เมื่อรถยนต์คุณเสีย คุณจึงต้องใช้เงิน 120 เหรียญไปกับการซ่อมรถยนต์ และนั่นเป็นเงินที่คุณสำรองไว้ใช้ซื้ออาหาร หรือคุณอาจเป็นคนที่กำลังประสบปัญหาเจ็บป่วย ครอบครัวผู้ใช้แรงงานอาจประสบปัญหาเพราะไม่มีการประกันสุขภาพ ในขณะที่ลูกของเขาขาหัก ทำให้มีรายจ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่ม และทำให้งบประมาณที่จำกัดหมดไป ในขณะเดียวกันธนาคารอาหารให้บริการผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราให้บริการแม่ม่ายที่พวกเธอยังชีพจากเงินส่วนแบ่งรายได้ประกันสังคมของสามีซึ่งมีเพียงเดือนละ 670 เหรียญเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เราพบว่าในบรรดาคนที่เราให้บริการราว 40-45 % อายุน้อยกว่า 18 ปี”

พันธกิจของธนาคารอาหารไม่ใช่แค่ให้บริการอาหารแก่คนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่มุ่งให้บริการอาหารที่มีคุณภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย แอรอนอธิบายว่าคนที่หิว ไม่ใช่แค่เพราะพวกเขาอดอยาก แต่พวกเขาหิว เพราะยากจน เพราะไม่มีระบบประกันสุขภาพ เพราะป่วย เพราะตกงาน เพราะอยู่ห่างไกลและเข้าไม่ถึงระบบขนส่งมวลชน เพราะไม่รู้ว่าจะปลูกพืชผักกินเองยังไง ธนาคารอาหารเพียงแค่ช่วยแก้ปัญหาการไม่มีอาหารกินและการไม่มีอาหารให้เด็กๆ ในครอบครัวกินเท่านั้น แต่เราไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างให้พวกเขาได้

โครงการ Garden City Harvest นำอาหารสดมาส่งให้ธนาคารอาหารทุกวันเป็นเวลานานถึง 12 ปีแล้ว ในทุกฤดูร้อน โครงการ Garden City Harvest จะนำอาหารมาบริจาคให้ธนาคารอาหาร 20,000-25,000 ปอนด์เสมอ บางครั้งโครงการ Garden City Harvest มีการนำอาหารแปลกๆ มาบริจาคให้ธนาคารอาหารด้วย ทำให้ผู้มาขอรับบริจาคอาหารจากธนาคารอาหารรู้สึกตื่นเต้นที่พวกเขาจะได้ทดลองทำอาหารเมนูใหม่ๆ ในขณะที่พวกเขาไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย เวลาเดินเข้าไปซื้ออาหารในร้านขายของชำ อาสาสมัครของโครงการ Garden City Harvest เช่น เยาวชนที่มาช่วยงานที่ธนาคารอาหารจะได้พบผู้ประสบปัญหาและต้องการอาหาร พวกเขาได้ความรู้สึกชื่นชมยินดีกับสิ่งที่พวกเขาได้มีส่วนทำให้เกิดขึ้น

ผู้เขียนและผู้รับทุนแลกเปลี่ยนในโครงการ Economic Empowerment Fellow Program มหาวิทยาลัยมอนทาน่า ร่วมทำงานเป็นอาสาสมัครในธนาคารอาหารแห่งเมืองมิสซูล่า (เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง)

การที่อาสาสมัครเหล่านี้ได้ร่วมสังเกตการณ์ นับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ได้ถูกหว่านเพาะลงในดิน จนถึงวันที่พืชผักถูกเก็บเกี่ยว และส่งต่อมายังธนาคารอาหาร จนส่งถึงมือของผู้ต้องการอาหาร นับเป็นการทำให้วงจรของการทำเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาสังคมครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้คนในเมืองมิสซูล่าได้ตระหนักว่าตนเองจะมีส่วนช่วยผลิตอาหารเลี้ยงผู้คนที่ต้องการอาหาร  และตระหนักถึงความหมายของการดำรงอยู่ของตนเองในชุมชนเมืองนี้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net