Patani Forum: นักศึกษากับงานสันติภาพ สัมภาษณ์สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

ปาตานี ฟอรั่ม ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกแกนนำนักศึกษาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรน้องใหม่ ที่ออกมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ซึ่งในสถานการณ์ของความรุนแรงนั้น ได้เกิดกลุ่มคนหลายกลุ่ม ซึ่งมีความพยายามที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในลดน้อยลง เช่นเดียวกันกับกลุ่มนักศึกษาที่มีแสดงบทบาทต่อการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพอย่างแข็งขัน ทั้งการทำกิจกรรมส่งเสริมกระบวนสันติภาพ การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และการเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมที่เกิดขึ้น ทางปาตานี ฟอรั่ม ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกแกนนำนักศึกษาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรน้องใหม่ ที่ออกมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ที่มาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

อัซฮาร์  สารีมะเจ๊ะ นักศึกษาจาก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันก็ยังคงทำกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดสันติภาพ และสร้างพื้นที่พูดคุย “เสียงของประชาชนปัตตานี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดสมาพันธ์ก็คือการชุมนุมใหญ่ของแกนนำนักศึกษา และประชาชนที่มัสยิดกลางปัตตานี ในปี 2550 หลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุม คล้ายมีฉันทามติจากประชาชน ให้มีกลไกที่จะขับเคลื่อนภารกิจนี้ต่อ”

 

งานขององค์กร

กิจกรรมของกลุ่มมีการรณรงค์ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโลกมุสลิม ชุมชนมุสลิมต่างๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องหลักที่เราสนใจเนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง คือเรื่องของในพื้นที่ปัตตานี โดยเราพยายามเป็นคนต้นคิดและเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่ให้ นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมและ

โดยพื้นที่ของการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งค่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ หรือค่ายสร้างเพื่อริเริ่มความคิดหรือพื้นทีในการแก้ไขปัญหาอีกแบบหนึ่ง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 9 ปีมานี้ ในช่วงแรกความรุนแรงจะมุ่งเป้าไปที่โรงเรียนบ้าง ครูบ้าง การก่อเหตุที่มุ่งเป้าไปสู่อุลามะห์บ้าง พอเรามีการจัดกิจกรรมสนับสนุนมากขึ้น เราก็ดีใจถ้าส่วนหนึ่งจะช่วยทำให้การก่อเหตุมุ่งเป้าไปสถานที่แบบนี้น้อยลง

 

นักศึกษากับภาพที่ถูกมองในแง่ลบ

โดยส่วนตัวคิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นซ้อนอยู่สองอันใหญ่ๆ คือ กระแสของโลกที่เป็นโรคกลัวอิสลาม หลัง 911 ที่มุสลิมตกเป็นเป้าทุกพื้นที่ในโลก นักศึกษา หรือองค์กร นักศึกษา มุสลิมจะถูกมองโดยความกลัวมากๆ เรื่องที่สองเราอยู่ในประเทศไทยและเกี่ยวข้องกับปัตตานีด้วย พออกมาเคลื่อนไหวเลยทำให้ถูกมองในภาพลบ

หลายๆ ครั้งถูกมองว่าเราทำงานในเรื่องตรงข้ามกับความมั่นคงของรัฐ ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องปัตตานี โรฮิงยาก็เช่นเดียวกัน  เช่นเดียวกับเรื่องปัตตานีที่เราทำ เน้นเรื่องการศึกษา ถูกมองว่าเราไปสนับสนุนขบวนการไหม ตรงนี้ผมคิดว่าไม่แปลก จุดยืนของ นักศึกษา อย่างเราชัดเจนว่าจะร่วมมือกับองค์กร นักศึกษา อื่นๆ นำเสียงของประชาชนฉายออกมาให้สาธารณชนรับรู้มากที่สุด

บางประเด็นบางกรณีที่กระทบต่อประชาชน รัฐก็ให้การเยียวยาที่ดี ออกมารับผิดชอบ ปกป้องพอสมควร แต่เราเห็นบางกลุ่มไม่ได้รับเยียวยา ดูแลจากรัฐเท่าที่ควร ในเมื่อเขาถูกกระทำ นักศึกษา เลยจำเป็นต้องทำ ตรงนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนมองว่าเราสนับสนุนขบวนการหรือไม่ หลายคนมองว่าเราสนับสนุนให้แนวคิดของขบวนการเผยแพร่มากขึ้นหรือไม่

 

นักศึกษากับการเคลื่อนไหวเพื่อกระบวนการสันติภาพ

สิ่งที่ นักศึกษา พยายามทำคือสร้างพื้นที่ตรงกลาง ให้ความคิดสุดโต่งมากที่สุดมาคุยกันโดยไม่ใช้อาวุธ สิ่งที่เราชูมาตลอดก็คือสันติภาพของประชาชน แต่เป้าหมายอาจจะยังต้องถกเถียงกัน หรือท้ายที่สุดเหมือนกับพวกเราก็คือสันติภาพที่จะเกิดกับปัตตานี ประชาชนต่างหากที่จะออกมานิยามว่าสันติภาพที่เขาต้องการคืออะไร

ทางออกของความขัดแย้ง 80-90% ยุติด้วยการพูดคุยเจรจา ปัตตานีก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องมีการพูดคุยเจรจา ตอนนี้ก็เริ่มแล้วที่มาเลเซีย พอเริ่มขึ้นแบบสาธารณะ พวกเราเองคาดหวัง เรียกร้องมากๆ ให้มีการพูดคุย ในขณะรูปแบบการพูดคุยเพื่อให้มีประสิทธิผลมากที่สุดก็ต้องถกเถียงกันได้ อาจมีแบบสาธารณะบ้าง ปิดลับบ้าง ที่เราหวังคือต้องเป็นการคุยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นสากลมากที่สุด มีการรับรองจากสาธารณประเทศมากที่สุด

เราคาดหวังผลของการเจรจานี้จะส่งผลดีต่อสันติภาพของปัตตานี เราคาดหวังเพื่อให้ภาคประชาชนออกมานิยามสันติภาพของเขาได้

การมาพูดคุยของทั้งสองฝั่ง เป็นการใช้แนวทางที่ถูกต้องในการยุติความขัดแย้งโดยการพูดคุยกันของคู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐและขบวนการ แต่สิ่งที่เราถกเหถียงกันได้คือรูปแบบและวิธีที่ใช้ในการพูดคุย ถกเกถียงกันได้เพื่อให้มีความยั่งยืน

ในเรื่องที่ขบวนการอาจจะว่าเรา เพราะเราสนับสนุนรัฐไทย สาเหตุหลักๆ ที่เราอาจจะถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ หรือรัฐมองว่าไม่ดี รัฐอาจจะมองว่าเราทำอะไรที่เป็นการสนับสนุนขบวนการ เช่น การที่เราเปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นแบบสุดโต่งอย่างขบวนการที่ต้องการจะปลดปล่อยปาตานี โดยเรานำมาให้คุยในพื้นที่สาธารณะได้  เหมือนกับเป็นการขยายแนวความคิดนั้นหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วมองในลักษณะเดียวกันนี้  มันสามารถมองได้กันว่า เรากำลังสนับสนุนรัฐไทย ซึ่งเป็นไปได้ว่าขบวนการก็อาจจะไม่ชอบเรา  เพราะหลายๆ ครั้งที่เราออกมาพูด ออกมาทำกิจกรรมนี้  เราได้ออกมาบอกว่า คุณต้องให้เสรีภาพทั้งหมด ถ้าคนนี้มาบอกว่าอยากจะอยู่กับรัฐไทย เราไม่ต้องปลดปล่อย มันก็หมายความว่าขบวนการเองก็ไม่ต้องไปคุกคามเขา และในขณะเดียวกันรัฐเองก็ห้ามไปกระทำต่อผู้ที่ที่คิดต่างไปจากรัฐ มองในลักษณะนี้อาจจะเป็นจะเหมือนทั้งในกรณีของรัฐและในกรณีของขบวนการด้วยซ้ำไป

ถ้ากล่าวให้ชัดในเชิงเป้าหมาย รัฐเองก็อยากจะให้เกิดสันติภาพ  ขบวนการก็ต้องการสันติภาพเช่นเดียวกัน แต่นิยามอาจจะเป็นคนละแบบ สิ่งที่นักศึกษามาทำก็เช่นเดียวกัน สนับสนุนให้เกิดสันติภาพ โดยที่เอานิยามของทุกคนมาคุยกัน โดยเอาพื้นฐานจากชาวบ้านมาคุยกัน ดังนั้นการมองว่าเราเกี่ยวข้องกับขบวนการนั้นเป็นการมองที่ยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเรา แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้แปลกใจที่เราถูกมองเช่นนี้ เพราะนักศึกษาก็ประกาศตัวชัดเจนว่า เราทำงานด้านการเมือง เราทำกิจกรรมร่วมกับภาคประชาชน เพื่อผลักวาระประเด็นทางการเมืองด้วย เพราะอิสลามไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเมือง อิสลามมีคำสอนเรื่องการเมือง และการเมืองที่ดีต้องมีศาสนาเป็นตัวรองรับและเป็นตัวให้คำอธิบาย และสมาพันธ์ก็ทำเรื่องนี้ด้วย

 

บทบาทของผู้หญิงในสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

ต่อมา วนิสา ร่าหีม ฝ่ายกิจการสตรี สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงต่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับผู้หญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยมีการเริ่มต้นการพูดคุย สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และอาจจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางสมาพันธ์จัดขึ้น รวมทั้งองค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อที่สร้างเข้าใจและตระหนักมากยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัวแล้วการทำกิจกรรมแล้ว มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกัน ความหวังของประชาชนในพื้นที่มีความต้องการให้เราเป็นกระบอกเสียง เป็นเสียงที่สำคัญในการพูดคุยแทนชาวบ้าน ที่เรามีโอกาสมาพูดคุยในตรงนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรารู้สึกว่าดูรุนแรงมาก นั่นก็คือ เหตุการณ์ของนูรฮายาตี ครูสอนตาดีกา เขาโดนทหารข่มขืนและฆ่า ในปี 2551 ในส่วนของสื่อออกมาหลังจากนั้นเป็นเวลาสองปี ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้บอกเราว่า เราจะนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นพี่น้องเขา แต่เราก็ต้องออกมาพูดเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขา

ความหวังของเราในพื้นที่คือเราต้องการให้พื้นที่มีความสงบ มีสันติภาพเข้าไปในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ และการเจรจาที่เกิดขึ้นอาจจะใช้เวลานานพอสมควร เพราะมีหลายฝ่ายที่เข้ามา ทั้งนี้สมาพันธ์จะทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีการร่วมด้วยช่วยกัน และมาร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน เปิดพื้นที่ให้กับนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ

ต่อไปข้างหน้า เราจบไปได้รับปริญญา แต่เราไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้เลย ซึ่งมันจะเป็นที่น่าเสียดาย หากเราได้ทั้งใบปริญญาและสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องทำ อย่าลืมว่า เราเป็นความหวังของชาวบ้าน เพราะว่าเราได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาตรงนี้ เราก็ต้องช่วยเหลือชาวบ้าน

การที่เราเป็นผู้หญิง ซึ่งคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา หากถึงสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างเต็มที่ เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป ในส่วนของสมาพันธ์เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้มากพอสมควร ซึ่งมีพื้นที่มากในการทำงานในด้านกิจการสตรี สมาพันธ์ของเราเปรียบเสมือนกับการทำงานเชิงรุก โดยส่วนตัวแล้ว ปีนี้ได้มาทำเป็นปีที่สอง ในงานที่ทำก็เป็นลักษณะของการจัดทำฮาลากอฮ์ (วงกลมเรียนรู้ศาสนา)

ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วน บางตอน จากความคิด รูปแบบการเคลื่อนไหว/กิจกรรม ของนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาสาเข้ามามีบทบาทในการสรรค์สร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท