Skip to main content
sharethis
กลุ่มแรงงาน-ภาคประชาชน ประกาศค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับรัฐบาล -ส.ส.เรวัต ‘วิไลวรรณ’ จวกกฎหมายอัปลักษณ์ ค้านหนัก รมว.แรงงาน นั่งควบ ปธ.บอร์ดประกันสังคม ด้าน คปก.แนะแนวทางการสู้ต่อ-ชี้กฎหมายเข้าชื่อฯ ฉบับใหม่ส่อแววเป็นอุปสรรค์
 
 
ประกาศล้มร่างกฎหมายประกันสังคม ขู่ชุมนุมสกัดไม่ให้ผ่านสภาฯ
 
วันนี้ (30 ก.ค.56) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวแสดงท่าทีคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประกันสังคมแล้วและอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากที่ร่างกฎหมายฉบับที่มีการเข้าชื่อของประชาชน 14,264 รายชื่อ ไม่ถูกรับพิจารณา
 
ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งมาจากตัวแทนภาคแรงงานเพียงคนเดียว กล่าวถึงเนื้อหาในแถลงการณ์ว่า แรงงานและภาคประชาชนเห็นว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านการพิจารณาแล้วนั้น มีสาระสำคัญหลายประการที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูปปรับปรุงให้ระบบประกันสังคมดีขึ้น ทั้งบางประเด็นกลับยิ่งก่อปัญหาเพิ่มขึ้น
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงปัญหาของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า 1.ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตนราว 10 ล้านคน เพราะไม่กำหนดแนวทางให้มีการคัดเลือกตัวแทนผู้ประกันตนโดยตรงอย่างกว้างขวาง และร่างดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ประกันสังคม ซึ่งมีอำนาจในการออกระเบียบการเลือกตั้งคณะกรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการครอบงำสำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) จากนักการเมืองที่อาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้
 
2.ขาดกลไกในการตรวจสอบการบริหารงานของบอร์ดประกันสังคม เพราะในร่างที่ผ่านการพิจารณาไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำให้กองทุนประกันสังคมจำนวนมหาศาลกว่า 1 ล้านล้านในปัจจุบันไม่เกิดการทุจริต มีความโปร่งใสและบริหารงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง และ 3.ไม่ครอบคลุมลูกจ้างทุกกลุ่ม
 
ชาลี กล่าวถึงมาตรการที่จะมีการเคลื่อนไหว ดังนี้ 1.จะยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เพื่อตรวจสอบที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน เข้าพิจารณาในสภาฯ 2.จะยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมืองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ 3.จะนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุด้วยว่า หากระหว่างนี้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร
 
 
จวกกฎหมายอัปลักษณ์-ค้านหนัก รมว.แรงงาน นั่งควบ ปธ.บอร์ดประกันสังคม
 
วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวในการเสวนา “กฎหมายประกันสังคมกับอนาคตผู้ประกันตน???” ในช่วงเช้าวันเดียวกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชนที่เคลื่อนกันมาตั้งแต่ปี 2552 มีความครบถ้วน ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเรื่องสิทธิประโยชน์ การมีส่วนร่วม และมีโครงสร้างผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ แต่กลับถูกสภาฯ ปฏิเสธไม่รับพิจารณาวาระแรก
 
เหตุผลเพราะร่างดังกล่าวแตกต่างกันอย่างมากทั้งเรื่องหลักการ องค์กร และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเมื่อเทียบกับร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่สภาฯ รับพิจารณา ซึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวของภาคประชาชนผ่านไปได้ สัดส่วนของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย 1 ใน 3 จะเป็นของภาคประชาชน ทำให้รัฐบาลกังวลว่าภาคประชาชนจะไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ จนมีเสียงเป็น 2 ใน 3 ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอได้รับการพิจารณา
 
วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่มีการผลักดันกฎหมายฉบับของภาคประชาชนได้เดินสายพูดคุยกับฝ่ายการเมืองแล้ว แต่ในวันลงคะแนน ส.ส.จำนวน 250 คน ของพรรคเพื่อไทยกลับปฏิเสธที่จะรับพิจารณา มีเพียง 5 คนที่ให้คะแนนเสียง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่สามารถพึ่งตัวแทนในสภาผู้แทนฯ ได้เลย ทำให้ต้องหันกลับมามองว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไป กลุ่มแรงงานต้องคิดให้มากขึ้น
 
ส่วนการดำเนินการที่ผ่านมาภายหลังร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนถูกปัดตก วิไลวรรณให้ข้อมูลว่า กลุ่มแรงงานได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านกรณีดังกล่าวถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาซึ่งมีความเกี่ยวข้องในการพิจารณากฎหมายในชั้นต่อไป รวมทั้งยื่นหนังสือต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแช่งชาติ และได้มีการปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายถึงช่องทางที่จะเดินหน้าต่อไปด้วย
 
วิไลวรรณ กล่าวต่อมาว่า การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวแรงงานได้ทุ่มเทกันอย่างมากที่สุด แต่สุดท้ายกลับไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และสาระสำคัญที่เป็นหัวใจไม่ถูกบรรจุไว้เลย โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ดประกันสังคม ทำให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนของแรงงาน และมีอำนาจในการสรรหาผู้มีคุณวุฒิ โดยอำนาจของประธานเป็นอำนาจแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน อีกทั้งเปิดช่องให้นำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ในสิ่งที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกันตน
 
“ถามว่ากฎหมายประกันสังคมที่ออกมาหน้าตาอัปลักษณ์แบบนี้เราจะรับได้หรือ แล้วมันจะนำไปสู่ความหายนะของกองทุนประกันสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน ดิฉันมีความเชื่อมั่นอย่างนั้น” วิไลวรรณกล่าว
 
 
คปก.แนะแนวทางการสู้ต่อ-ชี้ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่อาจเป็นอุปสรรค์
 
ด้านสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนว่า รัฐธรรมนูญ 40 ได้บุกเบิกมาจากการผลักดันของประชาชนในการให้สิทธิประชาธิปไตยทางตรง คือ เข้าชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50,000 ชื่อ แต่เมื่อออกกฎหมายลูกในปี 42 (พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542) ก็มีความผิดเพี้ยนไป ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่น ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ต้องใช้เงินจำนวนมากในการล่ารายชื่อ ทำให้มีกฎหมายหลายฉบับตกไปเพราะไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อ 50,000 ชื่อได้ รวมถึงกฎหมายสถาบันความปลอดภัย (ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสนอโดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย)
 
ต่อมารัฐธรรมนูญปี 50 มีการปรับให้เป็นการเข้าชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 10,000 ชื่อ ซึ่งทำให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนมากมาย และก่อนหน้านี้มีร่างกฎหมายเข้าชื่อของกฎหมายแก้ไขกฎหมายเข้าชื่อปี 42 ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดีขึ้น โดยใช้บัตรประชาชน ไม่ต้องใช้ทะเบียนบ้าน และสู้ในอีกหลายเรื่อง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงมีประเด็นปัญหาอยู่ ซึ่งร่างกฎหมายเข้าชื่อของภาคประชาชนแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 มี 2 ฉบับและวันนี้ยังไม่ผ่านรัฐสภา
 
ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ซ้อนว่าการเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชนนั้นใช้กฎหมายฉบับเก่า โดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 และใช้กฎหมายเข้าชื่อปี 42 ซึ่งกำหนดให้เข้าชื่อ 10,000 รายชื่อและให้สิทธิ์เป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ 1 ใน 3 เข้าไปถกเถียงในสภา แต่สุดท้ายกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านการพิจารณาวาระ 1 กลับออกมาดูไม่ดีนัก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คปก.เคยออกมาแถลงหลายครั้งว่าการที่ไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับภาคประชาชนถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก และส่งผลอย่างยิ่งต่อกฎหมายเข้าชื่อของภาคประชาชนฉบับอื่นๆ ที่ในอนาคตที่อาจถูกปัดตกได้
 
สุนี กล่าวต่อมาถึงการต่อสู้ต่อไปที่จะต้องผ่านด่านต่างๆ ว่า แม้จะดูเหมือนการไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนขัดรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนผู้เสนอกฎหมายไม่สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะในรัฐธรรมนูญ 50 เขียนเอาไว้ว่าการยื่นเรื่องต้องผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ส่วนด่านต่อมาคือการตีความซึ่งนักกฎหมายถกเถียงกันอยู่ว่าจะสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงการวินิจฉัยกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่การไม่รับหลักการนั้นยังเป็นร่างกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการตีกรอบ เรามีสิทธิในการแสดงเจตนารมณ์ในการยื่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน หากไม่มีการส่งต่อก็สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง หรือช่องทางที่ 2 หากกฎหมายผ่านไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ส.ส.หรือ ส.ว.มีสิทธิที่จะเข้าชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ตามกลไกที่ออกแบบไวในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ช่องทางที่ 3 มีการเสนอจากกลุ่มนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งว่าเมื่อสภาผู้แทนอ้างเหตุผลว่าร่างของภาคประชาชนมีหลักการไม่ตรงกับร่างของรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็สามารถนำกลับไปเสนอใหม่ได้ โดยใช้ชื่อเดิม และช่องทางสุดท้ายคือการใช้สิทธิในการชุมนุม
 
รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน หากจะใช้วิธีการยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาฯ อีกครั้ง อาจไปชนกับที่กฎหมายเข้าชื่อฉบับใหม่ที่กำลังรอออกบังคับใช้อยู่ ซึ่งหลักการของกฎหมายจะไม่เหมือนเดิม ทำให้ต้องเจอกับ 2 ปัญหา คือ 1.กฎหมายจะต้องตกไปเพราะเป็นคนละช่วงเวลา 2.กระบวนการของกฎหมายใหม่แม้จะมีหลายเรื่องดีขึ้น แต่ก็มีอุปสรรคคือต้องมีคนริเริ่มอย่างน้อย 20 คน ในการเสนอกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนฯ ให้อนุมัติในหลักการว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงจะมีสิทธิทำการล่ารายชื่อ และมีบทลงโทษสำหรับการข่มขู่ จูงใจให้มีการเข้าชื่อ ดังนั้น การเลือกใช้วิธีการใดๆ ต้องพิจารณาให้ดี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net