สุรพศ ทวีศักดิ์: ต้นแบบจริยธรรมไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ระยะหลังมานี้ เวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “ไทยๆ” เรามักหมายถึงสิ่งที่มีภาวะย้อนแย้งในตัวเอง (paradox) หรือเป็นภาวะชวนหัวชวนไห้ในเวลาเดียวกัน อย่างที่เรียกกันว่า “ตลกร้าย” (irony)
 
เช่น “ประชาธิปไตยไทยๆ” คือประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพได้เท่าที่ชนชั้นปกครองในระบบเก่าอนุญาตให้มี ไม่ใช่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตกลงร่วมกันในการวางกรอบการมีเสรีภาพ หรือ “รักเจ้าแบบไทยๆ” ก็คือการประณาม หยาบคาย ไล่คนที่คิดต่าง คนที่เรียกร้องเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเจ้าตามหลักการประชาธิปไตยให้ออกไปจากประเทศไทย เป็นต้น
 
ความเป็นไทยๆที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ เมื่อเร็วๆนี้เอแบคโพลล์รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “บุคคลต้นแบบทางจริยธรรม” ของสังคมไทย เช่น นักการเมืองที่ควรเป็นต้นแบบในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 41.7 ระบุ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันดับสอง ร้อยละ 31.6 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
 
สำหรับบุคคลที่เป็นข้าราชการที่ควรเป็นต้นแบบในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 44.8 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้บัญชาการทหารบก อันดับสอง ร้อยละ 27.8 ระบุ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
 
นอกจากนี้ผู้ใหญ่ในสังคมที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าควรเป็นต้นแบบในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 41.2 ระบุ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อันดับสอง ร้อยละ 23.0 ระบุ นายชวน หลีกภัย
 
เมื่อดู “บุคคลต้นแบบทางจริยธรรม” ดังกล่าว ทำให้เรารู้สึกได้ว่านี่คือ “ต้นแบบจริยธรรมไทยๆ” ไล่จากด้านล่างขึ้นไป พลเอกเปรมกับอดีตนายกฯชวนนั้น คนคงจะนึกถึงภาพว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกง แต่นี่เป็นความซื่อสัตย์ในความหมายแคบ ไม่ครอบคลุมความซื่อสัตย์ในหลักการสำคัญที่ควรจะเป็น เช่น สื่อ นักวิชาการ และสังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามว่า พลเอกเปรมในฐานะประธานองคมนตรี “ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?”
 
เพราะรัฐธรรมนูญห้ามองคมนตรีเกี่ยวข้องกับการเมือง การที่ประธานองคมนตรีแสดงความเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะ หรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น “สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด” หรือ “ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ” หรือการนำหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าฯ เป็นต้น เป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมอย่างไร
 
สำหรับนายชวน หลีกภัย แม้จะมีภาพพจน์เป็นนักการเมืองมือสะอาด แต่บทบาทรักษาจารีตที่อ้างอิงสถาบันกษัตริย์ต่อสู้ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ คือบทบาทของผู้มีความ “ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยจริงหรือ?”  
 
ความไม่ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญและต่อหลักการประชาธิปไตย คือปัญหาสำคัญที่สุดที่เป็นต้นเหตุของการทำรัฐประหารซ้ำซาก เป็นรากเหง้าของการรักษาสถานะ อำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้ถูกอ้างอิงทำรัฐประหารได้ไม่สิ้นสุด จึงเป็นความไม่ซื่อสัตย์ที่ส่งผลร้ายแรงต่อความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการโกงของนักการเมืองอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่สังคมไทยกลับไม่เคยตั้งคำถามต่อความไม่ซื่อสัตย์ดังกล่าวอย่างจริงจัง
 
ส่วนบุคคลต้นแบบทางจริยธรรมฝ่ายราชการ เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ทั้งสองคนต่างก็มีส่วนร่วมในระดับวางแผน สั่งการในการสลายการชุมนุมปี 2553 ยิ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร และเป็นผู้มีอำนาจสั่งการสลายการชุมนุมที่ประชาชนเสียชีวิตเกือบร้อยคน บาดเจ็บร่วมสองพันคน โดยที่ “บุคคลต้นแบบทางจริยธรรม” ดังกล่าวนี้ ไม่เคยแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมยอมรับความผิดพลาด และขอโทษประชาชนเลยสักครั้ง
 
สำหรับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะยังไม่มี “รอยด่างทางจริยธรรม” หรือการกระทำในทางที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อหลักการประชาธิปไตย และการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน แต่ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากการสละชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรายังไม่เห็นนายกฯยิ่งลักษณ์แสดง “ความกล้าหาญทางจริยธรรม (moral courage)” ในเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง นักโทษ 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น
 
แม้เราจะเข้าใจสถานการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อนและอ่อนไหวต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แต่เราก็ยังอยากเห็นความกล้าหาญทางจริยธรรมในเรื่องดังกล่าวมากกว่าที่เป็นมา
 
พูดอย่างถึงที่สุดต้นแบบทางจริยธรรมไทยๆที่สะท้อนผ่านโพลล์ดังกล่าว ฉายให้เห็นหน้าตาของ “ทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยว” คือทรรศนะที่ปลูกฝังอบรมเรื่อง “คนดี” คนมีคุณธรรมจริยธรรมที่กตัญญู จงรักภักดีต่อ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
 
แต่เป็นชาติที่ไม่มีประชาชน ไม่มีประชาธิปไตย คนดีที่กตัญญู จงรักภักดีจึงไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องเคารพรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ไม่จำเป็นต้องเคารพหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเคารพอำนาจของประชาชน
 
ฉะนั้น การทำรัฐประหารในนามความจงรักภักดี จึงเป็นการกระทำจากฝ่ายที่อ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมตลอดมา นักการเมืองที่ซื่อสัตย์เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมก็คือนักการเมืองที่ยอมรับรัฐประหารเช่นนั้น และ/หรือไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะต่อต้านรัฐประหารเช่นนั้นอย่างจริงจัง
 
ทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยวดังกล่าวจึงเป็น “อุปสรรคสำคัญที่สุด” ของพัฒนาการประชาธิปไตยในสังคมไทย เพราะในสังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า เขาปลูกฝังทรรศนะทางจริยธรรมอีกชุดหนึ่ง คือทรรศนะทางจริยธรรมที่มองว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน” กล่าวคือ เท่าเทียมในเสรีภาพที่จะเลือกการมีชีวิตที่ดี เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในทางการเมือง เสรีภาพทางศาสนา ฯลฯ
 
แต่ในสังคมไทย “ไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียม” เลย เช่น ฝ่ายที่อ้างความจงรักภักดี จะสรรเสริญบุคคลที่พวกตนรักอย่างเกินจริงอย่างไรก็ได้ จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือประณาม ขับไล่นักการเมืองที่พวกตนเกลียด พรรคการเมือง มวลชน หรือใครก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีการใดๆก็ได้ แม่กระทั่งวิธีรัฐประหาร แต่อีกฝ่ายไม่มีแม้แต่เสรีภาพจะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่ฝ่ายแรกอ้างอิงมาเล่นการเมือเพื่อดิสเครดิต หรือทำลายฝ่ายตรงข้าม นี่คือ “สองมาตรฐานของเสรีภาพ” ในการแสดงออกทางการเมืองอันเป็นผลพวงของการปลูกฝังทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยว
 
ทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยวยึดโยงอยู่กับ “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” สังคมไทยใช้ศาสนาสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลขึ้นมา ทำให้คนในชาติมีมุมมองทางจริยธรรมแบบคับแคบที่พูดถึงแต่เรื่อง “คนดี” สร้างจินตนาการผิดๆ ว่าคนดีคือ “พระเอกขี่ม้าขาว” มาแก้ทุกปัญหาของประเทศได้ เราจึงไม่เชื่อใจประชาชน ไม่มีวัฒนธรรมเคารพหลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกัน ขาดความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างระบบสังคมการเมืองที่ดี ชนชั้นปกครองจึงมักจะฉวยโอกาสเข้ามาคิดแทน ตัดสินใจแทน ออกแบบกติกา หรือระบบสังคมการเมืองแทน ซึ่งมักเป็นไปเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นหลัก
 
สังคมไทยจะไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าไม่ก้าวข้ามทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยวที่ยึดติดลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ เราจำเป็นต้องปลูกฝังจริยธรรมสาลกที่ปลุกมโนธรรมสำนึกและสร้างค่านิยมเคารพหลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกัน เคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เวลาพูดถึง “จริยธรรม” ไม่ใช่พูดเพื่อยกย่อง “คนดี” อย่างที่ทำกันมาตามความเคยชิน แต่ควรพูดเพื่อยกย่องการกระทำที่มี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” คือการกระทำที่แสดงออกถึงการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพในสังคมประชาธิปไตย
 
ที่สำคัญต้องเลิกใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมืออวยคุณวิเศษของชนชั้นปกครอง แต่ใช้พุทธศาสนาในความหมายของวิถีการฝึกตนเองเพื่ออิสรภาพด้านใน และเพื่อให้เกิดสำนึกสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียมทางสังคม
 
 
 
ที่มา: โลกวันนี้วันสุข (27 ก.ค.-2 ส.ค.2556)
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท