ชาญวิทย์ชี้ ที่ผ่านมา กม.นิรโทษกรรมส่วนใหญ่ นิรโทษให้ชนชั้นนำ

อดีตอธิการบดี มธ.ชี้ ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย 81 ปี มี กม.นิรโทษกรรม 22 ฉบับ เฉลี่ยสามปีครึ่งมีกม.นิรโทษกรรม 1 ฉบับ ซึ่งพบว่า 72.7 % นิรโทษกรรมให้ชนชั้นนำ

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงาน "108 เหตุผลทำไมต้องนิรโทษกรรมนักการเมือง" จัดโดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.)

...............

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวระหว่างการปราศรัยที่ Chatham House ในกรุงลอนดอน ให้สัญญาด้วยว่า จะไม่มีนักโทษการเมืองหรือผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลเหลืออยู่ในพม่าภายในสิ้นปีนี้

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เว็บไซต์ของประธานาธิดีพม่าระบุว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้สั่งยุบเลิกกองกำลังความมั่นคงที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิโรฮิงยาไปแล้ว และว่า ความขัดแย้งต่างๆ ที่ยังมีอยู่ในประเทศขณะนี้ ล้วนแต่มีลักษณะที่มาจากความไม่พอใจของคนต่างเชื้อชาติในประเทศทั้งสิ้น

แน่นอนว่าเราอาจไม่เชื่อทั้งหมดของข่าวสารที่มาจากรัฐบาลพม่า แต่นับเป็นนิมิตหมายที่ดี สำหรับประชาชนชาวพม่าที่เผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมากว่าเสี้ยวศตวรรษ นับตั้งแต่เหตุการณ์ 8/8/88 อนึ่ง เราทั้งหลายก็ทราบดีกว่า กัมพูชาเอง พระมหากษัตริย์ก็พระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้นำฝ่ายค้าน สม รังสี ทั้งนี้ โดยข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น ซึ่งนับได้ว่าภูมิภาคอาเซัยนของเรากำลังมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่สำหรับสยามประเทศไทย ในพ.ศ. 2556 เรากลับต้องมาพูดเรื่อง "108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักการเมือง" นับเป็นความน่าเศร้าอย่างยิ่ง เพราะแท้ที่จริงแล้ว เราไม่ควรจะมีเหตุผลใดๆ ที่จะมี "นักโทษการเมือง" ที่เกิดจากการคิด พูด อ่าน เขียน ที่มีความเห็นไม่ตรงกับอุดมการณ์รัฐแล้วในโลกปัจจุบัน ดังเช่นที่รัฐบาลพม่ากำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ในขณะนี้

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมได้พบข้อมูลระหว่าง พ.ศ. 2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2556 เป็นเวลา 81 ปีว่า เรามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ โดยแบ่งเป็นพ.ร.ก. 4 ฉบับ พ.ร.บ. 7 ฉบับ และรธน. 1 ฉบับ

 สาระสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 22 ฉบับ คือ การนิรโทษกรรมให้ความผิดโดยแบ่งออกเป็น

- ความผิดฐานเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 ฉบับ- ความผิดฐานก่อกบฎ 6 ฉบับ

- ความผิดจากการก่อรัฐประหาร 10 ฉบับ

- ความผิดจากการต่อต้านสงครามของญี่ปุ่น 1 ฉบับ

- ความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับ

- ความผิดจากการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 1 ฉบับ

ถ้านับกันตามเวลาแล้ว ในระยะเวลา 81 ปี เฉลี่ยแล้ว 3 ปีครึ่ง เรามีกฎหมายนิรโทษกรรม 1 ฉบับ เหตุที่มีมากเช่นนั้น เพราะเป็นการรวมการรัฐประหาร 10 ฉบับ และความผิดฐานกบฏ 6 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำ คิดเป็นร้อยละ 72.7 ขณะที่การนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับในเหตุการณ์สำคัญ คือ

 *เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 : พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516

 *เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 : พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6ตุลาคม 2519

 *เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21พฤษภาคม 2535

 ที่กลายเป็นตลกร้ายทางการเมือง คือ กฎหมายที่มุ่งนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองทั้ง 3 ฉบับ กลายเป็นว่าเป็นการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ไปพร้อมกันด้วย

กฎหมายนิรโทษกรรมกลายเป็น "ใบอนุญาตฆ่าประชาชน" ผู้ซึ่งใช้สิทธิในทางการเมืองอย่างสุจริตไปโดยปริยาย

หลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามมาด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเกือบ 7 ปี ที่มีการล้มตายของประชาชนกลางเมืองหลวงและหัวเมืองต่างๆในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 จนกลายมาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยากจะสมานได้ในเร็ววัน แต่ผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังปรากฏนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำมาเป็นเวลานานนับปีอยู่หลายร้อยคน

นี่เป้นเหตุผลที่เรามารวมตัวกันที่นี้ เพื่อบอกว่า นักโทษการเมือง จะต้องหมดไปจากประเทศไทยด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมในปี 2556 ต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมเช่นใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ที่ผู้ก่อความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย เพราะประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ตราบใดที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ก็จะมีความุรนแรงตามมา

อย่าให้ประวัติศาสตร์สอนเราว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาตร์ต่อไปอีกเลย

 

หมายเหตุ: ขอขอบคุณธนาพล อิ๋วสกุล ที่ช่วยเหลือในการตระเตรียมข้อคิดนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท