Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ อาจจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งในปฏิทิน แต่สำหรับนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” วันนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะเป็นวันที่เธอถูกตำรวจจากโรงพักชนะสงครามจับกุมที่ห้องพัก ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ และตั้งแต่วันนั้น เธอก็สูญเสียอิสรภาพ เพราะถูกนำตัวเข้าคุกโดยทันที และต้องอยู่ในคุกเรื่อยมาจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลา ๕ ปีเต็ม ทำให้ดา ตอร์ปิโด กลายเป็นเหยื่อของมาตรา ๑๑๒ ที่ถูกจำคุกนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของศาลไทยสมัยใหม่

ตามประวัติ นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เกิดราว พ.ศ.๒๕๐๖ ที่จังหวัดพระนคร จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ และสื่อหลายฉบับ ตั้งแต่วัฏจักร พิมพ์ไทย ไทยสกายทีวี จนกระทั่ง เมื่อเกิดการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ตามข่าวเล่าว่า คุณดารณีไม่ยอมรับการรัฐประหาร จึงลาออกจากอาชีพนักข่าว โดยอธิบายว่า "ไม่อยากเป็นสื่อมวลชนที่ถูกครอบงำ อยากทำงานอย่างอิสระ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และคณะรัฐประหาร เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา ไม่ต้องมีใครกลัวใคร"

ตั้งแต่หลังรัฐประหาร นางสาวดารณีจึงกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนชุดแรกๆ ที่ตั้งกลุ่มชุมนุมสนามหลวง เพื่อแสดงการสนับสนุนฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคัดค้านรัฐประหาร โดยตั้งเป็นเครือข่ายสภาประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย ประเด็นในการรณรงค์ก็คือ การเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ กลับมาใช้ ด้วยรูปแบบการปราศรัยที่ดุเดือด ใช้ถ้อยคำอันรุนแรง เธอจึงได้ฉายาว่า “ดา ตอร์ปิโด” และในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ขณะที่กลุ่มพีทีวี ชุมนุมอยู่ที่สนามหลวง เพื่อต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ คุณดารณีได้เปิดเวทีเล็ก แล้วปราศรัยโจมตีคณะรัฐประหาร ตุลาการรัฐธรรมนูญ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เธอได้ถูกแม่ค้าปากคลองตลาดฝ่ายนิยมพันธมิตร เชื่อ นางยุพา อิ่มแดง ปาอุจจาระใส่ ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในหน้าสื่อมวลชนกระแสหลัก และอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อคืนวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ คุณดารณีได้นำมวลชนราว ๑๐๐ คน ไปประท้วงและขว้างปาสิ่งของ ที่หน้าบริษัทของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่ถนนพระอาทิตย์ จึงทำให้คุณดารณีกลายเป็นศัตรูสำคัญของของกลุ่มผู้จัดการและนายสนธิ ลิ้มทองกุล

ต่อมาหลังจากการเลือกตั้ง เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ รัฐบาลพรรคพลังประชาชน นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยลุกขึ้นมาประท้วงขับไล่ โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลนี้ยังคงเป็นเครือข่ายของระบอบทักษิณ คุณดารณีก็ร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่นในการเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายพันธมิตร และสนับสนุนรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ดา ตอร์ปิโด ขึ้นปราศรัยที่เวทีสนามหลวงโดยโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ ฝ่ายอำมาตย์ และ เผด็จการทหารด้วยถ้อยคำรุนแรง และมีข้อความบางตอนที่จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการพาดพิงถึงเบื้องสูง ต่อมาวันที่ ๒๐ กรกฎาคม นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์โจมตีดา ตอร์ปิโดอย่างรุนแรงในข้อหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยนำเอาข้อความที่กล่าวว่าเป็นคำพูดของดา ตอร์ปิโด มาเผยแพร่ต่อสารธณชนวงกว้าง เพื่อจะปลุกกระแสคลั่งเจ้า และเล่นงานคุณดารณี

การดำเนินการของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำมาสู่การออกหมายจับและจับกุมนางสาวดารณี แต่มีข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า ทางกองทัพบกมีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ดำเนินคดีต่อดา ตอร์ปิโด โดยที่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการแต่อย่างใด

หลังจากการจับกุม ได้มีการใช้สิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อที่จะขอประกันตัวคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุลโดยทันที แต่ศาลไม่ยินยอมให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกัน และคดีนี้เป็นคดีที่มีโทษสูง ถ้าให้ประกันตัวผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี จากนั้น ได้มีความพยายามยื่นขอประกันตัวอีกนับสิบครั้ง แต่ศาลก็ปฏิเสธทุกครั้งด้วยข้ออ้างแบบเดิม ซึ่งกรณีนี้ คุณประเวศ ประภานุกูล ทนายความของคุณดารณีอธิบายว่า ข้ออ้างของศาลนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องค้านการประกันแทบทุกคดี จึงเอามาใช้เป็นเหตุผลไม่ได้ แม้จะมีบุคคลหลายฝ่ายพร้อมยืนยันว่า คุณดารณีจะสู้คดีไม่หลบหนี ศาลก็ไม่รับฟัง ส่วนการอ้างว่า เป็นคดีที่มีโทษสูงจึงไม่ให้ประกัน หมายถึงว่า ศาลตัดสินล่วงหน้าไปแล้วว่า จำเลยมีความผิดตั้งแต่ยังไม่มีการไต่สวน ซึ่งเป็นการขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ผู้ต้องหาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง ยิ่งกว่านั้น ศาลก็ยังไม่ยอมพิจารณาในลักษณะที่ว่า จำเลยไม่เคยถูกพิพากษาโทษ และไม่เคยกระทำผิดกฎหมายมาก่อน และไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลที่จะไปทำลายหลักฐานรูปคดี จึงควรที่จะให้ประกันตัวไปสู้คดีได้

แต่เบื้องหลังที่เป็นจริงของการห้ามประกันตัว คือ การที่ศาลจัดให้คดีความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เป็นคดีความมั่นคง ที่จะคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลจึงห้ามประกันตัวไว้ก่อนเสมอ ถ้าผู้ต้องหาเป็นฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดง ซึ่งรวมถึงกรณี คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ทั้งที่ในทางความเป็นจริง การวิจารณ์ใดๆ ก็ไม่อาจจะสร้างความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ การจับเอาประชาชนมาเข้าคุกในคดีมาตรา ๑๑๒ แล้วห้ามการประกันตัวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เหตุผลหนึ่งที่คุณดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ต้องติดคุกต่อเนื่องมายาวนานเช่นนี้ เพราะเธอยืนยันเสมอที่จะสู้คดีให้เป็นบรรทัดฐานของเหยื่อคดี ๑๑๒ ได้มีผู้หวังดีหลายคนเสมอให้เธอยอมสารภาพ ยุติการสู้คดีทั้งหมด และทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถ้าได้รับการพระราชอภัยโทษ ก็จะได้ออกจากคุกได้เร็วกว่า แต่คุณดารณีไม่ยินยอม เธอเห็นว่า คดีตามมาตรา ๑๑๒ เป็นความไม่ชอบธรรมของสังคมไทย และจะต่อสู้จนถึงที่สุด ความจริงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ คุณดารณีเคยมีความหวังว่า เธอจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือ และได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลที่เธออธิบายว่า “เป็นพวกเดียวกันเอง” แต่มาถึงวันนี้ คุณดารณีไม่มีความหวังอะไรอีกแล้วที่จะได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ต่อให้มีการผลักดันกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชน ก็จะไม่รวมนักโทษมาตรา ๑๑๒

ความคืบหน้าล่าสุด จากคดีดา ตอร์ปิโด ก็คือ การตัดสินของศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ศาลชี้ว่า พฤติกรรมของ นางสาวดารณีเป็นการหมิ่นเบื้องสูง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเกียรติยศ ควรต้องลงโทษสถานหนัก เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง จึงตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกนางสาวดารณี ๑๕ ปี

ในขั้นตอนขณะนี้ คุณดารณีก็เตรียมการที่จะต่อสู้ไปถึงศาลฎีกาให้เป็นที่สิ้นสุด เราคงจะต้องเอาใจช่วยเธอในการต่อสู้กับความอยุติธรรม และคงต้องยกย่องในจิตใจที่เข้มแข็งยืนหยัด ทั้งที่สภาพในคุกหญิงนั้นเลวร้ายยิ่งนัก การต่อสู้ของเธอจะเป็นประวัติศาสตร์แห่งรูปธรรม ที่แสดงให้เห็นความชั่วช้าของกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ที่ทำลายชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในนามของความอนุรักษ์นิยมสุดขั้วของสังคมไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net