Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฮอร์โมนคงไม่ใช่ละครเรื่องเดียวที่ถูก "ผู้ใหญ่" เพ่งเล็ง และอาจจะถูกแบนได้ หากผู้ใหญ่พิจารณาแล้วว่าเนื้อหา "ไม่เหมาะสม" ยังมีละครและหนังอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ถูกแบน ถูกเซ็นเซอร์อยู่เนืองๆ ในสังคมที่มี "ผู้ใหญ่" ที่ใช้ตัวเองเป็นมาตรวัดทางศีลธรรมและใช้ตัวเองตัดสินว่าเรื่องนั้นดีงามเรื่องนี้ไม่ดีงามอยู่เสมอๆ

ในมุมมองของ "ผู้ใหญ่" เด็กก็ยังเป็นเด็กอยู่วันยันค่ำ หากอยากให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ก็ต้องป้อนแต่สิ่งดีๆ ให้พวกเขา

"เด็ก" ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความถึงเยาวชนเท่านั้น แต่หลายครั้งที่ "เด็ก" ในนิยามของ "ผู้ใหญ่" หมายถึงประชาชนในวงกว้าง

"ผู้ใหญ่" ในสังคมไทยมักมองว่าประชาชนเป็นเด็กที่รู้น้อยกว่าตัวเอง มีสำนึกทางศีลธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องคอยควบคุมสื่อต่างๆ ให้มีเนื้อหาที่ถูกต้องดีงาม มีคำสอนหรือบทสรุปท้ายรายการให้กระจ่างชัด "เด็ก" จะได้ไม่นำไปเลียนแบบ

แต่ "ผู้ใหญ่" คงลืมไปว่า "เด็ก" มีศักยภาพที่จะเติบโตทางความคิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ผ่านการคิดวิเคราะห์ด้วยสมองที่มี และผ่านตัวอย่างทั้งร้ายดีผสมกั

สิ่งเลวร้ายและสิ่งดี ซึ่งมีอยู่ในโลกความจริง

หากเรายอมรับความจริงเราก็จะได้เรียนรู้จากความจริง แต่หากเราหลอกตัวเอง นั่งฝันว่าบ้านเมืองและสังคมเราสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีเด็กนักเรียนมีเซ็กส์กัน ไม่มีเด็กนักเรียนทำแท้ง ไม่มีพระที่หลุดออกนอกกรอบพระวินัย ไม่มีสิ่งที่ไม่ดีงาม และทำละครหรือหนังเพื่อบอกเล่าแต่ "ตัวอย่าง" ที่ดี เราจะได้เรียนรู้โลกความจริงได้อย่างไร

บ่อยครั้งในชีวิตที่เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น บ่อยไปที่เราคิดได้จากการอ่าน ฟัง ดู ชีวิตของตัวละครในโลกจินตนาการที่สมจริง

และความ "คิดได้" นี้จะยิ่งฝังลึกในสมอง หากมันผ่านการคิดใคร่ครวญ คิดวิเคราะห์ ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้พระเอก นางเอก ครู พระ หรือฮีโร่คนไหนในละครมาพูดสอนตอนอวสาน

แต่ "ผู้ใหญ่" ทั้งหลายไม่เชื่อใน "ศักยภาพในการคิดเป็น" ของประชาชน ที่เขามองเห็นว่าเป็น "เด็ก" อยู่เสมอ กลัวว่าหากได้เห็นตัวอย่างที่ไม่ดีแล้วจะนำไปเลียนแบบ เป็นไปได้ไหมว่า "ผู้ใหญ่" ที่ปรารถนาดีทั้งหลายอาจเข้าใจว่าประชาชนไทยไม่มีความสามารถในการอ่าน

"การอ่าน" ที่ไม่ได้หมายความว่าสะกดคำและอ่านออกเสียงได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการ "อ่าน" ความหมายที่สอดแทรกอยู่ระหว่างเนื้อหา "อ่าน" แล้วคิดวิเคราะห์ ถกเถียง เชื่อมโยง คิดค้าน คิดโต้ คิดต่อ ซึ่งนำมาซึ่งการ "คิดเอง"

การเรียนแบบท่องจำในโรงเรียนจนเคยชินอาจทำให้ "ผู้้ใหญ่" หลงคิดไปว่า เวลาบอกให้อ่านอะไรแล้วเด็กจะไม่คิดต่อคิดโต้เลย เด็กจะท่องจำไปทำต่อโดยอัตโนมัติ

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งเขียนถึงเรื่อง "อ่านหนังสือ" โดยบอกว่า "การอ่านเป็นวัฒนธรรมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตทั้งหมด ไม่ใช่ช่วงเวลาหนึ่งที่คนเอาตาจ้องตัวอักษร"

การที่คนเราจะ "อ่านหนังสือเป็น" นั้นต้องผ่านการฝึก เพราะถ้าไม่ผ่านการฝึก เราก็จะเป็นแค่คน "อ่านหนังสือออก" คือเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่าน แต่ไม่ได้ความคิดจากการอ่าน อ.นิธิ เปรียบว่าเหมือนการอ่านป้ายเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด

"เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อรับรู้ประสบการณ์ของคนอื่น แต่อ่านหนังสือเพื่อทำให้เรามองเห็นประสบการณ์ของเราเองจากอีกมิติหนึ่งซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน คิดสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรือคิดต่าง คิดลึกไปกว่าเดิม รวมทั้งเหลาความสามารถที่จะรู้สึกของเราให้แหลมคมขึ้น" --วรรคนี้อ่านแล้วพยักหน้าหงึกหงัก

แต่สังคมไทย (ตั้งแต่ในโรงเรียน) เราถูกฝึกให้ "อ่านออก" ไม่ใช่ "อ่านเป็น" การอ่านจึงไม่สนุกโดยสิ้นเชิง เพราะอ่านแล้วไม่ได้คิด ไม่ได้ถกกัน ครูไม่ได้เอามาชวนวิเคราะห์ต่อกันในห้อง เมื่อไหร่ที่พูดถึง "การอ่านหนังสือ" จึงกลายเป็นเรื่องที่เด็กๆ (รวมถึงคนที่โตแล้ว) เบื่อหน่ายและส่ายหน้า

เราไม่ใช่สังคมที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เราขี้เกียจอ่าน หนัง ละคร วรรณกรรมหรือบทกวีที่ไม่ได้บอกกันตรงๆ จึงขายได้น้อยกว่าฮาวทูที่บอกทางลัดเป็นข้อๆ ให้ทำตาม และละครที่มีคำสอนท้ายเรื่อง ตัวละครขาวจัดดำจัด ชั่วก็ชั่วสุดๆ ดีก็ดีเลิศอย่างกับนางฟ้า จึงยังได้รับความนิยมมาโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่นิสัยขี้เกียจอ่านของเราก็เกิดจากการที่ "ผู้ใหญ่" ไม่ปล่อยให้เรา "อ่าน" สิ่งต่างๆ ไม่ปล่อยให้คนในสังคมได้คิด วิเคราะห์ ถกเถียง จากสื่อที่นำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย เสนอแง่มุมความจริงบางอย่างของสังคม มิใช่โลกในนิยายที่มีแต่คุณชายหน้าตาดี และผู้หญิงที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อมาทวงสมบัติเจ้าคุณปู่คืนด้วยการโชว์ปานรูปแมวน้ำที่แก้มก้นข้างซ้าย หรืออะไรทำนองนั้น

ถ้าใช้ชีวิตอยู่ห่างจากความจริงและถูก "ผู้ใหญ่" ริบเอา "สิ่งที่จะอ่าน" สิ่งที่จะทำให้คิดเองได้แบบนี้ไปตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่ที่คนในสังคมจะได้เติบโตทางความคิดไปพร้อมๆ กัน

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า "ผู้ใหญ่" ที่ไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนได้ฝึกการอ่านสิ่งต่างๆ จากสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลาย เขาหวังดีกับประชาชนและสังคมอย่างที่กล่าวอ้างหรือเปล่า หรือเขาอาจ "ใหญ่" และมีอำนาจจนเคยตัว และคิดว่ายิ่งประชาชนอ่านไม่เป็น คิดไม่เป็น ก็ยิ่งเป็นเด็กที่อยู่ในโอวาท ปกครองง่าย ไม่หือ ไม่อือ ไม่คิดตั้งคำถามกระทั่งว่า เกณฑ์ในการตัดสินว่าละครหรือหนังเรื่องไหน "เหมาะสม" นั้นอยู่ในกำมือของ "ผู้ใหญ่" แค่ไม่กี่คนเท่านั้นเองหรือ 

หาก "เด็กๆ" ไม่เติบโต "ผู้ใหญ่" ก็จะมีอำนาจ ใช้อำนาจ และควบคุมตัดสินสิ่งที่จะป้อนให้เด็กๆ ได้อย่างเต็มที่ต่อไปตราบชั่วกาลนาน

แต่สังคมที่ดีและมีความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ควรเต็มไปด้วย "เด็ก" ที่คิดไม่เป็น และยิ่งไม่ควรเต็มไปด้วย "ผู้ใหญ่" ที่คิดไม่เป็น

ปล่อยให้พวกเราได้ "อ่าน" กันบ้างเถิดครับ


ไม่ควรรณรงค์เรื่องเมืองหนังสือโลกกันด้วยการแขวนโปสเตอร์ "อ่านกันสนั่นเมือง" เท่านั้น แต่ควรปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านทุกสิ่ง อ่านชีวิต อ่านโลก อ่านสังคม อ่านการเมือง อ่านหนัง อ่านละคร อ่านฮอร์โมน อ่านดาว อ่านไผ่ อ่านสไปรท์ อ่านเต้ย ให้เกิดขึ้นด้วย

เพราะหากเรามีนิสัยของการ "อ่าน" ติดตัว สิ่งเลวร้ายทั้งหลายก็จะทำร้ายเราได้ยาก เพราะเราจะไม่ท่องจำและเลียนแบบเหมือนนกแก้วนกขุนทองอีกต่อไป แต่เราจะ "อ่าน" และ "คิด" กับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ปล่อยให้พวกเรา "อ่าน" และคิดเองบ้างเถิดครับ "ผู้ใหญ่" แล้วงานของพวกท่านจะเบาลงอีกเยอะ เอาเวลานั่งแบนหนังแบนละครไปคิดอะไรที่มีประโยชน์ให้บ้านเมืองได้อีกมาก

ยิ่งแบนหนังแบนละคร ก็ยิ่งทำให้สังคมได้ประชาชนแบนๆ มากขึ้นทุกวัน

สังคมแห่งการอ่านจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีสิ่งต่างๆ ให้อ่านอย่างเสรีและหลากหลายเท่านั้น


 

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก Roundfinger

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net