พ.ร.บ.นิรโทษฉบับญาติวีรชน บนความขัดแย้งสับสน

 
พลันที่ญาติวีรชนพฤษภา 53 อันมีแม่น้องเกด กับพ่อน้องเฌอ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ออกมาเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชน ก็เกิดความขัดแย้งตอบโต้กับวรชัย เหมะ อ.ธิดา และหมอเหวง โตจิราการ ทั้งในเฟซบุคและในหน้าสื่อ ซึ่งได้โอกาส “เสี้ยม” อย่างสนุกสนาน กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ ยังออกมา “สนับสนุน” ร่างของญาติวีรชน (แต่ไม่สนับสนุนจริงเพราะละเลยสาระสำคัญ)
 
การตอบโต้กันด้วยท่าทีที่รุนแรง และมีกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่เป็นผลดีเลยต่อการผลักดันให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองโดยเร็ว
 
กรณีนี้มีหลายประเด็นที่ควรแยกแยะทำความเข้าใจ
 
 
1.ความไม่ไว้ใจนักการเมือง
 
การนิรโทษกรรมมวลชนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขัง จำเป็นต้องอาศัยจังหวะทางการเมือง ไม่ใช่มีอำนาจแล้วทำได้ทันที ฉะนั้นการที่บอกว่ารัฐบาลต้องทำเรื่องอื่นก่อน หรือต้องคำนึงถึงเสถียรภาพรัฐบาลด้วย แรกๆ ก็มีเหตุผล
 
แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี รอแล้วรอเล่า มีจังหวะที่น่าจะทำหลายครั้งแต่ไม่ทำ มวลชนก็รู้สึกว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ให้ความสำคัญ หนำซ้ำยังมีความพยายามจะสอดแทรก พ.ร.บ.ปรองดอง นิรโทษเหมาเข่ง ทั้งทักษิณและผู้รับผิดชอบการปราบปรามประชาชนเมื่อปี 53 อยู่เสมอ
 
เมื่อปี 55 พรรคเพื่อไทยประกาศผลักดันแก้ไขมาตรา 291 แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก่อนนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ว่ากัน แต่แล้วก็ถูกคว่ำทั้งกระดาน เพราะดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย (และยังคาอยู่ในสภาจนบัดนี้)
 
หลังจากนั้นจึงเกิดกระแสผลักดันให้นิรโทษกรรมมวลชนก่อน จนเกิดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย เหมะ ผ่านมติพรรค ให้เข้าสภาเป็นวาระแรก หลังเปิดสภาเดือนสิงหาคม
 
กระนั้นก็ยังมีร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับเฉลิม อยู่บำรุง โผล่ขึ้นมาพร้อมรายชื่อ 163 ส.ส. โดยวรชัย เหมะ ดันไปลงชื่อด้วย
 
ท่าทีเช่นนี้นอกจากทำให้มวลชนแคลงใจ ยังทำให้รัฐบาลเคลียร์กับสาธารณชนได้ยาก ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับวรชัยก็ชัดเจนว่านิรโทษเฉพาะมวลชนทั้งสองฝ่าย ไม่รวมแกนนำ ไม่รวมทักษิณและผู้สั่งการ แต่กลับปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองไม่รู้กี่ฉบับรออยู่ในสภา ฉะนั้นก็ไม่มีใครวางใจว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับวรชัยเข้าสภา จะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมารวมพิจารณา
 
ล่าสุดยังมีคลิปลับ ที่แสดงความต้องการอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ของทักษิณ ที่อยากกลับบ้านผ่านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
 
สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ญาติวีรชนผู้สูญเสียออกมาปกป้องจุดยืนของตนคือยอมไม่ได้ที่จะให้นิรโทษผู้สั่งการปราบปรามเข่นฆ่าและทหารที่ทำเกินกว่าเหตุ ฉะนั้นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับญาติวีรชนก็ควรเข้าใจตรงนี้ด้วย
 
 
2.ด้านบวก
 
การนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชนแม้มีจุดอ่อนทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่สังคมตอบรับ ได้รับความเชื่อมั่นมากกว่าเสนอร่าง พ.ร.บ.ของพรรคเพื่อไทย นี่พูดในภาพรวมไม่พูดถึงสื่อและฝ่ายค้านที่ใช้เป็นเครื่องมือเสี้ยม
 
คืออย่างน้อยสังคมก็เชื่อมั่นว่าญาติวีรชนจะต่อต้านทุกวิถีทางไม่ให้มีการนิรโทษผู้สั่งการและทหาร ซึ่งก็หมายถึงไม่นิรโทษทักษิณด้วยเพราะไม่มีอะไรไปแลก การทำความเข้าใจต่อสาธารณชนจะง่ายกว่า ชัดเจนกว่า ว่าต้องการให้นิรโทษเฉพาะมวลชนทั้งสองฝ่ายเท่านั้นไม่รวมแกนนำ
 
นอกจากนี้ ในตัวบทที่ร่างขึ้น ญาติวีรชนก็แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ต้องการนิรโทษ “ชายชุดดำ” ไม่นิรโทษให้ผู้ลักทรัพย์หรือวางเพลิงทรัพย์สินเอกชน และนิรโทษให้ทหารที่ทำตามหน้าที่ แม้ความพยายามเขียนเรื่องเหล่านี้ลงไปจะทำให้มีปัญหาในการตีความถ้อยคำจนย้อนกลับไปกระทบการนิรโทษมวลชน (ดังจะกล่าวต่อไป) แต่เจตนาเหล่านี้ก็เป็นที่ยอมรับของสังคมวงกว้าง
 
อย่างไรก็ดี ญาติวีรชนก็ต้องคำนึงว่า สื่อและฝ่ายค้านที่ออกมากระชุ่นไม่ได้มีเจตนาดี เพียงต้องการใช้ญาติผู้สูญเสียเป็นเครื่องมือล้มกระดานการนิรโทษเท่านั้น จึงควรระวังปัญหาท่าที อย่ากลายเป็นสนุกกับการด่ากันจนเข้าทางฆาตกร
 
ส่วนผู้ที่คัดค้านญาติวีรชนก็ควรมองเห็นด้านบวกดังกล่าว ซึ่งถ้าจัดการไม่ดีก็จะกลายเป็นด้านลบ
 
 
3.ร่างวรชัยมาจากไหน
 
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ วรชัย เหมะ ไม่ได้มาจากวรชัย เหมะ โถ ก็เจ้าตัวยังไปลงชื่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของเฉลิมอยู่หลัดๆ
 
แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับวรชัยมาจากกระแสกดดันของมวลชน จากการต่อรองภายในพรรค ภายในขบวน เพราะหลังจุดประเด็นเรียกร้องนิรโทษกรรมในการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปี 55 มีผู้เสนอร่างนิรโทษกรรมแบบต่างๆ ออกมา ก็เกิดการเคลื่อนไหวของแนวร่วม 29 มกรา ที่รวม “แดงอิสระ” หลากหลายกลุ่ม เรียกร้องให้ใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์
 
การเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้พรรคและแกนนำ นปช.ไม่พอใจอย่างมาก มีความพยายามสกัดกั้นมวลชนทุกวิถีทาง อ.หวาน สุดา รังกุพันธุ์ แห่งกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลถูกกาหัว วิทยุ นปช.ด่าทอเสียหายให้ร้ายเรื่องส่วนตัว
 
แต่ผลจากการกดดันครั้งนั้น และการต่อรองกันภายใน พรรคเพื่อไทยจึงคลอดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย ซึ่งมีเนื้อหาที่ทุกฝ่าย ทั้งพรรค นปช. และแนวร่วม 29 มกรา เห็นพ้องกัน แม้ตอนแรก แนวร่วม 29 มกราเรียกร้องให้ใช้ร่างของนิติราษฎร์ แต่คงมองว่าเป็นไปได้ยากทางการเมือง (คือคำว่าแก้รัฐธรรมนูญเป็นเหมือนยาพิษ ผู้คนส่ายหน้า ส่วนใหญ่จะคิดว่าทำไมต้องทำใหญ่โตขนาดนั้น ทั้งที่จริงร่างของนิติราษฎร์สมบูรณ์ที่สุด)
 
ร่างฉบับวรชัยจึงเป็นร่างที่หลายฝ่าย “มีส่วนร่วม” และเห็นพ้องว่าสมบูรณ์ชัดเจนระดับหนึ่ง น่าจะมีผลให้นิรโทษมวลชนที่อยู่ในคุก ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าไม่มีใครทำอะไรเลย นิ่งดูดายปล่อยให้มวลชนแห้งตายไม่ไปเยี่ยม ท่าทีเช่นนี้ทำให้กลุ่มผู้ร่วมผลักดันร่างฉบับวรชัยขุ่นเคือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกรงผลลบว่าการมาเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับญาติวีรชนเอาในตอนนี้ จะทำให้การนิรโทษพังทั้งกระบวน
 
 
4.ร่างวรชัยนิรโทษทหารหรือไม่
 
ญาติวีรชนตั้งแง่ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับวรชัยนิรโทษให้ทหาร แต่ตามที่เป็นข่าวเมื่อครั้งยื่นเข้าสภา มาตรา 3 ซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่มีตรงไหนกล่าวถึงการนิรโทษให้ทหาร (ไม่เขียนถึงเท่ากับไม่นิรโทษ)
 
“มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว”
 
แต่เรื่องตลกอุบาทว์คือวรชัยดันให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ยอมรับว่า เห็นควรให้นิรโทษทหารด้วย เพราะทำตามคำสั่งภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรเอาผิดเฉพาะผู้สั่งการ ออกคำสั่ง
 
“เรายึดหลักการนิรโทษจะได้หมดเสียหมดไม่ได้ มิฉะนั้นจะเดินลำบาก ต้องทำให้คนค้านน้อยที่สุด ทุกฝ่ายเอาด้วยมากที่สุด”
 
วรชัยไม่เมาแน่ เพราะให้สัมภาษณ์มติชนอีกทีว่า"ถ้าญาติวีรชนต้องการให้ผู้ปฏิบัติการทางทหารติดคุกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับพลเรือนและทหารก็จะทำให้กระบวนการนิรโทษกรรมพี่น้องประชาชนที่ติดคุกอยู่ใน เรือนจำต้องลากยาวออกไปอีก พี่น้องก็เดือดร้อนจะทำอย่างไร วันนี้ต้องช่วยประชาชนก่อน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ถึงเมื่อใด ถ้าเกิดมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลคนในเรือนจำก็จะถูกจองจำต่อไป"
 
และว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของตนนั้น จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากความผิดหรือไม่ให้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการวิสามัญที่จะพิจารณาในอนาคต ถ้าวันนี้บอกว่าไม่ยกเว้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการแล้วใครจะยอมต่อไปอาจจะเกิดแนวร่วมกับฝ่ายตรงข้ามทำให้พรรคประชาธิปัตย์ค้านได้อย่างเต็มที่
 
เฮ้ย มียังงี้ด้วยหรือ แปลว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผลักดันกันมา นิรโทษให้ทหารด้วยหรือ ไม่เห็นบอกกับมวลชนอย่างนี้เลย
 
นี่เป็นประเด็นที่วรชัยและพรรคเพื่อไทยต้องเคลียร์ เรื่องใหญ่นะครับ เพราะเท่ากับ “แหกตามวลชน” ให้สนับสนุนร่างที่นิรโทษกรรมให้ทหาร ไม่เว้นกระทั่งทหารที่ทำเกินกว่าเหตุ ถ้า “แหกตามวลชน” จริงก็ต้องมีคนรับผิดชอบ ใครร่วมรู้เห็นต้องรับผิดชอบหมด (หมอเหวงตอบโต้ญาติวีรชนเรื่องนิรโทษให้ทหาร ก็ควรไปซักวรชัยให้เคลียร์ด้วย ว่าทำไมพูดม้าๆ อย่างนี้)
 
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเอาร่างวรชัยไปเปรียบเทียบร่างของญาติวีรชน หรือร่างของนิติราษฎร์ จะพบว่าต่างกันนิดหนึ่งตรงถ้อยคำ ร่างวรชัยใช้คำว่า “การกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง” ขณะที่นิติราษฎร์ใช้คำว่า “การกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง” ซึ่งมีผู้สงสัยว่า “บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง” อาจตีความรวมถึงทหารด้วย
 
ถ้าเจตนาอย่างนั้นจริง ก็เท่ากับ “หมกเม็ด” หลอกลวงประชาชน และเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ต้องไปถกเถียงกันเรื่องอื่นเลย ญาติวีรชนมีความชอบธรรมที่จะล้มกระดาน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
 
5.มาตรา 3(3) ผิดโดยไม่เจตนา
 
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชน มาตรา 3 สาระสำคัญของการนิรโทษกรรม ก๊อปมาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์ 3 อนุมาตราแรก แต่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงในอนุมาตรา 3 เชื่อว่าเป็นเจตนาดี แต่ไม่เข้าใจหลักและภาษากฎหมาย (พ่อน้องเฌอบอกว่าปรึกษานักวิชาการกฎหมายหลายคน แต่เชื่อว่าไม่ได้ให้นักวิชาการกฎหมายตรวจทานครั้งสุดท้าย)
 
(๑) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
(๒)บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙  หากเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปีตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
(๓) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตาม มาตรา ๓ (๒) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๓ (๑) หรือมาตรา ๓ (๒) ตลอดจนการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
 
ลองไปดูมาตรา 291/3 ของนิติราษฎร์ครับ
 
“มาตรา ๒๙๑/๓ บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตามมาตรา ๒๙๑/๒ อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๒๙๑/๑ หรือมาตรา ๒๙๑/๒ ตลอดจนการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙หากการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
 
ไม่แน่ใจว่าญาติฯ อยากให้ครอบคลุม 112 ด้วยหรือไม่ (แต่พ่อน้องเฌอบอกว่าไม่ได้เจตนา) แต่ญาติฯ ไปแก้ว่า “หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง”โดยไม่เข้าใจว่าความผิดอาญาจำนวนมากไม่ได้เป็นความผิดต่อความมั่นคง ไม่ว่าเผาศาลากลาง ปล้นปืน ฯลฯ ที่มวลชนเสื้อแดงโดนอยู่ ไม่ได้เป็นความผิดต่อความมั่นคงทั้งสิ้นครับ เขียนแบบนี้เท่ากับว่าความผิดอาญาอื่นๆ นอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และความผิดลหุโทษ จะไม่ได้นิรโทษเลย
 
กรณีที่ร่างของนิติราษฎร์ไม่ระบุ 112 หรือความผิดต่อความมั่นคงไว้ด้วย เพราะเขียนคลุมไว้แล้วในคำว่า “การกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็น....อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ให้ดูคำอธิบายประกอบของนิติราษฎร์ตอนแถลงเรื่องนี้วันที่ 13 มกราคม 2556
 
 
6.ปัญหาการเจาะจงในมาตรา 3(4)
 
ญาติฯ ได้เติมมาตรา 3(4) ซึ่งพ่อน้องเฌอชี้แจงว่ามาจากการหารือหลายฝ่าย ทั้งในหมู่ญาติกันเอง (รวมทั้งนิชา ธุวธรรม)
 
(๔) การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
การกระทำใด ๆ ของประชาชนทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่นการวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
 
บทบัญญัติในวรรคที่หนึ่งและสอง รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นด้วย
 
เจตนาของญาติชัดเจนว่าไม่ต้องการให้นิรโทษกรรม “ชายชุดดำ” และไม่ต้องการให้นิรโทษคนเผาเซ็นทรัลเวิลด์ หรือคนที่ลักทรัพย์ระหว่างเหตุชุลมุน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดู “คลีน” ในกระแสสังคม แต่การยก case ขึ้นมาบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมายที่มีลักษณะทั่วไป ก็อาจทำให้ไม่สามารถนิรโทษมวลชนที่ติดคุกอยู่ โดยเฉพาะเมื่อต้องผ่านการตีความของศาล
 
การไม่นิรโทษคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ญาติฯ อาจคิดว่าศาลยกฟ้องมวลชนเสื้อแดงแล้ว แต่ข่าวล่าสุด อัยการก็ยังจะอุทธรณ์ แปลว่าพวกเขาต้องต่อสู้คดีต่อไปนะครับ
 
ที่จริงผมเห็นด้วยว่าไม่ควรนิรโทษคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เพราะควรพิสูจน์ว่าใคร “เผาบ้านเผาเมือง” จากปากคำพยานก็บอกว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธ จงใจมาเผา (เผาได้ระดับนี้ไม่ใช่ชาวบ้านแน่) แต่สิ่งที่ญาติควรเข้าใจคือ การมองเฉพาะกรณีแล้วยกขึ้นมาเป็นบทบัญญัติอันมีลักษณะทั่วไปนั้น มันจะครอบคลุมกรณีอื่นๆ ที่กว้างขึ้น แล้วบางกรณีที่อยากให้นิรโทษก็จะไม่ได้นิรโทษ
 
คำว่า “ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน” มันกว้างนะครับ เผาศาลากลาง แม้ไม่ใช่ทรัพย์สินเอกชน แต่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนไหม ผู้ที่จะตีความคือศาล แล้วไว้วางใจการตีความของศาลไหม
 
คดีเผาไม่ได้มีแค่เซ็นทรัลเวิลด์ ยังมีเผาตึกช่อง 3 เผาธนาคารกรุงเทพ (ยังจับผู้ต้องหาไม่ได้แต่ก็มีผู้ต้องสงสัยอยู่) ถามว่ามาจากแรงจูงใจทางการเมืองไหม เสื้อแดงเผาช่อง 3 เพราะไม่พอใจคำพูดพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เสื้อแดงระบายความโกรธแค้นใส่ธนาคารกรุงเทพเพราะเชื่อว่าสนับสนุนรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์ การเผาทรัพย์สินเอกชนจึงมีที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองด้วย จะนับเฉพาะเผาทรัพย์สินราชการเหมือน 14 ตุลา พฤษภา 35 ไม่ได้
 
เช่นกัน เรายอมรับได้ถ้าจะไม่ยกเว้น “ชายชุดดำ” เผื่ออีก 5-10 ปี มีใครเก็บความลับไม่อยู่ มีพยานหลักฐานรู้เห็นว่าใครโยนระเบิดฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า คนนั้นก็ควรถูกดำเนินคดี
 
แต่การยกระดับเป็นถ้อยคำว่า “มุ่งประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ” ก็อาจโยงไปถึงมวลชนหลายรายที่ต้องความผิดเกี่ยวกับอาวุธ ทั้งที่ไม่ใช่ “ชายชุดดำ” เท่าที่นึกได้ เสื้อแดงที่ถูกชักชวนไปวางระเบิดพรรคเนรวิน แล้วโดนระเบิดเสียเอง ตาบอดทั้งสองข้าง ก็คงไม่ได้นิรโทษ เสื้อเหลืองที่ขับรถชนตำรวจ ก็คงไม่ได้นิรโทษ (การขับรถไล่ชนต้องถือว่ารถเป็นอาวุธนะครับ)
 
พ่อน้องเฌออธิบายความเห็นไว้ในเฟซบุคว่า
 “ถ้าแย่งปืนจากทหารระหว่างการชุมนุม หรือนอกการชุมนุมแต่มีผลเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ร่างนี้ครอบคลุมให้นิรโทษ แต่ถ้าเอาปืนตัวเองหรือปืนใครเข้ามาในที่ชุมนุมญาติเห็นว่าไม่สมควรนิรโทษ เว้นแต่ว่าการกระทำนั้นเข้าข่ายลหุโทษ(โทษเบา) ซึ่งการพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยเฉพาะที่ชุมนุมของคนหมู่มากไม่น่าจะใช่ลหุโทษ ส่วนโดนเจ้าหน้าที่ยัดอาวุธปืนใส่มือ(ผมไม่ทราบว่ามีกรณีนี้หรือไม่) ก็จำเป็นต้องพิสูจน์ทราบต่อไป”
 
 
วันที่เจอกันผมก็บอกว่า ตอน 6 ตุลา ถ้าผมมีปืน ผมก็ยิงสู้มันแล้วนะ พวกแนวร่วมศิลปิน (เพื่อนชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ยังจำได้ไหม) ที่เป็นการ์ด 6 ตุลาก็เอาปืนมาจากบ้าน สละชีวิตไปหลายคนเพื่อปกป้องเรา
 
ประเด็นที่ว่าถูกยัดข้อหา ยัดหลักฐานหรือไม่ ให้ไปพิสูจน์ทราบ ต้องไม่มองข้ามความจริงว่า สาเหตุหนึ่งที่เราต้องการให้นิรโทษกรรมก็เพราะการดำเนินคดีมวลชนเสื้อแดงหลัง 19 พ.ค.53 อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากกว่าสถานการณ์ปกติ ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการ แถมส่วนใหญ่เป็นคนยากจนที่ไม่มีเงินจ้างทนาย หลายรายถูกบีบคั้นให้รับสารภาพ ซึ่งเมื่อคดีล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้ การที่จะไปพิสูจน์ทราบตามกระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ยาก ตัวอย่างเช่นคดีผู้หญิงยิง ฮ. ถ้าไม่หลุดไปก่อน ถ้าไปเจอศาลที่ตัดสินด้วยอคติ แล้วติดคุก ก็แปลว่าจะไม่ได้นิรโทษกรรม เพราะเข้าข่าย “มุ่งประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ”
 
อ้อ คดีนี้ก็ยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์นะครับ
 
ญาติฯ ควรตรวจสอบกับ ศปช.อีกครั้งว่าถ้านิรโทษกรรมออกมาอย่างนี้จริงๆ จะมีมวลชนเสื้อแดงกี่คนไม่ได้นิรโทษ โดยไล่ดูตามข้อหาที่โดน เพราะบางคนก็โดนหลายข้อหา บางคนอาจไม่ได้นิรโทษแน่ๆ บางคนอาจต้องส่งศาลตีความ
 
มวลชน 20 กว่าคนที่อยู่ในคุกด้วยกันที่บางเขนตอนนี้ ต่างก็มีความหวังจะได้นิรโทษพร้อมกันนะครับ ถ้ามี 4-5 คนไม่ได้นิรโทษ ขณะที่เพื่อนได้อิสรภาพ ไม่ทราบว่าเขาจะใช้ชีวิตในคุกต่อไปอย่างไร
 
 
7.ทำไมต้องมีกรรมการขจัดความขัดแย้ง
 
ปัญหาของการนิรโทษกรรมคือ ยิ่งพยายามแยกแยะ ยิ่งนิรโทษได้ยาก ไม่ว่าเจตนาดีอย่างไรก็ตาม
 
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งหลายในอดีต หรือในต่างประเทศ จึงมักนิรโทษรวมๆ ในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึง เพื่อให้มีผลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมคุมขังทันที โดยประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายแต่อยู่ที่ “ฉันทามติ” ของสังคม
 
ความพยายามแยกแยะว่าไม่นิรโทษแกนนำ ไม่นิรโทษชายชุดดำ ไม่นิรโทษคนร้ายเผาเซ็นทรัลเวิลด์ พอเขียนเป็นตัวบทกฎหมาย เอาเข้าจริงทำได้ยาก แม้แต่ใครเป็น “แกนนำ” ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ก็วินิจฉัยยาก เสื้อเหลืองเสื้อแดงเป็นองค์กรมวลชนกึ่งเฮโลสาระพา ไม่ใช่นิติบุคคล การประชุมตัดสินใจไม่ได้มีคณะกรรมการแน่นอน ถ้ากฎหมายออกมา ก็ต้องอาศัยสปิริตส่วนตน แกนนำเสื้อเหลืองเสื้อแดงประกาศด้วยตัวเองว่าไม่ขอรับนิรโทษ
 
เพราะเหตุนี้นิติราษฎร์จึงเสนอให้มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง มาวินิจฉัยแยกแยะเป็นรายๆ โดยนิรโทษความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปก่อน นิรโทษความผิดไม่เกิน 2 ปีไปก่อน ที่เหลือเข้าคณะกรรมการ
 
สาเหตุที่ต้องทำเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะคณะกรรมการชุดนี้เมื่อวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว เรื่องจะยุติเลย จะไม่มีใครสามารถนำไปฟ้องร้องเป็นคดีได้อีก นอกจากนั้นการใช้อำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้ดูแต่มิติทางกฎหมาย  เพราะมิติทางกฎหมายอย่างเดียวแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ แต่จะพิจารณาจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองของผู้กระทำเป็นสำคัญ การตั้งองค์กรลักษณะนี้ต้องทำในระดับรัฐธรรมนูญ ถ้าทำเป็นพระราชบัญญัติอาจมีคนร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญได้
 
ญาติวีรชนเอาร่างของนิติราษฎร์มาโดยไม่มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง แล้วพยายามจะเติมมาตรา 3(4) ให้มีการแยกแยะโดยตัวบท ก็หนีไม่พ้นปัญหาที่ยิ่งแยกแยะยิ่งยุ่ง จนอาจทำให้มวลชนที่ติดคุกอยู่จำนวนหนึ่งไม่ได้นิรโทษ (แม้ไม่มีหลักประกันว่าร่างของวรชัยจะผ่านฉลุย เห็นผลทันที)
 
พ่อน้องเฌอบอกว่า ยินดีรับฟังความเห็นถ้ามีปัญหาก็แก้ไขได้ ซึ่งผมคิดว่าปัญหาอยู่ที่มาตรา 3(4) ที่อาจจะต้องตัดออกทั้ง 2 วรรค เหลือแค่วรรค 3
 
ขณะที่มาตรา 3(1) และ (2) ที่จริงไม่จำเป็น นิติราษฎร์เขียนไว้เพราะต้องการแยก 2 ความผิดออกก่อนเข้าคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง เมื่อไม่มีคณะกรรมการ เมื่อนิรโทษพร้อมๆ กัน 2 อนุมาตรานี้ไม่ต้องมีก็ได้
 
สาระสำคัญก็จะเหลือแค่ข้อความในมาตรา 3(3) ซึ่งถ้าแก้ไขส่วนที่ผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ กลับไปเอาตามนิติราษฎร์ทั้งหมด ก็จะระบุว่า
 
“บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตาม มาตรา ๓ (๒) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๓ (๑) หรือมาตรา ๓ (๒) ตลอดจนการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
 
ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรกับร่างวรชัย เพียงแต่พวกยึดสนามบินจะไม่ได้นิรโทษ (ฮิฮิ สะใจ) เนื้อหาน่าจะครอบคลุม 112 ด้วยแต่เมื่อให้ศาลตีความ ก็คงไม่มีผลอะไร
 
 
8.ปัญหา(ไม่)นิรโทษทหารมาตรา 4
 
“การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งการบังคับบัญชา และ/หรือ ไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
 
การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
 
บทบัญญัติในวรรคที่สองให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น”
 
ร่างนิติราษฎร์ไม่นิรโทษให้ทหาร เพราะตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าทำตามกฎหมายไม่เกินกว่าเหตุก็ไม่มีความผิดอยู่แล้ว
 
“มาตรา ๒๙๑/๘ การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
 
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น”
 
นิติราษฎร์อธิบายพร้อมกับข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้งว่า
 
“ไม่มีการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในระดับใดๆ ทั้งสิ้น
 
เพื่อป้องกันให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีบทเรียนหลายครั้งแล้วที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ปฏิบัติไปตามอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว บางครั้งเกินกว่าเหตุ บางครั้งปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จะรู้ก็ตาม
 
และอีกเหตุผลหนึ่งคือถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นต้องนิรโทษกรรมให้ เพราะ  พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนดไว้แล้วว่าไม่ต้องรับผิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับการกระทำผิดกฎหมายหากสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ก็ไม่ผิดอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องนิรโทษกรรมให้...”
 
“...ทหารชั้นผู้น้อยเขาปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่นี่เป็นการพยายามสร้างวัฒนธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย...  การไม่นิรโทษกรรมให้จะเป็นการสร้างแนวทางหรือบรรทัดฐานที่ดีงามว่าถ้าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาก็สามารถที่จะปฏิเสธ ไม่เช่นนั้นก็จะอ้างว่านายสั่งแล้วหลุดจากความผิด การสลายการชุมนุมที่เล็งปืนไปยังผู้ชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
 
เท่าที่ฟัง ญาติวีรชนคิดว่าการเขียนลงไปจะเป็นที่ชัดเจนกว่าร่างวรชัย ว่าไม่นิรโทษให้ทหารที่ทำเกินกว่าเหตุ
 
แต่การเขียนมาตรา 4 ลงไปอย่างนี้ แทนที่จะได้ผลตามเจตนารมณ์ อาจตรงข้าม เพราะจะเป็นช่องให้เกิดการตีความ “ดิ้น” ได้ นอกจากนี้ยังจะทำให้ไม่สามารถ “ไล่เบี้ย” จากทหารชั้นผู้น้อยซึ่งต้องปกป้องตัวเอง ไปสู่ผู้ออกคำสั่ง
 
ต้องเข้าใจว่ากฎหมายนิรโทษมุ่งหมายยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิด ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ หากไม่ได้ทำความผิด เราก็ไม่ต้องเขียนให้อยู่แล้ว ส่วนที่เป็นความผิด ก็ยังผิดต่อไป ฉะนั้นมาตรา 4 จึงไม่จำเป็น หรือถ้าจะเขียนก็เขียนแบบนิติราษฎร์ อย่าเขียนไว้มากจนเป็นช่อง
 
เช่นที่บอกว่า “หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” ญาติฯ ขยายจากนิติราษฎร์ไปเพิ่มคำว่า “ไม่สมควรแก่เหตุ” ซึ่งอันที่จริงก็อยู่ใน “ความผิดตามกฎหมาย” นั่นแหละ เขียนลงไปยิ่งเปิดช่องให้โต้แย้งตีความศรีธนญชัย
 
ถ้าจะเขียนก็เอาตามนิติราษฎร์ไปทั้งหมดเลยครับ
 
 
9.ปัญหาท่าที
 
แม้มีปัญหาทางกฎหมายดังกล่าว เกือบทั้งฉบับ ก็ต้องให้กำลังใจญาติวีรชน ในความพยายามที่จะมีส่วนช่วยผลักดันการนิรโทษกรรม การออกมาแสดงเจตนารมณ์ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้สังคมเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของการนิรโทษมากขึ้นว่า ต้องการนิรโทษมวลชนทั้งสองฝ่าย ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยความเชื่อว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง กระทั่งละเมิดกฎหมาย หรือแสดงอารมณ์โกรธแค้นตอบโต้การปราบปราม ที่ทำให้สูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ
 
กระนั้นในด้านบวกก็มีด้านลบ ญาติวีรชนและผู้สนับสนุนทั้งหลาย  พึงสังวรว่าการที่จู่ๆ ก็ออกมาเสนอร่างกฎหมายพร้อมกับดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. ว่าร่างเดิมๆ ไม่โปร่งใส พาดพิงตัวบุคคล ทั้งที่แม่น้องเกดก็เคยซื้อปลาสลิดไปฝากป้าธิดาเป็นประจำนั้น เท่ากับสร้างความขัดแย้งเกินเหตุ แล้วก็ตกไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ต้องการทำลายกระบวนการนิรโทษกรรมอยู่แล้ว
 
ถามว่าเราควรฝากความไว้วางใจพรรคเพื่อไทยหรือ ไม่เลย แต่การวิพากษ์กราดไปทั่วเท่ากับดิสเครดิตทั้งขบวน ที่เขาพยายามผลักดันจนได้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านมติพรรค
 
การมองเรื่องใดก็ตามไม่สามารถมองเป็นสีขาวสีดำทั้งหมด แน่นอนว่าในพรรคก็มีฝ่ายที่พยายามสอดแทรก “นิรโทษเหมาเข่ง” แต่ก็มีฝ่ายที่ต่อสู้ต่อรอง กดดัน จนแม้แต่ “นายใหญ่” ก็ไม่กล้าประกาศสนับสนุนร่างปรองดองของเฉลิม (แต่ไปพูดในคลิปลับแทน ฮิฮิ) การต่อสู้นี้บรรลุผลระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องสู้กันต่อไป โดยผู้ที่ต่อสู้ต่อรองภายในต้องพยายามอดกลั้นเพื่อบรรลุผล มองสถานการณ์ใหญ่มากกว่าจะออกมาด่ากันเอง
 
แน่นอน ฝ่ายที่โต้แย้งญาติวีรชน ก็มีส่วนที่ใช้ท่าทีค่อนข้างแรง (แล้วก็เจ็บตัวเพราะคนส่วนหนึ่งมองว่า “บังอาจ” ตอบโต้พ่อแม่ผู้สูญเสีย) แต่เพราะเขารู้สึกว่าการออกมาเช่นนี้จะทำลายกระบวนการที่จะเข้าสภาอยู่แล้ว  และกลายเป็นเครื่องมือฝ่ายต่อต้านการนิรโทษฯ ซึ่งผมเชื่อว่าญาติฯ และผู้สนับสนุนก็รู้ ว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังใช้ความเป็น “พ่อแม่ผู้สูญเสีย” มาดิสเครดิตร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ก็ถูก แต่ญาติฯ ก็ต้องพยายามป้องกันและตอบโต้ เช่นพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่าสนับสนุน แต่เนื้อหาที่พูดจริงๆ ไม่ได้สนับสนุนการนิรโทษกรรมเลย แค่ให้นิรโทษความผิด พรก.ฉุกเฉินและลหุโทษเท่านั้น ก็ต้องด่ามันกลับด้วยสิว่าไม่รับผิดชอบต่อคนตายแล้วยังเสแสร้ง
 
คือถ้าจะไม่พอใจพวกเดียวกันทอดทิ้งคนตายคนติดคุก แล้วด่ากราด เมื่อพวกที่ต้องรับผิดชอบการฆาตกรรมฉวยโอกาสบ่อนทำลาย จะบอกว่าธุระไม่ใช่ ก็คงไม่ถูกแน่ ผมไม่ได้บอกให้ปิดปาก แต่บอกว่าด่ามันทั้งคู่สิครับ
 
ความเห็นเกี่ยวกับตัวบทที่ผมเสนอนี้หวังว่าจะรับฟัง และสอบทานกับนักกฎหมาย (สอบถามนิติราษฎร์ก็ได้) หากเห็นด้วยว่าร่าง พ.ร.บ.นี้มีปัญหา ญาติวีรชนก็ควรกลับมามีส่วนร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย โดยก่อนอื่นต้องทำให้เคลียร์ว่า ร่างฉบับวรชัยนิรโทษให้ทหารหรือไม่ (ถ้านิรโทษทหาร ผมต่อต้านด้วย)
 
ขณะที่ทางพรรค แกนนำ นปช.และผู้ร่วมกันผลักดันร่างนี้มา ก็ควรให้ญาติมีส่วนร่วม (แต่ที่ผ่านมาไม่ได้หมายความว่าละเลย ไม่เคยฟังความเห็นญาติ คือจะให้สอบถามทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินว่าญาติเสนอความเห็นอะไรอย่างเป็นทางการ) เพราะการที่ญาติผู้สูญเสียเข้ามาร่วมมีด้านบวกอย่างที่กล่าวแล้วว่าสังคมเชื่อถือว่าจะไม่นิรโทษให้ทหาร (และไม่นิรโทษให้ทักษิณ) ส่วนที่เกรงกันว่าจะสอดไส้ในกรรมาธิการ ก็ต้องผนึกกับ นปช. ศปช. กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล เครือข่ายญาติคนติดคุก (รวมทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองในเฉพาะประเด็น) เรียกร้องให้มีตัวแทนประชาชนเข้าไปร่วมในคณะกรรมาธิการด้วย
 
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ จะตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมโดยเร็วที่สุด อย่าให้เกิดปัญหาบานปลายอย่างที่มีแนวโน้มจะเป็น คือท้ายที่สุด การขัดแย้งกันอาจทำให้ไม่มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับไหนได้ผ่านสภาเลย หรือจากที่มวลชนตั้งความหวังไว้ในเดือนสิงหาคม ก็จะยืดเยื้อไปอีกจนปิดสมัยประชุมสภา
 
                                                                             
 
ใบตองแห้ง
 20 ก.ค.56
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท